ทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นได้ใช้งานวิจัย..?


ทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นได้ใช้งานวิจัย..?

การตอบคำถามข้างบนนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ริเริ่มขึ้นในภาคเหนือเมื่อเดือนตุลาคม 2541และปัจจุบันกำลังขยายงานไปทั่วประเทศประเด็นสำคัญก็คือจะสนับสนุนงานวิจัย "แบบใหม่" ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะได้ "ใช้" งานวิจัยโดยตรง ให้งานวิจัยนั้นตอบคำถามของชาวบ้านได้อย่างเป็นรูปธรรม การเป็นรูปธรรม หมายความว่างานวิจัยแก้ไขปัญหาได้จริง เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงในชุมชน และคนที่เข้ามาร่วมโครงการ ได้เรียนรู้และ "เก่ง"ขึ้นและยกระดับการแก้ไขปัญหา ได้ประสบการณ์เพิ่มขึ้นเพื่อทำงานต่อไป

งานวิจัยที่มีมาในอดีตถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์อยู่พอสมควร แต่ดูเหมือนว่าเป็นการทำงานแบบตั้งโจทย์จากภายนอกชุมชน ตามความคิด และหวังว่าชุมชนจะนำผลงานวิจัยไปใช้ได้เมื่องานวิจัยเสร็จแล้ว แต่ข้อสรุปของนักวิชาการมักจะไม่เป็นรูปธรรมพอที่จะนำไปใช้ได้ อีกที

งานก็มักจะหยุดตามไปด้วย ในขณะที่ชาวบ้านผู้อยู่กับพื้นที่ รู้ปัญหาดีกว่าคิดเองได้แต่ไม่เป็นระบบ นอกจากนั้นหูตายังไม่กว้างขวาง การทำงานจึงมักแก้ปัญหาไม่ได้ผลการวิจัยแบบใหม่จึงเป็นการทำงานที่จะต้องมีการปรับตัวอย่างมากของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชุมชนท้องถิ่น นักวิจัย นักพัฒา

• ในส่วนของ นักวิจัย ต้องเข้าใจว่างานวิจัยแบบนี้ต้องไปเริ่มงานที่ "ชุมชน" ไม่ใช่ที่ตัวนักวิจัยกล่าวคือ เรื่องวิจัยต้องเป็นเรื่องหรือเป็นสิ่งที่ชุมชนอยากได้คำตอบ ไม่ใช่ทำวิจัยในเรื่องที่นักวิจัยอยากรู้ หรือใช้ชุมชนเป็น "กรณีศึกษา" เท่านั้น

• ในส่วนของ แหล่งทุนวิจัย เช่น สกว. ก็ต้องเข้าใจและต้องช่วยจัดกระบวนการสนับสนุนให้ทั้งสามฝ่ายข้างบนนี้มาทำงานร่วมกัน โดยใชโครงการวิจัยเป็นจุดร่วม เพื่อให้ยั่งยืนต่อไป

สกว.เรียกงานนี้ว่า "งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น(COMMUNITY-BASED RESEARCH)" เป็นงานวิจัยแบบใหม่ที่ไม่เน้นการตีพิมพ์บทความทางวิชาการหรือเอกสารรายงาน แต่มุ่งหวังจะ "เสริมพลัง" ชุมชน ให้คนในชุมชนได้เข้าร่วมเพื่อเรียนรู้ เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะอยู่กับชุมชนที่ชุมชนใช้ในชีวิตประจำวันได้ "ผลงาน" สำคัญของงานวิจัยแบบนี้คือ "คน" และ "กระบวนการเรียนรู้" ของชุมชนวิธีการสำคัญก็คือ "สร้างโอกาส" ให้ชุมชนได้มาร่วมกันคิด วิเคราะห์สภาพที่เป็นอยู่ ทดลองจัดการกับปัญหาปัจจุบัน และวางแผนอนาคตโดยใช้กระบวนการที่เป็นเหตุเป็นผล เป็นระบบ บนฐานของความรู้และข้อมูล รวมทั้งแยกแยะรวบรวมความรู้ที่ได้อย่างเป็นระเบียบ และสรุปบทเรียนเพื่อทำงานต่อไป อีกนัยหนึ่งคือมองว่างานวิจัยเป็น "เส้นทาง" หนึ่งที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน ส่วน "เรื่อง" ที่จะทำเรื่องใกล้ๆตัวก่อน เมื่อชุมชนมีประสบการณ์มากขึ้นจึงค่อยทำเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น ใช้ความรู้จากภายนอกมากขึ้น องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการสร้างเสริม "พันธมิตร" หรือ "เครือข่าย" กับกลุ่มอื่นๆที่อยู่ภายนอกชุมชน เพื่อชุมชนข้อมูลและประสบการณ์ เลือกใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้วในที่อื่น ตลอดจนร่วมกันผลักดันเรื่องบางเรื่องที่อาจเกินความสามารถของชุมชนเดียว

ยุทธศาสตร์และเป้าหมายขององค์กร

เน้นสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภายใต้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยนำผลงานวิจัยไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ (เน้นกระบวนการ)

เน้นสนับสนุนงานวิจัยที่มีเนื้อหาอันเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของท้องถิ่นและมุ่งพัฒนากลุ่มประเด็นงานวิจัยที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำไปสู่การสังเคราะห์และเชื่อมโยงองค์ความรู้จากฐานงานวิจัยเดิมไปในพื้นที่สู่การทำงานร่วมกับกลุ่มก้อน (Cluster) การวิจัยรวมทั้งเครือข่ายในท้องถิ่น เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขตพื้นที่การศึกษา กลุ่มเกษตรกร องค์กรชุมชน ฯลฯ (เน้นประเด็นเชื่อมโยง)

เน้นการทำงานกับนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผ่านกระบวนการวิจัย และมีงานที่เป็นรูปธรรมมาแล้ว โดยมุ่งขยายแนวคิดงานวิจัยเพื่อสร้างเครือข่ายของ “คนวิจัย” รวมทั้งหนุนคนวิจัย เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้จากกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับเครือข่ายของงานพัฒนาท้องถิ่น (เน้นคนวิจัย)

เน้นการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่เฉพาะ (Area – Based Research) ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคมของชุมชน ท้องถิ่น ประเทศ โดยการสนับสนุนให้เกิดโครงการวิจัยที่หลากหลายรูปแบบและมีความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์การทำงานของพื้นที่ รวมทั้งการทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรต่างๆ ในพื้นที่

เน้นการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมโดยการสรุปบทเรียนและสังเคราะห์ความรู้จากการทำงาน รวมทั้งมุ่งจัดการความรู้ที่ได้จากงานวิจัยในพื้นที่สู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น (เน้นการสื่อสารกับสาธารณะ)

ลักษณะสำคัญของโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น

1) เป็นโจทย์ที่ชุมชนหรือคนในท้องถิ่นเห็นว่ามีความสำคัญ และอยากจะค้นหาคำตอบร่วมกัน

2) ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการค้นหาคำตอบร่วมกัน

3) มีการปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหา หรือเสนอทางเลือกให้กับท้องถิ่น

4) เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และเป้าหมายขององค์กร

จะเริ่มงานวิจัยได้อย่างไร?

  ชุมชนท้องถิ่นที่สนใจขอรับการสนับสนุนควรเริ่มจากการทำ “เอกสารเชิงหลักการ” ประมาณ 4-5 หน้า นำเสนอให้กับศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่ (Node) หรือนำเสนอต่อ สกว.สำนักงานภาค ในกรณีพื้นที่ที่ไม่มี Node และเมื่อ Node หรือ สกว.สำนักงานภาค ได้รับเอกสารเชิงหลักการแล้ว จะพิจารณาขั้นต้น และแจ้งผลให้ผู้เสนอโครงการทราบ หรือเชิญผู้เสนอมาหารือรายละเอียดของโครงการ ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับเอกสาร

เอกสารเชิงหลักการ

ชื่อโครงการวิจัย

ตั้งตามประเด็นปัญหา /ข้อสงสัย / เรื่องราว ที่ต้องการศึกษา / เรียนรู้ / ค้นหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยต้องเป็นไปตามความต้องการของชุมชน

ความเป็นมาของเรื่องที่ต้องการทำวิจัย

สภาพการณ์ปัญหา ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน/ อย่างไร? ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขปัญหาโดยใครหรือไม่/อย่างไร? จนถึงปัจจุบันสภาพปัญหาเป็นอย่างไร? หากไม่หาทางแก้ไขแล้วจะเกิดผลเสียอย่างไร?

คำถามวิจัย / วัตถุประสงค์

 ในการทำวิจัย ต้องการศึกษาเพื่อค้นหาคำตอบ หรือต้องการแก้ปัญหาในเรื่องใด/ เพื่ออะไร?

แผนงาน และวิธีการศึกษา

 เพื่อให้สามารถตอบข้อสงสัย หรือแก้ปัญหาได้

มีแนวทางทดลองทำเพื่อนำไปสู่การหาคำตอบ หรือ แก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างไร/ มีใครมาร่วมทำงานบ้าง/มีการดำเนินกิจกรรมอะไร/เมื่อไหร่?

งบประมาณ และระยะเวลาดำเนินงาน

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ข้อมูล / ประวัติย่อ หัวหน้าโครงการ และทีมวิจัย พร้อมที่อยู่ / โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้

รูปแบบการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

การวิจัยเพื่อท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้

1) การวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เป็นงานวิจัยที่มีลักษณะสมบูรณ์ตามแนวความคิดการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทั้งในเชิงเนื้อหาและเชิงกระบวนการ ภายใต้หลักการว่า “เป็นปัญหาของชาวบ้าน ชาวบ้านเป็นทีมวิจัย และมีปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหา” โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 2 ปี งานวิจัยแบบนี้มีลักษณะเป็นการวิจัยที่เน้นกระบวนการในการทำความเข้าใจและหาทางเลือกในการแก้ปัญหาสังคมในทุกประเด็น โดยที่ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดประเด็น วิเคราะห์ และใช้ผลสรุปจากการวิจัยไปสู่ทางเลือกของการแก้ไขปัญหา

2) การวิจัยเพื่อสร้างทางเลือกของท้องถิ่น เป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นรูปแบบใหม่ที่พัฒนามาจากแบบแรกเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ และสอดคล้องกับศักยภาพของท้องถิ่นและกลุ่มคนซึ่งมีหลากหลายระดับ หรือเพื่อให้ท้องถิ่นสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม เป็นการเริ่มต้นทดลองทำงานวิจัยอย่างง่ายๆ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินไม่มากนักประมาณ 3 – 6 เดือน หรือไม่เกิน 1 ปี งานวิจัยแบบนี้มีลักษณะเป็นการวิจัยเพื่อใช้กระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยและการถอดความรู้จากการทำงานพัฒนาของชุมชน รวมถึงการเตรียมชุมชน เตรียมทีมวิจัยชาวบ้าน และนำไปสู่การวางแผนและแก้ปัญหาในเบื้องต้น

แนวทางการขยายผลงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

  ด้วยเจตนารมณ์ที่จะให้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จึงมีแนวทางการเชื่อมโยงฐานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสู่ภาค/ส่วนต่างๆ ดังนี้

สถาบันการศึกษา โดยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานวิจัย การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เป็นฐานบริการวิชาการแก่ชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเป็นสถาบันทางสังคมที่เอื้อประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง

องค์กรภาครัฐ/หน่วยงานราชการ การขยายผลดำเนินการโดยเน้นการสนับสนุนเครื่องมือ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เพื่อร่วมดำเนินงานและโครงการที่หน่วยราชการได้ปฏิบัติในชุมชนท้องถิ่นที่มีชาวบ้านเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน และมีจุดเน้นที่มุ่งให้เกิดการแก้ปัญหา การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามขีดความรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ดังนั้น “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” จึงเป็นเครื่องมือทำงานที่สำคัญในการบริหารงาน และจัดการระบบบริการสาธารณะตามมาตรา 16 ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรกิจการสาธารณะ มีบทบาทเป็นกลไกการเชื่อมโยงเครือข่ายของชุมชนในการเข้าร่วมทำงาน ร่วมสัมมนา ร่วมเรียนรู้ด้วยกัน และเครื่องมือ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ถือว่าเป็นการวางรากฐานการทำงาน การเชื่อมโยงให้พหุภาคี และองค์กรท้องถิ่นได้ร่วมทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ขององค์กรได้ดียิ่งขึ้น


ที่มาจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

คำสำคัญ (Tags): #สกว.
หมายเลขบันทึก: 513583เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2012 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2012 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท