เจตนาแห่งการรักษา “ศีล...”


รักษาศีลต้องตั้งใจรักษาจริง ปฏิบัติจริง มันถึงจะเป็นศีล ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส คือ ศีลลูบ ๆ คลำ ๆ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่มีความมั่นอกมั่นใจ


ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม... พระพุทธเจ้าท่านให้เราเน้นเข้ามาหาศีลมาหาข้อวัตรปฏิบัติของแต่ละคนแต่ละท่าน มามีเจตนาที่จะละบาปทั้งหลายทั้งปวงที่มันเกิดขึ้นในจิตในใจตั้งแต่ในอดีต ภพชาติถึงจะหมดได้ ถึงจะหยุดได้...


เราต้องไม่ทำบาปทั้งปวง ทำแต่ความดี ทำบุญทำกุศลให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทด้วยความตั้งใจ

การรักษาศีลต้องชัดเจนด้วยเจตนา ด้วยความตั้งใจ “การกระทำใด ๆ ถ้าเราไม่มีเจตนา เราไม่ตั้งใจถือว่าเจตนานั้นไม่เป็นบาปไม่ผิดศีล...”

รักษาศีลต้องตั้งใจรักษาจริง ปฏิบัติจริง มันถึงจะเป็นศีล ไม่เป็นสีลัพพตปรามาส คือ ศีลลูบ ๆ คลำ ๆ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่มีความมั่นอกมั่นใจ 

สิ่งที่สงสัยอยู่ว่าผิดหรือไม่ผิด พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทำ ถ้าทำแล้วถึงแม้สิ่งเหล่านั้นจะไม่ผิดก็ถือว่ายังผิดศีลอยู่ เพราะผิดในข้อที่เรามีความลังเลสงสัย

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกคนเน้นไปสู่เจตนา เน้นไปที่หัวใจ เพราะว่าพระธรรมวินัยนั้นมันมีมากมาย บัญญัติออกมาเพื่อบังคับจิตใจของคนส่วนมากคนหมู่มาก ไม่ทำผิดอันหนึ่งก็ไปทำผิดอีกอันหนึ่ง...

พระพุทธเจ้าท่านถึงให้พระของเราเอาธรรมตัดสินพระธรรมพระวินัยเป็นสิ่งที่ตรวจทาน 

ธรรมวินัยก็ได้แก่ ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส เป็นไปเพื่ออัตตาตัวตนธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่อยากดัง อยากอวดอยากโชว์ อยากดีอยากเด่น วงมาดวางกล้าม ชอบอวด ชอบคุย ขี้โม้ ไม่รู้ก็ว่าตัวเองรู้ ไม่เห็นก็ว่าตัวเองเห็น “ต่อหน้าล่ะดีลับหลังใช้ไม่ได้ อย่างนี้ก็ไม่ใช่คำสั่งสอนขององค์พระพุทธเจ้า...”

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

คนเราน่ะ มันอยู่ด้วยการเป็นหมู่เป็นคณะ เป็นครอบครัว เป็นหมู่บ้าน เป็นสังคม เป็นประเทศชาติ เพื่อรวมร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเอาตัวรอดจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง 


เรามาบวชมาปฏิบัติ... พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีจิตใจอยู่กับตัวเอง อยู่กับเนื้อกับตัว ให้อยู่กับตัวเองให้มาก ๆ ฝึกเจริญสติสัมปชัญญะ เดินจงกรม นั่งสมาธิ 

อยู่คนเดียวนะ... ถ้าเราอยู่กับเพื่อนอยู่กับหมู่คณะมาก เราก็ไม่ได้มีโอกาสได้ฝึกจิตใจของเราให้สงบ 

ถ้าเราส่งใจไปข้างนอก... คลุกคลี โอกาสที่จะทำอะไรที่ละเอียด อย่างการพิจารณาธรรมที่ลึกซึ้งมันไม่อาจที่จะบรรลุธรรมได้ “ต้องอาศัยความสงบ อาศัยวิเวกจากหมู่จากคณะ เพื่อเจริญสติสัมปชัญญะ พัฒนาตัวเอง...”

รรมะมันต้องอาศัยความสงบ ทบทวนชีวิตจิตใจ เรื่องศีลของเรา เรื่องการขาดตกบกพร่องของเรา ว่าเราจะแก้ไขอันใด ปรับปรุงอันใด...?

อย่างเรามาบวช ถ้าเราไม่ปรับปรุงเข้าหาความสงบ ความวิเวก เราสวดมนต์ก็ไม่ได้ ให้พรก็ไม่ได้ สวดมาติกาสวดอภิธรรมก็ไม่ได้ สวดพระปาฏิโมกข์ก็ไม่ได้ จะเรียนอภิธรรม นักธรรมตรี โท เอก เรียนพระไตรปิฎกก็ไม่ได้ เพราะเราเป็นคนคลุกคลี ไม่ปลีกตัวเข้าหาความวิเวก จะพัฒนาตัวเองให้ได้มรรคได้ผลก็ไม่ได้ เพราะมันคลุกคลี มันไม่มีการประพฤติปฏิบัติ อนาคตของความเป็นมนุษย์มันก็มีแต่ทรุดกับเสื่อม หาความเจริญไม่ได้...

พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสไว้ว่า “ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลี ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส ธรรมเหล่านั้นก็ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า...”

คนเรานี้มันยึดมั่นถือมั่น มีอะไรมันก็ยึดก็ถือ มีบ้านก็ยึดถือในบ้าน มียศมีตำแหน่งก็ยึดถือในยศในตำแหน่ง มีข้าวของเงินทองก็ยึดถือในข้าวของเงินทอง  มีลูกหลานมันก็ยึดถือในลูกในหลาน...

พระพุทธเจ้าท่านสอนเราว่าให้เรามีได้ แต่ทางจิตใจของเราอย่าไปยึดไปถือ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา มันเป็นของชั่วคราว มันไม่จากเราเราก็ต้องจากมัน ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เพราะเรามีความเกิดเป็นธรรมดา มีความแก่เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา เราต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งหลายทั้งปวง


ท่านให้เราฝึกปล่อยฝึกวาง ความโกรธเราก็อย่าเอาไปสะสมไว้ในใจ ความเครียดเราก็อย่าเอาไปสะสมไว้ในใจ ความอิจฉา ความพยาบาท ความรัก ความชอบ  เราก็อย่าเอาไปสะสมไว้ในใจ...

ท่านให้ถือว่ามันเป็นบทเรียน บททดสอบในชีวิตประจำวันของเรา...

เราใช้สอยเงินทองต่าง ๆ ก็เพื่อเป็นเสบียงในการสร้างบารมีทางจิตทางใจไม่ให้เราลุ่มหลง มันเป็นการสร้างกองทุกข์กองกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านสอนเราบอกเราว่าให้เราปล่อยเราวางทุก ๆ วัน อย่าได้ยึดไว้ถือไว้ “มันเป็นบาป...!” 

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเราในชีวิตประจำวันก็ให้เราได้ฝึกใจ ได้ปฏิบัติใจ ถือว่าชีวิตนี้เป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่สร้างความดีสร้างบารมี 

เราสะสมกองกิเลสมานานแล้วหลายภพหลายชาติแล้ว ให้เรามาเอาออกจากจิตจากใจของเรา 

เน้นเข้าหาปัจจุบัน อดีตมันก็ผ่านไปแล้ว มันแก้ไขไม่ได้ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง เราไม่ต้องไปคิดมัน เราทำดีที่ปัจจุบันเพื่อละกองกิเลสที่เป็นตัวตนของเรา...

การสะสมกองกิเลสถือว่าเป็นการสะสมบาป เป็นการกระตุ้นให้เราเวียนว่ายในวัฏฏะสงสาร เหมือนกองเพลิงมีอยู่กองหนึ่ง เราเอาฟืนไปถมเข้าอีก เอาน้ำมันไปใส่ เพลิงนั้นก็ไม่มีวันดับ

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อสะสมกองกิเลส ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า 

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อเป็นบุคคลเลี้ยงยาก ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...

มนุษย์ของเรานี่แหละเป็นบุคคลที่อยู่ยากกินยาก มีความทะเยอทะยานอยาก  อยู่ด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าการกินการอยู่ การไปการมา ล้วนแต่ด้วยการเบียดเบียน “เบียดเบียนทั้งสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แม้แต่ปลาในน้ำ นกบนฟ้า ปลาในทะเลมหาสมุทร ก็จับเขามากินหมด...”


พระพุทธเจ้าท่านถึงตรัสภาษิตว่า “สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง คือการไม่ทำบาปทั้งปวง” 

ผู้ที่เป็นผู้เลี้ยงยากต้องกลับมาแก้ไขตัวเอง ไม่ทำตามความอยาก ทำตามกิเลสของตัวเอง เพราะมนุษย์เกิดมามีพ่อมีแม่ มีบรรพบุรุษที่สืบทอดมา ส่วนใหญ่ก็อาศัยเบียดเบียนผู้อื่นบริโภคผู้อื่น อาศัยแรงงานผู้อื่น “ท่านถึงให้เบรกตัวเอง หยุดทำบาปทั้งปวง...”

อย่าได้เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง เห็นแก่การกินการนอน...

ให้หันมาปรับปรุงตัวเอง ให้เอาศีล ๕ เป็นที่ตั้ง พัฒนาตัวเองให้สูงขึ้น ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ  ให้เอาศีลอุโบสถมาเป็นที่ตั้ง สำหรับสามเณรก็เอาศีล ๑๐ เป็นที่ตั้งตลอดไป  สำหรับพระก็เอาศีล ๒๒๗ เป็นที่ตั้งไว้

พระเราต้องตัดหมด... อารมณ์เรื่องทางวัตถุทางโลกต้องตัดหมด มาเอาความสุขในการมีศีล รักษาศีล ในการเสียสละ ในการปล่อยการวาง 

ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันก็ได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ได้ “สีลัพพตปรามาส” 

ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ส่งจิตใจของเราไปทางโลก ถือว่าเราเป็นคนเลี้ยงยากว่ายากสอนยาก “ไปแปลธรรมวินัยมาหากิเลสตัวเอง...”


ถ้ามันมีความหลงความอยาก แสดงว่าเรายังใช้ไม่ได้... เรายังถูกย้อมด้วยความหลงด้วยอัตตาตัวตน 

เราเป็นพระเป็นนักบวช เป็นคนเฒ่าคนแก่ เป็นผู้ตั้งใจสร้างความดีสร้างบารมี

พระพุทธเจ้าท่านให้เราเน้นมาหาข้อวัตรปฏิบัติ พากันตั้งใจทำความเพียรกัน ไม่ต้องไปวิ่งหาพระนิพพานที่ไหน พระนิพพานมันอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติของเรา ถ้าเราไปแก้ที่อื่นมันไม่ถูก 


เราอยู่วัด เรามารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนสร้างบารมีเหมือนกัน

วันนี้เป็นวันพระ... พระพุทธเจ้าท่านให้เราหันมาหาศีลหาคุณธรรม พากันสร้างความดีสร้างบารมี “อย่าให้หัวใจมันพุ่งพล่านแตกสลาย” 

ให้กลับมาหาตัวเอง กลับมาหาข้อวัตรข้อปฏิบัติ...

ชีวิตของเรามันต้องแก่ต้องเฒ่าไปทุกวัน ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจมันจะไม่ทันเวลา ไม่ทันกาล พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้น...


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

เช้าวันศุกร์ที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 516186เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2013 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2013 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท