ประมวลสถานการณ์และเข้าถึงประเด็นร่วมของกันและกัน ผ่านการเดินตลาดชุมชนยามเช้า


                                         

                                         

การได้ร่วมทำงานและเรียนรู้ไปด้วยกันโดยการเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการเครือข่ายโรงพยาบาลสร้างสุข ที่ดำเนินการขึ้นโดยกลุ่มผู้ผ่านการอบรมเครือข่ายร่วมสร้างผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ ของ สสส ซึ่งประกอบด้วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัทไลอ้อน ประเทศไทย กับทีมวิจัยและคอยให้การสนับสนุนทางวิชาการจากสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ผมได้เรียนรู้และเห็นสภาวการณ์ต่างๆบนความเป็นจริงของสังคมไทยในหลายบริบทอย่างยากที่จะหาได้จากแหล่งอื่น นอกเหนือจากการได้ร่วมทำงานและร่วมสร้างศักยภาพในการบรรลุจุดหมายที่มีความสนใจร่วมกัน ของเครือข่ายผู้นำสร้างสุขภาวะแนวใหม่ กลุ่มเล็กๆที่ดีที่สุดกลุ่มหนึ่งในครั้งนี้

กลุ่มคนทำงานสุขภาพจาก ๓ อำเภอของ ๓ จังหวัดในพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันหลายด้านของประเทศ นำโดยแพทย์ซึ่งเป็นผู้อำนวยการและเป็นผู้ที่ต้องการสะท้อนผลที่ได้จากการผ่านโครงการอบรม คศน : เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำสร้างสุขภาวะแนวใหม่ ไปสู่การเป็นเครือข่ายของผู้ที่จะนำความริเริ่มกระบวนการต่างๆในการสร้างสุข ไปสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาวะของสังคม โดยเริ่มจากโรงพยาบาลและคนทำงานที่อยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งต้องให้การดูแลสุขภาพผู้คนในพื้นที่ความรับผิดชอบของตนเอง ในเงื่อนไขแวดล้อมแตกต่างกัน 

เครือข่ายที่ดำเนินโครงการด้วยกันนี้ มาจากพื้นที่ชุมชนแหล่งต่างๆของประเทศ ประกอบด้วย ๓ พื้นที่ชุมชนระดับอำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการวิจัยที่มีความน่าสนใจมากอย่างยิ่งสำหรับผม ดังจะขอกล่าวถึงแง่มุมที่น่าสนใจบางประการ กล่าวคือ...

 อำเภอหล่มเก่า  จังหวัดเพชรบูรณ์ พื้นที่ซึ่งมีความเป็นเมืองในชนบท เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนซึ่งมีพัฒนาการมาจากการสร้างเมืองบนที่ลุ่มหรือเมืองหล่ม เก่าแก่ดั้งเดิมร่วมยุคสมัยกับชุมชนก่อนการสร้างเมืองสุโขทัย มีเมืองศรีเทพและแอ่งสังคมวัฒนธรรมเมืองหล่มอายุกว่า ๒ พันปีหลายแห่ง ที่ยังยิ่งใหญ่และปรากฏเป็นหลักฐานให้ได้เห็นตราบจนทุกวันนี้ ถึงร่องรอยพัฒนาการทางภูมิปัญญา วิทยาการ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม การวางผังและระบบบริหารจัดการเมืองและเครือข่ายชุมชน ในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ การก่อตั้งและสร้างเมือง การสร้างสุขภาวะของชุมชนเกษตรกรรม ที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของโลกและของสังคมวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 

 อำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก พื้นที่ชนบทบนแนวรอยต่อชายแดนของประเทศระหว่างไทยกับพม่า มีความผสมผสานกับวิถีชีวิตบนวัฒนธรรมชนเผ่า เชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะของประเทศ เป็นแหล่งก่อตั้งชุมชน ซึ่งผู้นำชนเผ่าเมื่อในอดีตเกือบ ๓๐๐ ปีมาแล้ว เคยได้รับการสถาปนาเป็นผู้นำเมืองหน้าด่านในสมัยกรุงธนบุรี จึงมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นปึกแผ่นของสังคมไทยที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางสังคมของชนเผ่าก่อนยุครัตนโกสินทร์ สะท้อนให้เห็นความมีรากฐานของสังคมพหุวัฒนธรรม   เชื่อมโยงกับพัฒนาการต่างๆ ที่จะต้องพิจารณาให้เห็นถึงความเป็นองค์ประกอบของสุขภาวะของเมืองและวิถีชีวิตชุมชนอย่างใกล้ชิด ว่ามีบริบทเฉพาะอยู่บนพื้นฐานดั้งเดิมอย่างไร   

 อำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่เมืองชนบทซึ่งมีระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมชนเผ่า และสภาพแวดล้อมของชุมชนบนพื้นที่สูง แวดล้อมด้วยทิวเขา ป่าไม้ แหล่งต้นน้ำ และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ  อีกทั้งเป็นแหล่งค้นพบร่องรอยของการก่อตั้งชุมชนถ้ำและชุมชนวัฒนธรรมข้าวก่อนยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งเก่าแก่มากที่สุดแหล่งหนึ่งของไทยและของโลก เป็นแหล่งหนึ่งที่มีหลักฐานให้ศึกษาได้เป็นอย่างดีต่อระบบวิธีคิดเกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังการตาย ความเชื่อต่อการสืบทอดระหว่างรุ่นระหว่างภพของชีวิต จิตวิญญาณ และการสั่งสมปัจจัยทางวัตถุของมนุษย์ เพื่อความมั่นคงสมบูรณ์ของชีวิต อำนาจ ความสุข และการดำรงเผ่าพันธุ์ สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องผี วิญญาณบรรพชน พลังความเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ  แม่น้ำ ผืนดิน ป่าเขา ซึ่งเป็นเค้าลางให้เข้าใจมิติสังคมวัฒนธรรม ระบบความรู้ ความเชื่อ และภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่หล่อหลอมกล่อมเกลาวิถีชีวิต และความเป็นจริงในมิติสุขภาพ สุขภาวะ และคุณภาพชีวิต อีกหลายอย่าง ภายใต้ความผสมกลมกลืนไปกับกระแสความเปลฃี่ยนแปลงต่างๆจากโลกภายนอก 

จึงแทบจะกล่าวได้ว่า ชุมชนระดับอำเภอ ๓ อำเภอ อันเป็นพื้นที่เป้าหมายการดำเนินโครงการและเป็นพื้นที่การวิจัยของโครงการนี้ สะท้อนพัฒนาการความเป็นถิ่นฐานสังคมไทยอย่างใกล้ชิดหลายด้าน จึงเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความน่าสนใจและเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับทำการศึกษาปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม วิถีชุมชน ระบบนิเวศน์ และพัฒนาการความเป็นเมือง ที่จะมีความเชื่อมโยงกับมิติสุขภาพกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในบริบทของสังคมไทยและเอเชียอาคเนย์

ขณะเดียวกัน สมาชิกของทีมอีกท่านหนึ่งนั้น มาจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทไลอ้อนประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มการสร้างสุขในสถานประกอบการ พัฒนาสุขภาวะและระบบสวัสดิการซึ่งเน้นองค์ประกอบชีวิตด้านในของคนทำงานในบริษัทไลอ้อนประเทศไทย ทำให้พนักงานมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลต่อความสำเร็จทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และธุรกิจขององค์กร เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ระหว่างที่ทำงานในฐานะที่ปรึกษาให้กับโครงการ ผมจึงได้เรียนรู้หลายสิ่งจากคนหนุ่มคนสาวกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งที่มีพลังความสร้างสรรค์ในการริเริ่มโครงการนี้ขึ้นอย่างยิ่ง 

ด้วยความที่วิถีชีวิตและการงานของผมได้คลุกคลีอยู่กับงานทางด้าน Non-Biomedical Health มากกว่าด้านอื่นในการทำวิจัย สอน บริการวิชาการ  ดังนั้น นอกจากเป็นวิทยากรและให้ข้อชี้แนะต่างๆตามแต่ทีมต้องการในจังหวะต่างๆแล้ว ผมก็ได้เรียนรู้วิธีเชื่อมโยงเข้าหากันของความรู้และระบบวิธีคิดจากความต่างศาสตร์ที่มีบทบาทต่อการที่สังคมจะนำมาใช้ในโลกความเป็นจริง และมีความเชื่อมโยงกับการทำงานสุขภาพในแนวทางใหม่ๆของสังคมในปัจจุบัน 

ผมเหมือนทำหน้าที่เดินไปด้วยกันแล้วก็คอยช่วยทีมได้เรียนรู้ผสมผสานไปบนพื้นฐานประสบการณ์ของตนเอง ให้เห็นวิธีคิดวิธีมองมิติชุมชนและปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมบนมิติสุขภาพและการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ที่จะสามารถเชื่อมโยงเข้าไปสร้างความรู้ความเข้าใจและอธิบายปราฏการณ์ทางสุขภาพออกจากประสบการณ์เฉพาะของตนเอง ที่ได้ทำงานและดำเนินชีวิตเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนเป้าหมายการวิจัยด้วย ให้มีพลังมากยิ่งๆขึ้นต่อการที่จะชี้นำปฏิบัติการการสร้างสุขภาวะแนวใหม่อย่างที่กลุ่มต้องการ ในบริบทของสังคมไทยและสะท้อนเชื่อมโยงกับสังคมโลก 

ช่วยให้แพทย์และกลุ่มคนที่มีความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์ในตนเองอยู่แล้ว ได้เข้าถึงมิติความบูรณาการและความเป็นองค์รวมบนเงื่อนไขของตนเอง ในอันที่จะรู้จักวิธีดูปัจจัยต่างๆทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งศาสตร์ทางการศึกษา ศิลปะ  วัฒนธรรมชุมชน การสื่อสารและพัฒนาการเรียนรู้ การวิจัยถอดบทเรียนและปฏิบัติการเพื่อทำงานเชิงสังคม รู้จักวิธีเข้าสู่การมองปัจจัยความเป็นกลุ่มและชุมชน กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม ปัจจัยทางประชากรศึกษาชุมชน รู้จักและเห็นบทบาทของ Socio-Cultural Factor และ Non-Biomedical Health Factors อื่นๆ ที่จะวิเคราะห์และสังเกตเห็นได้บนปรากฏการณ์ต่างๆของงานที่ดำเนินการโดยเครือข่าย โดยเฉพาะการที่จะถอดบทเรียน สร้างความรู้ สื่อสารถ่ายทอดประสบการณ์ และบริหารจัดการสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงให้มีความเหมาะสมและทรงพลังที่สุด ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่างๆโดยใช้การบรรลุเป้าหมายบนสิ่งที่ทำในองค์กรและชุมชนของตนเอง ตลอดจนบนวิถีการดำเนินชีวิตของคนทำงาน เป็นตัวตั้ง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นทางหนึ่งที่เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมปัจจัยมนุษย์ ความเป็นชุมชนและการรวมกลุ่มกันของปัจจเจก พลังจิตใจ พลังความรู้ พลังความบูรณาการและปฏิบัติการอย่างเป็นองค์รวม ให้มีบทบาทต่อการเข้าไปจัดการระบบและโครงสร้าง ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ในสถานการณ์ที่สนใจ ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง บรรลุจุดหมายเพื่อสุขภาวะสังคมดังที่พึงประสงค์ของงานสุขภาพ พร้อมกับได้สร้างคน สร้างชุมชน สร้างสังคมสิ่งแวดล้อม สืบทอดวิถีชีวิตชุมชน สร้างสมภูมิปัญญาเฉพาะตน และมิติอื่นๆ อย่างบูรณาการ ได้เป็นอย่างดียิ่งๆขึ้น 

เห็นพลังในการมองปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีความเชื่อมโยงกับสุขภาพและสุขภาวะของสังคม ของทีมแพทย์ ทีมวิจัย เครือข่ายคนทำงานทางสุขภาพ เครือข่าย รพสต และเครือข่ายชุมชน ที่เข้ามาทำงานและทำให้เป็นการปฏิบัติการเรียนรู้โรงพยาบาลสร้างสุขไปด้วยกันโดยวิธีทำให้เป็นโครงการถอดบทเรียนและวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมในโครงการนี้แล้ว ทำให้ผมเองได้เห็นกรณีศึกษาและข้อสังเกตบางอย่างของการออกแบบและใส่ลูกเล่นต่างๆลงไปบนกระบวนการวิจัยว่า การใช้กระบวนการวิจัยและออกแบบให้เหมาะสมกลมกลืนไปกับการทำงานในสถานการณ์ต่างๆซึ่งเป็นสถานการณ์จริงของสังคมนั้น น่าจะมีข้อดีอีกอย่างหนึ่งสำหรับวิธีสร้างคนทางด้านสุขภาพที่ได้เห็นระหว่างเป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการนี้ก็คือ การทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้และการปฏิบัติการวิจัย น่าจะทำให้บรรยากาศและโหมดการทำงานคลายออกจากการจมอยู่กับกรอบการทำงานประจำ อย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้พลังการคิดและการใช้พลังการเรียนรู้ ให้มีความลึกซึ้ง แยบคาย และลดความแยกส่วนได้มากกว่าการเข้าสู่ปัญหาและความจำเป็นต่างๆบนวิถีปฏิบัติงานประจำแต่โดยลำพัง

ดูๆแล้วก็เหมือนกับผมต้องคอยทำหน้าที่ทำให้ทุกหนทุกแห่งและทุกกิจกรรมเป็นมหาวิทยาลัยและห้องเรียนมิติสังคม มิติชุมชน มิติการศึกษา ศิลปะและการสื่อสารเรียนรู้ การพัฒนาคนและประชากรกลุ่มต่างๆ เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาแบบเลือกสรรการเปลี่ยนแปลง เมื่อทีมต้องการเรียนรู้ไปบนสถานการณ์จริงของการทำงาน พร้อมกับเป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อเรียนรู้และทำงานเชิงสังคมไปด้วยกัน

นอกจากนี้ เมื่อไปทำกระบวนการประเมินความต้องการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Needs Assessment) ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ผมเองก็ได้มีโอกาสพบปะและผูดคุยกับคุณหมออนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้บริหารของสำนักงานรับรองมาตรฐานโรงพยาบาล หรือ สรพ ก่อนหน้านี้ผมได้พบและเสวนากับคุณหมอหลายครั้งเหมือนกัน ทั้งที่สำนักงานของ สสส ในเวทีเสวนาของเครือข่ายการทำงานสุขภาพ และในเวทีวิชาการต่างๆ แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่เราจะได้ทำงานและพบปะกันในบรรยากาศอย่างที่ได้พบที่หล่มเก่า เพชรบูรณ์นี้ 

คุณหมออนุวัฒน์นั้นโดยหน้าที่การงานในปัจจุบันนี้แล้ว ท่านเป็นผู้บริหารของ สรพ แต่การไปร่วมกระบวนการเวทีถอดบทเรียน ได้พบกับทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากร และเครือข่ายโรงพยาบาลสร้างสุข และได้พบปะกับผมในครั้งนี้นั้น ท่านไม่ได้ไปด้วยหมวกของผู้บริหารของ สรพ แต่คุณหมอรับเชิญจากทีมทำงานไปร่วมในนามของครูภาคปฏิบัติ เป็นพี่เลี้ยง หรือเป็น Mentor และที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ให้กับทีมวิจัยผู้ทำโครงการเครือข่ายโรงพยาบาลสร้างสุขของ คศน ไปกินไปนอน คอยให้การแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์ และปลูกฝังอุดมคติการทำงานต่างๆเพื่อร่วมสร้างเครือข่ายผู้นำสร้างสุขภาวะแนวใหม่ให้กับโครงการนี้

กระนั้นก็ตาม ในฐานะที่เป็นผู้ที่ต้องดูเชิงนโยบาย ตลอดจนการตัดสินใจ การกำกับติดตาม และพิจารณาให้การสนบัสนนุนต่างๆของโรงพยาบาลและหน่วยบริการสุขภาพด้วยการมีการประเมินและรับรองมาตรฐานเป็นเครื่องมือและเป็นกระบวนการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งในระดับมหภาคของประเทศและในระดับจุลภาคตามหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆนั้น การได้มาร่วมเวทีครั้งนี้ของท่านและได้สัมผัสกับสภาพความเป็นจริงหลายอย่าง ตลอดจนได้เห็นความคิดและเหตุผลจากชีวิตจริงของผู้ที่ต้องแปรนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ ผมก็เชื่อว่าท่านเองนั้นก็ไม่ได้มาเป็นผู้ให้อย่างเดียว แต่เป็นโอกาสที่จะได้ข้อมูล แนวคิด ความยืดหยุ่นต่อเงื่อนไขหลากหลาย และความละเอียดประณีตหลายอย่างกลับไปเป็นข้อมูลและรายละเอียดสำหรับการเป็นนักวิชาการพัฒนาและนักบริหารเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง ไปบริหารระบบและกลไกให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของประเทศ พร้อมกับสนองตอบและกลมกลืนกับความเป็นจริงของภาคปฏิบัติต่างๆของโรงพยาบาลและหน่วยบริการสุขภาพในความดูแล ให้บรรลุจุดหมายที่พึงประสงค์ คนทำงานมีความสุข และสังคมโดยรวมมีสุขภาวะที่ยั่งยืนยิ่งๆขึ้น

รวมทั้งเมื่อมองระดับการทำงานและวงจรชีวิตที่ท่านจะต้องพบปะกับชุมชนระดับนโยบายและกลุ่มผู้นำระดับสูงทั้งชาวไทยและต่างประเทศในวงการสุขภาพและอื่นๆแล้ว ก็เชื่อได้เลยว่าท่านจะเป็นสื่อบุคคลและสื่อสารเชิงนโยบายที่ทรงพลังที่สุดให้กับงานอย่างนี้อีกด้วย หากพูดโดยใช้หลักคิดเกี่ยวกับการพัฒนาภาวะผู้นำของศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.กระแส ชนะวงษ์ แล้วละก็ ก็ต้องบอกว่าคุณหมอติ๊ก คุณหมอพนา ทีมวิจัย และเครือข่าย เป็นทีมผู้ตามและเป็นนักเรียนรู้ที่เฉลียวฉลาดมากในการบริหารผู้นำและออกแบบกระบวนการต่างๆให้ได้เรียนรู้ของจริงจากคนต้นเรื่องของประเทศเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเองกำลังสนใจทำกัน ช่างถูกคน ถูกเรื่อง เหมาะสมกับกาลเทศะอย่างยิ่ง

เมื่อไปถึง คุณหมอติ๊ก แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า รองนายแพทยสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน  และเป็นทีมดำเนินโครงการเครือข่ายวิจัยของโครงการนี้ ได้ต้อนรับคุณหมอนุวัฒน์ซึ่งไปถึงหล่มเก่ามืดค่ำแล้วกว่า ๓ ทุ่ม คุณหมอนุวัฒน์เดินออกมาจากห้องพักมา หลังจากผมได้แนะนำตนเองแล้ว เราก็ยืนประชุมและคุยกันสบายๆบนลานดินเป็นชั่วโมงโดยมีผม คุณหมอติ๊ก และคุณหมอนุวัฒน์ ๓ คน 

รุ่งเช้า คุณหมอติ๊กและทีมวิจัย ก็พาคุณหมอไปเดินตลาดของชุมชนซึ่งอยู่ข้างวัดสระเกศของอำเภอหล่มเก่า การเดินชมตลาด ทักทายผู้คน สลับกับซื้อของกินและคุยกันอย่างไม่เจาะจง แต่ผสมกลมกลืนไปกับหลายเรื่องราว ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ทั้งเป็นความประทับใจ และมีความหมายต่อการนำเข้าสู่การประชุมบนกระบวนการต่างๆที่ดำเนินการขึ้นเป็นอย่างดีอย่างยิ่ง บนการเดินชมตลาดและที่สุดก็นั่งซื้ออาหารติดมือไปนั่งกิน พร้อมกับพูดคุยกันกัน 

กระบวนการที่ดำเนินการขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติอย่างนี้ กลายเป็นกระบวนการหลายอย่าง ทั้งการสรุปความคืบหน้าและประมวลสถานการณ์การทำงานเพื่อเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นที่คุณหมออนุวัฒน์จะบรรยาย เรียนรู้และรับทราบสภาพการทำงานในฐานะผู้บริหารและผู้ดูแลเชิงนโยบายภารกิจของ สรพ ของประเทศ รวมทั้งแสดงแนวคิดเพื่อให้การสนับสนุนต่างๆในอนาคต ต่อการดำเนินโครงการเครือข่ายโรงพยาบาลสร้างสุขในด้านที่จะมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนามาตรฐานโรงพยาบาล.

                                             

ตลาดสดและตลาดในวิถีชาวบ้านของเมืองในชนบทมีความสะอาด พื้นแห้ง ไม่แพ้ในเมืองที่ทันสมัย รวมทั้งในกรุงเทพฯ

                                             

คุณหมอติ๊ก แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้าและรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน หนึ่งในแกนหลักของทีมผู้ดำเนินโครงการ ขอทดลองชิมขนมถังแตกของแม่ค้ารถเข็นหน้าโรงเรียนสุภาพวิทยาคมข้างตลาดหล่มเก่า จากนั้น ก็พากันไปชิมกาแฟชงแบบโบราณ

                                             

คุณกานต์ จันทวงษ์ ทีมวิจัยจากสถาบันสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณนู เจ้าหน้าที่บริหารของโรงพยาบาลหล่มเก่าผู้ร่วมบริหารโครงการ ของชิมขนมครก

                                             

คุณหมอติ๊กกับคุณหมออนุวัฒน์ ยืนรอขนมถังแตกพร้อมกับขอสัมภาษณ์แม่ค้าไปด้วย แม่ค้าขนมถังแตกทำขนมขายแต่เช้า ๒ แห่งในหล่มเก่า ตอนเช้าถึงเที่ยงก็จะขายข้างตลาดหล่มเก่า ข้างโรงเรียนสุภาพวิทยาคม พอบ่าย ๓ โมงเย็นก็จะย้ายไปขายอีกที่หนึ่ง นอกจากขายเองแล้ว หากมีคนมารับซื้อไปขายต่ออีก ก็จะขายส่งให้ด้วยโดยคิดต้นทุนชิ้นละ ๔ บาท ทุกวันเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะเหลือรายได้อยู่ประมาณ ๗๐๐-๑,๐๐๐ บาท

                                             

                                                        คุณหมออนุวัฒน์ยืนคุยกับแม่ค้าและขอซื้อขนมฝักบัวฝีมือชาวบ้าน

                                             

แม่ค้ารถเข็นขนมหม้อแกงและตือคาโค ชาวบ้านเรียกขนมขาหมู ผมสงสัยอยู่เป็นนาน พอชิมแล้วจึงรู้ว่าเป็นมันทอดและฟักทองทอดที่ชอบกินและได้กินอยู่เสมอๆนั่นเอง

                                             

                                             

ตลาดชุมชนของเมืองในชนบทนั้น คนเฒ่าคนแก่และแม่บ้าน ได้เก็บผักเก็บหญ้ามาขาย ได้มีกิจกรรมชีวิต พบปะผู้คน ดูแลลูกหลาย และรักษาปฏิสัมพันธ์กับสังคมของชุมชนท้องถิ่น มีบทบาทต่อการร่วมสร้างสุขภาวะของชุมชนอย่างใกล้ชิด

                                             

                                             

                                             

หิ้วติดมือมานั่งกินเป็นอาหารมื้อเช้าด้วยกัน ซ้ายมือ ผู้ชายที่เห็นหน้า คือคุณหมอโอ๊ต รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและคณะ นอกจากร่วมเป็นเครือข่ายดำเนินโครงการแล้ว ก็พาคณะทำงานมาร่วมเวที ร่วมสังเกตการณ์ และร่วมเป็นทีมจัดกระบวนการ หาประสบการณ์ตรงให้กับตนเองไปในตัว จัดว่าเป็นเครือข่ายในพื้นที่ของคุณหมอติ๊กในฐานะเป็นทีมผู้บริหารของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย

                                             

เมื่อเข้าสู่กระบวนการเวทีแล้ว ทุกอย่างจึงดำเนินการไปอย่างกลมกลืน คุณหมออนุวัฒน์ร่วมสนทนาพูดคุย บรรยายพิเศษ พร้อมกับร่วมแสดงความคาดหวัง แบ่งปันแนวคิดต่างๆร่วมกับผู้ร่วมเวที

หมายเลขบันทึก: 517355เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2013 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

..... ดีใจด้วยจังเลย .... ท่านอาจารย์หมอ อนุวัฒน์ .... เดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วย นะคะ .....  ลงชุมชนจริงๆๆ ..... เยี่ยมมาก ค่ะท่าน .... 


ขอบคุณภาพดีดี  บทความดีดีนี้ค่ะ 

สวัสดีครับ Dr.Ple ครับ
ได้ความประทับใจดีมากทั้งงานและคนเลยละครับ
คุณหมออนุวัฒน์น่ารักมาก เป็นคนรุ่นใหม่ที่ลึกซึ้งทั้งวิธีคิด การบริหาร ทรรศนะทางวิชาการ และการมองสังคม 

 

มนต์เสน่ห์ชาวตลาดเมืองหล่ม

ขออนุญาต แชร์บทความ หน้า FB โรงพยาบาลสร้างสุขนะครับ

ขอบคุณโม่งครับที่เอารูปมาแบ่งกันดูด้วย 

                                    

ชอบท่าทางของเจ้าหนูในรูปนี้ ตอนที่ยืนซื้อขนมถังแตกกับคุณหมออนุวัฒน์และคุณหมอติ๊ก ก็เห็นเจ้าหนูนี่ยืนรอซื้ออยู่ด้วยเหมือนกัน ระหว่างที่รอนั้นก็กินขนมอย่างอื่นไปด้วย พอได้ขนมถังแตกแล้วก็สงสัยหม่ำร้อนเลยเชียว ดูท่าทางจะแซ่บหลาย

เดินตลาดอย่างได้เรื่อง (ราว)

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์

สวัสดียามเช้าครับคุณหมอธิรัมภาครับ 

เป็นวิธีต้อนรับผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับโครงการและเครือข่ายของทีมที่ทำวิจัยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงและผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ทางวิชาการ ประสบการณ์ทางการบริหาร ตลอดจนเป็นวิธีทำงานที่คนทำได้เกิดเครือข่ายวิชาการและเกิดเครือข่ายความร่วมมือกันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เรียกว่าให้ผลดีอย่างเป็นองค์รวม สมกับแนวคิดหลักของโครงการมากอย่างยิ่งทีเดียวครับ

แวะมาชื่นชมกระบวนการเรียนรู้ชีวิตชุมชน โดยเฉพาะ "ขนมครกแห่งปัญญา" ขอให้อาจารย์และครอบครัวมีความสุขในเทศกาลแห่งความรักครับผม

ดูแล้วน่าชื่นชมมาก คิดถึงตอนทำเรื่องตลาดกับทีมนครสวรรค์และอุทัยฯเลยครับ

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ป๊อปครับ
ขอบพระคุณครับ ขอให้อาจารย์มีความสุขและความงอกงามในเทศกาลแห่งความรักและในเทศกาลมาฆะบูชานี้เช่นกันครับ ชอบอาจารย์ให้นิยาม'ขนมครกแห่งปัญญา'นะครับ มันทำให้ได้คิดว่าอาหารการกินก็เป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ เจริญสติปัญญาไปด้วยกันบนการบริโภคได้  

สวัสดีครับท่านอาจารย์ขจิตครับ เดินตลาดแบบนี้นี่มันทำให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตและลมหายใจของสังคมได้ดีมากเลยนะครับ อาจารย์สุขก่ยสบายใจดีนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท