CaseStudy4: ตอบคำถามคุณมัธฌิมา การขอรับการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอกรณีที่แท้ง


จากคำถามของคุณมัธฌิมา

เรียน คุณมัธฌิมา

      กรณีของคุณมัธฌิมา เป็นการขอตรวจดีเอ็นเอ เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง พ่อ-แม่-ลูก เพียงแต่ลูกยังเป็นตัวอ่อน ยังไม่เกิด หากให้ผมแนะนำ ก็คงต้องบอกว่า ให้ดูแลรักษาสุขภาพ ให้แข็งแรงครับ รอให้เขาคลอดเองตามธรรมชาติ การตรวจดีเอ็นเอไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะตรวจเมื่อใด ผลการตรวจก็เหมือนเดิมครับ จึงไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ

     ส่วนในกรณีที่มีปัญหาด้านสุขภาพ จนในที่สุด หากน้องเขาแท้งออกมาก่อน ก็คงต้องแยกเป็นสองกรณีครับ
           กรณีแรก หากการแท้งนั้นเกิดจากอุบัติเหตุ หรือมีผู้อื่นทำให้แท้ง ผมแนะนำว่า ให้แจ้งความไว้เป็นหลักฐานครับ
           กรณีที่สอง หากเป็นการแท้งโดยธรรมชาติ ผมแนะนำว่า ให้ขอใบรับรองแพทย์ไว้ครับ
     แล้วเก็บซากทารกใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น เก็บในตู้เย็น (หากเก็บไว้ไม่นาน เช่น เป็นวัน หรือ ไม่กี่วัน) หรือเก็บไว้ในตู้แช่แข็ง (กรณีที่เก็บไว้นาน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือ เป็นปี หรือ หลายปี) อย่าแช่ฟอร์มาลิน หรือ น้ำยาดองศพ เพราะการแช่ฟอร์มาลินเก็บไว้ยิ่่งนาน จะยิ่งตรวจดีเอ็นเอได้ยากยิ่งขึ้น หรือ ไม่ได้เลย


      กรณีการขอรับการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ให้คุณมัธฌิมา และสามี พร้อมทั้งซากทารก (ใส่กระติกแช่น้ำแข็ง ขณะนำส่ง) มาติดต่อขอรับการตรวจได้ที่หน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในเวลาราชการ ของวันทำการ โดยไม่ต้องทำบัตรโรงพยาบาล ไม่ต้องงดอาหาร และให้นำหลักฐาน คือบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมใบแจ้งความ หรือ ใบรับรองแพทย์ มาด้วย


      สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจ ที่หน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรณีที่ตรวจพ่อ-แม่-ลูก คิดค่าใช้จ่าย 8,000 บาทครับ ได้ผลการตรวจภายใน 1 สัปดาห์ โดยสามารถแจ้งได้ว่าจะมารับผลการตรวจด้วยตัวเอง หรือ มอบหมายให้บุคคลอื่นมารับผลการตรวจให้ หรือจะให้ส่งผลการตรวจทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ คุณวาทินี หรือ คุณเสาวณิต ได้ที่หมายเลข 074-451571


      การตรวจดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ พ่อ-แม่-ลูก มีห้องปฎิบัติการหลายแห่งที่เปิดให้บริการครับ ได้แก่

  • หน่วยมนุษยพันธุศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • หน่วยนิติเซโรวิทยา ภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • หน่วยนิติซีโรโลยี่วัตถุพยาน ภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช
  • กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม 

ในส่วนภูมิภาค ได้แก่

  • ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • หน่วยนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา

      คุณมัธฌิมา สามารถติดต่อห้องปฏิบัติการเหล่านี้ ได้ครับ เลือกที่อยู่ใกล้บ้าน หรือที่เดินทางสะดวกครับ และควรติดต่อห้องปฏิบัติการนั้นก่อน เพราะแต่ละห้องปฏิบัติการอาจใช้หลักฐานในการตรวจไม่เหมือนกันครับ เช่น บางห้องปฏิบัติการ อาจไม่ใช้ ใบรับรองแพทย์ หรือ ใบแจ้งความครับ ตลอดจนค่าใช้จ่าย และ ระยะเวลาในการตรวจอาจไม่เท่ากันครับ

หมายเลขบันทึก: 514121เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท