"วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง" ที่ควรรู้


วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง  หมายถึงการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทาง ปกครองหรือกฎและรวมถึงการดำเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามพระราชบัญญัตินี้ ตามมาตรา ๕ แห่ง         พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ 


วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง จึงแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน

๑. ขั้นตอนการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่

๒. ขั้นตอนการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎ

๓. การดำเนินการภายหลังการออกคำสั่งทางปกครอง


๑. ขั้นตอนการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่

การพิจารณาทางปกครอง หมายถึงการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง

ในขั้นตอนการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่นี้เป็นกระบวนการภายในของฝ่ายปกครองที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่ได้ใช้อำนาจทางปกครอง เพียงแต่มีการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การจัดให้มีคำสั่งทางปกครองเท่านั้น จึงยังไม่มีผลบังคับตามกฎหมายอันมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของประชาชน

ได้แก่    การตอบข้อหารือของกรมบัญชีกลาง เป็นการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๕๕/๒๕๕๕)

   

๒.  ขั้นตอนการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎ 

คำสั่งทางปกครอง หมายความว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรองและการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้

กฎ หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้

ดังนั้น ขั้นตอนการออกคำสั่งทางปกครองหรือกฎนี้จึงเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ได้มีการใช้อำนาจทางกฎหมายอันมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล


๓. การดำเนินการภายหลังการออกคำสั่งทางปกครอง

เป็นขั้นตอนที่คำสั่งทางปกครองมีผลออกสู่ภายนอกองค์กรฝ่ายปกครอง ซึ่งมีผลผูกพันตามกฎหมายของผู้รับคำสั่ง ตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไปและจะมีผลอยู่ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลโดยเงื่อนเวลาหรือเหตุอื่น และหากผู้รับคำสั่งทางปกครองเห็นว่าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิที่จะขอให้องค์กรฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ทบทวนคำสั่งทางปกครองได้ใน ๓ ลักษณะ คือการขอให้พิจารณาใหม่ การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง หรือการที่องค์กรฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจทบทวนคำสั่งทางปกครอง โดยการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง แม้มิได้มีคำขอของผู้รับคำสั่งทางปกครองก็ตามและท้ายที่สุด ก็มีสิทธิที่จะนำคดีเข้าสู่การวินิจฉัยขององค์กรวินิจฉัยชี้ขาดคือศาลปกครองได้


ตัวอย่างคำวินิจฉัยกรณีคำสั่งทางปกครอง

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๙๐๓/๒๕๔๘  

การดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา  เป็นการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง   เนื่องจากคณะกรรมการฯ มิได้เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อหรือสั่งจ้างที่ก่อให้เกิดคำสั่งทางปกครองในอันที่จะมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น บรรดาขั้นตอนต่าง ๆ ที่คณะกรรมการฯ ดังกล่าวดำเนินการก่อนที่จะมีคำสั่งรับคำเสนอขาย ย่อมไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง 


คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๘/๒๕๕๑ หนังสือแจ้งให้เอกชนผู้รับจ้างชำระค่าปรับกรณีก่อสร้างล่าช้า เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญา มิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล จึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้

 

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๒๕/๒๕๕๑ ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเป็นการดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่เพื่อเสนอผู้มีอำนาจออกคำสั่งทางปกครองวินิจฉัยสั่งการต่อไป ยังไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง


คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๒๖/๒๕๕๐ ที่ ๒๖๗/๒๕๕๐ ที่ ๒๓๖/๒๕๕๑ ที่ ๑๘๙/๒๕๕๒ ที่ ๒๓๔/๒๕๕๒ ที่ ๓๔๙/๒๕๕๒ และที่ ๔๐๐/๒๕๕๒  การตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเป็นขั้นตอนการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาทางปกครองเพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองต่อไป จึงยังไม่ส่งผลกระทบให้ผู้ฟ้องคดีเสียสิทธิของตนในขณะปฏิบัติราชการ จนกว่าจะมีคำสั่งทางปกครองถึงที่สุดในเรื่องดังกล่าว แม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะถูกระงับสิทธิต่าง ๆ ในระหว่างนี้ แต่หากว่าถึงที่สุดแล้ว ไม่มีความผิดทางอาญาหรือไม่ได้ถูกลงโทษทางวินัย ผู้ฟ้องคดีย่อมได้รับสิทธิเหล่านั้นคืน อย่างไรก็ตามมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๓๖/๒๕๔๙ ที่ ๒๖๗/๒๕๕๐ และที่ ๑๑๖/๒๕๕๑ วินิจฉัยว่าคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง แม้มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองแต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งที่เป็นการเตรียมการและการดำเนินการเพื่อจัดให้มีคำสั่งลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดี ซึ่งถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งอื่นที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒


คำสั่งทางปกครองที่ควรทราบ ได้แก่

คำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับการพัสดุ

ข้อ ๑ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาหรือสิทธิประโยชน์ในกรณีดะงต่อไปนี้เป็นคำสั่งทางปกครอง

(๑) การสั่งรับหรือไม่รับคำเสนอขาย รับจ้าง แลกเปลี่ยน ให้เช่า ซื้อ เช่า หรือให้สิทธิประโยชน์

(๒) การอนุมัติสั่งซื้อ จ้าง แลกเปลี่ยน เช่า ขาย ให้เช่า หรือให้สิทธิประโยชน์

(๓) การสั่งยกเลิกกระบวนการพิจารณาคำเสนอหรือการดำเนินการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน

(๔) การสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน


คำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับวินัยข้าราชการ

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๔๒/๒๕๔๗  คำสั่งไม่อนุญาตให้ลาป่วยย้อนหลังจนเป็นเหตุให้ถูกแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัตินี้ 


คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๓๐/๒๕๕๐ และคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๕/๒๕๕๐  คำสั่งของหน่วยราชการที่ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการเป็นคำสั่งที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์อันมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเดือนของข้าราชการดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง

หมายเลขบันทึก: 516338เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2013 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2013 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คุ้น ๆ นะครับนั่น อาจารย์นพลักษณ์ ๙ ;)...

สวัสดีค่ะ ท่าน  อาจารย์  Sila  Phu  Chaya   หวังว่าท่านอาจารย์คงจะสบายดีนะคะ

ขอบคุณที่นำกฎหมาย น่ารู้  มาแบ่งให้อ่าน  ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท