จุดเชื่อมความแยกส่วนกับความเป็นองค์รวมบนวิธีนิยามปรากฏการณ์ ตัวแปร ระดับการวัด และการพัฒนาวิธีมองความจริง


                               

การวิจัยสร้างองค์ความรู้ เป็นการเข้าถึงความจริงทางปรากฏการณ์ที่ศึกษาในมิติต่างๆนับแต่ระดับที่สังเกตได้ด้วยวิธีการต่างๆของเรา นับแต่สังเกตวิธีการธรรมชาติ พัฒนาเครื่องมือและวิธีการช่วย จำลองสถานกานณ์ขึ้นมาตรวจสอบและสังเกต จากนั้นจึงวิเคราะห์ แปรผล บันทึกรายงานผล และเผยแพร่ ดังนั้น จึงเปรียบเสมือนการสร้างความรู้เชิงปรากฏการณ์ที่ศึกษาขึ้นมาชุดหนึ่งแล้วก็เล่าเรื่องเพื่อแสดงผล อธิบาย ถ่ายทอดและนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นจริงในทุกมิติให้ครอบคลุมความต้องการได้อย่างดีที่สุด การออกแบบกรอบในการเข้าสู่ความเป็นจริงของปรากฏการณ์ ดังแผนภาพข้างบน จึงเป็นการออกแบบเชิงระบบวิธีคิดและการออกแบบแนวคิดในการมอง หรือเป็นกรอบแนวคิด สำหรับพัฒนากรอบแนวคิดทฤษฎีการวิจัย (Conceptual and Theoretical Framework) อีกทีหนึ่ง ที่ไปไกลกว่าการอิงอยู่กับข้อจำกัดของความรู้และทฤษฎีแบบแยกส่วน โดยใช้ประเด็นความสนใจของสังคมและตัวปรากฏการณ์ที่มีความเป็นส่วนรวมของผู้คนในทุกสาขา เป็นข้อมูลสำหรับออกแบบกรอบอ้างอิงเฉพาะปรากฏการณ์ ซึ่งก็จะทำให้เกิดโครงสร้างในการบริหารจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมตามที่ชุมชนและสังคมต้องการในวาระต่างๆที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและถอดบทเรียน ที่สำคัญคือ ....

  • เป็นกรอบและเครื่องมือกุมกระบวนการสนทนาและปรึกษาหารือชุมชน (Community Consultation) เพื่อวิเคราะห์และสำรวจประสบการณ์เบื้องต้น ให้เห็นสิ่งที่มีความหมายและเป็นต้นทุนศักยภาพของชุมชน เป็นทุนเดิมที่มีอยู่ในสังคมในมิติต่างๆ เช่น ทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ทุนทางศิลปวัฒนธรรม ทุนมนุษย์และภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาส่วนรวมของชุมชน ทุนทางระบบนิเวศน์ ทุนทางวัฒนธรรมการเมืองและการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติของชุมชน เหล่านี้เป็นต้น ทำให้ชุมชนเครือข่ายชุมชนผู้ปฏิบัติ และกลุ่มเป้าหมายต่างๆที่มีส่วนร่วมอยู่ในเวทีถอดบทเรียน สามารถค้นหาเรื่องที่มีความสนใจสอดคล้องกัน พร้อมกับเป็นกระบวนการสร้างประสบการณ์ทางสังคมให้กับปัจเจกและชุมชนบนเวที ให้ได้เข้าถึงมิติต่างๆในสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคมและเกิดการเรียนรู้กระบวนการอยู่ร่วมกันและการจัดการตนเองร่วมกัน ระดับได้ความซาบซึ้งด้วยตนเอง พัฒนายกระดับไปตามความสามารถในการดำเนินการที่ต่อเนื่อง
  • เป็นกรอบในการทำงานคิดสร้างสรรค์เป็นกลุ่ม (Collective and Community-Based Creative Design) เพื่อได้เค้าโครงและพล๊อตเรื่องเหตุการณ์สำหรับทำการศึกษา สื่อสาร นำเสนอและถ่ายทอดปรากฏการณ์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการระดับออกแบบทางความรู้ วิธีคิดวิธีมอง วิธีจัดความสัมพันธ์และเข้าถึงความจริงต่างๆได้อย่างสร้างสรรค์และจะสามารถทำให้การศึกษาวิจัยและการถอดบทเรียนได้ความรู้ที่มีความหมายที่สุดตามบริบทและบนเงื่อนไขเฉพาะของชุมชน ตลอดจนเป็นการออกแบบทางข้อมูล (Knowledge-Based Information Design) ให้สามารถเข้าถึงมิติความเป็นนามธรรมต่างๆของข้อมูลและสารสนเทศของปรากฏการณ์ ทั้งระดับ Text and Nontext, Visual and Image, Verbal and Nonverbal Langague, Sound and Audio,Situation and Event, Movement and Sensation, Mind and Spirituallity เหล่านี้เป็นต้น
  • เป็นกรอบในการเก็บรวบรวมข้อมูล ใช้เป็นกรอบสำหรับทำการระดมสมองและเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงของการทำการศึกษา วิเคราะห์ คิดใคร่ครวญ และแสวงหาความเข้าใจร่วมกันต่อปรากฏการณ์ต่างๆ
  • เป็นกรอบในการประมวลผลและนำเสนอข้อมูล ใช้เป็นกรอบสำหรับพัฒนากระบวนการนำเสนอและรายงาน
  • เป็นเค้าโครงและพล๊อตเรื่องเล่า 
  • เป็นสื่อ เครื่องมือ และวิธีสื่อสารการวิจัย ใช้เป็นสื่อ เครื่องมือ และวิธีสื่อสารการวิจัย ตลอดจนเรื่องเล่าต่อปรากฏการณ์ต่างๆของชุมชน ให้เป็นภาษาแผนภาพระบบวิธีคิดและแสดงเรื่องราวให้สัมผัสความเป็นชุดความรู้เชิงปรากฏการณ์ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะโดยเห็นบริบททางสังคมสิ่งแวดล้อม พัฒนาการเชิงประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ตัวเดินเรื่องเหตุการณ์ที่มีความหมายต่อภาคประชาชนและชุมชน ชุดเหตุปัจจัยเชิงบวกและลบที่มีนัยสำคัญต่อปรากฏการณ์ ซึ่งทำให้สังคมเกิดสติปัญญาและความลึกซึ้งมากขึ้นจากความมีประสบการณ์ต่อสังคม และสามารถนำไปเป็นแนวบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคตด้วยตนเองได้  
  • เป็นสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา ที่อิงอยู่กับความเป็นชุมชน ให้กระบวนการเรียนรู้เพื่อคลายความแยกส่วนและส่งเสริมการพัฒนาความมีจิตสาธารณะของปัจเจก ให้ความหมายแก่สื่อบุคคลและมิติชุมชนเป็นอันดับแรกก่อนพิจารณาไปยังเครื่องมือและปัจจัยภายนอกซึ่งจะลดศักยภาพในการพึ่งตนเองของคนและชุมชนให้น้อยลงไป จากนั้น จึงจะทำให้การใช้สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาดำเนินการขึ้นอย่างมีความมีเหตุมีผล เกิดความเหมาะสม ความพอเพียง ในการเลือกสรรค์ทางวิทยาการและเทคโนโลยีเข้าสู่การผสมผสานกับกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรม โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นสิ่งใหม่ในท้องถิ่นและสิ่งที่ทันสมัยก้าวหน้าอยู่อย่างไร

                                         

ตัวแปร ระดับและวิธีการวัด ที่จะส่งผลต่อวิธีมองปรากฏการณ์ ระบบวิธีคิด การสังเกต และจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปยังการสร้างและใช้ความรู้ ในวิถีการดำเนินชีวิตและสร้างกิจกรรมต่างๆของสังคม

                                     

ชุมชนที่มีบริบทการก่อเกิดและพัฒนาการตั้งถิ่นฐานถิ่นอาศัยในชนบท ทำมาหากินและดำเนินชีวิตจากการทำเกษตรกรรม ความทุกข์สุข แรงกดดันต่อชีวิต ตลอดจนเบ้าหลอมต่อระบบวิธีคิดเกี่ยวกับความสุขความทุกข์ ก็ย่อมอิงอยู่กับสภาพการเป็นอยู่ ทำนองเดียวกันในทางตรงกันข้ามและอย่างผกผันกับผู้คนและชุมชนที่อยู่ในสังคมเศรษฐกิจชุมชนเมือง เช่น เกษตรกรและชุมชนในชนบทที่พอใจและมีความสุขในวิถีชีวิตชนบท หากจำแนกแบบแยกส่วนและแยกเป็นกลุ่ม ก็จะกลายเป็นว่าความเป็นสังคมเมืองเป็นสภาพที่ไม่มีความสุข ส่วนคนอยู่ในเมือง หากมีความสุขและความสะดวกสบาย ก็เป็นกลุ่มความคิดที่ให้ความหมายความเป็นวิถีชีวิตเมืองว่ามีความสุขและชนบทไม่มีความสุข หรือหากได้รับแรงกดดันจากวิถีชีวิตในเมือง ใฝ่ฝันการดำเนินชีวิตแบบชนบท ก็บอกว่าความเป็นชนบทมีความสุขและให้ความเป็นเมืองเป็นสภาพที่ไม่มีความสุข ในมิติการเข้าถึงความหมายของความสุข จึงจะต้องมีด้านใดด้านหนึ่งอย่างแน่นอนที่จะได้คะแนน ๑ และไม่ได้คะแนนหรือได้ ๐   

                                      

กิจกรรมและเหตุการณ์ทางสังคมตลอดจนปรากฏการณ์ต่างของสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ซึ่งมีความหมายไกลออกไป ก็จะกลายเป็นเรื่องราวพ้นไปจากตนเอง ไม่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ความสุข เป็นเรื่องของคนอื่น เป็นเรื่องของรัฐบาล ที่ไม่ควรใส่ใจและถือเป็นธุระ 

                                      

การอยู่ร่วมกัน แต่วิธีคิดวิธีมอง การสร้างและการใช้ความรู้ มีรากฐานความแยกส่วน จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะนำไปสู่การก่อเกิดสังคมวัฒนธรรมแบบแยกส่วน สร้างความทุกข์และการมีความสุขแบบแยกส่วน รวมทั้งจำแนกความเป็นกลุ่มเหตุการณ์ออกจากกันได้บนวิธีการทางความรู้

                                      

การมีส่วนร่วมด้วยการใคร่ครวญลึกซึ้งและแยบคายดีแล้วจึงปฏิบัติตามกำลังและในเงื่อนไขชีวิตของเรา ตลอดจนความรู้ ความคิด สติปัญญา การความเติบโตงอกงามทางด้านจิตใจ อารมณ์และความรู้สึก สุนทรียภาพของชีวิต ที่นำมาใช้เป็นองค์ประกอบการปฏิบัตินั้น จะส่งเสริมกำลังให้ปัจเจกมีความเป็นตัวแปรและปัจจัยเบื้องต้นในการแก้ปัญหาและริเริ่มทำสิ่งต่างๆให้บรรลุจุดหมายเพื่อตนเองและสังคมส่วนรวมที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง ดังนั้น การพัฒนาวิธีคิด วิธีมอง วิธีศึกษา วิธีสังเกต วิธีเรียนรู้ และวิธีสร้างความรู้เชิงประสบการณ์ต่อเรื่องราวต่างๆ หากทำให้มีความเป็นองค์รวม ผสมผสาน เห็นแนวทางในการเชื่อมโยงกัน ให้เป็นกรอบทรรศนะในระดับพื้นฐานเสียก่อน จึงเป็นการทำงานความรู้ที่จะทำให้เกิดมิติบูรณาการ ลดความแยกส่วน และนำไปสู่การสร้างความเป็นองค์รวมให้เกิดขึ้นได้บนกระบวนการทำงานเชิงสังคมให้เกิดมรรคผลดังที่พึงประสงค์ได้ในลำดับต่อๆไป

                                      

ความแยกกลุ่ม แยกส่วน และแยกขั้ว คลายความสำคัญและหายไป กลายเป็นสิ่งเดียวกันที่มีลำดับพัฒนาการเชื่อมโยงและต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ความมีกับไม่มี ความสุขกับความทุกข์ ไม่ได้แยกเป็นคนละอย่าง  ความทุกข์ มีความหมายเดียวกันกับการมีความสุขน้อยหรือการมีความสุขไม่มาก จะทำให้สามารถพิจารณาให้เห็นได้ว่าการมีความสุขนั้น มีความเป็นสิ่งเดียวกันกับการยังมีภาวะความทุกข์น้อยอยู่ กลุ่มปรากฏการณ์ของการมีทุกข์ไม่มีสุข มีสุขไม่มีทุกข์ รวมทั้งกลุ่มคนและชุมชนที่มีความทุกข์ กับกลุ่มคนที่มีความสุขสบาย ไม่ใช่เป็นคนละกลุ่ม คนละชุมชน หรือไม่ได้เป็นคนละพวก หากมองกว้างออกไป ก็เห็นสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนประเทศและเชื่อชาติที่แตกต่างกัน ว่าไม่ใช่เป็นคนละพวกได้อย่างซาบซึ้งเช่นกัน ความสำนึกรู้ที่กว้างขวางและจิตวิญญาณที่มีความเป็นสากล ก็จะสามารถทำให้สะท้อนอยู่ในวิถีชีวิตและการปฏิบัติเฉพาะตนของเรา ถักทอเชื่อมโยงไปกับสิ่งรอบข้าง ยกระดับและพัฒนาไปบนเงื่อนไขชีวิตได้อยู่เสมอ ตามกาลเทศะและบนความเป็นปัจจุบันซึ่งเรามีและเป็นอยู่ เป็นความรู้และกระบวนการทางปัญญาที่มีรากฐานให้คนมุ่งพัฒนาตนเองให้เดินเข้าหากันบนความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าที่จะแข่งขันเป็นเอกเทศและต่างเอาตัวรอดด้วยกำลังความรู้ชนิดที่ยิ่งมากก็ยิ่งสร้างความเป็นปัจเจกและความเป็นท้องถิ่นที่ยิ่งคับแคบ ซึ่งยิ่งสังคมขยายตัวซับซ้อน ทั่วโลกต่างก็เห็นว่าวิถีความรู้ในลักษณะนี้จะเป็นปัญหาในการร่วมมือกันแก้ปัญญาหาต่างๆมากขึ้นเป็นลำดับ

ด้วยวิธีการทางความรู้เชิงปฏิบัติการทางสังคมที่เชื่อมโยงได้กับการพัฒนาระบบคิดและการพัฒนาชีวิตด้านในแนวทางอย่างนี้ จึงทำให้มีแนวเชื่อมโยงการวิเคราะห์และดำเนินการทางการปฏิบัติต่างๆต่อไปอีกอย่างกว้างขวางได้ว่า ชุมชนและกลุ่มคนทุกข์ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆกลุ่มหนึ่ง กับชุมชนและสังคมที่เพรียบพร้อมสมบูรณ์พูนสุขอีกกลุ่มหนึ่ง หรือความเป็นชนบทกับความเป็นเมือง ประเทศด้อยพัฒนากับประเทศที่พัฒนามากกว่า มีแง่มุมที่จะสามารถเห็นการอิงอาศัย มีความเป็นองค์ประกอบของกันและกัน  รวมทั้งแท้จริงแล้วมีความเป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่เป็นคนละกลุ่มปรากฏการณ์แบบอิสระออกจากกัน ได้อย่างไร

การมีความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันอย่างนี้ ให้ปัญญาและความรู้คนละแบบกับความรู้แบบแยกส่วน  ทำให้สามารถเรียนรู้สร้างสุขบนสภาพปัญหาและปัจจัยที่ก่อทุกข์ได้ รวมทั้งเห็นความทุกข์บนภาวะความสุขและทำให้คนไม่ประมาท มีความลึกซึ้ง ยกระดับสติปัญญาให้เข้าถึงความสุขที่ดีกว่าเดิมต่อเนื่องไปอีกได้ เมื่อขยายออกไปยังชุมชน สังคม และปรากฏการณ์ต่างๆที่มีขอบเขตกว้างขวางยิ่งๆขึ้น ก็จะสามารถเห็นความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันของปัญหาและความทุกข์ของสังคม กับสุขภาวะของสังคม มีแนวทางทำให้ความสำนึกร่วมทางสังคมในบริบทหนึ่งๆของปัญหาและปรากฏการณ์ที่ศึกษาและถอดบทเรียน เกิดความเป็นองค์รวมกว้างขวางลึกซึ้งอย่างแท้จริงมากกว่าการที่เราโดยทั่วไปจะกล่าวถึงโดยไม่ได้รู้สึกและซาบซึ้งออกมาจากความมีจิตวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งนั้นจริงๆ 

เมื่อถอดบทเรียน สร้างความรู้ ถ่ายทอดการพัฒนา ปฏิบัติการและยกระดับการเรียนรู้ทีละเล็กละน้อยอย่างต่อเนื่องในแนวทางอย่างนี้ ก็เป็นโอกาสที่จะเกิดการยกระดับความร่วมมือกัน และร่วมสร้างสุขภาวะส่วนรวมร่วมกันได้มากยิ่งๆขึ้น มากกว่าที่จะยิ่งขยายความแยกส่วน แก้ปัญหาช่องว่างที่วิธีการทางความรู้และกระบวนการเรียนรู้แบบทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งมีธรรมชาติไปเสริมกำลังความแยกส่วนในสังคม อีกทั้งทำให้ปัจเจกและชุมชนมีความอ่อนแอต่อการพึ่งตนเองในการบรรลุจุดหมายที่ต้องการในบริบทจำเพาะต่างๆ  

                                      

                                      

                                      

                                      

                                      

สื่อภาพสำหรับการให้แนวคิดพัฒนาวิธีถอดบทเรียน การพัฒนาเครื่องมือ การควบคุมคุณภาพข้อมูลให้ยืดหยุ่นไปตามข้อจำกัดของสังคมอันแตกต่างหลากหลาย ตามลำดับพัฒนาการ และตามลำดับความพร้อมของชุมชนผู้ปฏิบัติ การวิเคราะห์ และการพัฒนาวิธีคิดแบบองค์รวมบนระเบียบวิธีการวิจัย การประเมินความต้องการ การถอดบทเรียน และการทำงานโดยวิธีการทางความรู้ ของเครือข่ายโรงพยาบาลสร้างสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เดือนมากราคม ๒๕๕๖ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

หมายเลขบันทึก: 517371เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2013 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แวะมาอ่านกระบวนการเรียนรู้ Max-Min-Con และพลวัติของเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงสเกลแห่งความสุข ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องมีสเกลศูนย์เสมอไป ขอบคุณมากครับ รักและคิดถึงอาจารย์เสมอ

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมแก่คนทำงาน พร้อมไปกับการทำงาน ให้ได้ทั้งเทคนิคการทำงานทางความรู้ กับการพัฒนาระบบวิธีคิดให้สอดคล้องกับจุดหมายที่ต้องการทำอย่างเป็นองค์รวม โดยเรียนรู้จากกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัด ที่สามารถทำให้ค่อยๆผุดขึ้นมาจากความเป็นชุมชนผู้ปฏิบัติของตนเองได้ อาจารย์สบายดีนะครับ 

ขออนุญาตนำเอาบทความทั้งสี่ตอน เป็นส่วนหนึ่งของสรุปผลงานระยะที่ 1 โครงการ รพ.สร้างสุขนะครับ

ด้วยความยินดีอย่างยิ่งครับ ถือว่าได้ร่วมถอดบทเรียนและทำเป็นสื่อ สื่อสารเผยแพร่กิจกรรมของโครงการไปด้วย  เรื่องราว ข้อมูล ภาพ และเนื้อหาเกิดจากเวทีที่เครือข่ายช่วยกันทำ เลยเป็นกระบวนการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมอย่างดีเลย

ขอขอบพระคุณ ดร.โอ๋-อโณ อาจารย์ อ.นุ  ดร.ป๊อป และคุณหมอธิรัมภาด้วยครับที่แวะมาเยือนกัน

เจ้าโป้งและคณะครับ ผมเพิ่มเติมเนื้อหาอธิบายขยายความให้ด้วยนะ หากนำเอาไปใช้ทำเอกสารโครงการหรือเผยแพร่ในหมู่เครือข่ายคนทำงาน ก็จะได้มีรายละเอียดดีขึ้น คงจะสะดวกและดีกว่าไปนั่งถอดเทปเมื่อตอนบรรยายและทำงานกันบนเวทีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท