เรียนรู้ 101 ตอนที่ 2 คำถามกระตุ้นการ "ลปรร."


เมื่อนานมาแล้ว ผมอ่านบทความของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล Carl Weiman จาก University of Colorado ผู้ผันตัวเองจากการค้นคว้าเชืงลึกมาสู่นักการศึกษาตัวยง (จริงๆ เขาแค่ทำเพิ่มครับ งานเก่าเค้าก็ทำอยู่) ถูกใจกับคำถามง่ายสี่ประการ สำหรับกระตุ้นการเปิดความคิด ความมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และการอภิปราย หรือที่ชาว GotoKnow เรียกว่า "ลปรร." (แลกเปลี่ยนเรียนรู้)

1. เหตุใดถึงต้องรู้ (Why is it worth knowing?) จุดเริ่มต้นของความคิดคือความอยากรู้ จำเป็นมากที่จะต้องใช้เวลาในการพยายามให้เด็กรู้ว่าทำไมถึงต้องรู้ ผมยังจำตัวเองได้สมัยเรียนฟิสิกส์ระดับมหาวิทยาลัย ถึงผมจะชอบเรียนฟิสิกส์​ ผมไม่เข้าเรียนวิชาฟิสิกส์เลย (เด็กๆอย่าเอาอย่างนะครับ) เพราะผมไม่สามารถตอบได้ว่า เป้าหมายของการเรียนในชั้นคืออะไร ทำไมผมถึงต้องเรียนมัน ผมเห็นแต่สมการหลากหลาย วิธีการแทนค่าต่างๆ ไม่สนุกมากๆ ผมจึงเลือกที่เอาเวลาไปนอน (พอดีวิชาเป็นตอนเช้า) เพื่อที่ตอนกลางคือผมจะได้อ่าน textbook ซึ่งเป็นตำราฟิสิกส์ภาคภาษาอังกฤษมีรูปสวยๆ มีคำอธิบายดีๆ และทุกๆครั้งในหนังสือจะให้แสงสว่างกับผมว่า "ทำไมต้องรู้เรื่องนี้"

2. สิ่งนี้ทำงานจริงอย่างไร (How does it work in the real world?) เมื่อเห็นความสำคัญแล้วคงต้องเห็นภาพทันที การเรียนรู้คือกระบวนการ ดังนั้นกระบวนการเข้าใจกลไกของสิ่งที่เกิดขึ้นจึงสำคัญมาก เพื่อให้ผู้เรียนเห็นภาพเชื่อมโยงขององค์ประกอบแต่ละส่วน  ผมจำได้ว่าสมัยผมเรียนชีววิทยา ผมชอบมันมาก เพราะผมสามารถเห็นกระบวนการทำงานของสิ่งต่างๆ ในภาพๆเดียว ยกตัวอย่างเช่น ผมเห็นกระบวนการย่อยอาหารตั้งแต่เข้าปากจนถึงออกมาจากร่างกาย การเห็นภาพรวมของกลไกต่างๆจะช่วยเชื่อมโยงความคิด เชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ นำไปสู่ความเข้าใจได้ง่าย 

3. เหตุใดมันถึงสมเหตุสมผล (Why does it make sense?) การตรวจสอบว่าเราเข้าใจสิ่งต่างๆถูกต้องหรือไม่ คงหนีไม่พ้นการตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ วิธีการหนึ่งคือการถามถึงความสมเหตุสมผลของหลักการของสิ่งที่เรียนรู้  กลเม็ดสำคัญคือการตั้งโจทย์ให้เปรียบเทียบกับของจริง เช่น เราเคยใช้หลักการของสามเหลี่ยมคล้ายในการหาขนาดของวัตถุ (ดูตัวอย่างรายการวิทยสัประยุทธ์ ตอนใช้เหรียญบาทวัดขนาดดวงจันทร์ http://www.youtube.com/watch?v=LCNKaKGZQFw ) การวัดค่าของด้านสามเหลี่ยมเพื่อคำนวณขนาดของวัตถุ หากเราคำนวนขนาดของดวงจันทร์เป็นช่วงเซ็นติเมตร ก็เห็นชัดเจนว่าแปลกแล้วหล่ะครับ :)  การตั้งคำถามแบบนี้ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงกับคำตอบที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันของเค้าด้วย อย่าหลงกลไปตั้งคำถามที่ให้คำตอบที่ไม่มีจริงนะครับ (เช่น ถามคำถามที่ให้คำตอบว่าโลกหมุนกลับทิศ) จะทำให้ผู้เรียนงงมากๆ

4. สิ่งนี้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของคุณอย่างไร (How is it related to your daily life?) สิ่งสุดท้ายคือการที่เค้านำความคิดไปประยุกต์ใช้จริง คงหนีไม่พ้นว่าสิ่งที่เรียนจะไปปรับเปลี่ยนประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเค้าได้อย่างไร เราต้องจุดประกายเปิดโอกาสให้เค้าได้คิดเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเค้า ยิ่งแต่ละคนมีประสบการณ์ที่ต่างกัน การ ลลปร. จะมีคุณค่ามหาศาลจริงๆครับ 

ใช้เวลากับคำถามเหล่านี้สำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 และผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ตามที่เราต้องการครับ...

หมายเลขบันทึก: 516049เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2013 07:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2013 07:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูอ้อยจัดการนิเทศแบบกัลยาณมิตร  หมายถึง  ให้โอกาสครูในกลุ่มได้ไปสังเกตการสอนของเพื่อนครู  ที่มีเทคนิคการสอน อุปกรณ์การสอน ที่แตกต่างกัน  

เมื่อจบการนิเทศ  ครูอ้อยได้นัดให้ทุกคนมีโอกาสได้กล่าวถึงประสบการณ์ที่ได้ไปสังเกตการสอน  และให้ระบุ 3 ข้อ คือ  เรื่องอะไร  ประทับใจอะไร และนำไปประยุกต์ใช้อย่างๆไร(ลปรร)

ผลที่ได้  เพื่อนสมาชิกในกลุ่มชอบมาก  กับการสังเกตการสอน ได้เห็น เข้าใจและเกิดการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ  นำไปใช้กับนักเรียนในกลุ่มของตนเองได้

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท