ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๒๔. ฝึกหาเส้นผม



          ผมเป็นคนชอบการค้นหาและแสวงหาและทดลองสิ่งใหม่ๆเพราะรู้สึกสนุกดี  เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กคงเป็นเพราะนิสัยนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตของผมคดเคี้ยวเลี้ยวลดมาเป็นอย่างนี้

          พอได้อ่านบทบรรณาธิการเรื่องFailure of Skin-deep LearningในวารสารScience ฉบับวันที่ ๗ ธ.ค. ๕๕ และไตร่ตรองต่อมาอีกหลายวัน จึงรู้สึกว่าผมได้ค้นพบเส้นผมที่บังภูเขาอีกเรื่องหนึ่งแล้ว “ภูเขา” คือคุณภาพการศึกษาไทยและ “เส้นผม” คือการสอนให้ครบถ้วนตามหลักสูตร

          เพราะมุ่งสอนให้ครบตามที่กำหนดในหลักสูตร นักเรียนจึงได้เรียนรู้เพียงผิวเผินเป็นเรื่องแปลกแต่จริงสำหรับสมัยนี้

          อธิบายว่าเมื่อครูมุ่งสอนให้ครบตามหลักสูตร ครูก็จะเพ่งใจไปที่“การสอน”ของตน ไม่พุ่งเป้าไปที่ “การเรียนรู้” ของศิษย์

          อธิบายอีกว่า เมื่อครูมุ่งตะลุยสอนให้ครบตามหลักสูตร ครูก็ไม่พิจารณาว่าสำหรับลูกศิษย์กลุ่มนี้ของตนอะไรคือ “essential knowledge/skills” ในขั้นตอนการเรียนรู้ของศิษย์ในขณะนั้น การเรียนการสอนก็ล่องลอยไม่จำเพาะต่อเด็กกลุ่มนั้น

          อธิบายอีก (เป็นเหตุผลที่ ๓) ว่าเมื่อครูตะลุยสอนด้วยสาระมากมายล้นหลาม ศิษย์ก็จะตั้งรับด้วยการเรียนแบบท่องจำ คือรับไว้ที่ผิวๆของสมองศาตราจารย์Bruce Alberts ผู้เขียนบทบรรณาธิการนี้ จึงบอกว่าการเรียนแบบนี้จะได้การเรียนรู้แบบ skin deep  คือลึกแค่ผิว ในขณะที่เป้าหมายการเรียนรู้ที่แท้จริง  (ไม่ว่าในยุคไหน) คือเรียนให้รู้ลึกซึ้งแตกฉานซึ่งจะได้จากการเรียนแบบลงมือทำและคิดเอง

          บ่ายวันที่ ๑๘ ธ.ค. ๕๕ ผมอภิปรายในการประชุมระดมสมองเพื่อหาแนวทางปฏิรูปการศึกษาที่ห้องประชุมสีเขียวตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล  (นายกยิ่งลักษณ์ทำหน้าที่ประธานการประชุม)  ว่า รูปแบบการเรียนรู้ที่เราใช้กันในปัจจุบันได้รับการตำหนิว่าให้ผลการเรียนรู้แค่skin deep   และเอาบทบรรณาธิการนี้ในไอแพดให้คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา  ที่นั่งติดกันอ่านท่านบอกว่าเรียนแบบนี้จะได้แค่ผู้ตามไม่สร้างผู้นำ

          การเรียนแบบท่องจำ เป็นการศึกษาเพื่อสร้างผู้ตามการเรียนแบบคิดเองทำเอง เป็นการเรียนเพื่อสร้างผู้นำคือสร้างคนที่กล้าคิดกล้าทำ

          ผมตีความว่า“เส้นผม”คือมายาที่บังตาเราไว้ และบังตาคนส่วนใหญ่ในหลายกรณีเรามีความสุขที่มีมายาบังตาอยู่ เพราะมันให้ความคุ้นเคยมันช่วยให้เราอยู่กับความเคยชินและอยู่กับคนส่วนใหญ่ (หรือเกือบทั้งหมด) ที่เรียกว่าทำตาม norm หรือประเพณีนิยม

          ชีวิตนักฝึกหาเส้นผม กระชากเส้นผมออก จึงเป็นชีวิตกบฏแหวกประเพณีนิยม เป็นชีวิตที่หากจะดำเนินต้องไม่กลัว “เจ็บตัว” หรือมีชีวิตที่ยากลำบากอย่างน้อยก็ในช่วงหนึ่งของชีวิต

          แต่นั่นเป็นเรื่องของบุคคล “เส้นผม” ในเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องอนาคตของบ้านเมือง เป็นเรื่องสติปัญญาของคนทั้งชาติ



วิจารณ์  พานิช

๑๙ ธ.ค. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 515639เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2013 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2013 11:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Failure of Skin-Deep Learning.... ที่ผ่านมายัง.... สอนให้ครบตามที่กำหนดในหลักสูตร..ยังเป็นเรื่องผิงๆๆ นะคะ ขอบคุณท่านอาจารย์หมอมากค่ะ 


กำลังลุยกระชากเส้นผมครับ........  ผมชอบประโยคท้ายมากครับ   หากจะเดินทางสายนี้ ต้องภม่กลัวเจ็บตัว....

ลุยกระชากเส้นผม จนศรีษะเกรียนแล้วค่ะ เรื่องในวงการศึกษา ต้องอาศัยคนภายนอกเข้าไปเรียนรู้ และหาแนวร่วมปรับแก้ไขอีกเยอะ ที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือ วัฒนธรรมองค์กร เพราะครูอาจารย์ที่เคยอยู่ในองค์กร ย่อมคุ้นชินกับสิ่งที่เป็นอยู่ เราจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ไม่ถูกวัฒนธรรมองค์กร กลืนกินอย่างไร 

เราเป็นพลังค่ะ แม้จะมีอยู่น้อยนิดแต่ยังดีกว่าไม่มีคนกระชากเส้นผมเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท