คุณลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ขัดขวางต่อการพัฒนาประชาธิปไตย คัดลอกจากหนังสือ "การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร


องค์ประกอบของการฉุดรั้งและไม่ส่งเสริมโอกาสให้ประชาชนเป็นพลเมืองนั้น ล้วนมาจากโครงสร้างทางการเมือง การมีระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกมายาวนานจากสถาบันที่ถืออำนาจทางการเมือง สถาบันที่ใช้อำนาจทางการเมือง คือรัฐ และระบบราชการ สู่สถาบันการศึกษา อันเป็นโรงงานบ่มเพาะเมล็ดพันธ์พลเมือง สู่ชุมชนและครอบครัว ที่ล้วนมาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลางมากจนเกินไปเพราะขาดสำนึกถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของพลเมือง การไม่เชื่อในคุณค่าของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและมีเหตุผลนั้น มีผลทำให้สังคมขาดพลัง

วิถีไทยที่ขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย

การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมาจะครบ ๘๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๕๕ นี้แล้ว ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับสังคมไทยและทำให้คนไทยจำนวนมากยังขัดแย้งกันในเรื่องทั้งวิธีการและเป้าหมายของประชาธิปไตย ความไม่ชัดเจนในเรื่องประชาธิปไตยนี่เอง ยังสงผลต่อการพัฒนาความเป็นพลเมืองที่ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง อะไรคือปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทย จึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาทบทวนเพื่อการพัฒนาความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นได้ กล่าวคือ

๑.การเป็นรัฐอุปถัมภ์

ในงานของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สุนทวณิช และ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มีความสอดคล้องกันในเรื่องของรัฐรวมศูนย์ผูกขาดอธิปัตย์ คือ การผูกขาดอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยในปี ๒๔๗๕ เป็นการถ่ายโอนอำนาจจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ เป็นรัฐใหม่ที่ใช้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม หรือประชาธิปไตย บนความแข็งแกร่งของระบบราชการที่มีอยู่ก่อนแล้ว  ความจำเป็นของระบอบใหม่ที่ต้องมีผู้นำจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังคงผูกขาดอำนาจและบทบาทไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด  ประชาชนจึงถูกครอบงำและถูกกำกับเพียงทำหน้าที่ปฎิบัติตามกฎหมาย เสียภาษีและไปเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการไปเลือกตั้ง เป็นเพียงพลเมืองดีผู้มีหน้าที่ตามที่รัฐกำหนดให้  จึงยังไม่มีพลเมืองที่ไปมีส่วนร่วมในการกำหนดการมีอำนาจและการสืบทอดอำนาจทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงจำกัดอยู่เพียงระดับการเลือกตั้ง นอกจากนั้นแล้ว การมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางสังคมของประชาชนก็มีขอบเขตจำกัดอยู่เพียงการไปเข้าร่วมในโครงการของทางราชการ เช่นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น จึงทำให้ประชาชนถอยห่างจากการเมือง และคอยรอรับความช่วยเหลือจากทางราชการ ซึ่งเป็นลักษณะของประชาชนที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้ที่เหนือกว่าและขาดความเชื่อมั่นในการพึ่งตัวเอง

และแม้ว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศจะกดดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐  แต่การกำหนดอำนาจดังกล่าวนี้มิได้เกิดจากการเข้าไปมีส่วนร่วมคิดและกำหนดจากประชาชนในท้องถิ่นทั้งในเรื่องของอำนาจหน้าที่และการเงิน-การคลัง ทำให้อำนาจของท้องถิ่นยังถูกยึดโยงอยู่ที่อำนาจส่วนกลาง คือ รัฐบาล นักการเมืองในส่วนปกครองท้องถิ่นเองก็มีพฤติกรรมทางการเมืองไม่แตกต่างจากส่วนกลางที่มาจากการเลือกตั้งระดับชาติ  ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ใหม่ที่กดทับความอ่อนแอของประชาชนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนี้ ยังได้มีการกำหนดและบงการความสัมพันธ์อาณาบริเวณของการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกัน มิได้กระตุ้นส่งเสริมพลังต่างๆ ในประชาสังคม หากแต่จำกัด-ควบคุมโดยอาศัยมาตราการทางกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศข้อบังคับต่างๆ เช่น การห้ามสมาคมการค้า องค์กร สมาคม มูลนิธิ มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง อันเป็นการแยกประชาสังคมออกจากการเมือง และมีผลทำให้เฉื่อยชาและเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมในทางการเมือง ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวยังคงเป็นข้อปฎิบัติจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะการรวมศูนย์การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จึงกลายเป็นระบอบคณาธิปไตยในความเป็นจริง เพราะวัฎจักรทางการเมืองที่คณะบุคคลและบุคคล ต่างสลับกันขึ้นครองอำนาจ และมีลักษณะการใช้อำนาจเพื่อความมั่นคงของตน ซึ่งเป็นลักษณะอำนาจนิยมที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่พบเห็นกันโดยทั่วไป คือ วัฒนธรรม  ผู้น้อย-ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสกว่า และมีลักษณะของการแบ่งพรรคแบ่งพวกขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนหรือพวกของใครจึงจะได้ดี  มีแต่การยกย่องผู้มีอำนาจวาสนา คนไทยจึงมีคติว่า "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" หรือ "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง"    อันสะท้อนทัศนคติที่คนไทยโดยทั่วไปต้องรู้จักการเอาตัวรอดไว้ก่อนไม่ว่าจะถูกหรือผิด และดีที่สุดคือ ไม่ต้องแสดงความคิดเห็น เพราะผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสทั้งวัยวุฒิหรือคุณวุฒิจะไม่พอใจ และมีผลต่อการงานและชีวิตส่วนตัวได้     การใช้อำนาจและระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยจึงมีอยู่มากในระบบราชการ เช่น การมีเส้นสายเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งมากว่าพิจารณาจากความรู้ความสามารถโดยเฉพาะในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่านักการเมืองที่อยู่ในอำนาจจะมีอิทธิพลสูงและใช้อำนาจของตนในการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรมโดยอ้างความเหมาะสม เมื่อประเทศไทยเร่งรัดพัฒนาประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๓๐  เป็นต้นมา เกิดวัฒนธรรมบริโภค นักธุรกิจมุ่งแสดงหากำไรอย่างขาดสติ นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ใช้อำนาจทางการเมืองหาผลประโยชน์เพื่อสร้างอิทธิพลของตนภายในพรรค และอาศัยพรรคและกระบวนการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการให้อามิสสินจ้างรองรับความชอบธรรมที่จอมปลอม ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่ปรากฎอยู่ทั่วไป ดังจะเห็นได้ชัดในระบบการเมืองที่เกิด "ระบบมุ้ง" ที่ผู้อุปถัมภ์ (ด้วยเงิน) แก่สมาชิกในกลุ่ม เป็นผุ้มีอิทธิพลและคนกุมอำนาจที่แท้จริงในพรรค อีกทั้งการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีก็จะจัดไปตามกลุ่มผู้นำ ซึ่งสามารถคุมคะแนนเสียงในกลุ่มของตนไว้ได้เท่าใด ระบบอุปถัมภ์บนพื้นฐานของเงินหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นคุณลักษณะสำคัญของการเมืองไทย เมื่อนักธุรกิจเข้าสู่การเมืองมากขึ้น ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องธุรกิจการเมือง ที่นักธุรกิจใช้ช่องทางการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจและสมคบคิดกับข้าราชการผู้ซึ่งรู้กฎหมายและระเบียบวิธีการต่างๆ เป็นช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์เพิ่มเติม เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งธุรกิจและการเมือง และมีการคอร์รัปชั่นง่ายและมากขึ้น จนทำให้เรื่องคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องธรรมด่าที่เกิดขึ้นได้ ดังที่มีผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องคอร์รัปชั่นว่า "นักการเมืองโกงกินไม่เป็นไร ขอให้มีผลงานบ้าง" ซึ่งเท่ากับแสดงว่าเราได้ยอมรับการใช้อำนาจที่ไม่สุจริต ขาดคุณธรรมของผู้มีฐานะและอำนาจบารมีทางสังคมและการเมือง และเป็นผู้อยู่ต้นทางของระบบอุปถัมภ์อันเลวร้าย

การผูกขาดการใช้อำนาจที่ไม่ส่งเสริมประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง จึงสร้างผลเสียต่อสังคมโดยรวม     เป็นการไม่เชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเหตุผลของมนุษย์ กดประชาชนให้อยู่ในพันธนาการทางความคิดแบบผู้อาวุโส ผู้น้อยไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้ เป็นเผด็จการทางความคิดและการกระทำที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสังคมและสร้างชาติ ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ขาดพลัง ต้องยอมรับผลเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของรัฐที่มาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากจนเกินไป

๒.การศึกษา

ระบบการเมือง-การปกครองมีความสอดคล้องต้องกันกับพฤติกรรมมนุษย์ในสังคม การศึกษาไทยก็ถูกออกแบบและกำกับโดยระบอบการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองนั่นเอง ซึ่งรัฐบาลไทยในอดีตก็ได้เน้นการกล่อมเกลาให้ราษฎรได้เข้าใจหน้าที่ของตนเพื่อตอบสนองต่อรัฐโดยมีรัฐเป็นศูนย์กลาง การจัดการศึกษาในเมืองหลวงจึงเน้นหนักไปในการสร้างคนเพื่อรับใช้กลไกหลักของรัฐ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี ขณะที่การขยายการศึกษาไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศเป็นการสร้างพลเมืองที่ดี ดังเช่น หนังสือธรรมจริยาที่ใช้สอนตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ก็เป็นมาตราของรัฐในการให้การกล่อมเกลาทางการเมืองอย่างเป็นระบบ

สำหรับรัฐไทยใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญนิยม หรือระบบประชาธิปไตย ก็ได้มีการนำระบบการจัดการศึกษาสมัยใหม่ที่มีหลักสูตรกลาง มีการเรียนการสอนในระบบที่ควบคุมโดยรัฐนั้น ก็ล้วนเป็นส่วนสำคัญของการควบคุมทางสังคมด้านอุดมการณ์ของรัฐที่ต้องดำเนินไปพร้อมๆกับการควบคุมทางสังคมด้านการใช้อำนาจการปกครองบังคับ  การศึกษาแบบนี้จึงมีแผนการศึกษา หลักสูตรการจัดการศึกษาระดับต่างๆอย่างครบถ้วน และใช้เป็นการทั่วไปทั้งประเทศ การจัดการศึกษาที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางเช่นนี้ได้ละเลยความสำคัญของความเป็นชุมชน ความเป็นพหุสังคมที่มี ศาสนา ภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันในประเทศอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้  ท้องถิ่นจึงไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเรียนรู้ในแบบวิถีชุมชนเพื่อรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย จึงทำให้ชุมชนอ่อนแอและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งการกระจายโอกาสทางการศึกษาที่ขาดความเสมอภาคและเท่าเทียมในพื้นที่ที่ห่างไกลในยุคการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนับตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ เป็นต้นมา กระทั่งเข้าสู่ยุคบริโภคนิยม ก็ยิ่งเป็นสาเหตุให้ผู้คนละทิ้งท้องถิ่นเพื่อแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ เพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข"  ก็ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงยิ่งขึ้น  และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศในช่วงปลายศวรรษ ๒๕๓๐ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" อันเนื่องจากระบบการศึกษาไทยไม่สามารถสร้างพลเมืองของประเทศให้มีความสามารถปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง กระทั่งนำสู่กระแสการเรียกร้องให้มีการปฎิรูปการศึกษา การเมือง และสังคม เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์

นอกจากนี้ บรรยากาศการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยในระยะยาวนานนั้น  เป็นการสอนตามความสนใจของผู้สอนที่มุ่งป้อนวิชาความรู้ (Information Processing) เพื่อให้ผู้เรียนเชื่อฟัง จดจำ และทำตาม ไม่ได้ฝึกฝนให้ทำ และนำไปคิด เพื่อนำสู่การปฎิบัติและแสดงออก เป็นการเน้นวิชาการ แต่ขาดการส่งเสริมทักษะทางสังคม ผู้เรียนจึงถูกแยกส่วนออกจากอาณาบริเวณทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไม่สามารถเชื่อมโยงบทบาทของตนกับสังคมภายนอกได้ และไม่สามารถสร้างจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของสังคมที่เขามีชีวิตอยู่ และไม่มีความพร้อมที่จะรับผิดชอบไปภายภาคหน้า ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า "เยาวชน คือ อนาคตของชาติ"  แม้ว่าหลักสูตรจะยังมีการให้ความรู้เรื่องของสังคมทั่วไป รวมทั้งระบอบการเมื่อง-การปกครอง และระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นเพียงการสอนให้ท่องจำและทำตามในเรื่องรูปแบบการปกครอง และจำลองการเลือกตั้งในโรงเรียน ซึ่งไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจทางสังคมและการเมืองมากไปกว่าการให้ฝึกทดลองจากการมีสภานักเรียน  และการเลือกตั้ง  การศึกษาจึงทำให้คนไทยรู้จักประชาธิปไตยเพียงการเลือกตั้ง  แต่ขาดทักษะชีวิต  การคิด การใช้ชีวิตในแบบสังคมประชาธิปไตยที่ต้องการการแสดงออกถึงวุฒิภาวะในการใช้ความคิด การมีเหตุมีผล การมีความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นได้จริง ดังที่นักการศึกษาของไทย                 ศ.ดร.สุมน อมรวิวัฒน์ ได้ให้ความเห็นของการศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและพลเมืองว่า "การเรียนรู้มีข้อจำกัดคือวิถีชีวิตในครอบครัวไทย ในการบริหารการจัดการศึกษา และวิถีชีวิตในสังคมไทยทั่วไป เพราะเมื่องไทยยังไม่เป็นสังคมเปิดให้มีการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยมากพอ (Democratic Learning Society) ชีวิตเด็ก-นักเรียน จะถูกพ่อ แม่ และคนรอบข้างครอบงำ  กำกับ สั่งการทั้งหมด จึงจำเป็นต้องให้การศึกษาอบรมพ่อ แม่ ครู ผู้บริหารการศึกษาให้มากขึ้น"

และแม้นว่าประเทศไทยเราจะเคยมีวิชา "หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม" ซึ่งปัจจุบันวิชาเหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในวิชาสังคมศึกษา แม้โรงเรียนจะได้มีการฝึกให้นักเรียนรู้จักวิธีการของระบอบประชาธิปไตย เช่น ให้มีสภานักเรียน มีการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองจำลองขึ้น แต่เมื่อพ้นวัยเรียนไปแล้ว ก็ไม่ได้มีส่วนเรียนรู้อย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง จึงเท่ากับว่าการเรียนรู้ทางสังคมและการเมืองในฐานะที่เป็นพลเมืองของคนไทย เกิดจากการมีประสบการณ์ตรงที่ไม่ใช่การไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หากแต่เป็นการเข้าร่วมชุมชนทางการเมือง การได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้อยู่ในช่วงปกติของสือมวลชน การศึกษาไทยจึงปล่อยให้การเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยไว้นอกห้องเรียน ก่อให้เกิดการกระตือรือร้นที่จะผลักดันประเด็นปัญหาด้านนโยบาย และเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านหรือสนับสนุนบางเรื่อง ดังที่เกิดขึ้นในอดีต เช่นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนับแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน

การสอนในระบบการศึกษาไทยที่เน้นการสอนให้เชื่อฟังและทำตามนี้ เป็นไปตามแนวคิดเรื่องการเป็นพลเมืองที่เชื่อฟัง ทำตามกฎระเบียบ และเคารพกฎหมายของสังคม ซึ่งสะท้อนถึงความเป็น "คนดี" ในค่านิยมการศึกษาไทย และเป็น"พลเมืองดี" ที่เคารพกฎหมายอย่างที่เป็นอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้  การเป็น "เด็กดี" จึงต้องเคารพและเชื่อฟังผู้ใหญ่ ทำให้เด็กในวันนี้ เมื่อเป็นผู้ใหย่ในวันหน้าก็ไม่อาจโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็นต่อผู้ใหญ่กว่า อาวุโสกว่า หรือมีอำนาจไว้ได้ ซึ่งทัศนคติดังกล่าว ได้ถ่ายทอดเป็นบุคลิกของคนไทย และกลายเป็นวิถีไทยที่ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาผ่านระบบการศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันท่ามกลางบรรยากาศทางสังคมและการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ขาดพลังขับดันที่จะอยากรู้ ไม่กล้าแสดงออก ไม่แสวงหาความถูกต้อง ตลอดจนจริยธรรมก็พลอยลดน้อยถอยลงด้วย การหลีกหนีความรับผิดชอบ และจำกัดขอบเขตสำนึกของตนเอง เพราะเกรงกลัวอำนาจของผู้ที่อยู่ในสถานะที่เหนือกว่า

การศึกษาที่รวมศูนย์อำนาจการจัดการไว้ที่รัฐบาลดังกล่าวส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมของคนที่ไม่ค่อยเข้าใจบทบาทของรัฐบาลที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของตนเอง และไม่สนใจเรื่องส่วนรวม นักเรียนจึงมุ่งแข่งขันกันเรียน จนเมื่อสำเร็จการศึกษาก็มุ่งหาเลี้ยงชีพเพื่อประโยชน์ของตน และทิ้งภาระทางสังคม-การเมืองไว้กับนักการเมือง อันเป็นค่านิยมของการบูชายกย่องผู้มีความสำเร็จทางเศรษฐกิจ มากกว่าการให้ความสำคัญกับการสร้างคนที่มีความรู้คู่คุณธรรมที่พร้อมเสียสละเพื่อส่วนรวม

๓.สื่อสารมวลชน

ดร.วิชัย ตันสิริ ได้เขียนไว้ในหนังสือ วัฒนธรรมการเมืองและการปฎิรูปว่า "ครูที่สำคัญที่สุดของเยาวชนด้านวัฒนธรรมการเมือง คือนักการเมืองและผู้นำทางการเมือง รองลงมาคือ สื่อสารมวลชน" และผู้นำทั้งสองกลุ่มนี้ มีบทบาทและภาระที่ต้องแสดงตนให้สอดคล้องกับระบบและวิถีประชาธิปไตย การทำหน้าที่ของนักการเมืองและสื่อจะทำให้ประชาชนสัมผัสได้ และรู้เห็นอยู่ตลอดเวลา  การถ่ายทอดวิธีคิด การทำงาน และบุคลิกภาพที่สื่อออกไปสู่ประชาชน  ล้วนมีผลต่อการจดจำและเอาเป็นตัวอย่างได้ง่าย

กล่าวสำหรับสื่อสารมวลชนนั้น ในอดีตที่ตั้งกรมโฆษณาการขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ นี้ ก็เพื่อโฆษณาความคิด ความเชื่อของผู้นำ และแจ้งข่าวสารของราชการให้ประชาชนปฎิบัติตาม เป็นการสื่อสารเพียงด้านเดียวที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยโดยอาศัยสื่อวิทยุเป็นเครื่องมือสื่อสารจากรัฐบาลถึงประชาชนในการแถลงข่าว การปราศรัยในพิธีและโอกาสสำคัญๆ ของผู้นำในคณะรัฐบาล อันเป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรประชาสัมพันธ์ของรัฐ ที่ต่อมาพัฒนาเป็นกรมประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลจวบจนปัจจุบัน การทำหน้าที่ของสื่อจึงถูกผูกขาดและกำกับโดยนโยบายของรัฐบาล เรียกว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐ ยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการ หรือกึ่งประชาธิปไตย  ผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ได้ใช้สื่อดังกล่าวเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ และใช้เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล นอกจากนี้ยังทำลายผู้ที่มีแนวคิดอุดมการ์ทางการเมืองแตกต่างจากตน ซึ่งการทำหน้าที่ของสือดังกล่าว จึงไม่ได้สะท้อนความคิด ความทุกข์-สุข และความต้องการของประชาชนแต่อย่างใด

แม้สื่อกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จะมีการพัฒนามากขึ้นตามลำดับ ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และกระแสความต้องการของประชาชนที่ต้องการเข้ามาทำงานในด้านสื่อสารมวลชนมากขึ้น แต่การทำงานของเอกชนด้านสื่อก็ยังต้องถูกกำกับภายใต้การดูแลของรัฐอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่อ และของประชาชนที่ต้องการจะรู้ข่าวสาร ทั้งของราชการและของสังคมทั่วไป

จนกระทั่งภายหลังเหตุการณ์ทางการเมืองเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ จึงได้มีกระแสการเรียกร้องให้มีการปฎิรูปทางการเมืองหลายด้าน ครั้งสำคัญ รวมถึงการปฎิรูปสื่อสาธารณะเพื่อประโยชน์ขอนประชาชนตั้งแต่ระดับชุมชนโดยเห็นว่า "คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมเป็นการสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเป็นความสำเร็จที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ในปี ๒๕๔๐ จนถึงรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสื่อสาธารณะของตนเอง ที่รวมกลุ่มกันอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

การที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำจากสื่อ ภายใต้การกำกับของรัฐมาอย่างยาวนาน ทำให้ผลต่อการกล่อมเกลาทางการเมืองของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่รู้ ไม่สนใจ และไม่เข้าใจเรื่องการเมือง ทั้งที่ทุกเรื่องของชีวิตเกี่ยวพันกับการเมืองจนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทย คนไทยโดยทั่วไปจึงไม่เห็นความสำคัญกับการเมืองและไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว และอาจนำอันตรายมาสู่ตนได้ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องของนักการเมือง และรัฐบาลเท่านั้น การที่ประชาชนถูกหล่อหลอมภายใต้สถานะการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าว จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลเมืองตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งแม้นปัจจุบันสื่อมวลชนจะได้รับเสรีภาพมากขึ้นภายหลังการมีรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แต่รัฐบาลหลายรัฐบาลก็ยังพยายามเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนตลอดมา การพัฒนาพลเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตย จึงต้องการสื่อที่มีเสรีภาพ เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ซึ่งสื่อมวลชนคือภาพสะท้อนการมีเสรีภาพของสังคม

๔.สถาบันครอบครับ

เนื่องจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การใช้ชีวิตการงานในสถาบัน องค์กรต่างๆ  จึงมีลักษณะแบบถูกจำกัดทั้งการมีทัศนคติแบบอุปถัมภ์ การไม่ให้ความเท่าเทียมกันในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ระบบการเลี้ยงดูในครอบครัวก็ได้รับอิทธิพลนี้ไปด้วย ซึ่งอันที่จริงแล้วการบ่มเพาะตั้งแต่เด็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้เขามีจิตใจที่อ่อนโยน มีคุณธรรม รู้จักการมีเหตุผล แบ่งปัน รู้จักรับฟัง มีการแสดงออก และหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาทด้วยการใช้กำลัง และรักความยุติธรรม แต่การเลี้ยงดูเด็กของคนไทยไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร เพราะเราสอนเด็กแบบอำนาจนิยมจากการคุ้นชินการใช้ชีวิตภายในรัฐที่ใช้อำนาจในการปกครองบังคับ เราจึงสอนเด็กโดยใช้ระบบอาวุโสเป็นใหญ่ ผูกขาดความถูกผิดทุกอย่างที่ลูกต้องเชื่อฟังและปฎิบัติตามโดยขาดเหตุผล เด็กไม่เข้าใจว่าเขาควรมีวินับอย่างไร  แต่ต้องคอยเอาใจผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ผู้อาวุโสทุกๆคนที่อยู่ในครอบครัว เขาจึงไม่มีวินัย ไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง จัดการตัวเองไม่ได้ ไม่รู้จะปฎิบัติอย่างไร เพราะคตินิยมที่ว่า "เด็กดี คือ ผู้ที่เชื่อฟังผู้ใหญ่" นั่นเอง

ดังนั้น ระบบการอบรมเลี้ยงดู จะช่วยสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ก็ตั้งแต่ที่บ้าน ตั้งแต่เล็ก ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพ ความรับผิดชอบและความมีวินัย โดยเฉพาะการสร้างนิสัยให้เป็นผู้มีวินัยที่ควบคุมตัวเองได้ เพราะคำว่า วินัย หมายถึงข้อบังคับหรือข้อปฎิบัติอย่างสมัครใจจนเป็นนิสัย วินัยเป็นสิ่งสำคัญมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองตนเอง ดังนั้น ถ้าประชาชนในชาติขาดความรับผิดชอบและไม่มีวินัยในตนเองแล้ว นั่นย่อมหมายถึงการไม่สามารถบังคับหรือควบคุมตัวเองให้อยู่ในกรอบ กติกาที่ตนเองและผู้อื่นร่วมกำหนดขึ้นได้ ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในการปกครองอย่างเหมาะสมได้เช่นกัน ซึ่งการเป็นผู้มีวินัยนั้นยังเป็นผู้ที่มีความซื่อตรงต่อหน้าที่ของตนด้วย คือ มีความรับผิดชอบต่อสถานภาพต่างๆ ที่ตนเป็นอยู่  ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของชุมชน  ของครอบครัว และพลเมืองของประเทศ ซึ่งการมีวินับนี้มีความจำเป็นมากสำหรับสังคมไทย เพราะคนไทยโดยทั่วไปนั้นมักขาดวินัย แต่ชอบอิสระ ดังคำกล่าวที่ว่า "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้" คนไทยจึงชอบหลบหลีกกฎหมาย หรือระเบียบสังคม เช่น การฝ่าฝืนกฎจราจร การหลีกเลี่ยงภาษี เป็นต้น

การขาดวินัยของคนไทย ส่วนหนึ่งมาจากการกล่อมเกลาทางสังคม ไม่ว่าระบบการศึกษา และสถาบันทางสังคมต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องวินัยอย่างจริงจังตั้งแต่เด็กๆ ดังคำกล่าวที่ว่า "วินัยเกิดขึ้นที่บ้าน"  นอกจากนี้เพลง "เด็กดี" มี ๑๐ ประการ ที่แต่งขึ้นในอดีตและมีการร้องมาจนถึงปัจจุบันในโรงเรียนต่างๆนั้น ก็ไม่ปรากฎว่าจะมีเรื่องวินัยอยู่ด้วย แต่เน้นในเรื่องความกตัญญู ความรักชาติ  และนับถือศาสนา เป็นสำคัญ ทำให้เด็กไทยไม่ได้ฝึกฝนกล่อมเกลาในด้านนี้จึงไม่สามารถจะมีวินัยในตนเอง  ไม่สามารถบังคับตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัย หรือการตรงต่อเวลาได้ กลายเป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของการเป็นพลเมื่องที่ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน เพราะผู้ที่ขาดวินัยมักจะขาดความรับผิดชอบด้วย ย่อมสร้างความเสียหายแก่ส่วนรวมได้ง่าย

จากปัจจัยทั้ง ๔ ประการ จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของการฉุดรั้งและไม่ส่งเสริมโอกาสให้ประชาชนเป็นพลเมืองนั้น ล้วนมาจากโครงสร้างทางการเมือง การมีระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกมายาวนานจากสถาบันที่ถืออำนาจทางการเมือง สถาบันที่ใช้อำนาจทางการเมือง คือรัฐ และระบบราชการ สู่สถาบันการศึกษา อันเป็นโรงงานบ่มเพาะเมล็ดพันธ์พลเมือง สู่ชุมชนและครอบครัว ที่ล้วนมาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลางมากจนเกินไปเพราะขาดสำนึกถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของพลเมือง การไม่เชื่อในคุณค่าของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและมีเหตุผลนั้น มีผลทำให้สังคมขาดพลัง และรัฐบาลประเภทนี้ไม่สามารถที่จะบริบาลประชาชนได้จากภัยพิบัติตามธรรมชาติ  ดังปรากฎอย่างชัดเจนแล้วในกรณีภัยธรรมชาติ อุทกภัยที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมพรในปี พ.ศ.๒๕๓๒  และปี ๒๕๕๔ นี้  ซึ่งผลจากภัยธรรมชาตินี้เอง ทำให้เกิดการเปิดเผยจุดอ่อนของอำนาจรัฐที่รวมศูนย์มากเกินไปอย่างชัดแจ้ง และปฎิเสธพลังการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมหรือพลเมืองในการแก้ไขปัญหาใหญ่ของชาติ

หมายเลขบันทึก: 515936เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2013 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2013 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สำนึกความเป็นพลเมืองสำนึกอิสระ พลเมือง พลโลก

 เราจึงสอนเด็กโดยใช้ระบบอาวุโสเป็นใหญ่ ผูกขาดความถูกผิดทุกอย่างที่ลูกต้องเชื่อฟังและปฎิบัติตามโดยขาดเหตุผล เด็กไม่เข้าใจว่าเขาควรมีวินับอย่างไร  แต่ต้องคอยเอาใจผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ผู้อาวุโสทุกๆคนที่อยู่ในครอบครัว เขาจึงไม่มีวินัย ไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง จัดการตัวเองไม่ได้ ไม่รู้จะปฎิบัติอย่างไร เพราะคตินิยมที่ว่า "เด็กดี คือ ผู้ที่เชื่อฟังผู้ใหญ่" นั่นเอง..,

ขอบคุณคะ วันนี้มีความสุข ที่มอบหมายงานแล้วนักศึกษาแย้งด้วยเหตุผล.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท