บางแง่มุมของความรู้...ที่ครูบางคนยังไม่รู้


ความรู้คือข้อมูลที่ได้รับการจัดการให้มีความหมายสำหรับตนเอง

บางแง่มุมของความรู้...ที่ครูบางคนยังไม่รู้

                                                                                                                                           เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


       

         

         เมื่อเร็วๆ นี้มีคำถามที่น่าสนใจถามกระผมเข้ามาเกี่ยวกับ "เป้าหมายของการศึกษา" ด้านสำคัญ ที่ว่าด้วยการสร้างคนให้มี  "ความรู้" ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครู ที่สังเกตและสังกาการก่อร่างสร้างความรู้ของนักเรียนมาโดยตลอด จึงขอตอบคำถาม ที่สงสัยว่า ความรู้คืออะไร และเราจะทำให้เกิดในชั้นเรียนภาษาไทยได้อย่างไร ด้วยสำนวนภาษากึ่งทางการ หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะไม่ว่ากระไรนะครับ...   

       

         เรามักจะได้ยินคำสั่งจากกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ว่า เป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนคือต้องมีความรู้...และ....(อื่นๆ ที่ต้องการอีกเป็นจำนวนมาก) แต่ความรู้นั้นมักมาเป็นอันดับแรกเสมอ  เวลาใครๆ พูดถึงความรู้ท่านผู้อ่านนึกถึงอะไรครับ ความรู้คืออะไร คำถามนี้เป็นคำถามเชิงปรัชญาสาขาญาณวิทยาเชียวนะครับ


         กระผมเองอ่านปรัชญาการศึกษาก็มาก เขียนถึงปรัชญาก็มาก โดยเฉพาะปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม       ถ้าพูดถึงความรู้แล้วล่ะก็ โดยสรุปความรู้ก็คือ  ข้อมูลที่เราได้ดำเนินการจัดการมันให้อยู่ในรูปแบบที่เราเข้าใจความหมาย คำว่าข้อมูลนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “information” ในขณะที่ความรู้ คือ “knowledge” สองคำนี้ต่างกันครับ


          สมมติว่ากระผมฟังอาจารย์นามอุโฆษท่านหนึ่ง บรรยายเรื่อง “การแพร่กระจายของนิทานพระราม” ขณะที่นั่งฟังอยู่กระผมก็ตั้งหน้าตั้งตาจด (เหมือนกับที่เราสั่งให้นักเรียนจดตามที่เราสอนอย่างไรเล่าครับ)  ไม่พอ กระผมยังใช้เครื่องมือบันทึกเสียงวิทยากรไว้อีก แล้วนำมาถอดคำบรรยายลงสมุด สิ่งที่ผมจดได้บันทึกได้นั้น เรียกว่าอะไรครับ ...ข้อมูลหรือความรู้?....


         หลายท่านตอบได้ถูกต้องครับ สิ่งที่ผมจดมาได้คือข้อมูลครับ เป็นข้อมูลดิบๆ ที่เราได้มาจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ข้อมูลนั้นยังไม่ใช่ความรู้ เพราะเหตุใดเล่า คำตอบก็คือ เพราะเรายังไม่ได้ดำเนินการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งกับมันเลยครับ แล้วการจัดการคืออะไร


          คำว่าการจัดการ หรือ “organizing” คือการทำให้ข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้ามาอยู่ในรูปแบบที่มีความหมายสำหรับตัวเราเอง  ถ้ากระผมนำข้อมูลนิทานพระรามที่บันทึกได้ มาจัดให้เป็นแผนภาพลำดับเรื่อง ว่านิทานพระรามมีพัฒนาการในแต่ละช่วงเป็นมาอย่างไร หรือจัดทำเป็นตารางเปรียบเทียบ วาดเป็นแผนผัง แผนภาพสรุป หรือจัดให้อยู่ในรูปแบบใดก็ได้ที่กระผมสามารถจดจำได้ง่ายๆ เหล่านี้ จะเรียกว่าความรู้แล้วครับ แต่อย่าลืมเด็ดขาดว่า ความรู้คือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในความคิดหรือภายในสมองของเรา แผนภาพ แผนผัง ตาราง เหล่านี้ ไม่ใช่ตัวความรู้   แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความรู้ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านการจัดการเรียบร้อยแล้วครับนักวิชาการคือ Gagn’e (1974: 60)  อธิบายไว้สรุปได้ว่า ยิ่งนักเรียนจัดการข้อมูลเดิมให้มีความหมายกับตัวพวกเขาได้มากเท่าใด ก็จะเป็นเรื่องง่าย ที่นักเรียนจะเรียนรู้และจดจำข้อมูลใหม่ ที่สัมพันธ์กันได้มากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น ต่อไป เมื่อกระผมไปอ่าน ฟัง ดูเรื่องราวที่เกี่ยวกับนิทานพระรามจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ กระผมก็จะจดจำและทำความเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น 


          คราวนี้ ย้อนกลับมาพิจารณาในชั้นเรียนของเรา ถ้าเราให้นักเรียนจดบันทึกสิ่งที่เราพูด บอกหรือสอนแค่นี้ นักเรียนจะยังไม่เกิดความรู้หรอกครับ แต่ถ้าเราใช้วิธีการหรือกลวิธีบางอย่างเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนจัดการข้อมูล นักเรียนจึงจะเริ่มสร้างความรู้ครับ เช่น ผมสอนวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์  ตอน  นารายณ์ปราบนนทก โดยการถอดความเรียบร้อยแล้ว นักเรียนทราบแล้วว่า ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างไร ผมอาจให้นักเรียนทำแผนภาพสรุปเหตุการณ์สำคัญ หรือให้นักเรียนตอบคำถามโดยใช้เนื้อหานั้นประมวลมาตอบ แต่ทั้งนี้จะต้องระวังว่า  ไม่ควรใช้คำถามที่เน้นข้อมูลหรือความจำมากเกินไป เพื่อให้เกิดการสร้างความรู้ คำถามที่ใช้ควรจะเป็นคำถามให้นักเรียนคิดหลายๆ ชั้นหน่อยครับ เช่น  “นักเรียนคิดว่า การฆ่านนทกของ  พระนารายณ์เป็นการกระทำที่สมควรแก่เหตุหรือไม่”  “การที่นนทกเรียกร้องความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไร” “พระอิศวรแก้ปัญหาโดยการให้พระนารายณ์ไปสังหารนนทกเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด” เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ถ้าท่านเองจะต้องคำถามเหล่านี้   ก็จะต้องใช้ข้อมูลทั้งหมดที่ได้เรียนไป เพื่อประมวลมาตอบ นั่นก็แสดงว่า ท่านกำลังจัดการข้อมูลบางอย่างอยู่ คำตอบของท่านและสิ่งที่ท่านพยายามจะอธิบายออกมานั่นแหล่ะครับ ที่เรียกว่าความรู้ เพราะข้อมูลได้รับการประมวลผลหรือนำมาคิดกลั่นกรองเรียบร้อยแล้ว 


           ฝากไว้เป็นประเด็นสรุปให้คิดว่า การให้แต่ข้อมูลมากๆ แต่ไม่ให้นักเรียนนำข้อมูลมาทำอะไรเลย ไม่ใช่การสร้างความรู้  เมื่อความรู้ไม่ถูกสร้าง ก็จะไม่จดจำ ก็จะไม่มีความหมายและลืมไปในที่สุด ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า  “สอนวันนี้ พรุ่งนี้ถามก็ลืม” นี่เพราะสิ่งที่เด็กรู้คือข้อมูล ไม่ใช่ความรู้ครับ ท่านผู้อ่านที่เป็นครูอยู่แล้ว คงพอจะทราบแนวทางแล้วว่า เราควรจะทำอย่างไรให้เด็กสร้างความรู้ขึ้นจริงๆ ในชั้นเรียนของเราครับ 


_______________________________________


หมายเลขบันทึก: 517499เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2013 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2013 12:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การให้แต่ข้อมูลมากๆ แต่ไม่ให้นักเรียนนำข้อมูลมาทำอะไรเลย ไม่ใช่การสร้างความรู้  เมื่อความรู้ไม่ถูกสร้าง ก็จะไม่จดจำ ก็จะไม่มีความหมายและลืมไปในที่สุด 


ลูกชายพี่เคยถามแม่ทำนองนี้ค่ะ เป็นประเด็นน่าคิด น่าสงสัยทั้งผู้สอนและผู้เรียนนะคะ

เวลาที่สอนอยู่ทุกวันนี้ มีสองส่วนที่น่าสนใจ คือ การทำให้ผู้เรียนจำความรู้เดิมที่มีคนกล่าวไว้ กับการให้ผู้เรียนสร้างความรู้ของตนเองขึ้นมาจากความรู้ของผู้อื่นอีกชั้นหนึ่ง  ส่วนใหญ่เรามักจะอยู่กันที่ขั้นตอนแรก ผมว่าจะอนุโลมได้ครับว่า เป็นการสร้างความรู้ตามแบบคนอื่น แต่ครูทั้งหลาย ก็ควรที่จะพัฒนาผู้เรียนให้นำความรู้เหล่านั้นต่อยอดไปทำอะไรต่าง ๆ  ด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท