Thanachart
นาย ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ

รวันดา : บนความเพิกเฉยของสหประชาชาติ ตอนที่ 7


                                 รวันดา : บนความเพิกเฉยของสหประชาชาติ*  ( 7  )

                                                                                     ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ

                                                                                     นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์การเมือง

                                                                                     เครือข่ายเสริมสร้างสังคมสันติสุข

 

กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(Rwandan Patriotic Front)  หรือRPF รุกคืบบุกยึดได้พื้นที่ทางตอนเหนือของรวันดาจนอยู่ในความควบคุมของตน หลังจากนั้นในวันที่9 เมษายน 1994 กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา( RPF)  ได้รื้อฟื้นความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลรวันดาขึ้นอย่างเป็นทางการ  โดยกองทหารของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF) จำนวนมากเคลื่อนทัพมาจากทางตอนเหนือเพื่อบดขยี้ทำสงครามกับกองกำลังรัฐบาลและเมื่อวันที่ 11 เมษายน ได้เดินทางถึงกรุงคิกาลีซึ่งเป็นที่ตั้งของกองทหารรัฐบาลหลังจากนั้นในวันต่อมารัฐบาลรักษาการณ์ได้หลบหนีไปอยู่กับกลุ่มกิทารามา(Gitarama) (ซึ่งเป็นชื่อกองกำลังของกลุ่มชาวฮูตูหัวรุนแรง ที่ก่อตั้งเมื่อปลายยุค 1960เพื่อสนับสนุนรัฐบาล) ขณะที่สถานีวิทยุของรัฐได้ยั่วยุให้ชาวฮูตูป้องกันประเทศต่อการรุกรานของกองทหารของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดาชาวตุ๊ดซี่(RPF) หลังจากนั้นผู้นำRPF กล่าวว่าพวกเขาจะหยุดการต่อสู้ทันทีเมื่อขับไล่ชาวฮูตูหัวรุนแรงออกนอกประเทศไปได้และได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมเรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญจะต้องจับกุมบุคคลที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงได้แล้วด้วย นั่นเป็นการสื่อความหมายที่มีนัยชัดเจนว่าการแตกหักระหว่างชาติพันธุ์เท่านั้นที่นำไปสู่การยุติสงคราม

การรื้อฟื้นความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลรวันดาขึ้นอย่างเป็นทางการ  ทำให้ความรุนแรงแพร่กระจายและดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งประเทศเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติได้คาดการณ์ว่ากองกำลังของรัฐบาลและกลุ่มกิทารามา(Gitarama) ได้เข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงเมื่อปลายเดือนเมษายน ไปแล้วประมาณ2 แสนคน

ทั้งๆที่ประชาคมโลกตระหนักถึงการเข่นฆ่าในครั้งนี้แต่ก็ไม่มีใครกระทำการใดๆเพื่อหยุดยั้งแม้บางครั้งการสังหารโดยทหารและกองกำลังได้ลงมือต่อหน้าทหารของสหประชาชาติด้วยซ้ำ กล่าวกันว่าสหประชาชาติเองก็กังวลถึงความปลอดภัยของกองกำลังของตนเช่นกันเพราะลดกองกำลัง UNAMIR ลงถึง 90% แม้ต่อมาในเดือนพฤษภาคมสหประชาชาติจะเห็นชอบให้กองกำลังสหประชาชาติ เข้ามาแทรกแซงอีกครั้งเพื่อที่จะหยุดการต่อสู้และเข่นฆ่าในรวันดา แต่น่าเสียดายเพราะเวลาที่สหประชาชาติจะแทรกแซงได้ผ่านพ้นไปและสายเกินไปแล้ว จนไม่อาจหยุดยั้งการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ลงไปได้

ในขณะที่กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF)  รุกคืบบุกยึดได้พื้นที่ทางตอนเหนือของรวันดาอยู่ในความควบคุมแล้วนั้นชาวฮูตูก็เริ่มทยอยหนีไปอยู่แซร์  เบอรันดี และเทนเซเนีย เพราะถูกกระตุ้นจากกลุ่มฮูตูหัวรุนแรงที่ได้เข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงอย่างต่อเนื่องว่าหากไม่หลบหนีจะถูกสังหารโดย PRF นอกจากนั้นเจ้าพนักงานท้องถิ่นรวมทั้งสมาชิกของกลุ่ม อินเทอราฮัมเว( Interahamwe) แจ้งให้ชาวฮูตูหนีออกไปจากประเทศเพราะมิฉะนั้นจะถูกสังหารหากยังคงอยู่ในประเทศต่อไปชาวฮูตูจำนวนมากกลัวว่ากองทัพของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF) จะสังหาร จึงรีบเร่งที่จะหนีออกไปจากประเทศอย่างชุลมุนวุ่นวายด้วยความหวาดกลัว

จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มว่ากองทัพของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) จะชนะอย่างแน่นอน ทำให้ชาวรวันดาจำนวนมากต้องลี้ภัยไปนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เป็นการอพยพหนีภัยของชาวฮูตูซึ่งเป็นชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่กว่าซึ่งเกรงว่าถูกฆ่าโดยทหารของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF)การต่อสู้ในกรุงคิกาลียังคงตึงเครียด แต่ในพื้นที่อื่นทหารกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) และสมาชิกกองกำลังรัฐบาลไม่ได้ส่งทหารไปประจันหน้าต่อสู้กันมากนัก

ในช่วงเวลานี้กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) เริ่มรับสมาชิกเพิ่มขึ้น หลายๆคนมาจากญาติของบุคคลที่ถูกกองกำลังรัฐบาลเข่นฆ่าจากการโจมตีครั้งสุดท้ายที่กรุงคิกาลีพลเมืองชาวตุ๊ดซี่ที่รวมตัวกันครั้งใหม่นี้กระหายที่จะล้างแค้นต่อชาวฮูตูและพร้อมที่จะกระทำการอันชั่วร้ายแบบอื่นๆต่อพลเมืองชาวฮูตูโดยไม่ลดละ  และที่สำคัญกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) ได้ใช้พลเรือนชาวตุ๊ดซี่ที่ฝึกมาอย่างดีเข่นฆ่าพลเรือนชาวฮูตู  ซึ่งถือเป็นการกระทำต่อกันของพลเรือนต่อพลเรือน

กล่าวกันว่านี่เป็นวิธีการที่กลุ่มกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา RPF ได้มีการวางแผนมาอย่างดีในการสังหารชาวฮูตู ด้วยความโหดร้ายทั้งใช้อาวุธปืน มีด และของมีคมอื่นๆรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่สามารถนำมาดัดแปลงใช้เป็นอาวุธในการเข่นฆ่า การกระทำในลักษณะนี้มีแนวโน้มว่าผู้นำกลุ่มกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) ไม่ต้องการให้สมาพันธุ์นานาชาติเห็นว่าฝ่ายผู้นำกองกำลังเป็นฝ่ายสังหารพลเรือนแต่เป็นการกระทำของพลเรือนด้วยกันเอง

ปลายเดือนมิถุนายน ฝรั่งเศสได้ส่งกองกำลัง2 พัน 5 ร้อยคนเพื่อที่จะช่วยหยุดยั้งความรุนแรงและความวุ่นวายซึ่งเกิดในบริเวณเขตแดนของแซร์กับรวันดาพร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันไม่ให้ชาวรวันดาหลายล้านอพยพออกนอกประเทศ โดยฝรั่งเศสได้ตั้งหน่วยกลางทางตะวันตกเฉียงใต้ของรวันดารัฐบาลรักษาการณ์ต้อนรับการเข้าแทรกแซงนี้เป็นอย่างดีและหวังว่าฝรั่งเศสผู้ซึ่งให้การสนับสนุน  จูเวอนัล ฮาเบียริมานา( Juvenal Habyarimana  ) จะช่วยเหลือรัฐบาลในการฝึกฝนทหารที่สนับสนุนรัฐบาล(FAR) เพื่อจะช่วยต่อสู้กับกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF) ขณะเดียวกันกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) ก็ไม่ไว้ใจการแทรกแซงของฝรั่งเศสเพราะเชื่อว่ากองกำลังทหารของฝรั่งเศสจะสนับสนุนกองกำลังของรัฐบาล(FAR) แต่ท้ายที่สุดแล้วฝรั่งเศสก็ยังคงวางตัวเป็นกลาง

เมื่อ 4 กรกฎาคม 1994 กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF) ได้ยึดกรุงคิกาลีสำเร็จ และหลังจากนั้นได้รวมพลังซึ่งมีกองกำลังเกือบ3 ล้านคนทั้ง พลเรือน ทหาร สมาชิกกองกำลัง และเจ้าพนักงานท้องถิ่นเข้าโจมตีในบูแทร์และรูเฮนเจอรีซึ่งเป็นฐานกำลังสำคัญของรัฐบาลรักษาการณ์กระทั่งวันที่14 กรกฎาคม RPF ได้ชัยชนะ กระทั่งวันที่ 17 กรกฎาคม  สามารถควบคุมประเทศไว้ได้ทั้งหมดขยายไปถึงชายแดนของแซร์ยกเว้นแต่หน่วยกลางของฝรั่งเศสเท่านั้น ข้อตกลงหยุดยิงมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 17กรกฎาคม 1994 หลังจากนั้นกองทหารกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา
(RPF) ซึ่งได้รับชัยชนะก็ประกาศสิ้นสุดสงครามชาวตุ๊ดซี่กลับมาอีกครั้ง แต่สิ่งที่ตามมานั่นคือการทำหน้าที่ของสถานีวิทยุของรัฐที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) ได้กระจายเสียงอย่างต่อเนื่องเพื่อขับไล่ชาวฮูตูให้อพยพออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง

สภาพปัญหาหลังสงครามกลางเมือง

หลังจากที่ได้รับชัยชนะจากสงครามกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) พยายามตั้งรัฐบาลในทันที พาสเตอร์ บิซิมังกู (PasteurKagame)ชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงและเป็นหนึ่งในสมาชิกชั้นสูงของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF)ที่ร่วมกับชาวตุ๊ดซี่ ได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี พลตรี พอล คากาเม่ ( Major General Paul Kagame) ชาวตุ๊ดซี่ ได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม  คนต่อมาคือฟอสติน ทวากิรามังกู  ( Faustin Twagiramungu) ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่นี้ถูกขนานนามว่า“รัฐบาลของการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียว”เพราะมีสมาชิกเป็นผู้นำทางการเมืองของสองชาติพันธุ์

นอกจากนั้นยังมีนักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านของรวันดาซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF) อีกจำนวน 5 คน ได้ตำแหน่งในรัฐบาลจากสมาชิกรัฐบาลทั้งหมดจำนวน 20 ตำแหน่ง หลังจากนั้นรัฐบาลได้ทำตามแนวทางซึ่งเคยกำหนดไว้ในข้อตกลงสงบศึกอรูชาเมื่อปี1993  นั่นคือรวันดาจะต้องจัดตั้งรัฐบาลที่แบ่งสรรอำนาจจากทั้งสองชาติพันธุ์ซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านและแกนนำกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF) ส่วนฝ่ายกองกำลังทหารนั้นจะประกอบไปด้วยทหารจากกองกำลังรัฐบาล(FAR) และจากกองกำลังสมาชิกกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติ รวันดา (RPF) และที่สำคัญรัฐบาลต้องอนุญาตให้ชาวตุ๊ดซี่ที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ อพยพกลับเข้ามาในประเทศโดยเร็วรวมทั้งต้องช่วยเหลือให้ประชาชนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่อีกครั้ง

พลตรี พอล คากาเม่ ( Major General PaulKagame) รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กล่าวในสุนทรพจน์ขณะที่เข้าดำรงตำแหน่งว่า “วันนี้เป็นวันแห่งความสุขและความทุกข์….…กองกำลังได้ยกเลิกการปกครองที่กดขี่และเผด็จการเหลือไว้เพียงแต่ประโยชน์สุขของชีวิตประชาชนทั้งหลาย” ซึ่งเป็นคำประกาศที่มีความสวยหรูยิ่งนัก แต่โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลังจากนั้นยังชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงยังไม่ได้ยุติลง

ถึงแม้ว่าการสังหารหมู่ชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงได้ยุติลงชัยชนะของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF) ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตของรวันดาลงได้ในทันทีประชาชนจำนวนมหาศาลที่ลี้ภัยออกนอกประเทศได้ก่อให้เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัย ไม่มีภูมิภาคใดทั้งในและนอกประเทศที่สามารถจะรองรับปัญหาผู้ลี้ภัยนี้ได้สหประชาชาติและองค์กรช่วยเหลืออื่นได้ตั้งแคมป์ผู้ลี้ภัยในแซร์เบอรันดีและแทนเซเนีย  แต่แคมป์ก็มีเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยเหลือไม่พอเพียง  และไม่สามารถรองรับประชากรจำนวนมากอย่างล้นหลามได้

ปัญหาผู้ลี้ภัยจำนวนมากก็ยังคงดำรงเป็นปัญหาอยู่ต่อไปแคมป์เป็นที่ที่ประชาชนหลายพันหลายหมื่นที่คนพลัดพรากจากบ้านเกิดใช้เป็นที่ซุกหัวนอนในบางพื้นที่ประชากรหลายหมื่นคนยังคงหลบซ่อนในหุบเขาเพราะกลัวการกลับมาของกองกำลังจนนำไปสู่การเข่นฆ่าสังหารอีกครั้งส่วนคนที่รอดชีวิตมาได้จากการใช้ความรุนแรงในครั้งนี้ก็ยังคงอยู่ในสภาพหิวโหยหวาดวิตกและตกใจกลัวส่วนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้นไม่ต้องพูดถึงแม้จะมีอยู่เพียงน้อยนิดซึ่งส่วนใหญ่ก็ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับทั้งประเทศจนไม่อาจใช้การได้อีก

เมื่อเดือนสิงหาคม 1994 ปัญหาจากสถานการณ์ผู้ลี้ภัยใหม่ก็ชัดเจนขึ้นไม่ใช่เฉพาะผู้ลี้ภัยเท่านั้นที่เป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์จากสงคราม แม้แต่สมาชิก กลุ่มอินเทอราฮัมเว ( Interahamwe) และทหารกลุ่มกองกำลังสนับสนุนรัฐบาล
(FAR) ก็ไปลงเอยอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกันซึ่งเป็นที่ที่พวกเขาได้รับการรักษาพยาบาลได้รับอาหาร  จากความช่วยเหลือของหน่วยงานเอกชน(องค์กรเอกชนหรือ NGO) โดยปกติแล้ว NGOจะให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทุกคนที่ต้องการและไม่เลือกปฏิบัติต่อประชาชนเนื่องจากการกระทำและความเชื่อทางด้านเผ่าพันธุ์และการเมือง
ดังนั้นบุคลากรของกองกำลังกลุ่ม อินเทอราฮัมเว( Interahamwe) และทหารกลุ่มกองกำลังสนับสนุนรัฐบาล (FAR) จึงได้รับการช่วยเหลือ  การดูแลรักษาตามปกติแม้จะเป็นกองกำลังและเกี่ยวข้องทางการเมืองก็ตามจากการปฏิบัติเช่นนี้ช่วยทำให้ชาวฮูตูหัวรุนแรง กองกำลังกลุ่ม อินเทอราฮัมเว ( Interahamwe) และทหารกลุ่มกองกำลังสนับสนุนรัฐบาล(FAR)ฟื้นจากอาการบาดเจ็บและรวมตัวกันอีกครั้งในแคมป์ผู้ลี้ภัย

เจ้าหน้าที่ขององค์กรเอกชนในแคมป์ผู้ลี้ภัยไม่ได้มีอาวุธ  จึงไม่อาจปกป้องจากการควบคุมของพวกฮูตูหัวรุนแรงที่ติดอาวุธดังนั้นพวกฮูตูหัวรุนแรงจึงมีอำนาจจัดการแคมป์จนสามารถควบคุมสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหมดจากองค์กรเอกชน ในบางกรณีผู้นำหมู่บ้านซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยเหลือในการสั่งฆ่าชาวตุ๊ดซี่ได้เข้าควบคุมในการแจกจ่ายอาหารภายในแคมป์เสียเองนอกเหนือจากนั้นยังจัดฝึกกองกำลังภายในแคมป์  ผู้ลี้ภัยอีกด้วย  กล่าวกันว่าหลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง พื้นที่บริเวณชานเมืองและในทางตะวันออกของแซร์ ได้รับสมาชิกกองกำลังกลุ่ม อินเทอราฮัมเว ( Interahamwe) ไว้ประมาณ 1 หมื่นคนและสมาชิกกองกำลังสนับสนุนรัฐบาล(FAR)อีกประมาณ 3 หมื่นคนไว้ในการดูแล

ดังนั้นถึงแม้ว่าแคมป์จะมีองค์กรเอกชนเป็นผู้บริหารแต่สุดท้ายแล้วก็อยู่ภายใต้อำนาจของสมาชิกกองกำลังหรือกองทหารชาวฮูตูหัวรุนแรงอยู่ดีซึ่งแสดงพฤติกรรมคุกคามและขู่เข็ญผู้ลี้ภัยชาวฮูตูที่ต้องการอพยพกลับเข้าประเทศ  โดยบอกผู้ลี้ภัยว่าชาวตุ๊ดซี่จะสังหารผู้ลี้ภัยชาวฮูตูหากยังพยายามที่กลับบ้านซึ่งบ่อยครั้งที่สมาชิกกองกำลังเหล่านี้ได้สร้างข่าวโคมลอยเกี่ยวกับคนที่อพยพกลับบ้านจะถูกทรมานและถูกฆ่าหลังจากกลับไปถึงแล้วด้วยเหตุที่ผู้ลี้ภัยได้รับข้อมูลข่าวสารทางเดียวอย่างจำกัดเกี่ยวกับสถานการณ์จึงไม่รู้ว่าเรื่องไหนควรจะเชื่อหรือไม่ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้กลัวว่าหากอพยพกลับไปแล้วกองกำลังกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) จะมาสังหารและล้างแค้นเข่นฆ่าในภายหลัง จึงหวาดกลัวที่จะอพยพกลับบ้าน

ถึงแม้ว่าข่าวโคมลอยจะแพร่ไปทั่วแคมป์ผู้อพยพโดยการสร้างเรื่องของชาวฮูตูหัวรุนแรงจะไม่เป็นความจริงทั้งหมด
แต่จากสถานการณ์ในรวันดา ถ้าหากผู้ลี้ภัยจะกลับเข้าประเทศแล้วก็ยังคงล่อแหลมอยู่ดีเพราะการล้างแค้นของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF) ที่มีต่อชาวฮูตูได้เกิดขึ้นจริงทั่วประเทศ และนอกจากนั้นยังคงมีปัญหาผู้อพยพอีกกลุ่มคือชาวตุ๊ดซี่ที่หนีและถูกเนรเทศออกไปที่เบอรันดี แซร์ อูกันดา และแทนเซเนีย ในรัฐบาลก่อนหน้านี้ ได้เดินทางกลับเข้ามาในรวันดาหลังจากชัยชนะของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) เมื่อเดือนสิงหาคม ชาวบานยารวันดา กว่า 2แสนคนได้กลับเข้าประเทศ พลเมืองหลายๆคนได้อ้างสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งถูกทิ้งร้างในช่วงสงครามระหว่างกองกำลังของกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF) กับรัฐบาล มีการกล่าวกันว่าผู้นำกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติ รวันดา(RPF) ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อการเข้ายึดอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ของชาวฮูตูซึ่งปัญหานี้ก็เป็นปัญหาใหญ่อีกปัญหาหนึ่งที่ชาวฮูตูไม่อาจกลับประเทศได้

ปลายปี 1994 กองกำลังชาวฮูตูได้ข้ามเขตแดนเข้ามาในรวันดาจากแซร์ และแทนเซเนีย คราวนี้ได้ก่อให้เกิดการปะทะกันกับกองกำลังที่พึ่งตั้งขึ้นใหม่ของรัฐบาลคือ กองกำลังเพื่อชาติรวันดา ( Rwandan Patriotic Army – RPA ) เป็นกองกำลังที่รวมกองกำลังของ RPF ของชาวตุ๊ดซี่ และกองกำลังFAR ซึ่งเคยเป็นกองกำลังส่วนหนึ่งของรัฐบาลชาวฮูตูมาก่อน เข้าด้วยกันและได้รับการฝึกฝนใหม่

การแทรกซึมเข้าไปในประเทศครั้งนี้ของกองกำลังชาวฮูตูได้ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงครั้งใหม่จากกองกำลังเพื่อชาติรวันดา  ( RPA)ต่อพลเรือนชาวฮูตูโดยRPA เชื่อว่าชาวฮูตูบางคนได้ให้การช่วยเหลือกองกำลังชาวฮูตูด้วย
จึงมีการสังหาร ลักพาตัว รวมทั้งทำลายทรัพย์สินชาวฮูตูอีกจำนวนมาก ในครั้งนี้ผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติกล่าวว่าการลักพาตัวการสังหารและการทำลายทรัพย์สินได้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศรวันดา แต่การกระทำดังกล่าวนี้รัฐบาลปฏิเสธว่ามิใช่การกระทำของกองกำลังเพื่อชาติรวันดา(RPA) และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแก้แค้นของรัฐบาล

ทั้งๆที่มีการแถลงปฏิเสธจากรัฐบาล  แต่จริงๆแล้วกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) ก็ยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงต่อชาวฮูตูจำนวนมากในเดือนเมษายน 1995 จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติผู้ลี้ภัย
(UNHCR ) รายงานว่ากองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) ได้สังหารประชาชนไป 2 พันถึง 4 พันคนเมื่อรัฐบาลพยายามที่จะปิดแคมป์ผู้ลี้ภัย คิเบโฮ เพราะรัฐบาลเชื่อว่าแคมป์นี้อยู่ภายใต้การควบคุมของชาวฮูตูหัวรุนแรง

ในช่วงหลายวันของความวุ่นวาย กองกำลังเพื่อชาติรวันดา(RPA) ได้ยิงปืนข่มขู่เพื่อบังคับให้ผู้ลี้ภัย 2 แสน 5
หมื่นคนต้องออกจากพื้นที่ เมื่อมีผู้ลี้ภัยบางส่วนที่หวาดกลัวเริ่มวิ่งหนีกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) ก็กราดกระสุนเข้าใส่ฝูงชนทันทีซึ่งการกระทำนี้กองกำลังเพื่อชาติรวันดา(RPA) อ้างว่าเป็นการป้องกันตัวทั้งๆที่ขัดกับความเป็นจริงเพราะหลังจากนั้นหน่วยงานช่วยเหลือนานาชาติ Medecins Sans Frontieres (Doctor without borders) รายงานว่าชาวฮูตูจำนวนมากถูกสังหารด้วยการยิงจากข้างหลังในขณะที่วิ่งหนีกองกำลังเพื่อชาติรวันดา (RPA) เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นหายนะทางความสัมพันธ์ระหว่างชาวฮูตูกับชาวตุ๊ดซี่รุนแรงยิ่งขึ้น  พร้อมทั้งเป็นหายนะต่อกระบวนการเพื่อความสงบทั้งหลายที่ทุกๆฝ่ายได้ให้การสนับสนุนและมีทีท่าว่าจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี

ภายใต้รัฐบาลใหม่ปัญหาทางการเมืองยังคงดำรงอยู่เพราะเหตุเนื่องมาจากกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF)  ได้จัดแบ่งตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีไม่เหมาะสมทั้งๆที่ตำแหน่งรัฐมนตรีควรจะถูกแบ่งอย่างเท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF)  กับกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้าน แต่เนื่องจากกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF)  ได้จัดสรรตำแหน่งให้แก่สมาชิกของพรรคปฏิวัติชาติเพื่อการพัฒนา(MRND)ของชาวฮูตูด้วยซึ่งสมาชิกของพรรคนี้ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้วจึงไม่มีใครเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวดังนั้นกลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา (RPF)  จึงเข้ายึดครองตำแหน่งดังกล่าวเป็นของกลุ่มตนทั้งหมดทำให้สามารถควบคุมอำนาจภายในรัฐบาลได้เบ็ดเสร็จ พรรคฝ่ายค้านจึงไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมดังกล่าวจนนำไปสู่ความขัดแย้งกันอีก จนกระทั่งประชาคมโลกได้เรียกร้องให้กลุ่มแนวหน้าผู้รักชาติรวันดา(RPF)   ต้องจัดแบ่งฐานที่นั่งในรัฐบาลให้เท่าเทียมกันเป็นไปตามข้อตกลงสงบศึกอรูชาเมื่อปี1993..............
................................................................

  *บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict. Rawanda : country torn apart .Manufactured in the United States of America.   By Lerner Publications Company



หมายเลขบันทึก: 514416เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท