ชุมชนแบบเก่าและแบบใหม่


ความหมายชุมชน ในแต่ละนิยาม และความเปลี่ยนแปลง ในมุมมองนิธิ เอียวศรีวงศ์

บทความชุมชนแบบเก่าและแบบใหม่ 

ศ.นิธิ  เอียวศรีวงศ์ 

มติชนสุดสัปดาห์ฉบับประจำวันที่ 22 28 กันยายน พ.ศ. 2549

ปีที่ 26 ฉบับที่ 1362 

 

ชุมชนคนเกลียดทักษิณ กับ ชุมชนคนรักขนมจีน เหมือนกันหรือต่างกันในความเป็นชุมชนอย่างไร ?  มีทั้งเหมือนและต่างนะครับ และทั้งสองลักษณะนั้นอาจช่วยให้เราเข้าใจความเป็นชุมชนในโลกปัจจุบันได้ดีขึ้น

เหมือนที่สมาชิกของทั้งสองชุมชนรู้จักกัน หรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันไม่ทั่ว ว่าที่จริงรู้หรือทำอะไรเกี่ยวข้องกับสมาชิกคนอื่นในชุมชนได้ไม่ถึงกระผีกริ้นเดียว แม้รู้จักกันไม่ทั่ว แต่ทั้งสองชุมชนลงมือปฏิบัติการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ ชุมชนคนเกลียดทักษิณ คงพร้อมใจกันไม่เลือกพรรค ทรท. ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลให้คะแนนของ ทรท. ลดลง โดยเฉพาะคะแนนเสียงที่ให้แก่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 

 ในขณะที่ ชุมชนคนรักขนมจีน คงกินขนมจีนอย่างน้อยสัปดาห์และครั้ง เป็นผลให้ธุรกิจขนมจีน นับตั้งแต่ผลิตไปจนถึงทำแกงราดกระจายอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้ พูดให้เป็นวิชาการก็ได้ว่าทั้งสองชุมชนล้วนสามารถ ปฏิบัติการทางสังคม ได้ แม้สมาชิกส่วนใหญ่ต่างไม่รู้จักหน้าค่าตากัน แต่ก็มีความต่างในความเหมือนนี้ด้วยนะครับ เช่น ชุมชนคนเกลียดทักษิณ คงเลิกปฏิบัติการทางสังคม เมื่อคุณทักษิณวางมือทางการเมืองไปแล้ว บางคนอาจหันกลับไปเลือกพรรค ทรท.ใหม่ ในขณะที่ ชุมชนคนรักขนมจีน ยังตั้งหน้าตั้งตาหม่ำขนมจีนต่อไปไม่เลิก ฉะนั้น ชุมชนคนเกลียดทักษิณ จึงเป็น ชุมชน เฉพาะกิจ สำเร็จกิจของตัวไปแล้วก็เลิก ไม่มีลักษณะยืนนานอย่างที่เรามักคิดว่า ชุมชน ควรเป็น ในขณะที่ ชุมชนคนรักขนมจีน ตั้งอยู่ได้ยืนนานกว่ากันมาก และอาจสืบลูกสืบหลานต่อไปได้ด้วย  

แต่ในทางตรงกันข้ามนะครับ ชุมชนคนเกลียดทักษิณ ดูเหมือนจะมีเจตนารมณ์อยู่ในชุมชน ซึ่ง ชุมชนคนรักขนมจีน ไม่มี นั่นคือความเกลียดจะทำโดยไม่รู้ตัวเลยคงไม่ได้ ยิ่งผู้ถูกเกลียดมีอำนาจราชศักดิ์ใหญ่โตขนานนั้น สมาชิกคงต้องทบทวนอารมณ์ความรู้สึกเกลียดของตัวอยู่เสมอ หรือถูกท้าทายจากคนอื่นให้ทบทวน ส่วน ชุมชนคนรักขนมจีน ไม่ได้เจตนาเป็นสมาชิกของชุมชนเลย ด้วยเหตุผลที่ตัวอธิบายไม่ได้ เกิดมาก็ชอบกินขนมจีนกว่าก๋วยเตี๋ยว แม้แต่ถูกเมียบ่นว่าเอือมขนมจีนเต็มทนแล้ว ก็ยังแอบไปกินคนเดียว โดยไม่ต้องทบทวนความรักขนมจีนของตัวเป็นเรื่องเป็นราวเลย ไร้เจตนารมณ์จริงๆ เลยครับ ไม่มีจุดยืนด้านการกินที่สง่างามเหมือน ชุมชนคนเกลียดทักษิณ แต่ยั่งยืนชิปเป๋ง

 ผมชวนคุยเรื่อง ชุมชน ก็เพราะคำนี้มีปัญหามากทีเดียว อย่างน้อยก็ในทางวิชาการนะครับ เริ่มทีเดียวก็มีปัญหาเถียงกันว่า มันมีหรือไม่? โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์สัก 20 ปี มาแล้ว แทบไม่ยอมรับเลยว่ามันมีอยู่ และไม่เคยใช้เป็นหน่วยในการวัดเศรษฐกิจเลย เพราะไม่รู้จะกำหนดขอบเขตแค่ไหนให้เป็นหน่วยขึ้นมาได้ (ไม่เหมือนครอบครัว, หมู่บ้าน, อำเภอ, จังหวัด, ชาติ, ทวีป, อาเซียน, โลก ฯลฯ) 

เหตุผลที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ลังเลใจที่จะรับการมีอยู่ของชุมชนก็เพราะ ที่จริงแล้วชุมชนเป็นหน่วยทางความสัมพันธ์ไม่ใช่หน่วยทางการเมือง เช่น ชาติ, อาเซียน, หมู่บ้าน, จังหวัด, ฯลฯ จึงไม่มีเส้นเขตแดนที่แน่นอน จะมองเห็นหน่วยทางความสัมพันธ์ได้ก็ต้องเข้าไปดูความสัมพันธ์ว่ามันมีอยู่หรือไม่ และอย่างไร อันที่จริงครอบครัวก็เป็นหน่วยทางความสัมพันธ์ และในกรณีไทยนั้น แยกหน่วยนี้ออกไปจากเครือญาติได้ยากด้วย โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ เช่น ครอบครัวของพี่และน้องเป็นเจ้าของที่นาร่วมกัน หรือแบ่งรายได้จากที่ดินกัน เป็นต้น แต่นักวิชาการมักใช้จินตนาการฝรั่งในการมองครอบครัวว่าประกอบด้วยผู้ที่สืบสันดานกันโดยตรง คือ ปู่-พ่อ-ลูก-หลาน และยังอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน เลยง่ายที่จะมองเห็นหน่อย ความสัมพันธ์ที่เป็นหัวใจสำคัญของชุมชนนั้น มีความหมายกว้างกว่าความสัมพันธ์กันโดยตรง อาจสัมพันธ์โดยผ่านสิ่งอื่นก็ได้ เช่น ผ่านอุดมการณ์, ผ่านเป้าหมายทางการเมือง, ผ่านอัตลักษณ์ เป็นต้น ฉะนั้น โดยไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลยก็อาจอยู่ในชุมชนเดียวกันได้ ที่เราคุ้นเคยกันอย่างดีก็คือ ชาติ เป็นชุมชนของจินตนาการถึงอัตลักษณ์ที่เป็นอันเดียวกันโดยไม่ได้รู้จักมักจี่อะไรกันจริง 

ฉะนั้น นักวิชาการบางท่านจึงยกตัวอย่าง คนพิการ, ผู้หญิง, ผู้ติดเชื้อ ฯลฯ ว่าก็คือ ชุมชน อย่างหนึ่ง โดยมีความสัมพันธ์กันผ่านสำนึก, อัตลักษณ์, และเป้าหมายทางการเมืองและสังคม แต่ที่เป็น ชุมชน ขึ้นมา ไม่ใช่เพราะมีคนเหล่านี้ แต่เพราะคนเหล่านี้มีสำนึก, อัตลักษณ์, เป้าหมายทางการเมืองและสังคมที่เป็นอันเดียวกันต่างหาก ถ้ายังไม่มีก็ไม่ใช่ ชุมชน มีเมื่อไรก็มี ชุมชน เกิดขึ้น ที่บางคนพูดว่า ชุมชน แบบเก่าที่ติดอยู่กับพื้นที่กำลังอันตรธานไปจากเมืองไทย เขาไม่ได้หมายถึงตัวพื้นที่หรือบ้านเรือนที่อาจยังตั้งอยู่ที่เดิม แต่หมายความว่าความสัมพันธ์ที่ทำให้คนในนั้นมีอะไรร่วมกันได้หายไปแล้ว อย่างหมู่บ้านจัดสรร ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ชุมชน (แม้ใช้คำว่าว่าหมู่บ้านก็ตาม) เพราะไม่มีความสัมพันธ์ภายในเลย ไม่ว่าจะความสัมพันธ์โดยตรง หรือโดยผ่านสำนึก, อุดมการณ์, ความสนใจ, อาชีพการงาน หรืออะไรอื่น 

ในขณะที่ชุมชนแบบเก่าที่เคยตั้งอยู่ในหมู่บ้านกำลังหายไปหรือทำงานในฐานะที่เป็น ชุมชน ไม่ได้ ก็มี ชุมชน แบบใหม่ที่ไม่ต้องมีความสัมพันธ์กันโดยตรง แต่สัมพันธ์โดยผ่านอะไรอื่นอีกทีหนึ่งเกิดขึ้น ก็จริงอย่างที่นักวิชการพูดกันนะครับ แต่ผมคิดว่าถึงจะมี ชุมชน แบบใหม่มาแทนที่ แต่ก็แทนไม่ได้หมด กล่าวคือทำงานได้ไม่เหมือนกับที่ ชุมชน แบบเก่าเคยทำมา  สองหรือสามด้านที่มีความสำคัญมาก ซึ่งผมคิดว่าชุมชนแบบใหม่ที่สมาชิกไม่ต้องสัมพันธ์กันโดยตรงนี้ ไม่อาจอำนวยให้แก่คนใน ชุมชน ได้

มีคนบอกผมว่า มี ชุมชน ออนไลน์ให้ไปดูได้เลยในอินเตอร์เน็ต ผมก็เข้าไปดูเว็บบอร์ดที่มีผู้คนเข้าไปเขียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแยะๆ อ่านแล้วก็ผงะครับ โอ้โหเฮะ วาจาที่เขาใช้เชือดเฉือนกันนั้น มันเอาเป็นอาตายกันเลยนี่ครับ ถ้าพูดภาษาของ ชุมชน แบบเก่าก็คือ ตายไม่เผา เงาไม่เหยียบกันเลย คนแก่ขนาดผมบอกตัวเองว่า อย่างนี้ไม่ใช่ ชุมชน นี่หว่า ถ้าใช่ ผมก็โชคดีที่ไม่นึกอยากเข้าไปอยู่ในนั้น มันไม่อบอุ่น และไม่มีใครนึกถึงจิตใจของเจ้าของความคิดเห็นที่เราไม่เห็นด้วยบ้างเลย

บรรยากาศอย่างนี้ของ ชุมชน บอกให้ผมรู้ว่า สองอย่างที่ขาดหายไป หนึ่งก็คือความรู้สึกในความเป็นปึกแผ่น (solidarity) ครับ และสองก็คือ ความสัมพันธ์นั้นเอาไปใช้ปฏิบัติการทางศีลธรรมไม่ได้ เพื่อนที่ชอบไปสังเกตการณ์การชุมนุมของแผด (PAD ในภาษาอังกฤษ และแผดในภาษาไทย-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยน่ะครับ) บอกผมว่า เขาพบว่าจำนวนมากของผู้คนไปชุมนุมกันนั้นไม่ได้ฟังที่เขาปราศรัยบนเวที แต่ไปพบปะคนอื่นๆ ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แล้วก็ตั้งวงสนทนากันเป็นกลุ่มๆ ส่วนใหญ่เป็นการสนทนากันถึงปัญหาสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าการเมืองเสียอีก

ผมฟันธงไปเลยทั้งๆ ที่ไม่เคยไปสักครั้งว่า คนกรุงเทพฯ หิวความเป็นปึกแผ่น เพราะชีวิตตัวไม่รู้จักมาก่อน ทำให้เกิดความอบอุ่นชนิดที่ตัวไม่เคยสัมผัสในชีวิตจริง ที่ผมเรียกว่าความอบอุ่นนั้นไม่ใช่ความมั่นคงปลอดภัยที่มีคนอยู่ด้วยกันมากๆนะครับ แต่คือความอบอุ่นใจว่าความห่วงใยส่วนรวมที่ตัวมีนั้นไม่โดดเดี่ยว การคิดถึงคนอื่นหรือที่เรียกว่าส่วนรวมนั้นทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่นกับตัวเองลงไป เป็นความสุขที่ปัจเจกชนคนชั้นกลางไม่ค่อยมีประสบการณ์ จึง ติด ไปแล้วไปอีก ไม่เบื่อเสียที 

ส่วนใหญ่ของ ชุมชน แบบใหม่นั้น ไม่อาจให้ความเป็นปึกแผ่นอย่างนี้ได้ ยกเว้นนานๆ ครั้งอย่างที่เกิดกับการประท้วงรัฐบาลเมื่อต้นปีนี้ หรือยกเว้น ชุมชน ที่กำลังต่อสู้ผลักดันอะไรบางอย่างในสังคม เช่น นักสิทธิสตรี หรือสมาชิกของสลัมสี่ภาค เป็นต้น แต่ไม่มีทางเกิดกับ ชุมชนคนรักขนมจีน ได้เป็นอันขาด และน่าสังเกตด้วยนะครับว่า ชุมชน แบบใหม่ มักเกิดขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวทางสังคมบางอย่างด้วย การคิดถึงคนอื่นหรือคิดถึงส่วนรวมนั้น คือ รากฐานของสิ่งที่เรียกว่าศีลธรรม ชุมชน แบบเก่าที่อยู่ติดพื้นที่ย่อมต้องคิดถึงเรื่องของส่วนรวมอยู่เสมอ นับตั้งแต่จัดบุญบั้งไฟ, เทศน์มหาชาติ, หรือจัดการเรื่องเหมืองฝาย ชุมชนออนไลน์ อาจไม่ต้องนึกเท่าไร เรื่องของส่วนรวมที่เอามาถกเถียงกันเป็นแค่ความสนใจร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้คิดจะเอาไปใช้ในการปฏิบัติการทางสังคมอะไรมากไปกว่าการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบนเว็บบอร์ด และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่มีพลังในด้านศีลธรรมนัก เช่น ดูแลพฤติกรรมของกันและกันไม่ได้ เช่นถึงจะรู้ว่าไอ้หมอนี่รับจ้างเขามาออกความเห็นในเว็บบอร์ด ก็ได้แต่ด่าว่าไปตามเพลง ไม่มีอำนาจในการควบคุมพฤติกรรมของใครได้จริงเหมือน ชุมชน แบบที่มีความสัมพันธ์กันโดยตรง นี่ก็เป็นแค่ตัวอย่างว่า ชุมชน ที่มีความสัมพันธ์กันโดยตรงกับ ชุมชน ที่สัมพันธ์กันโดยผ่านสื่ออื่นนั้น ถึงแทนที่กันได้ แต่แทนกันไม่ได้ทั้งหมด

ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ชุมชน แบบใหม่ แต่นี่คือสิ่งที่สังคมปัจจุบันและอนาคตจะต้องเผชิญหรือใช้ประโยชน์มากกว่า ชุมชน แบบเดิม คนรวมตัวกันเป็น ชุมชน ชั่วคราว เพื่อทำอะไรบางอย่างร่วมกัน แล้วก็สลายตัวไปสมาชิกแยกย้ายไปเป็นสมาชิกของ ชุมชน อื่น หรือเป็นสมาชิกของ ชุมชน มากกว่าหนึ่งประเภท ผมคิดว่า เราควรทำความเข้าใจกับ ชุมชน แบบใหม่นี้ให้ดี และค้นหาทั้งศักยภาพและข้อจำกัดของมันให้ถ่องแท้

หมายเลขบันทึก: 51460เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2006 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท