Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ตอบ Watchj UW เรื่องแรงงานข้ามชาติ แรงงานต่างด้าว และแรงงานอพยพ


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖

คำถาม

คุณ Watchj UW ตั้งคำถามบน

https://www.facebook.com/wj.lawecon/posts/555150817828570 ว่า

“หากเปลี่ยนใช้คำจาก "แรงงานต่างด้าว" (Migrants Worker) เป็น "แรงงานข้ามชาติ" (Transnational Workers) คิดว่า จะทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา ในไทยที่เป็นอยู่ลดลงจริงเหรอ ? แรงงานสองกลุ่มนี้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

เพราะคำว่า "ด้าว" แปลว่า แดน, ประเทศ; "แรงงานต่างด้าว" คือ แรงงานต่างแดน แรงงานต่างประเทศ แต่หลายท่านมองจากแง่มุมการบริหาร การจัดการแรงงาน และต้องการแก้ไขปัญหาทัศนคติการแบ่งแยก จึงมีการเสนอให้ใช้คำว่า "แรงงานข้ามชาติ" แทน

ปัญหาหลักที่เจอ คือ อนุสัญญาเขาใช้กันว่า Migrants Workers งานต่าง ๆ ภาษาฝรั่งก็จะพูดถึง Migrants household workers, Migrants Construction Workers ผมร่างงานก็ใช้ภาษาเขา พอจะเขียนเป็นไทยกลับเป็นอีกคำ เดี๋ยวมันจะกลายเป็นคนละความหมาย

อยากถามผู้รู้ครับว่า ไอ้สองคำนี้ มันเหมือน ต่างหรือไม่ยังไงครับ คำหลังเริ่มใช้ในบ้านเราตั้งแต่เมื่อไหร่

อจ.ไหม Kitiwaraya Rattanamanee พอจะทราบป่าวครับ”

คำตอบ

แม้ผู้ถามมิได้ถาม อ.แหวว แต่ อ.แหวว ก็อยากตอบ

ความคิดที่จะใช้คำว่า “แรงงานข้ามชาติ (Transnational workers) อย่างนี้ล่ะที่เป็นความคิดที่ อ.แหววได้ยินเป็นครั้งแรกๆ จาก รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล แห่งสถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในประมาณ พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา และคนทำงานเพื่อสิทธิของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่มีแนวคิดแบบมนุษย์นิยมก็ยอมรับใช้ต่อมา จนถึงปัจจุบัน  

แต่สำหรับ อ.แหววแล้ว เราคงปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า มีคำว่า คนต่างด้าว (alien) ในระบบกฎหมายโลกจริง ดังนั้น คำว่า คนต่างด้าว ก็คือมนุษย์พวกหนึ่งที่อาจจะเป็นคนสัญชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลก แต่มาปรากฏตัวเป็นคนต่างด้าวในประเทศที่ตนไม่มีสัญชาติ คนต่างด้าวไม่อาจถูกปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การไม่สนใจคำนี้ ก็อาจปฏิเสธโอกาสที่จะพัฒนาแนวคิดทางกฎหมายในเรื่องนี้ ไม่ว่า เราจะใช้คำว่า "แรงงานข้ามชาติ" เพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "แรงงานที่ข้ามชาติมาจากต่างประเทศ" บางคนและอาจส่วนใหญ่เป็น "คนต่างด้าว" มิใช่ "คนชาติหรือคนสัญชาติ"

นอกจากนั้น คำว่า "คนข้ามชาติ" หรือ "แรงงานข้ามชาติ" อาจหมายถึง "คนสัญชาติไทยที่ข้ามชาติมาจากต่างประเทศ" คนในสถานการณ์นี้อาจจะเป็นคนจำนวนน้อย แต่ก็มีอยู่ และอาจมี "คนสัญชาติไทยที่ข้ามชาติไปทำงานในต่างประเทศ" การศึกษาเรื่องแรงงานข้ามชาติจึงต้องศึกษาอย่างรอบด้าน

อีกประการ คำว่า Migrant น่าจะแปลว่า คนอพยพ หรือ คนย้ายถิ่น ไม่น่าแปลว่า คนต่างด้าว ซึ่งน่าจะมาจากคำว่า alien ซึ่งเป็นภาษากฎหมายที่แปลว่า ไม่มีสัญชาติของรัฐ กล่าวคือ มิใช่คนสัญชาติหรือคนชาติ (national) ดังนั้น Migrant Workers จึงน่าจะแปลว่า แรงงานอพยพ ค่ะ แต่เป็นมนุษย์ที่มีแนวโน้มเป็นคนต่างด้าวของรัฐเจ้าของดินแดนที่พวกเขาอพยพเข้ามา สหประชาชาติจึงตระหนักในความจำเป็นที่จะทำความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องถึงสิทธิของพวกเขาและครอบครัว จึงได้ผลักดันอนุสัญญาขึ้นมา ๑ ฉบับเพื่อคุ้มครองสิทธิของพวกเขาและครอบครัว อันได้แก่ “อนุสัญญาแห่งกรุงนิวยอร์ค ค.ศ.๑๙๙๐/พ.ศ.๒๕๓๓ ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานอพยพทั้งปวงและสมาชิกครอบครัวของเขา (International Convention on the Protection of the Rights of All Migrant Workers and Members of Their Families)[1]

แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทย และ ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่มิได้เป็นภาคีของอนุสัญญานี้ นัยยะของเรื่องนี้ ก็คือ ประเทศไทยไม่ผูกพันตามอนุสัญญานี้ จึงไม่ต้องกังวลที่จะต้องปฏิบัติต่อแรงงานอพยพในมาตรฐานของอนุสัญญานี้ ในขณะที่รัฐต่างประเทศอื่นในประชาคมอาเซียนก็คงไม่มีกังวลที่จะปฏิบัติต่อแรงงานไทยที่อพยพเข้าไปทำงานในประเทศเหล่านั้นเช่นกัน



[1] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ถามตอบว่า ICMW คืออะไร ? เกี่ยวข้องกับประเทศไทยหรือไม่ ?, เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ http://www.gotoknow.org/posts/517588


หมายเลขบันทึก: 517594เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2013 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท