ปัญหาการบริหารทรัพยากรบุคคลที่แก้ไขไม่ตรงจุด


ปัจจุบันนี้กลุ่มธุรกิจ SME ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคลมากขึ้น โดยมีการวางระบบระเบียบในการบริหารทรัพยากรบุคคลขึ้นมา เพื่อใช้ในองค์กร แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาต่างๆ ในการบริหารทรัพยากรบุคคลก็ยังคงเกิดขึ้นเสมอ บางองค์กรก็พยายามคิดหาแนวทางมากมายในการแก้ไขปัญหา แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ ก็ได้แต่สรุปว่า มันเป็นเรื่องของการบริหารคน ดังนั้น ก็เลยแก้ไขยาก และแก้ไขไม่ได้ จากนั้นก็ปล่อยให้เป็นปัญหากันต่อไป

แล้วมีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล แต่แก้ไขผิดทาง ผมได้ลองสรุปปัญหาต่างๆ และวิธีการแก้ไขที่ไม่ถูกต้องมาให้อ่านกันดังนี้ครับ

  • ปัญหาการสรรหาคัดเลือกพนักงานไม่ได้คุณภาพ ก็ไปแก้ไขปัญหากันที่การออกแบบใบสมัครงานใหม่ให้มีรายละเอียดมากขึ้น เพื่อให้ผู้สมัครกรอกรายละเอียดได้มากขึ้นจะได้พิจารณาได้ชัดเจนกว่า และส่งพนักงานในฝ่ายบุคคลไปอบรมเรื่องของการสรรหาคัดเลือกคนที่ใช่มาใหม่ เพื่อให้เข้ามาเลือกคนให้ถูกต้อง พอแก้ไขแล้ว ก็ยังไม่สามารถหาคนคุณภาพได้อยู่ดี
  • พนักงานมีปัญหาทำงานไม่ได้ หรือขาดทักษะในการทำงาน ก็แก้ไขโดยการส่งไปฝึกอบรมเพียงอย่างเดียว จากนั้นก็ไม่มีการติดตามใดๆ และคาดหวังกับพนักงานว่า ฝึกอบรมมาแล้วจะต้องสามารถทำงานได้ดีขึ้น และปัญหาต่างๆ จะต้องหายไปในทันที แต่ก็ไม่เป็นดั่งที่ต้องการ
  • ปัญหาการประเมินผลงานออกมาไม่เป็นไปตามผลงานจริงๆ ปัญหานี้จริงๆ เป็นปัญหาโลกแตกมากเลยครับ หลายๆ องค์กรใช้วิธีการแก้ไขปัญหาโดยการออกแบบฟอร์มในการประเมินผลงานใหม่ ให้ดูดี มีชาติตระกูล ยิ่งไปกว่านั้นบางแห่งออกแบบให้ดูสลับซับซ้อน และมีหลายหน้า เพื่อที่จะทำให้หัวหน้าประเมินผลงานลูกน้องได้อย่างตรงไปตรงมา แต่แก้ไขแบบฟอร์มไปไม่รู้กี่แบบ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหารการประเมินผลงานของหัวหน้างานได้เลย
  • ปัญหาเงินเดือนพนักงานชนเพดานเงินเดือน ปัญหานี้เกิดขึ้นสำหรับองค์กรที่มีการวางโครงสร้างเงินเดือน พนักงานได้รับการขึ้นเงินเดือนมาอย่างต่อเนื่องทุกปี พอวันดีคืนดีพนักงานเงินเดือนชนเพดาน ผู้บริหารก็ไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี ก็เลยปล่อยให้ขึ้นเงินเดือนทะลุเพดานออกไป หรือไม่ก็ปรับให้พนักงานขึ้นไปอยู่ในระดับงานที่สูงขึ้น แต่ยังคงทำงานเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมเนื้อหางานแต่อย่างใด ต้นทุนค่าจ้างก็สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่มูลค่าเพิ่มจากผลงานพนักงานกลับไม่ได้เพิ่มตาม
  • พนักงานต้องการความก้าวหน้าทางสายอาชีพ บางองค์กรพนักงานมาบ่นว่าทำงานที่นี่ไม่มีความก้าวหน้าอะไรเลย ก็เลยลาออกไปทำงานที่อื่นกันหมด ฝ่ายบุคคลและผู้บริหารพอเป็นปัญหานี้เกิดขึ้นก็เลยสร้างความก้าวหน้าขึ้น โดยให้พนักงานแต่ละคนที่ทำงานครบ 5 ปีได้รับการปรับตำแหน่งใหม่ ไปเป็น Asst. Supervisor จากนั้นอีก 3 ปี ก็ปรับเป็น Supervisor พอทำครบอีก 5 ปีก็ปรับเป็น Asst. Section Manager แล้วก็ต่อด้วย Section Manager ฯลฯ ผลสุดท้ายก็คือ พนักงานทุกคนดำรงตำแหน่ง Manager กันหมด โดยที่ยังคงทำงานเหมือนเดิมกับตอนที่ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ แล้วก็เรียกวิธีการนี้ว่า เส้นทางความก้าวหน้าทางสายอาชีพ
  • พนักงานขาดแรงจูงใจ และอัตราการลาออกสูง แก้ไขโดยการวางโครงสร้างเงินเดือนใหม่ องค์กรบางแห่ง เข้าใจว่าเงินเดือนเป็นปัจจัยเดียวที่มีผลต่อแรงจูงใจของพนักงาน เมื่อเกิดปัญหาพนักงานลาออกกันเยอะมาก ก็ไม่วิเคราะห์ปัญหากันให้ดีก่อน ลุยจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาวางโครงสร้างเงินเดือนใหม่ เพื่อให้อัตราเงินเดือนทัดเทียมกับตลาด แต่สุดท้ายพนักงานก็ยังคงทยอยลาออกกันต่อไป เพราะสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว
  • อยากให้พนักงานมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ก็เลยทำ Competency นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่เวลาองค์กรเห็นว่าอยากให้พนักงานมีพฤติกรรมในการทำงานที่ดีขึ้น ก็เลยคิดให้ฝ่ายบุคคลไปจัดทำระบบที่เรียกว่า Competency ขึ้นมา โดยหวังว่าระบบนี้จะทำให้พนักงานมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้ แต่สุดท้ายระบบเสร็จพนักงานก็ยังคงมีพฤติกรรมเหมือนเดิม เพราะไม่ได้นำเอาระบบ Competency นี้ไปผูกกับระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลด้านอื่นๆ และหัวหน้างาเองก็ไม่ใส่ใจที่จะนำเอา Competency มาใช้

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ผิดวิธี ซึ่งก็ส่งผลให้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไข และยังคงอยู่เป็นปัญหาในองค์กรต่อไป โดยที่ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้เลย

แต่จริงๆ แล้วปัญหาที่เล่ามานั้นมีทางแก้ไขครับ ขอเพียงแค่ศึกษาสาเหตุให้ชัดเจน และกำหนดแนวทางในการแก้ไขให้ตรงกับสาเหตุที่เกิดขึ้น ปัญหาก็จะหมดไป พรุ่งนี้ผมจะลองเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นว่าพอมีแนวทางอย่างไรกันบ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างครับ

คำสำคัญ (Tags): #บริหารบุคคล
หมายเลขบันทึก: 517307เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2013 07:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มกราคม 2013 07:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 ขอบคุณ .... บทความดีดีนี้ค่ะ ..... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท