การจัดการกับความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง


ความเครียดนั้นสำคัญอย่างไร
การดูแลผู้ป่วยเรื้อรังที่บ้าน ผู้ดูแลต้องใช้พลังและทุ่มเทเวลาให้อย่างต่อเนื่อง และยาวนานเพราะภาระกิจในการดูแลผู้ป่วยนั้น ต้องทำด้วยความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของความ เจ็บป่วย หรือโรคเรื้อรังนั้นๆ รวมทั้งต้องใช้ทักษะความชำนาญหลายด้าน เช่น การดูดเสมหะ  การทำแผล ที่เกิดจากการกดทับ การสื่อสารกับผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ตลอดจน การจัดการกับภาวะวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น กับผู้ป่วยเวลาใดก็ได้ เช่น อาการช็อกจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกิน เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้ดูแลเกิดความเหนื่อยล้า คับข้องใจ และความเครียดตามมาได้ ความเครียดนั้น เป็นผลกระทบด้านลบ จากการดูแลที่ต้องให้ความสนใจปัญหาหนึ่ง เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ผู้ดูแล เสียสมดุลทั้งร่างกายและจิตใจ เกิดปฏิกิริยาตอบสนองหลายอย่าง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม และการใช้กลไกป้องกันตนเอง เพื่อทำให้ความเครียดนั้นลดลง ถ้าสำเร็จก็เป็นผลดี หมายถึง ผู้ดูแลได้กลับสู่ภาวะสมดุลอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าไม่สำเร็จจะเกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่

การจัดการกับความเครียดของผู้ดูแล
การที่จะสามารถจัดการกับความเครียดได้นั้น ผู้ดูแลต้องหาวิธีการแก้ไขที่สาเหตุ หรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด วิธีการจัดการกับความเครียดมีหลากหลายวิธี ดังที่จะนำเสนอต่อไปนี้

1. หาความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิด เป็นการขอความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อน ผู้รู้

ให้รับรู้ความรู้สึก ช่วยแก้ไขและยอมรับปัญหาอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่น อารมณ์โกรธ เศร้า ความคับข้องใจ เป็นต้น

2. เข้าร่วมกลุ่มผู้ดูแล การเข้าร่วมกลุ่มกับสมาชิกที่มีประสบการณ์เดียวกัน จะได้รับความรู้ใหม่ๆ ได้รับมีการสนับสนุนทางอารมณ์ รู้สึกว่าตนเองไม่โดดเดี่ยว ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เกิดการแก้ไขปัญหาและยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง 
3. กำหนดเป้าหมายในสิ่งที่เป็นไปได้ แยกเหตุการณ์ว่าสถานการณ์ใดทำได้หรือไม่ได้ หาบุคคลช่วยเหลือ อาจเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนบ้าน แยกงานให้ผู้อื่นช่วยเหลือในกิจกรรมที่บุคคลนั้นสามารถให้ความช่วยเหลือได้ เช่น การเตรียมอาหาร การเดินทางไปธุระให้การพาผู้ป่วยออกนอกสถานที่ การรับเด็กกลับจากโรงเรียน เป็นต้น

4. การมีสัมพันธภาพกับครอบครัวและเพื่อน การได้ระบายความรู้สึกกับสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนที่คอยให้ความช่วยเหลือนั้นนอกจากจะทำให้ผู้ดูแลไม่รู้สึกโดดเดี่ยวแล้วยังช่วยให้สามารถจัดการดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนอาจช่วยเหลือผู้ดูแลในการดูแลผู้ป่วยให้ในบางเวลา และหากเมื่อใดที่มีข้อตำหนิเกิดขึ้นก็รับฟังอย่างสุภาพ ให้ระลึกว่าข้อตำหนินั้นเป็นสิ่งที่ดีที่เราต้องปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงการดูแล

5. ใช้แหล่งการสนับสนุนช่วยเหลือในชุมชน หาแหล่งช่วยเหลือในชุมชน และใช้บริการ จากแหล่งช่วยเหลือนั้น เช่น การทำอาหาร การทำความสะอาด การดูแลช่วยเหลือกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย เป็นต้น

6. ใช้บริการสถานดูแลชั่วคราว สถานดูแลชั่วคราวที่ผู้ดูแลสามารถใช้บริการได้ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยใช้บริการจากสถานที่เหล่านี้ในการดูแลผู้ป่วยแทนผู้ดูแลชั่วคราว เพื่อให้ผู้ดูแลได้พักผ่อน หรือจัดการกับภาระกิจที่สำคัญและจำเป็นบางประการ

7. ฝึกการผ่อนคลาย วิธีฝึกการผ่อนคลายทำได้ ดังนี้

7.1 ท่าเตรียมเข้าสู่การผ่อนคลายทางร่างกายและจิตใจ: ให้อยู่ในท่านั่งหรือท่านอนก็ได้ที่เป็นท่าสบาย จัดเสื้อผ้า และเข็มขัดให้หลวม ปิดตา ขยับนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อเท้า หันตะแคงหน้าด้านซ้าย ด้านขวา ทำช้าๆ

7.2 เข้าสู่จิตนาการ: ท่านี้ยังหลับตา นึกถึงสิ่งที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นในชีวิต นึกถึงสถานที่เคยไป หรือสถานที่จินตนาการ เช่น ทะเล ภูเขาที่มีหิมะ จินตนาการถึงความรู้สึกที่สัมผัสได้ทั้งกลิ่น เสียง และความรู้สึกที่สัมผัสได้ หายใจเข้าออกลึกๆ ยาวๆ

วิธีการผ่อนคลายนี้สามารถกระทำได้ทุกวัน สิ่งที่ช่วยจินตนาการได้ คือ หนังสือ เทปเสียง หรือวิดีโอเทป ซึ่งสามารถช่วยจัดการความเครียดได้

8. การใช้เสียงหัวเราะ การผ่อนคลายความเครียดโดยการใช้เสียงหัวเราะ เป็นการยกระดับอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ทางบวกให้กับผู้ดูแลและผู้ป่วย หลักวิธีการใช้เสียงหัวเราะ มีรายละเอียด ดังนี้

8.1 พยายามทำให้เกิดอารมณ์รื่นเริงกับการดูแลผู้ป่วย

8.2 เขียนบัตรคำ “วันนี้คุณหัวเราะกับผู้ป่วย หรือยัง” ติดไว้ที่ห้องน้ำ ห้องครัว

8.3 อ่านหนังสือที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน ฟังเทปตลก ดูโทรทัศน์ หรือวิดีโอเทป ที่เป็นรายการที่รื่นเริง ทำให้หัวเราะ

8.4 สร้างอารมณ์สนุก รื่นเริงกับเพื่อน หรือผู้ดูแลคนอื่น

9. สร้างความมีคุณค่าในตนเอง โดยการคงรักษากิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมทำ

สิ่งที่รู้สึกสนุก เช่น ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง เดินเล่นกับเพื่อน โดยการจัดวางตารางการทำงาน และการพักผ่อน เพื่อให้รางวัลแก่ชีวิต ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับผู้ดูแล และผู้ป่วย

10. การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์ ถ้าสุขภาพร่างกายดีจะส่งผลให้ผู้ดูแลสามารถปรับตัวต่อการดูแลได้ดี ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้

10.1 การรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อทุกวัน รับประทานอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย เพียงพอเหมาะสม และมีความสมดุล ระวังเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

10.2 ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีวิธีการออกกำลังกาย เช่น การเดิน การวิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เป็นการออกกำลังที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อจัดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม 

10.3 การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการกับการแก้ปัญหากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี เป็นการพักผ่อนที่จะช่วยลดแรงกดดันต่างๆ เช่น อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เป็นต้น

10.4 การนอนหลับให้เพียงพอในแต่ละวัน กรณีที่นอนไม่เพียงพอจากการดูแลผู้ป่วยให้จัดหาคนมาช่วยเหลือในตอนเย็น และนอนพัก จัดหาวิธีช่วยผู้ป่วยที่นอนไม่หลับ โดยปรึกษาแพทย์ กรณีที่ไม่สามารถหลับได้เพราะเกิดความตึงเครียดจากการดูแล ให้นอนพักสายตา หายใจลึกๆ ยาวๆ สามารถช่วยได้ แต่ถ้าไม่หลับยาวนาน ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาช่วยให้นอนหลับ 
จากที่นำเสนอมาทั้งหมด ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรังทุกท่าน

ที่มา : http://www.eldercarethailand.com/content/view/160/27/#ixzz2JAoIhVDR


หมายเลขบันทึก: 517601เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2013 18:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท