ป่า ตู้เย็น ที่ไม่ต้องเสียบปลั๊ก


ป่า ตู้เย็น ที่ไม่ต้องเสียบปลั๊ก

จากประสบการณ์การไปทำงาน นิเทศโรงเรียนในพื้นที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร โครงการภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ผู้เขียนได้ไปร่วมงาน ก็ได้พบวัฒธรรมของชาวไทยโส้ อย่างหนึ่ง ( คำว่าโส้ หรือ โซ่ หรือกระโซ่ เป็นคำที่เรียกชื่อชนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน ชาวโส้จะมีลักษณะชาติพันธุ์ของมนุษย์ในกลุ่มมองโกลอยด์ ตระกูลออสโตร – เอเชียติก มอญ – เขมร เป็นกลุ่มเดียวกับพวกแสก และกะเลิงจากบันทึกกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการที่มณฑล อุดรและมณฑลอีสาน เมื่อปี พ.ศ. 2449 อธิบายว่ากระโซ่ คือพวกข่าผิวคล้ำกว่าชาวเมืองอื่น มีภาษาพูดของตนเอง อาศัยอยู่ในบริเวณมณฑลอุดร มีมากเป็นปึกแผ่นที่เมืองกุสุมาลย์มณฑลในจังหวัดสกลนคร นอกจากนี้พบว่ามีชาวโส้อาศัยกันเป็นกลุ่ม ๆ กระจายอยู่ทั่วไป เช่น ที่อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม อำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง อำเภอดอนตาล อำเภอคำชะอี อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ที่มา : เอกสารประกอบการสอนวิชาวัฒธรรมแอ่งสกลนคร. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร 2548. )


วัฒนธรรมชาวโส้จะไม่สะสม เมื่อหมดแล้วจะไปหาใหม่ หากผู้ใดที่พบเจอเพียงผิวเผิน จะดูว่าชาวโส้ รักสบาย ไม่ขวนขวายทำมาหากิน แต่ที่แท้จริงเมื่อพิจารณาดูให้ลึกซึ้ง จะพบว่า วัฒนธรรมดังกล่าวเป็นวัฒนธรรมแห่งความพอเพียงของชาวโส้เอง เป็นวัฒนธรรมในการรักษาสมดุลธรรมชาติ เป็นวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกับป่า


ตัวแปรที่เปลี่ยนไปคือ สภาพแวดล้อม ผู้เขียนเองได้คิดย้อนกลับไป ว่าวัฒนธรรมดังกล่าวจะสอดคล้องกับชีวิตที่อยู่กับป่า เมื่อของกินของใช้หมดก็ไปหาเอาใหม่ในป่า ป่าเปรียบเหมือนตู้เย็นของชาวโส้ตู้เย็นที่ไม่ต้องเสียบปลั๊ก ขาดเหลือสิ่งใดก็ไปหาได้ในป่าเอาออกมาจากป่าพอเพียงแก่การกิน การใช้ในแต่ละครั้ง ใช้ทรัพยากรจากป่าอย่างพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ เห็ด สัตว์เล็ก สัตว์น้อย สัตว์ครึ่งเล็กครึ่งน้อย


ในสมัยก่อนป่าภูพานยังอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ชาวโส้ที่ยึดมั่นในวัฒนธรรมดังกล่าวก็อยู่ได้อย่างสบาย ต่อเมื่อกลไกราคา ของกลุ่มบริโภคนิยม สะสมทุน แพร่กระจายเข้ามา ป่าหมดไป ถูกแปรรูป ไปเป็นทุนในธนาคาร ผู้ที่ยังยึดถือวัฒนธรรมดังกล่าวก็พบกับความลำบากมากยิ่งขึ้น


จึงเป็นเหตุให้ต้องคิดว่า ชาวไทยทั้ง ชาวโส้ และไม่ใช่ชาวโส้ จะต้องปลูกป่าเพื่อเป็นตู้เย็นขึ้นแล้วกระมัง
ได้ไปทำงานที่อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ก็ได้ไปแนะนำให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ดังกล่าว ปลูกป่าตู้เย็นส่วนตัวขึ้น โดยแนะนำผู้จัดการสหกรณ์นิคมดอนตาลสอง จำกัด และเจ้าหน้าที่ตลาดของสหกรณ์นิคมดอนตาลสอง จำกัด ให้ช่วยแนะนำสมาชิกสหกรณ์ได้ช่วยแบ่งพื้นที่ทำกินที่ได้รับ หากมีที่ทำกิน 20 ไร่ ขอสัก 2 ไร่ปลูกเป็นป่าเพื่อเป็นตู้เย็นส่วนบุคคล


โดยให้ปลูก ต้นไม้ 7 ระดับ ประกอบด้วย ระดับที่ 1 ไม้ชั้นบน หรือไม้ยืนต้น อายุ 10 ปีขึ้นไปจึงจะใช้ประโยชน์ได้ เช่น ประดู่ ยางนา สัก มะค่า ถือเป็นไม้ที่สร้างบำเหน็จ บำนาญ และมรดก รับที่ 2 ไม้ชั้นกลาง อายุ 3 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นไม้ผล อาทิ มะม่วง ลำไย กระท้อน ขนุน ระดับที่ 3 ไม้ทรงพุ่ม อายุ 1 ปีขึ้นไป เช่น มะนาว มะละกอ มะเขือพวง กล้วย ระดับที่ 4 พืชหน้าดิน ได้แก่ พืชผักสวนครัว ระดับที่ 5 พืชหัว คือพวกที่อยู่ใต้ดิน ประเภท ขิง ข่า กระชาย เผือก มัน ระดับที่ 6 พืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด บัว และระดับที่ 7 พืชเกาะเกี่ยว จำพวกตำลึง มะระ ถั่วฝักยาว บวบ ฯลฯ(ที่มาhttp://www.thaienv.com/content/view/812/39/)


ด้วยที่แบคทีเรียของปลายรากพืชคนละชนิดกันจะไม่แย่งอาหารกัน การปลูกป่าไม่ต้องจัดระเบียบ ธรรมชาติและความอยู่รอดจะจัดรูปทรงของป่าเอง


“... การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้สามอย่าง แต่มีประโยชน์สี่อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำและปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียวประโยชน์ที่สี่คือ ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ...” (ที่มา :http://www.vcharkarn.com/varticle/39438)(ตามแนวพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ได้พระราชทาน ณ โรงแรมริมคำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2523)


การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแนะนำในการ
พลิกฟื้นทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ให้กลับคืนมาสู่ความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยอาศัยหลักการของกฎ
ธรรมชาติที่แยบยล เรียบง่ายและประหยัด แต่ได้ผลกลับมาอย่างมหาศาลดังพระราชดำรัส ความตอน
หนึ่งว่า “… ทิ้งป่านั้นไว้ ๕ ปี ตรงนั้นไม่ต้องไปทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านั้น สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง…” (ที่มา : http://www.huaysaicenter.org/forest.php)


ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน เกิดภัยธรรมชาติมากมากย เช่น แผ่นดินไหว 9.0 ริคเตอร์ เกิดสึนามิที่ญี่ปุ่น เป็นเพราะโลกร้อนขึ้น จากป่าไม้ถูกทำลาย และภัยธรรมชาติครั้งนี้ยังทำให้ชาวโลกเกิดความกังวลกับโรงไฟฟ้านิเคลียร์ หากจะใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิเคลียร์ คงจะต้องพิจารณากันใหม่ คงต้องหันกลับมาพิจารณาโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก ซึ่งจะหาเชื้อเพลิงได้จากป่าตู้เย็นส่วนบุคคลนี่ละครับ เราจะได้ความชุ่มชื้นจากไอน้ำ จากป่าที่ปลูก ได้ก๊าซออกซิเจนจากการปรุงอาหารของพืชในป่าตู้เย็นส่วนบุคคล ได้ทุนทางสังคมสำหรับลูกหลานจากการมีป่าไม้ ซึ่งเป็นผลดีอย่างมาก


ในอนาคต ประชาคมโลกอาจต้องใช้ไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าชีวมวล แยกน้ำด้วยไฟฟ้า เอาไฮโดรเจนไปใช้เป็นพลังงานขับเคลือนเครื่องจักรและรถยนต์ แล้วปล่อยออกซิเจนสู่อากาศ เพื่อป้องกันรังสีที่จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะน้ำแข็งขั้วโลกละลายมากทำให้น้ำท่วมในพื้นที่การแยกน้ำด้วยไฟฟ้าจะทำให้ลดน้ำลง เพิ่มออกซิเจนในอากาศ ระหว่างที่ออกซิเจนอยู่ในอากาศก็จะเปลี่ยนเป็น โอโซน( โอโซนเป็นก๊าซที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติบนพื้นผิว โลกและในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นไป ที่เรียกว่า Lower Stratosphere ในระดับความสูง 14.4-30.4 กม. จากพื้นพิวโลก ) ชั้นโอโซนในบรรยากาศมีประโยชน์ปกป้องอันตรายที่เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์
ช่วยลดโลกร้อนได้ และมีไฮโดรเจนไว้ใช้เป็นพลังงานขับเครื่องจักรกลที่มีความสะอาด ด้วยครับ


จึงขอนำเสนอ การปลูกป่าตู้เย็นส่วนตัว ซึ่งจะเริ่มได้จากผู้ที่มีที่ดินในครอบครองโดยแบ่งที่ดินสัก 10 % ปลูกไม้เนื้อแข็งที่มีรากลึกตามพระราชดำริ ในที่ดินส่วนบุคคล(ปลูกแซมกระจาย ไม่ต้องปลูกเป็นโซน) คู่ขนานไปกับการปลูกป่าในพื้นที่สาธารณะ จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร มีเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล รักษาสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน ทำให้วัฒนธรรมการอยู่กับป่าด้วยความพอเพียงกลับมาใช้ได้ สิ่งดีงามก็จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย


พีระพงศ์ วาระเสน
2012

หมายเลขบันทึก: 514732เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2013 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2016 06:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีจังเลย ... มีป่า....มีความร่มเย็น...มาเยือน นะคะ


  
ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ 

แถวเพ็ชรบุรี ถ้ามีต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้แถวต้นไม้ใหญ่แทบไม่ต้องรดน้ำเลยครับ เพราะ ไอน้ำ ที่ระเหยจากทะเล แล้ว ลมทะเล จะพัดพาเข้ามา ก็มาถูกเก็บไว้ที่ต้นไม้  เป็นความชื้นที่ให้กับต้นไม้ที่อยู่บริเวณต้นไม้ใหญ่  เปรียบเสมือนเป็นบ่อดักไอน้ำ หากเป็นแถบยาว เหมือนคลองไอน้ำ  เป็นชลประทานไอน้ำ (ความชื้น) ได้ครับ 

หากรักษาป่าเดิมไไว้ได้ เพียงไม่ให้มีการบุกรุกทำลาย ปล่อยไว้ตามธรรมชาติ ป่าไม้จะเขียวขจีเอง การปลูกป่ากว่าจะโตนาน หากไม่คิดอนุรักษ์ป่าไม้ ปล่้อยให้นายทุนยึดครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ ชาวบ้านที่ไม่ที่ทำกินก็ต้องบุกรุกกันต่อไป หากรัฐจำกัดการครอบครองที่ดิน น่าจะเป็นทางเลือกที่ได้ผลถาวร

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท