511. จิตแห่งอนาคต (ตอน 2)


ระยะนี้มีโอกาสอ่านหนังสือดีๆ เลยพยายามเอาเรื่องดีๆมาเล่าครับ วันนี้มาจากหนังสือเรื่อง แครอท ยอดนักจูงใจ ซึ่งแปลมาจากหนังสือภาษาอังกฤษคือ YES! 50 Secrets from the Science of Pursuasion จริงๆ ดูเป็นหนังสือ How to ทั่วไป แต่เมื่ออ่านแล้ว ไม่ธรรมดาครับ เพราะแต่ละบทได้ให้แนวคิดการจูงใจคน ที่เด่นมากๆคือแต่ละบทมีงานวิจัยด้านจิตวิทยารองรับครับ มีบทหนึ่งน่าสนใจมากๆ เป็นบทที่ว่าด้วย ปรากฏการณ์ที่มีการสอบสวนกรณีเครื่องบินตก กระสวยอวกาศระเบิด เหตุการณ์หายนะทั้งหลาย ที่พบว่า ล้วนมีจุดร่วมเหมือนกันคือ ไปเจอว่า ก่อนเกิดเหตุหายนะนั้น ล้วนแล้วแต่มีสัญญาณบอกเหตุ ที่ชัดเจนทั้งสิ้น และที่สำคัญมีใครสักคนก็พยายามเตือนกัปตัน หรือผู้บังคับบัญชา แต่ถูกปฏิเสธ ที่สุดลูกน้องก็ปล่อยเลยตามเลย แล้วเหตุหายนะก็ตามมา  นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Captainitis แค๊ปเทนนิติส  หรือ “การโยนความรับผิดชอบให้กัปตัน”

ซึ่งคือ “พฤติกรรมของลูกเรือที่ไม่เอาใจใส่กับปัญหา เมื่อเห็นกัปตันตัดสินใจผิดพลาด” จากการสืบสวน มีตัวอย่างความผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะในเหตุหายนะ  


Cr: http://thecheckoutnyc.com/2012/01/the-groupthink-effect/

นักวิจัยเองก็ค้นพบอีกว่า ที่มาลึกๆก็คือลูกทีมมักเชื่อฟังหัวหน้า เพราะเขาอยู่ในสถานะที่มีอำนาจ มีความรู้และสิทธิอันชอบธรรม ส่วนผู้นำเองก็มักจะมองมองข้ามความสำคัญ และความสามารถของคนรอบตัว ปรากฏการณ์ Captainitis ตอนหลังมีการทดลองในโรงพยาบาล ประมาณว่าลองให้หมอใหญ่โทรไปหาพยาบาล หมอแกล้งสั่งยาผิดแบบเห็นๆ ขนาดพยาบาลวิชาชีพ ยังปล่อยเลยตามเลย

เรื่องราวนี้ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎี Groupthink (กรุ๊ปติ๊ง) ที่พูดถึงปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนตัดสินใจอะไรแปลกๆ แล้วนำมาสู่ความล้มเหลว หรือหายนะได้อย่างไม่น่าเชื่อ มีการวิจัยเหตุการณ์การตัดสินใจครั้งสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจของนโปเลียน ที่ไปบุกรัสเซียแล้วแพ้ ส่วนฮิตเลอร์เองก็ตัดสินใจบุกรัสเซีย แล้วก็แพ้แบบเดียวกับนโปเลียน จากการศึกษาปรากฏการณ์ระดับกลุ่มพบว่าจริงๆ แล้วในกลุ่มเองมีคนที่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าตัดสินใจแบบนั้น แต่ด้วยความพยายามที่จะประนีประนอม ให้กลุ่มทำงานร่วมกันได้ จึงเลยตามเลยไป  ที่สุดก็เกิดหายนะขึ้นจริงๆ ทั้งที่กลุ่มนั้นประกอบด้วย บุคคลที่เก่งที่สุดในโลก มีทรัพยากร วิทยาการ เทคโนโลยีพร้อมที่สุด ก็พังได้ครับ


Cr: http://alachuapolitix.com/groupthink/

เรื่องนี้ผมเห็นในสังคมเราเกิดขึ้นในทุกระดับครับ ตั้งแต่องค์กรเล็กๆ องค์กรการศึกษา ไปจนถึงระดับประเทศ แล้วเราจะทำอย่างไรครับ เนื่องจากระยะนี้อยู่ระหว่างเทศกาลวันเด็กและวันครู ก็เอาเรื่องคุณธรรมมาคุยกันครับ ผมอ่านการ์ตูนธรรมะแฮ๊ปปี้ มงคลชีวิต 38 ประการ ไปเจอเรื่องมงคลที่ 22 เรื่อง “การถ่อมตัว” ครับ ซึ่งผมมองว่าถ้าเพาะนิสัยเรื่องนี้ในตัวเรา เด็กและคนในองค์กร จะเป็นเหตุหนึ่งที่จะนำปสู่การลดภาวะ Captainitis และ Groupthink ครับ ยังไงครับ พระมหาท่านเขียนว่า ความเคารพคือ การเห็นความดีของผู้อื่น (เมื่วานผมเขียนเรื่องนี้ไปแล้ว) ส่วน “ความถ่อมตน” คือ การพิจารณาเห็นข้อบกพร่องของตนเอง ประเมินค่าตนเองได้ตามความเป็นจริง ไม่อวดดี บางคนเคารพคนอื่นจริง แต่ไม่ถ่อมตน เห็นผู้อื่นดี ขณะเดียวกัน ก็คิดว่าตัวเองดีไม่แพ้ใครเช่นกัน จึงไม่เปิดรับความดีของใคร

เรื่องนี้ต้องเอามาคุยมาพูดกันบ่อยๆครับ ตัวเราเองก็ต้องเกลาตัวเองเรื่องนี้ด้วย ผมเองต่อยอดมาอีกเป็นแนวทางการดูคนคือ

กลุ่ม A เคารพคนอื่น และถ่อมตัวด้วย

กลุ่ม B เคารพคนอื่น แต่ไม่ถ่อมตัว

กลุ่ม C ไม่เคารพคนอื่น แต่ถ่อมตัว

กลุ่ม D ไม่เคารพคนอื่น และไม่ถ่อมตัวอีกด้วย

ผมเองก็สังเกตผู้นำในองค์กรบางแห่งครับ กว่า 20 ปีที่ทำงานมาเห็นอย่างนี้ครับ 

กลุ่ม A เคารพคนอื่น และถ่อมตัวด้วย

แน่นอนคนเก่งคนดีอยากอยู่ด้วย ตามที่ผมสัมผัสมาตัวอย่างเช่น คุณนิพนธ์ เจริญกิจ บริษัท หลังคาเหล็กตารถถัง  เป็นลูกศิษย์ที่น่าภาคภูมิใจของผมเอง ได้ข้อนี้เลยครับ บริษัทโตจากเล็กๆ ภายใน 10 ปีตอนนี้จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วครับ  โดยพึ่งได้รับรางวัลใบโพธิ์ จากศศินทร์ครับ (ดูข่าวที่นี่) ผมจะเขียนถึงท่านนี้ในภายหลังครับ

กลุ่ม B เคารพคนอื่น แต่ไม่ถ่อมตัว

ดูเหมือนเห็นคุณค่าคนอื่นในตอนต้น แต่ที่สุดด้วยความไม่รู้ คนเก่งคนดีหนีหมดครับ เพราะอึดอัด  เรียกว่าในระยะยาวไม่ยั่งยืนครับ

กลุ่ม C ไม่เคารพคนอื่น แต่ถ่อมตัว

กลุ่มนี้ดูสับสน อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งบางอย่าง เจอบางอย่างคลายปมได้จะดีมาก ถ้าคลายไม่ได้ อาจป่วนครับ

กลุ่ม D ไม่เคารพคนอื่น และไม่ถ่อมตัวด้วย

ผมตามดูมาหลายปี เรียกว่าไม่มีใครอยากคบครับ คบด้วยก็ระแวงๆหน่อย หรือไม่ก็ไม่ถือสาครับ

กลุ่ม B, C และ D นี่แหละที่หากปราศจากการขัดเกลาตนเอง ก็จะมีโอกาสเกิด Captainitis และ Groupthink ได้ตลอดเวลาครับ

(สำหรับท่านที่นับถือศาสนาอื่นๆ ก็สามารถเล่า แบ่งปันคำสอนดีๆ ในเรื่องนี้ด้วย ได้เลยนะครับ ยินดีมากๆ)

นอกเหนือจากที่เราจะสามารถสร้างสรรค์ตัวเรา องค์กรของเราไม่ให้ลงเหวด้วยแนวคิดของพระพุทธศานา หรือแง่มุมด้านจิตวิญญาณในศาสนาอื่นๆได้แล้ว เรายังมีวิธีการอื่นๆครับ เช่น

1.  ในเรื่อง Groupthink เองนักคิดได้แนะนำว่า “ในทีมลองหาพวก Devil Advocates เดวิล แอ๊ดโวเคท สักคน ที่จะค้านแบบหัวชนฝาครับ  ในขณะเดียวกันพยายามแสวงหาทางเลือก เชิญคนนอกเข้ามาคุยด้วย ในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์เรามีแนวคิด Crowdsourcing (คราวด์ซอสซิ่ง) ที่ดึงการมีส่วนร่วมจากคนธรรมดา ที่เป็นผูงชนเข้ามา กลับทำอะไรได้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญ และ the Outsider Innovation (ดี เอ๊าท์ไซเดอร์ อินโนเวชั่น) เป็นการดึงการมีส่วร่วมจากคนภายนอก เช่นกรณี LEGO บริษัททำตัวต่อ แต่ก่อนก็ออกแบบกันเอง ตอนหลังเลยเชิญเด็กมานั่งเล่น LEGO กับนักออกแบบ ทำให้ได้คิดไปออกแบบต่อยอด เป็นของเล่นฮิตระดับโลก ดีกว่านั่งคิดกันเอง เออกันเอง แล้วลงเหวไป


Cr: http://www.dailyfinance.com/2011/08/24/why-are-legos-so-expensive/


2.  แนวคิด Marketing 3.0 (การตลาด 3.0) ที่ไม่ใช่เคารพลูกค้า นับถือลูกค้าจนเป็นพระเจ้า แบบไม่ลืมหูลืมตา แต่สอนให้รับผิดชอบต่อโลกใบนี้ ในแง่ของจิตวิญญาณด้วย คนที่เขียนและเป็นผู้นำเรื่อง 3.0 ชั้นนำของเมืองไทยคือดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ครับ

3.  ทางทาง OD ก็มีแนวคิดของเรื่อง Dialogue ครับ ซึ่งในเสาหลักห้าข้อ The Fifth Discipline (เดอะ ฟิฟท์ ดิสซิพพริน) หรือวินัยห้าประการ มีวินัยหนึ่งคือการเรียนรู้เป็นทีม (Team Learning ทีม เลิร์นนิ่ง) ศาสตราจารย์ปีเตอร์ เซ็งเก้ ก็แนะนำให้ใช้การทำ Dialogue ครับ ผมเองก็ทำโดยผสมผสาน U-theory และ Appreciative Inquiry (AI) เข้าไปด้วยครับ

4.  อีกด้านคือทฤษฎีสมองสี่ด้าน แบ่งสมองเป็นสี่ส่วน ค้นหาจุดแข็งที่ซ่อนเร้น เรื่องนี้ลด Groupthink ได้มากครับ

ลองดูวิธีการ เท่าที่ผมเคยทำมาใน "บันทึกที่เกี่ยวข้อง"ข้างล่างนี้นะครับ

ลองค้นหาและต่อจิ๊กซอว์กันเอาเองนะครับ เรื่องนี้คงต้องคุยกันตั้งแต่เด็กจริงๆ ไม่งั๊น พากันลงเหวทั้งประเทศจริงๆครับ

วันนี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองพิจารณาดูนะครับ

หมายเลขบันทึก: 516336เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2013 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2013 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 .....  ดีค่ะ .... "ธรรม รักษาใจ "

เป๊ะ! ค่ะ

มีให้เห็นแม้แต่ในองค์กรตัวเองขณะนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท