PRCMU กับการเรียนรู้ผลิตข่าววิทยุอย่างไรให้น่าฟัง


เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ มช. ขยับกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ประเดิมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง “การผลิตข่าววิทยุอย่างไรให้น่าฟัง”


ทีมงานประชาสัมพันธ์

มช.จัดอบรมคนทำงานพีอาร์ครั้งที่ 1 วันที่ 18 ธันวาคม 2555 เรื่อง การผลิตข่าววิทยุอย่างไรให้น่าฟัง โดยเชิญ คุณสมภพ จันทร์ฟัก หัวหน้าบรรณาธิการข่าวกีฬา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศ มาบรรยาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน ร่วมด้วยวิทยากรภายในจากสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน 2 คน คือ คุณธีรภาพ เป็งจันทร์ และคุณวีรยุทธ์ จันทร์มหเสถียร  ซึ่งสองคนนี้นับเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการผลิตข่าววิทยุ ข่าวประกอบเสียง กิจกรรมเป็นการบรรยายในภาคเช้าส่วนภาคบ่ายเน้นการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ (interactive learning through action)  และเน้นการเรียนรู้จากงานประจำ 

ปีนี้เลือกสื่อวิทยุมาเป็นเป้าหมายแรกของการพัฒนาบุคลากรเพราะเราเห็นว่าสื่อวิทยุเป็นสื่อท้องถิ่น เข้าถึงกลุ่มที่เป็น Local ง่าย แต่บางคนมองข้ามจุดนี้ จุดที่มี prime time คนเปิดวิทยุปัจจุบันฟังแบบออนไลน์ ทำให้วิทยุกลายเป็นสื่อไร้พรมแดน ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายบริหาร มช. ประสานร่วมกับเอฟเอ็มร้อย สถานีวิทยุหนึ่งเดียวของมหาวิทยาลัยเรื่องเวลาการนำเสนอเผยแพร่ข่าววิทยุ 8-10 เบรคต่อวัน.  นอกจากนั้นในด้านรายการวิทยุ ยังมีหลายหน่วยงานใช้บริการช่องทางนี้ และที่สำคัญการพัฒนาบุคลากรงานพีอาร์ครั้งนี้ เพื่อเตรียมรับ 50 ปีมช.  ปี 2558 เราคาดว่าจะเริ่มงานสื่อนี้ตั้งแต่ต้น ปี 2557 โดยการทำ CMU Online มี กลุ่มเป้าหมายชัดเจน เป็นคนในออฟฟิส และกลุ่มต่างๆ รวมนักศึกษาเก่ามช.

การอบรมนี้ในภาคบ่ายจะลงลึกการฝึก เพื่อเกิดประสบการณ์ตรง

สำหรับภาคความรู้แรกนั้น มีรายละเอียดเก็บเกี่ยวได้ดังนี้


สกัดสิ่งที่ได้จากฟังบรรยาย

ธรรมชาติวิทยุมีลักษณะพิเศษคือ ฟังแล้วจบ ทำอย่างไรให้คนฟังจำได้ องค์ประกอบสำคัญคือ น้ำเสียง แต่เนื้อหาก็สำคัญไม่แพ้กัน ข่าววิทยุไม่ควรเกิน 1-1.30 นาที หรือ 10บรรทัดกระดาษเอ4 ฟอนต์ Angsana New ข่าว 15วินาทีเท่ากับข่าวสองบรรทัดครึ่ง การเลือกข่าวต้องข่าวเน้นความเร็ว และฟังแล้วเกิดประโยชน์ อย่าหวังผลทางตรงเพื่อเกิดประโยชน์จากกลุ่มคณะโดยตรง


เป้าหมายการนำเสนอข่าว. พีอาร์หรือเผยแพร่

การคำนึงว่าเราจะตั้งหลักในข่าวชิ้นนั้นว่าเพื่อการเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ กระบวนการเขียนจะต่างกัน ตั้งธงให้ชัดเจน คือ หากต้องการเผยแพร่ คนฟังต้องได้ประโยชน์สูงสุด. ส่วนการพีอาร์ เพื่อให้คนในแวดวงได้รับรู้ข้อมูล การทำข่าวเพื่อพีอาร์ อาจจะแยกไปแทรกเป็นส่วนหนึ่งของรายการวิทยุ (ส่วนที่ที่ผู้จัดรายการจะเอามายำๆๆๆ)

การเขียนข่าวพีอาร์ในวิทยุต้องให้อิ่มในตอนด้วย ยกตัวอย่างรายการวิทยุคณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นรายการสามนาทีคือ 24 บรรทัด แต่ลองฟังดูแล้วเหมือนยังไม่จบ ยังขาดข้อมูลอะไรบางอย่างที่ต้องรอติดตามต่อไป

นอกจากนี้ในการเขียนข่าวควรเลี่ยงการใช้คำเชื่อม ที่ทำให้เยิ่นเย้อ เช่น คำว่า แล้ว. นั้น ที่ ซึ่ง. เวลาโปรยข่าวแล้ว ไม่ต้องเอาคำมาเป็นตัวนำในย่อหน้าแรกอีก เอาเนื้อๆ ไปเลย เพราะเวลาน้อย ถ้าเป็นข่าวประกอบเสียง ไม่ต้องเอาคำพูดของคนที่พูดมาเขียนซ้ำอีก ปล่อยเสียงแหล่งข่าวเต็มที่ คือ 20 วินาที ไม่เกิน 25 วินาที

ในการผลิตข่าววิทยุจากข่าวที่ปรากฏในสื่อหนังสือพิมพ์. ต้องคำนึงเรื่องเวลาด้วย เช่น ข่าว 30 วินาที ดึงข้อความสำคัญให้ได้ ไม่อ่านข่าวที่เกิดประโยชน์หรือผลเสียหายกับเจ้าของเรื่อง สรุป เอาเนื้อๆ เน้นๆ


การสร้าง connection

การทำพีอาร์ข่าวกับการเผยแพร่ ต้องไม่ทำแบบมักง่าย ม้วนเดียวจบ เพราะว่าคนภายนอกเขาไม่รู้เรื่องอะไรด้วย ต้องดูวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือคอนเนกชั่น หนึ่ง คือ ความสัมพันธ์ส่วนตัว นับถือเป็นพี่น้องเพื่อนร่วมงาน ศิษย์ สอง การช่วยเหลือเผื่อแผ่ดูแล ไม่ลืมว่าเราเคยใช้เขาเผยแพร่ออกอากาศ  เราต้องไปแสดงตัวตนให้เห็นแม้เขาไม่เชิญ คอนเนกชั่นที่สามคือ ผู้บริหาร บางครั้งต้องการความช่วยเหลืออย่างด่วนทันที คอนเนกชั่นที่สี่อยู่ในกลุ่มพวกเราเองเพื่อช่วยเหลือกัน ตรวจสอบ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ยอมรับการวิพากษ์เพื่อเกิดการพัฒนา แม้ต่อไปเราจะไม่ได้ทำงานที่เดิม คอนเนกชั่นนี้ยังติดตัวอยู่

ถามว่าได้อะไรจากวิทยากรอีกบ้าง?

  • ได้เทคนิคการบริหารจัดการทีมงาน
  • การฝึกบุคลากรใหม่ ในวงการข่าววิทยุ บุคลากรใหม่จะได้รับมอบหมายให้บันทึกรายการแบบอนาล็อคเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่มีสิทธิลบแทรค สิ่งที่ได้รับผู้ปฏิบัติจะมีความตั้งใจฟังรายการเพื่อเลือกช่วงสัมภาษณ์
  • ข่าวประกอบเสียง ควรส่งเนื้อข่าวคู่กับเสียง
  • วิธีการทำให้สื่อคลิกอ่านข่าวที่ส่งเข้าอีเมล  หัวข้อต้องโดนใน 1 ประโยค ยกตัวอย่างนวัตกรรมเครื่องสีข้าว ราคาห้าพัน เสียบปลั้กใช้ได้เลยของหน่วยงาน คิดหัวข้อสั้นกระชับได้ว่า จ่ายห้าพันเครื่องสีข้าวเอามาใช้ในบ้าน



แนวทางทำงานนอกกรอบ

  • การส่งข่าวผ่านสังคมออนไลน์ เสริมการใช้สื่อหลักช่วยการสร้างเครือข่าย ทำเครือข่ายให้แข็งแรง จะได้เนื้อหาสาระเพื่อนำเสนอ
  • พีอาร์คณะ ควรสร้างช่องทางเชื่อมต่อภายในคณะ เพื่อได้ข้อมูล เพื่อเกิดการเปรียบเทียบเปิดเผยแหล่งข้อมูลจากหน่วยงานย่อยๆ ในคณะ  เกิดการแข่งขันส่งข้อมูล และ พีอาร์เปรียบเป็นเกตคีบเปอร์ คัดกรองข่าวส่งผลงาน เรื่องดีดีออกนอกคณะไปยังสื่อมวลชนต่อไป
  • วิทยุสร้างได้ง่ายจาก application ขออนุญาต กสทช ได้. เมื่อ 3G เข้ามา คนจะหันมาทางดิจิตอลผ่านมือถือด้วย รวมทั้งการค้นหาข่าวย้อนหลังก็ทำได้ด้วย
  • งานเขียนข่าวแต่ละข่าว เราเคยตั้งสติไหมว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไร. เราอาจมองเป็นภาระงาน ถ้าเราจะปลูกฝังการคิดถึงผลประโยชน์ด้วย ให้เรามองคนรับรู้ข้อมูลที่เราเผยแพร่ไปแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เราจะภูมิใจไหม?
  • การมองกลุ่มผู้ฟังด้วย มีไลฟ์สไตล์อย่างไร. การเปิดทีวีเพื่อเป็นเพื่อนและฟัง(ไม่ได้สนใจดู) คนที่ห่างจากวิทยุไม่ได้ในช่วงเวลาไหน  ลองคำนวณเวลาที่เขาจะได้ใช้สื่อวิทยุเป็นสื่อหลัก. เราจะนำเสนออะไร และเนื้อหาจะมีผลอีกทีว่าเขาจะโป๊ะเชะเรื่องอะไรมั้ย เช่น เช้า เขาต้องการบริโภคข่าว. เที่ยง ช่วงคนทำงาน เย็น อาจจะเป็นข้อมูลสาระเช่นเรื่องเด็ก ครอบครัว คนชรา เพราะเขาอาจนั่งอยู่ในรถ รอรับลูก วันหยุดก่อนเที่ยง ต่างกับหลังเที่ยงยกตัวอย่าง วิทยากรมองเครือข่ายชุมชนฟังสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชนวันหยุด. หกอำเภอโดยรอบที่เครื่องส่งคลื่นส่งถึง ไลฟ์สไตล์จะเป็นคนทำงานในเมืองจะไม่ต่างกับคนกรุงเทพเท่าไร

7 วิธีการง่ายๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญการผลิตข่าววิทยุให้น่าสนใจ

  1. ทุกข่าวนำเสนอต้องยึดประชาชนรับฟังได้ประโยชน์
  2. ข่าวนำเสนอต้องสั้น กระชับ ได้ใจความ จบ อิ่มภายในหนึ่งนาที
  3. ข่าวแต่ละชิ้นที่นำเสนออย่าหลายประเด็น อย่าเป็นรจนาช่างเลือก
  4. ถ้ามีเสียงแหล่งข่าว ต้องการเผยแพร่ ให้ขอร้องเขา ถ้าพูดไม่ได้ ให้เราทำสคริปต์ให้ ประมาณ 1 นาทีต่อ 1 ข่าว แต่ถ้าไม่ได้ ก็จะเป็นภาระเรา ข่าว 20-25 วินาที
  5. พร้อมรับเสมอคำวิจารณ์ เปิดใจให้กว้า พร้อมรับพัฒนา
  6. นำเสนอข่าว ต้องมองที่ไลฟ์สไตลคนที่จะฟัง
  7. ถ้าไม่มั่นใจว่าข่าวจะได้รับการออกอากาศหรือไม่ ให้สร้างตัวเราเป็นพระเอกนางเอกขึ้นมาเลย. เช่น จากเว็บไซต์คณะ นำขึ้นเองเป็นสรุปข่าวในสัปดาห์

ผลิต 1 ข่าว ได้3อย่าง เราได้เน็ตเวิร์ค ได้เผยแพร่ข่าวของหน่วยงานตัวเรา ได้ผลงานที่ทำ

คำถาม คำตอบจากผู้เข้าฟัง

1 อนาคตยุคดิจิตอล ทุกอย่างเป็นบิสิเน็ต ไม่มีอะไรฟรี. แต่การสร้างแอพพลิเคชั่นช่วยได้

2 เครื่องมือสื่อสารติดตัวเราทำข่าวประกอบเสียงได้ไหม ไอโฟนพอไหว ซัมซุงได้ลุ้น

3 การประเมินเช็คเรตติ้งของสถานีวิทยุ ทำอย่างไรได้บ้าง ใช้เปิดตู้ ปณ. เปิดสื่อ หาของล่อ ภายในสามเดือนเราจะรู้ว่าคนฟังจากไหน เป็นใคร สร้างกลุ่มทำฐานคนฟังได้

4 การทำข่าวพีอาร์ไม่ใช่เรื่องรีบเร่งที่จะต้องบีบอัดไฟล์เสียง จนฟังไม่ชัด มุมมองคนทำงานอาจออกอากาศให้ แต่ก็ด้วยความขมขื่น

"ขอบคุณพี่ๆ น้องๆ ที่ให้ผมได้มาแชร์ แลกเปลี่ยน  เพราะผมเองหาโอกาสมาได้ไม่บ่อยนัก"
(รอภาพ)

ท้ายที่สุดนี้...

ในนามของเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ มช. ขอขอบคุณคุณสมภพ จันทร์ฟัก ที่มาให้ความรู้ ประสบการณ์การทำงานด้านข่าววิทยุ เทคนิคการบริหารจัดการภายในทีมงาน ที่สำคัญได้ช่วยจุดประกายความคิดให้กับพีอาร์หน่วยงานว่าต่อไปนี้จะมีแนวทางสร้างเครือข่ายภายในหน่วยงานย่อยๆๆ ทำอย่างไรไม่ให้อดตายกับการได้ข้อมูลข่าวสารจากภายในคณะ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันข่าวสารออกไปตามช่องทางการสื่อสาร เกิดการแข่งขันการทำงานร่วมกันในระหว่างเครือข่ายพีอาร์มช ทำให้เกิดการพัฒนาตัวเราเองจากการเปิดใจรับฟังคำวิจารณ์ความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นการร่วมขับเคลื่อนหมุนวงล้อการทำงานประชาสัมพันธ์หรือการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน ซึ่งจะนำคุณประโยชน์ทางอ้อมให้มหาวิทยาลัยในที่สุด และหวังอย่างยิ่งว่า มช จะมีโอกาสเรียนเชิญมาติดตามความก้าวหน้าการสร้างงานสร้างเครือข่ายภายในสื่อ cmu channel

หมายเลขบันทึก: 517121เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2013 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2013 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท