“ความสุขระหว่างบรรทัด” ในโลกที่เต็มไปด้วยวัตถุนิยม


โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

รายการวิทยุ "รู้ใช้เข้าใจเงิน" FM 96.5





ความสุข ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราปฏิเสธหรือยอมรับวัตถุนิยม
หากต้องมาจากจิตใจที่เปิดกว้าง
รู้ว่าเมื่อใดจะไขว่คว้าวัตถุมาเพื่อเติมเต็มความสุข รู้ว่าเมื่อใดควรจะให้จิตใจนำทางและลืมเลือนวัตถุที่อยู่ตรงหน้าไป



ยิ่งตีกรอบบังคับเท่าไร
ความสุขก็ดูเหมือนจะหลุดลอยห่างไกล

 

 

บางทีการปล่อยวางสักครู่
แล้วค้นหาความสุขระหว่างบรรทัด อาจทำให้ชีวิตมีสีสันและความหมายมากขึ้น


1. Creative Economy เปลี่ยนความสร้างสรรค์ให้เป็นเงิน



 

ความสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน
ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่



หากทว่า ศตวรรษที่ 21 ซึ่งมนุษย์ถูกกดทับด้วยสินค้าเชิงวัตถุมากมาย จึงกลับทำให้สินค้าสร้างสรรค์
(Creative Product) เป็นที่โหยหามากกว่าเดิม



ในขณะเดียวกัน มนุษย์ในยุคนี้ก็มีเวลาว่างเพิ่มขึ้น
มีทรัพยากรที่จะแปลงความคิดสร้างสรรค์เป็นผลผลิตได้มากขึ้น
ทั้งเพื่อตอบสนองความบันเทิงส่วนตัว เติมเต็มส่วนที่ขาดในชีวิต
และแม้กระทั่งเพื่อวางขายในท้องตลาด


ด้านมืดของการแปลงความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นสินค้าก็คือ
เมื่อคุณกังวลกับการตอบสนองของตลาดมากเกินไป จิตใจของคุณก็จะถูกปิดกั้น
ความคิดสร้างสรรค์ที่เคยเลื่อนไหลก็จะหยุดนิ่ง
ในที่สุดสินค้าของคุณก็จะน่าเบื่อไร้รสชาติ



ในทางตรงข้าม ด้านมืดของการพะวงว่า ความคิดสร้างสรรค์จะสูญเสียคุณค่าเมื่อวางขายในท้องตลาด
ก็จะทำให้ผู้สร้างสรรค์ตกเข้าสู่ภาวะยึดถืออัตตาเป็นศูนย์กลาง (Ego-Centric)
โดยไม่สนใจจะดูดซับความหลากหลายจากโลกความจริงที่ซับซ้อน
ไม่ใส่ใจว่ายังมีชีวิตอื่นที่แตกต่าง ยังมีความปรารถนาอื่นที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม
ยังมีรสนิยมที่แตกต่างจากเรา ซึ่งยังไม่ได้รับการตอบสนอง

 

 

 

 

 

 

 



 

การปรับตัวให้เข้ากับโลก
ปรับพลังสร้างสรรค์ให้เป็นสิ่งที่ตลาดปรารถนา
จึงไม่ได้เป็นการทำลายคุณภาพของการสร้างสรรค์
หากเป็นการทำให้พลังสร้างสรรค์มีชีวิตชีวาจากพลังของเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น


ตัวอย่างที่ดีที่สุดของกลยุทธ์แบบนี้ก็คือ Shakespeare
ที่ผลงานสร้างสรรค์ของท่าน ประสบความสำเร็จทั้งในฐานะการแสดงละครที่สร้างได้รายได้เป็นกอบเป็นกำ
เพราะช่างเอาอกเอาใจผู้คนในยุคสมัยของตน ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถดึงดูดชีวิตชีวาของมนุษย์รอบข้าง
มาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้รับการยกย่องกล่าวขานถึงไม่เสื่อมคลาย แม้กาลเวลาหลายร้อยปีก็ไม่อาจสั่นคลอนชื่อเสียงของท่านได้


การปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสุข
ยิ่งทำก็ยิ่งเบิกบาน ยิ่งทำก็ยิ่งมีคุณภาพเพิ่มพูน



การสร้างสรรค์จึงควรเริ่มมาจากภายใน
ปลดปล่อยแรงบันดาลใจออกมาในทุกท่วงท่า โดยไม่ต้องสนใจว่าจะขายได้หรือไม่ มีคนรับซื้อหรือไม่



หลังจากนั้นจึงค่อยขัดเกลาผลงานให้ประณีตขึ้น
ให้สอดคล้องกับตลาดมากขึ้น ให้ดูดซับชีวิตชีวาของโลกภายนอกเข้ามาเติมเต็ม



นี่คือ
การประนีประนอมระหว่างพลังของปัจเจกบุคคลและตลาด พลังของจิตใจภายในและโลกภายนอก



การประนีประนอมที่ทำอย่างประณีตลึกซึ้ง
ย่อมนำไปสู่คุณค่าที่สูงส่งกว่า
ความดันทุรังในคุณภาพตามความเชื่อส่วนตัวที่ไม่เคยมีอยู่จริง


ความสร้างสรรค์
จึงเป็นความสุขใหม่ที่เราต้องรีบไขว่คว้าและทำให้เป็นจริง



เขียนนิยาย ร้องเพลง ออกแบบบ้าน
สร้างนวัตกรรมให้ธุรกิจ



ทำทีละน้อย เท่าที่ทุนและเวลาจะเอื้ออำนวย
ทำตามใจปรารถนา แล้วค่อยปรับให้เข้ากับตลาด


2. Connection แม้แต่กับคนที่เราไม่ชอบหน้า





  มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้น
ไม่ว่าตัวเราจะเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นเลิศ นักวิชาการที่คิดได้ลึกซึ้ง
หรือแม้กระทั่ง นักแสดงที่ล้ำเลิศทั้งหน้าตาและบุคลิกภาพ
แต่หากไม่มีคนรอบข้างสนับสนุนเลย ความสามารถของเราก็ไร้น้ำยา



  การสร้างมิตรภาพกับคนรอบข้าง (Connection)
จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนอกจากทำให้เรามีความสุขในการตอบสนองสัญชาตญาณแบบสัตว์สังคมที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแล้ว
ยังทำให้บุคคลที่เราสร้างความรู้สึกดีไว้ล่วงหน้านั้น
เข้ามาช่วยสนับสนุนให้ผลงานได้รับการตอบรับจากตลาด ได้รับการซื้อหาจากผู้คนอีกด้วย



  หากทว่า ในโลกความจริงที่โหดร้าย
บางครั้งก็ดลบันดาลให้เราต้องเจอกับคนที่ไม่ชอบหน้า ทั้งโดยคิดไปเอง
ทั้งโดยประโยชน์ขัดกัน หรือแม้กระทั่งไม่มีรสนิยมคล้ายคลึงกันเลย
เราจะจัดการสถานการณ์ที่น่าหดหู่เช่นนี้อย่างไรดี



  แน่นอนว่า
บางคนมีความแค้นกับเราอย่างล้ำลึก การให้คืนดีกันคงเป็นไปไม่ได้
แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนปกติธรรมดา ย่อมไม่เพาะสร้างศัตรูไว้เต็มไปหมด ดังนั้น
คนที่เราไม่ชอบหน้า จึงมักจะมาจากสาเหตุเล็กน้อยเท่านั้น
หรือหากจะมีปัญหากันอยู่บ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องคลี่คลายได้ หากใส่ใจที่จะแก้ไข


  การสร้าง Connection
กับคนที่ไม่ชอบหน้า จึงเป็นวิธีการชั้นเลิศ
ในการเพิ่มความสุขให้ชีวิต เพราะทำให้เราไม่ต้องหนีปัญหาอีกต่อไป
ทำให้เราเปิดใจรับฟังเสียงที่แตกต่าง เพื่อจะนำมาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น



  ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้เราคาดหวังกับความสมบูรณ์แบบของโลกน้อยลง
ยอมรับว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์ ยอมรับว่า คนที่ต่างจากเราก็มีดีในแบบของตน
ทำให้เราสามารถโอบรับความหลากหลายเข้ามาเติมเต็มตัวเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แทนที่จะปฏิเสธและหนีห่างไป


  อย่างไรก็ตาม
การฝืนตัวเองให้ต้องทนกับคนที่ไม่ชอบหน้ามากเกินไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
เพราะทำให้เราต้องเสียเวลาไปกับเรื่องนี้มากเกินไป
จนกระทั่งละเลยเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า
โดยเฉพาะการสร้างสัมพันธ์กับคนที่เราชอบให้ดียิ่งขึ้น



  เราจึงควรที่จะลงแรงกับ “Connection
ที่เราไม่ชอบหน้า” ให้น้อยที่สุด นั่นคือ เปิดใจรับฟังเขา
ปรับตัวเท่าที่ทำได้ แล้วค่อยมาดูกันว่าผลจะเป็นอย่างไร ถ้าดีขึ้นก็เดินหน้าต่อ
ถ้าเลวลงก็ละทิ้งไป


  หากทว่าสิ่งที่ได้ขึ้นมาในทันทีก็คือ
ความสุขในการเปิดใจ ความสุขในการให้โอกาสกับผู้คน และที่สำคัญ คือ
ความสุขในการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของโลก และปลดปล่อยตัวเราจากอคติที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน





  3. คิดเล็ก คิดใหญ่ ไม่สำคัญเท่าทำได้จริง





  คิดเล็กหรือคิดใหญ่ดีกว่ากัน
เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยมีคำตอบที่แน่ชัด
แต่ละคนก็เชื่อถือไปตามทางของตน



  หากทว่า
มันกลับบั่นทอนความสุขในการลงมือทำของเรา เพราะต้องมามัววิตกว่า
มันจะเล็กเกินไปไหม มันจะใหญ่เกินกำลังหรือไม่


  โดยพื้นฐานแล้ว การเริ่มต้นทำอะไร
ก็ควรจะให้เล็กที่สุด เพื่อที่จะควบคุมได้ เพื่อที่จะปรับแก้วิธีการได้สะดวก
เมื่อมั่นใจแล้วจึงค่อยขยายผลให้ใหญ่



  หากทว่า ในหลายครั้ง
การคิดเล็กเกินไป ก็ทำให้เราติดกับกรอบจำกัด
ทำให้เราไม่กล้าระดมทรัพยากรและความช่วยเหลือจากภายนอก ที่สำคัญ การคิดเล็ก
ยังไม่เป็นที่ดึงดูดของผู้คน เพราะมนุษย์มักหลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งใหญ่อลังการ
โดยเฉพาะอะไรที่ดูสวยหรูเปล่งประกาย


  วิธีที่ดีกว่าคือ การเติบโตแบบ Organic
Growth ปล่อยให้สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกเป็นตัวตัดสิน
โดยเริ่มต้นจากสิ่งที่เราควบคุมได้ ทำแล้วมีประสิทธิภาพดีเลิศ



  หลังจากนั้นจึงนำความสำเร็จมาตกแต่งเป็นเรื่องเล่าที่ดึงดูดใจคน
แล้วคอยคัดกรองว่าจะปล่อยให้ทรัพยากรจากภายนอกหลั่งไหลเข้ามามากน้อยเพียงใด
ทั้งดิน น้ำ อากาศ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่งการพรวนดิน



  สิ่งที่เป็นตัวตัดสินคือ
ประสิทธิภาพและคุณภาพ หากว่าการเปิดรับจากภายนอก
แล้วเรายังสามารถทำงานอย่างลื่นไหล คุณภาพสามารถควบคุมได้ ก็ย่อมเป็นสิ่งดีที่จะได้เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้มีส่วนร่วมกับความสำเร็จของเรา


  แต่หากรู้สึกว่าอึดอัด
รู้สึกว่าทำงานแล้วไร้ความสุข โดยไม่ได้เกิดจากอคติหรือกรอบคิดที่ปิดกั้น
เราก็ควรจะปฏิเสธทรัพยากรภายนอกนั้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เรายังควบคุมองค์กรไว้ได้


  ความสุข เป็นเรื่องที่ซับซ้อน
พัวพันกับความสำเร็จหรือล้มเหลวในชีวิตเรา เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่หลากหลาย
เราจึงไม่ควรปิดกั้นตัวเองไว้ โดยคิดว่าความสุขเป็นเรื่องของจิตใจที่อยู่ภายในเท่านั้น



  เพราะนั่นคือ การหลบหนีจากโลก
แล้วสร้างความสุขในจินตนาการขึ้นมาหลอกลวงตัวเอง



  ในโลกที่เต็มไปด้วยวัตถุนิยม
ชีวิตเราก็มีความสุขได้ หากรู้จักสร้างสรรค์




หมายเลขบันทึก: 517030เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2013 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2013 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบจังครับ....เป็นความสุขระหว่างบรรทัด...เป็นความสุขในการได้อ่าน และการได้ใช้ความคิดระหว่างบรรทัดด้วยเช่นกันครับอาจารย์...อาจารย์สบายดีนะครับ

สบายดีครับคุณทิมดาบ สุขสันต์วันตรุษจีนนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท