Coaching and Mentoring กับการก้าวสู่ AEC


Coaching and Mentoring กับการก้าวสู่ AEC

ใน ปี ค.ศ. 2015 หรือ พ.ศ. 2558 กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์และบรูไน จะก้าวเข้าสู่ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEANEconomic Community) หรือ AEC ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดยอีก 2 เสาหลักคือ เสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคง (Political and Security Pillar) และเสาหลักด้านสังคมและวัฒนธรรม (Socio-Cultural Pillar) การรวมตัวเป็น AEC นำไปสู่การเปิดเสรีสินค้าและบริการ 11 สาขา (Priority sectors) ได้แก่การท่องเที่ยว การบิน ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยางสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร ประมง เทคโนโลยีสารสนเทศและสุขภาพ เป้าหมายสำคัญของ AEC คือการพัฒนาสู่การเป็นเขตการผลิตเดียวตลาดเดียว(Single market and production base) ที่สามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างเสรีและสามารถดำเนินการในกระบวน การผลิตรวมทั้งใช้ทรัพยากรจากประเทศกลุ่มอาเซียนมาร่วมในการผลิตสินค้าที่มี มาตรฐานได้ทั้งวัตถุดิบและแรงงานภายใต้กฎเกณฑ์กฎระเบียบเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอาเซียนและเพื่อชะลอ การเปิดการค้าเสรีของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปที่พยายามจะรุกเข้ามา ในตลาดอาเซียน

เพื่อให้การดำเนินการมีความชัดเจนขึ้น จึงมีการมอบหมายให้ประเทศในกลุ่มอาเซียน ทำหน้าที่รับผิดชอบเป็นผู้ประสานงานหลัก (Country Coordinators) ได้แก่ พม่ารับผิดชอบสาขาผลิตภัณฑ์เกษตร (Agro-basedproducts) และสาขาประมง (Fisheries) มาเลเซียสาขาผลิตภัณฑ์ยาง (Rubber-based products) และสาขาสิ่งทอ (Textiles and Apparels) อินโดนีเซียสาขายานยนต์ (Automotive) และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้ (Wood-basedproducts) ฟิลิปปินส์สาขาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) สิงคโปร์สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-ASEAN) และสาขาสุขภาพ (Healthcare) ไทยสาขาการท่องเที่ยว (Tourism) และสาขาการบิน (Air Travel) มีการจัดทำAEC Blueprint  ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญสี่ประการคือ การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมกัน การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกซึ่งหมายถึงการทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีใน 5 สาขาได้แก่สินค้า บริการการลงทุนแรงงานฝีมือและเงินทุน โดยมีการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน อาทิกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรฐาน (standard and conformance) การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง และ logistics service การอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในอาเซียน และการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ และแรงงานมีฝีมือ เป็นต้น

ผลกระทบจากการเปิดเสรีด้านสินค้าและบริการ คือผู้ประกอบการต้องหันมาแข่งขันด้านคุณภาพของสินค้าและบริการแทนการแข่งขัน ด้านราคาผ่านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity & Innovation) ด้านการลงทุน ผู้ประกอบการสามารถขยายหรือย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ได้อย่างเสรี ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ การเปิดเสรีจะทำให้แรงงานฝีมือในอาเซียนย้ายจากประเทศที่มีค่าแรงหรือค่าตอบ แทนต่ำไปยังประเทศที่มีค่าแรงหรือค่าตอบแทนต่ำสูงกว่าและมีการใช้ภาษาอังกฤษ อย่างแพร่หลาย มีผลให้ในอนาคตบางประเทศในกลุ่มอาเซียนอาจขาดแคลนแรงงานฝีมือในบางสาขา ในขณะเดียวกันอาจจะมีแรงงานฝีมือบางสาขาเข้ามาแย่งงานประชาชนในประเทศมาก ขึ้น การเปิดเสรีด้านเงินทุนจะมีการเร่งพัฒนาตลาดทุนร่วมกันจนนำไปสู่การรวมตัว ของตลาดทุนในอาเซียนและยินยอมให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยเสรีมากขึ้น

ภายใต้ "ประชาคมอาเซียน"การปรับตัวรองรับ AEC จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพะอย่างยิ่งการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีจะส่งผลให้การแข่งขันบุคลากรวิชาชีพต่างๆในตลาดแรงงานเป็นไปอย่างเข้มข้นกลุ่มประเทศอาเซียนจะต้อง มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการจากเดิมจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศ เป็นการผลิตข้ามประเทศ ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการทำธุรกิจโดยแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจในภูมิภาค เพื่อช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพ จัดทำแผนทางธุรกิจใหม่โดยเร่งด่วนเพื่อรองรับโอกาสที่ปัจจัยการผลิตสามารถ เคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ในส่วนของผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทาง เศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพร้อมของ "ทุนมนุษย์" (Human Capital) ที่ต้องมีคุณสมบัติสอดคล้องกับการแข่งขันทางการค้าในบริบทของเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งมีการสร้าง "ทุนทางปัญญา"  (Intellectual Capital) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ (Branding) การสร้างวัฒนธรรม (Culture) สมรรถนะของพนักงานในองค์กร (Competency) ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) การดูแลรักษาคนเก่งขององค์กร (Talent)ฯลฯ ซึ่งเป็นที่มาของความมั่งคั่งใหม่ (New wealth) ในยุคเศรษฐกิจแห่งนวัตกรรมและสังคมแห่งการสร้างสรรค์ (Innovative economy &Creative society)

AEC จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันบนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติภาษา ของพนักงานในองค์กรกับพนักงานใหม่ข้ามชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ ภาษา ที่แตกต่างกัน อาจส่งผลให้เกิดการรับรู้ที่แตกต่างและช่องว่างตามมา ปัญหาที่พบได้บ่อยคือปัญหาด้านการสื่อสารซึ่งนับว่ามีความสำคัญเพราะมักก่อ ให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและประสิทธิผลขององค์กรจึงต้องให้ความสำคัญ กับการทำงานบนพื้นฐานความแตกต่างดังกล่าวข้างต้น

จากการสำรวจพบว่า องค์กรภาคเอกชนในหลายประเทศแถบยุโรปและอเมริกาต่างได้นำเอาระบบ Coaching and Mentoring มาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาและช่องว่างดังกล่าว โดย Coaching and Mentoring จะเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้สอนกับผู้ถูกสอน และความสัมพันธ์อันดีต่อกันนี้จะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่ความไว้วางใจให้เกิด ขึ้นตามมา ด้วยเหตุนี้ Coaching and Mentoring จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับความนิยมและมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางตลอด ระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะในการพัฒนาความรู้ความสามารถและสมรรถนะของหัวหน้างาน ใหม่ที่เป็นชาวต่างชาติ

ความแตกต่างระหว่าง Coaching และ Mentoring คือ Coaching เป็นการจัดกิจกรรมการฝึกสอนเรื่องงาน ในห้วงเวลาสั้น ๆ  มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน โดยมีผู้ทำหน้าที่เป็น Coach คอยกำกับดูแลและกำหนดการเรียนรู้ที่ต้องการพัฒนา เน้นการให้ข้อมูลย้อนกลับ ความคิดเห็นการอภิปรายและข้อเสนอแนะที่ชัดเจน  ดังนั้นผู้ทำหน้าที่เป็น Coach จะต้องแจ้งให้ผู้รับการฝึกรับรู้วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายขององค์กรอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้รับการฝึกสามารถปฏิบัติงานในหน้าที่หรือตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันกับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มีการพัฒนาผลการปฏิบัติงานและผลผลิตขององค์กร ในขณะที่ Mentoring จะมุ่งเน้นที่ตัวบุคคลให้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพในการคิดและ ปฏิบัติงานรับรู้ผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับงานมากกว่าตัวเนื้องานโดยมีพี่ เลี้ยงหรือ Mentor ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย (Facilitator) ให้ผู้เรียนสามารถมองภาพทั้งหมดขององค์กรได้อย่างชัดเจนและสามารถผ่านจากจุด ที่ไม่รู้ไม่เป็น สู่จุดที่รู้ คิดเป็นและทำเป็น โดยผู้เรียนเป็นผู้กำหนดความต้องการและการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อที่ จะเพิ่มศักยภาพ พัฒนาทักษะตามที่ตนเองต้องการและสามารถสะท้อนผลการเรียนรู้ได้ ผู้เรียนมักเป็นสมาชิกใหม่ขององค์กร ผู้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือ Mentor จึงต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มีองค์ความรู้ มีทักษะในการทำงานและมีเจตคติที่ดีต่อองค์กร สามารถเป็นแบบอย่าง (Role Model) ให้กับสมาชิกใหม่และพร้อมที่จะแนะนำถ่ายทอดแบ่งปันทักษะประสบการณ์ของ ตนMentoringจึงเป็นการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ (Adult learning) และมักมีความสัมพันธ์ยาวนานกว่า Coaching การบูรณาการระบบ Coaching และ Mentoring เข้าด้วยกันจะส่งผลให้ผู้ได้รับการพัฒนาได้รับการดูแลแบบองค์รวม (Holistic) อย่างเป็นระบบCoaching and Mentoring จึงเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับจากหลาย ๆ องค์กรว่ามีประสิทธิภาพสูงในการพัฒนาคนโดยเฉพาะการพัฒนาภาวะผู้นำสู่การ พัฒนางานและเป้าหมายขององค์กร  กล่าวอีกนัยหนึ่ง Coaching and Mentoringเป็นเครื่องมือที่พัฒนาได้ทั้งตัวบุคคลและผลลัพธ์ขององค์กร  โดยตัวบุคคลจะเกิดความมั่นใจ ความเชื่อมั่นในตนเอง และยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดประสบการณ์และแรงบันดาลใจที่ดี  อีกทั้งเกิดความรู้สึกปลอดภัยในบทบาทใหม่ที่ท้าทายของตนเองได้

สำหรับ ประเทศไทยการเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ AEC อย่างเข้มแข็งนั้น นัก HR จึงไม่ควรมองข้ามระบบ Coaching and Mentoring ที่น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานร่วมกันกับ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ และแรงงานมีฝีมือจากกลุ่มประเทศอาเซียนได้ทั้งนี้ภาครัฐและผู้ประกอบการเอง จะต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบการคมนาคม ระบบสื่อสาร สาธารณูปโภค  การศึกษา  และมีนโยบายสนับสนุนที่เข้มแข็งควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อม "ทุนมนุษย์" (Human Capital) เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านภาษา  ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญของคนไทยที่จะส่งผลให้เกิดข้อเสียเปรียบคู่แข่ง จากกลุ่มประเทศอาเซียนได้อีกทั้งความแตกต่างของเชื้อชาติภาษาและวัฒนธรรม เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องเรียนรู้เพื่อรองรับความหลากหลายของแรงงานข้ามชาติการ เรียนรู้ยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของกันและกันเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับการเปิดตลาดก้าวสู่โลกไร้พรมแดนผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญกับ การบริหารจัดการวัฒนธรรมข้ามชาติซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจประสบ ความสำเร็จได้

____________________

  ดร.คนึงนิจ อนุโรจน์ : 


คำสำคัญ (Tags): #aec
หมายเลขบันทึก: 517628เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2013 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท