มัชฌิมาปฏิปทา...


ความคิดอย่างนี้มันตกอยู่ในที่สุดสองทาง มันติดในความสุขความทุกข์ ถ้าเราไปติดในสุข ทุกข์เราก็ได้รับแน่นอน ถ้าเรามาทำที่สุดแห่งทุกข์ คือให้ใจของเราไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งสุขทุกข์ โลกธรรมไม่สามารถครอบงำจิตใจของเราได้ ใจของเราจะถูกเขาซื้อด้วยเงินไม่ได้ เพราะเรามาเข้าใจแล้วว่าสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เรามีปัญหาเกิดปัญหา “พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมอย่างนี้ ปัญจวัคคีย์โกณฑัญญะก็ได้เป็นพระขีณาสพ...”

เล่าเรื่อง ดอกบัว ๔ เหล่า และทรงโปรดปัญจวัคคีย์

เราทุก ๆ คนที่พากันเกิดมา มันมีความต้องการความสุขทางกาย ไปเน้นเอาความสุขทางกาย 


เราลองคิดดูที่เรามองเห็นตัวเองและเห็นทุก ๆ คน มันชอบความสุขทางกาย ติดความสุขทางกาย ที่เราพากันหาเงินทองทำงานการทุกอย่างก็เน้นความสุขทางกายอย่างเดียวนะ เน้นอารมณ์ที่จะไปสวรรค์ ที่มันวิตกกังวลจนเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ มีปัญหามากมาย เพราะวิตกกังวลเรื่องความสุขทางกายกัน

ความสุขทางกายที่เราพากันแสวงหาบางครั้งมันก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง แม้แต่เรามาบวชมาปฏิบัติก็ยังไม่พ้นที่มาติดความสุขทางกายทางวัตถุ เมื่อกายเราไม่ได้ไปตามความคิดเราก็ต้องมีความทุกข์อีก 

ความสุขกับความทุกข์มันก็เหมือนกับหายใจเข้าหายใจออกอย่างนี้ มันก็มีสองอย่างอย่างนี้นะ 

การประพฤติปฏิบัติของเรานี้แหละ เรากำลังเดินไปทางทิศตะวันตก พระพุทธเจ้าท่านกำลังบอกเราว่าเรากำลังเดินทางผิดกัน ให้หันหลังกลับไปทางทิศตะวันออก ปฏิบัติสุขเราก็ไม่เอา ทุกข์เราก็ไม่เอา สุขมันก็เป็นอารมณ์ทุกข์มันก็เป็นอารมณ์ 


อารมณ์มันเกิดมาจากอะไร...? อารมณ์มันเกิดมาจากร่างกายนี้แหละ 

ถ้าเราจะไปเอาความสุขเราก็ติดอยู่ในสักกายทิฐิ ติดในตัวตน มีตัวตน ชอบสุขเกลียดทุกข์ มีชอบไม่ชอบ สิ่งสองอย่างนี้มันแยกกันไม่ได้

พระพุทธเจ้าท่านพยายามให้เรามีความเห็นให้ถูกต้อง ถ้าเรายังพอใจในความสุขอยู่ทุกข์เราก็ต้องได้รับแน่นอน ร่างกายของเรามันมีความสุข เราก็สักแต่ว่าเรามีความสุข ร่างกายของเรามีความทุกข์ก็สักแต่ว่าเรามีความทุกข์ ถ้าเรามีความอยากเมื่อไหร่ เราก็มีความทุกข์ทันที มันอยู่ที่ว่าอยากมากก็ทุกข์มาก อยากน้อยก็ทุกข์น้อย 

ถ้าไม่อยากเราจะเรียนหนังสือทำไม ถ้าไม่อยากเราจะทำงานทำไม...?

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราทำไปเพื่อเสียสละ เพื่อละตัวละตน เพื่อความไม่มีตัวไม่มีตน อริยมรรคมีองค์ ๘ ตั้งแต่ข้อ ๑-๘  คือข้อปฏิบัติที่ละตัวละตน คือเรื่องที่ไม่เอาไม่มีไม่เป็น เป็นเรื่องที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น 

คนเราถ้ามันมีตัวตน มันต้องมีเรื่องแน่มีปัญหาแน่ ไม่มีเรื่องกับตัวเองก็ต้องมีกับคนอื่น 

“ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยาก เพื่อสั่งสมความอยาก สั่งสมข้าวของเงินทอง ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า”

คำว่าสั่งสมนั้นหมายถึงใจของเรามันสั่งสม ที่เราทำไปให้เราทำไปเพื่อเสียสละเพื่อไม่เห็นแก่ตัว อย่างเราทำการทำงาน พระพุทธเจ้าท่านให้เราเก็บไว้ส่วนหนึ่ง ให้กับสมณะชีพราหมณ์หรือคนยากจนให้พ่อให้แม่ อีกส่วนหนึ่งไว้สำหรับทำทุน


ทำไมท่านถึงให้เราทำอย่างนั้น...?

เพราะเราไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน เราทานข้าวเราก็แก่ อีกไม่นานมันก็จะทำงานไม่ได้ เมื่อมันทำงานไม่ได้ เราจะได้เอาปัจจัยที่เก็บไว้ในเวลาที่แข็งแรงไว้ดูแลอัตภาพ ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ จ้างให้คนเขาดูแล

ร่างกายไม่ใช่ของเรา มันเป็นธรรมะ เราต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เมื่อเราแข็งแรงไม่เก็บสตางค์ไว้เราต้องเป็นทุกข์เมื่อแก่ 

อย่าได้พากันเข้าใจผิดว่า ร่างกายไม่ใช่ของเราแล้วว่าอะไรก็ไม่ใช่ของเรา ไม่รู้จักเก็บเงินเก็บสตางค์ คิดอย่างนั้นไม่ถูก ไม่รอบคอบ 

การปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้าท่านให้เราวางแผนชีวิต... 

โยมเป็นฆราวาส ทำหน้าที่ของความเป็นฆราวาส มีศีล ๕ วันปกติ มีศีลอุโบสถวันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ

พระพุทธเจ้าท่านให้เราเน้นเข้าหาอริยมรรคมีองค์ ๘ เอาอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหลัก ถ้าเราปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ถูกต้องสมบูรณ์ เราไม่ต้องไปคิดอะไร เพียงเราปฏิบัติตามอริยมรรคถูกต้องก็สามารถเป็นพระอริยเจ้าได้ 


สมณะที่ ๑ ๒ ๓ และ ๔ อยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่เกี่ยวว่าเป็นชายเป็นหญิงเป็นนักบวชหรือสมณะชีพราหมณ์ ถ้าใครปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อไม่มีตัวไม่มีตน...

คนเรามันคิดหนัก คิดไม่ถึงว่าจะเป็นได้อย่างไร...? พระพุทธเจ้าท่านบอกเรานะ คนเราถ้าละตัวละตนได้ จะสัมผัสกับพระนิพพาน 

เราไม่ต้องไปมีรถมีบ้าน มีเงินมีทอง มันก็จะมีความสุข เพราะชีวิตของเราเป็นชีวิตที่ประเสริฐ ปราศจากการครอบงำทางวัตถุ ความทุกข์ทางวัตถุ 

ร่างกายของเราก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง... “ร่างกายมันครอบงำเราไม่ได้ มันเจ็บอย่างนี้ ใจของเรามันก็ไม่เจ็บกับกาย ใจของเราไม่ไปปรุงไปแต่ง ใจของเรามันหยุดอยู่ที่สัมมาสมาธิ ร่างกายของเรามันแก่แต่ใจของเรามันไม่แก่ ร่างกายของเราจะเป็นอย่างไร ความสวยความหล่อมันครอบงำจิตใจของเราไม่ได้” 


ความคิดอย่างนี้มันตกอยู่ในที่สุดสองทาง มันติดในความสุขความทุกข์ ถ้าเราไปติดในสุข ทุกข์เราก็ได้รับแน่นอน ถ้าเรามาทำที่สุดแห่งทุกข์ คือให้ใจของเราไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งสุขทุกข์ โลกธรรมไม่สามารถครอบงำจิตใจของเราได้ ใจของเราจะถูกเขาซื้อด้วยเงินไม่ได้ เพราะเรามาเข้าใจแล้วว่าสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เรามีปัญหาเกิดปัญหา “พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมอย่างนี้ ปัญจวัคคีย์โกณฑัญญะก็ได้เป็นพระขีณาสพ...”

เราพากันมาเดินตามรอยของพระพุทธเจ้านะ เราไม่มาเดินตามรอยของพญามาร 

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เรามาติดสุข สุขมันก็มีทุกข์ตามมาทำให้วุ่นวายเกิดแก่ตลอดทั้งวัน เบื้องต้นเกิดทางจิตใจ เทวดา ยักษ์ เปรต อสุรกาย มันสลับไปสลับมา เพราะอะไร...? เพราะว่าเราไปติดความสุข...!

นักปฏิบัติของเราถ้าติดสุขปัญญามันไม่เกิดหรอก... “มันเป็นนิพพานมืดไม่ใช่นิพพานสว่าง มีเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้”

เราพากันติดสุขมากจริง ๆ... พระพุทธเจ้าท่านถึงพูดให้เราฟังอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ท่านก็พูดให้เราฟังอย่างนี้ ถ้าเรามาติดสุขติดสบายอย่างนี้มันเป็นโมฆะบุรุษ โมฆะสตรี 


เราบริโภคข้าวบริโภคอาหาร หลับนอนเพื่อเจริญจิตใจของเรา เพื่อออกจากทุกข์ เพราะการได้ยินได้ฟังไม่ใช่จะได้บรรลุ มันต้องทำความเพียร มันต้องปฏิบัติ เหมือนต้นไม้ปลูกเดี๋ยวนี้ไม่ใช่จะออกลูกเลย มันต้องอาศัยการดูแลอีกหลายปีกว่ามันจะออกดอกออกผล 

เราบริโภคอาหารเพื่อให้ร่างกายอยู่ได้ เพื่อที่จะได้สร้างความดีสร้างบารมี เพื่อจิตใจจะไม่ได้หลง ขนาดพระอนาคามีก็ยังมีความหลงอยู่เล็กน้อย สำคัญว่าตนเองดีกว่าเขาด้อยกว่าเขา มันสำคัญตัว เพราะมันยังมีตัวมีตนอยู่ 

มันต้องพัฒนาอบรมบ่มอินทรีย์ไปนะ...

ที่พระพุทธเจ้าท่านห่วงคือพวกเราจะหลงปนกัน จะมาเอาความสุขกับเป็นเอาความทุกข์กัน ไม่อยากทำก็อยากได้ รวยแล้วอยากถูกหวยถูกเบอร์อยู่ มีลูกหลานห่วงเขาว่าจะไม่ร่ำไม่รวย เรามันติดจริง ๆ ไม่สามารถดับทุกข์ได้ ใฝ่หาแต่วัตถุภายนอก

พระพุทธเจ้าท่านให้เราไปไกลกว่านั้น ท่านห่วงเรากลัวเราจะหลง เราก็ต้องฟังท่านบ้าง มันก็ไม่ใช่ง่ายไม่ยาก แต่เป็นสิ่งที่เราต้องปฏิบัติให้พอเหมาะพอดี จิตใจของเราก็จะได้รับความสงบไปเรื่อย ๆ 


ที่เราเดินตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ใหม่ ๆ มันอาจจะยุ่งยากหน่อย เมื่ออินทรีย์บารมีแก่กล้า เราจะเป็น “เศรษฐีธรรม” 


ส่วนใหญ่อันนี้แหละไม่ยอมอดไม่ยอมทน... 

ทำความเพียรมันต้องตั้งใจชอบ เพียรให้ถูกต้อง “เพียรหาเอาความสุขยังไม่ใช่ความเพียรชอบนะ...” มันเพียรหลงแข่งขันกัน มีทั้งเหลี่ยมทั้งคมกลิ้งแข่งขันกัน ไม่ใช่ความเพียรชอบ ไม่ใช่ละความเห็นแก่ตัว มันเป็นเรื่องสร้างความหลง อัตตาตัวตนมันก็ยิ่งใหญ่

ให้แข่งขันกันตั้งใจทำความดีเพียรพยายามปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อทำที่สุดแห่งกองทุกข์ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...


พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 517596เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2013 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2013 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

.... ทำความเพียร .... ต้องตั้งใจ "จริงๆ " ลงมือทำจริงๆ .... ความเพียร .... หลักของความดีในพุทธศาสนา นะคะ

สาธุ  บรรยายได้ใจแท้ แม้ว่าจะง่วง พอได้อ่านไปสามบันทึก ความง่วงก็พลันหายไป เหลือแต่ใจที่ตั้งมั่น ในความเพียรต่อไป และแน่ใจว่าจะไม่หลงทางอีก

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท