ลดโซเดียมในอาหารด้วยไม้แคะหู


ขวดผงชูรสในบ้านชาวญี่ปุ่น ผู้เป็นต้นตอของการเผยแพร่ผงชูรส มีขนาดเล็กๆ และมีไม้ตักขนาดเท่าไม้แคะหู แต่ในเมืองไทย แม่ค้าบางเจ้าใช้ทัพพีจุ่มผงชูรสทีเดียว

ดิฉันมีโอกาสไปร่วมฟังการทำเวทีประชาคมเพื่อการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ความมั่นคงทางสุขภาพ และการมีส่วนร่วมกรณีโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์จะให้เกิดความมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนมากกว่าการที่ภาครัฐจะสั่งการให้ข้าราชการลงไปดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว ผู้มาร่วมโครงการดังกล่าวมาจากทุกองค์กรสำคัญ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด อบจ. นายกเทศมนตรี คณะเทศมนตรี สสจ. กรรมการโรงพยาบาล/เครือข่าย กรรมการพัฒนาโรงพยาบาลร้อยเอ็ดและเครือข่าย ผู้แทนจากโรงพยาบาลเอกชน กลุ่มแม่บ้าน ผู้พิการ เยาวชน อสม. ตลอดจนชมรมต่างๆ รวม ๒๐๐ คน

จากการเข้าร่วมฟังการทำเวทีประชาคมครั้งนี้ ดิฉันขอหยิบยกความประทับใจท่านนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ท่านบรรจง โฆษิตจิรนันท์ ที่มีแนวคิดในการส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านยกตัวอย่างของการบริโภคที่เราตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ท่านเล่าว่าท่านเคยมีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวญี่ปุ่น จึงได้พูดคุยและซักถามถึงสินค้าญี่ปุ่น คือ ผงชูรสชื่อดังสกุลญี่ปุ่นว่ามีประจำบ้านหรือไม่ ที่เมืองไทยใช้กันแพร่หลายและใส่คราวละมากๆ ท่านให้คุณผู้หญิงของบ้านหยิบขวดผงชูรสมาโชว์ บอกว่าใช้เหมือนกัน แต่ก็ต้องประหลาดใจ เพราะขวดเล็กนิดเดียว พร้อมกับโชว์ที่ตักผงชูรสขนาดเท่าไม้แคะหู เวลาปรุงอาหารบางประเภทที่จะใส่ ก็ใส่เพียงเล็กน้อย โดยใช้ไม้สะกิดใส่ ใส่กับอาหารเพียงบางประเภท มิใช่ตะบี้ตะบันใส่กันทุกชนิด ว่ากันว่าบางร้านในเมืองไทยอาการหนักขนาดใส่น้ำหุงข้าวด้วยซ้ำ

เป็นผลให้เราได้รับโซเดียมมากเกินความจำป็น กระตุ้นให้เกิดปัญหาความดันโลหิตสูงได้มากทีเดียว หลายท่านฉงน เอ! ผงชูรสไม่เค็ม ทำไมมีโซเดียม ผู้เรียนสายวิทย์คงพอทราบว่าชื่อทางเคมีของผงชูรส คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต และขอย้ำว่าอาหารที่มีโซเดียมไม่จำเป็นต้องมีรสเค็มเสมอไป

เพลาๆ อาหารที่มีโซเดียมสูงกันหน่อยนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้เป็นเบาหวานหรือผู้เป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด

เล่าเรื่องโดย: คุณสุนทรี นาคะเสถียร, ผู้จัดการฝ่ายบริการการศึกษาและวิจัย รพ.เทพธารินทร์

หมายเลขบันทึก: 5184เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2005 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 01:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อยากรู้เรื่องผงชูรสให้จริงกว่านี้ ขอเชิญไปที่เวป สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย หรือเรียกสั้นๆ ว่า FoSTAT

http://www.fostat.org//

มีเรื่องราวผงชูรสแบบคนรู้จริงให้อ่านเป็นเล่ม เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีพื้นพร้อม พิณา ข้อเท็จจริง มิใช่เพียง "ได้ยินเขาบอกมา" 

จริงๆแล้วมี paper เยอะแยะที่แนะนำให้ใช้ผงชูรสในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อลดการใช้เกลือลง (ประมาณ 30% ) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณโซเดียมได้มากกว่าใช้เกลืออย่างเดียวในการปรุงอาหารเสียอีก  

เพราะเหตุใดนั้น

1. ผงชูรสมีโซเดียมเพียง 12% (ที่เหมือคือกรดอะมิโนหรือโปรตีนนั่นเอง) ในขณะที่เกลือมีโซเดียมเกือบ 40%

2. เราใช้เกลือมากกว่าผูรสอย่างน้อย 2 เท่าขึ้นไป

3. ผงชูรสช่วยให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น ชูรสเค็มโดยใส่เกลือน้อยลง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท