ใช้รูปแบบของเคมพ์ในการเรียนการสอนภาษาจีนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4


ในการสอนภาษาจีนพื้นฐานนี้ นักเรียนอาจจะไม่มีความรู้เดิมอยู่เลยดังนั้นผู้สอนอาจออกแบบทดสอบเรื่องวัฒนธรรมเกี่ยวกับชนชาติจีน หรือข่าวสารเกี่ยวประเทศจีนยุคใหม่ ว่ามีข่าวคราวความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะทำให้ทราบเจตคติของผู้เรียนกับการเรียนภาษาจีน เพราะการเรียนภาษาเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในรับรู้เรื่องราวความเป็นไปของชนชาตินั้น ๆ หรือเพื่อสื่อสารความต้องการของผู้ศึกษาภาษานั้น ๆ นั่นเอง

ในการใช้ระบบการสอนทั้ง 10 ขั้นตอนนี้ ผู้สอนจะต้องเริ่มต้นจากจุดศูนย์กลางก่อนโดยพิจารณาในเรื่องของความต้องการในการเรียน จุดมุ่งหมายในการเรียนสอนและข้อจำกัดต่างๆ หลังจากนั้นจะเริ่มใช้ขั้นตอนใดก่อนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับกันและสามารถพัฒนาการสอนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ด้วยการใช้การประเมิน 2 ลักษณะ คือ การประเมินขณะสอน (Formative Evaluation) และการประเมินรวบยอด(Summative Evaluation) ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบการสอนให้มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันจะมีการให้บริการสนับสนุน การวางแผนและการจัดการโครงการเพื่อพัฒนาระบบการสอนนั้นด้วย.

แบ่งขั้นตอนในการพิจารณาการจัดระบบการสอนเป็นสาระสำคัญ 10 ประการ คือ

  1. ความต้องการในการเรียน จุดมุ่งหมายในการสอน สิ่งสำคัญ ข้อจำกัด (Learning Needs , Goals , Priorities Constraints) การประเมินความต้องการในการเรียนนับว่ามีส่วนสำคัญในการกำหนดจุดมุ่งหมายและโปรแกรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการนั้นและนับเป็นสิ่งสำคัญขั้นแรกในการเริ่มต้นของกระบวนการออกแบบการสอน จึงจัดอยู่ในศูนย์กลางของระบบและนับว่าเป็นพื้นฐานของข้อปลีกย่อยต่าง ๆ 9 ประการ ในกระบวนการออกแบบการสอนนี้

  ดังนั้นการเรียนการสอนจึงต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรจากส่วนกลาง เช่น พระราชบัญญัติการศึกษา พุทธศักราช 2542,หลักสูตรสถานศึกษา, หรือหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

  การจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาพุทธศักราช 2542 หลักสูตรขั้นพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนมีทักษะทางภาษา และทักษะในการเรียน โดยคาดหวังว่า ผู้เรียนภาษาต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา จะมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาต่างประเทศ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศ เพื่อการสื่อสารได้อย่างมั่นใจตามเจตนารมณ์ ตลอดจนมีความเข้าใจในเรื่องราวและวัฒนธรรมที่หลากหลายของประชาคมโลก รวมทั้งสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทยสู่สังคมโลกได้อย่างสร้างสรรค์

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดสาระ และมาตรฐานการเรียน เป็นเกณฑ์ในการกำหนดคุณภาพของผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งกำหนดไว้เฉพาะขั้นจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ให้มีคุณภาพสำหรับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามความสามารถ ความถนัดและความสนใจของผู้เรียน สถานศึกษาสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้สาระและมาตรฐานการเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน

องค์ความรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ประกอบด้วย

สาระที่ 1 ภาษาเพื่อการพัฒนา

สาระที่ 2 ภาษาและวัฒนธรรม

สาระที่ 3 ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้

สาระที่ 4 ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก

มาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ดังนี้   

สาระที่ 1: ภาษาเพื่อการสื่อสาร

มาตรฐาน ต 1.1 เข้าใจกระบวนการฟังและการอ่านสามารถตี ความเรื่องที่ ฟัง และ อ่านจากสื่อประเภทต่างๆ และนำความรู้มาใช้อย่างมีวิจารณญาณ

มาตรฐาน ต 1.2 มี ทักษะในการสื่อสารทางภาษา และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นแสดงความรู้สึก โดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสม เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

มาตรฐาน ต 1.3 เข้าใจกระบวนการพูดการเขียน และการสื่อสารข้อมูลความคิดเห็น รวบยอดในเรื่องต่างๆได้อย่างสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและมีสุนทรียภาพ

สาระที่ 2: ภาษาและวัฒนธรรม

มาตรฐาน ต 2.1 เข้าใจความสัมพันธ์ ภาษาและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาและนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ

มาตรฐาน ต 2.2 เข้าใจความเหมือนและความแตกต่าง ระหว่างภาษาและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา กับภาษาและวัฒนธรรมไทย และนำมาใช้อย่างมีวิจารณญาณ

สาระที่ 3: ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น

มาตรฐาน ต 3.1 ใช้ภาษาต่างประเทศให้เชื่อมโยงความรู้ กับกลุ่มสาระอื่น และเป็น พื้นฐานในการพัฒนาและเปิดโลกทัศน์ของตน 

สาระที่ 4: ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก

มาตรฐาน ต 4.1 สามาใช้ภาษาต่างประเทศ ในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในสถานศึกษาชุมชนและสังคม

มาตรฐาน ต 4.2 สามารถใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ การทำงาน การประกอบอาชีพ การสร้างความร่วมมือ และการอยู่ร่วมกันในสังคม

2. หัวข้อเรื่อง งานและจุดประสงค์ทั่วไป (Topics -Job Tasks Purposes) ในการสอนหรือโปรแกรมของการสอนนั้นย่อมประกอบด้วยหัวข้อเรื่องของวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานความรู้และ/หรือหัวข้องานที่เป็นพื้นฐานทางทักษะด้านกายภาพซึ่งหัวข้อเหล่านี้ย่อมต้องมีการเขียนเป็นจุดประสงค์ทั่วไปไว้เพื่อให้ทราบอย่างแน่นอนว่าผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานและทักษะสามารถทำงานอะไรได้บ้างเมื่อเรียนจบบทเรียนนั้นแล้ว จุดประสงค์ทั่วไปและหัวข้อต่าง ๆ นี้ จะเป็นเสมือนกรอบในการออกแบบโปรแกรมการเรียนการสอน ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาความรู้และวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของการเรียน ตัวอย่างเช่น

ขอบเขตเนื้อหา  แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาจีน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประกอบด้วย 5 หน่วย ๆ ละ 3 แผน รวม 15 แผนการจัดการเรียนรู้ดังนี้

หน่วยที่ 1 เรื่อง ชีวิตในครอบครัว   家庭

หน่วยที่ 2 เรื่อง สิ่งของที่ฉันชอบ      我喜欢的东西

หน่วยที่ 3 เรื่อง บุคคลที่ฉันชอบ   我喜欢的人

หน่วยที่ 4 เรื่อง เพื่อนของฉัน   我的朋友

หน่วยที่ 5 เรื่อง อาหาร   菜

โดยยึดตาม องค์ความรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ อันประกอบด้วย

สาระที่ 1 ภาษาเพื่อการพัฒนา

สาระที่ 2 ภาษาและวัฒนธรรม

สาระที่ 3 ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้

สาระที่ 4 ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก

3. ลักษณะผู้เรียน (Learner Characteristics) เป็นการสำรวจเพื่อพิจารณาดูถึงภูมิหลังด้านสังคม การศึกษาและสภาพเศรษฐกิจของผู้เรียนแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดสภาพการเรียนรู้และวิธีการเรียนให้เหมาะสมตามความสามารถและความสนใจของผู้เรียน

ผู้เรียนไม่มีทักษะทางด้านภาษาจีนมาเลย จึงต้องเริ่มตามวางแผนการเรียนการสอนเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ สาระที่ 1: ภาษาเพื่อการสื่อสารดังนี้

มาตรฐาน ต 1.1 เข้าใจกระบวนการฟังและการอ่านสามารถตี ความเรื่องที่ ฟัง และ อ่านจากสื่อประเภทต่างๆ และนำความรู้มาใช้อย่างมีวิจารณญาณเช่น การเริ่มต้นด้วยการสอนออกเสียงทั้งพยัญชนะและสระตามลำดับ

汉语拼音 hànyŭ pīnyīn ฮั่นอวี่ พินอิน

สัทอักษรภาษาจีน (พินอิน )

เนื่องจากตัวอักษรจีนเป็นตัวอักษรที่มาจากภาพวาดและวิวัฒนาการเรื่อยมาจนเป็นตัวอักษรจีนในปัจจุบัน โดยแต่ละขีด แต่ละเส้นของตัวอักษรจีนไม่สามารถนำมาผสมกันแล้วออกเสียงเป็นภาษาจีนได้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ระบบการออกเสียงสัทอักษรภาษาจีน (พินอิน拼音) ซึ่งได้ดัดแปลงมาจาก International Phonetic Alphabets เพื่อช่วยในการอ่านออกเสียงตัวอักษรจีนนั้น ๆ หากเทียบกับภาษาไทยแล้ว ระบบสัทอักษรจีนหรือพินอินนั้นมิได้ยากอย่างที่คิดเลย ภาษาไทยเรามีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ สัทอักษรจีนก็มีเช่นกัน

 A.声母 shēngmŭ เซิงหมู่ พยัญชนะ

1. พยัญชนะต้นของภาษาจีนมี 21 เสียง

  b (ปัว / ปอ)  p (พัว / พอ)  m (มัว / มอ)  f (ฟัว / ฟอ)

  d (เตอ)  t (เธอ)  n (เนอ)  l (เลอ) 

  g (เกอ)  k (เคอ)   h (เฮอ)  j (จี) 

  q (ชี)  x (ซี)  z (จือ)  c (ชือ)

  s (ซือ)  zh (จรือ)  ch (ชรือ)  sh (ซรือ)  r (ยรือ)

หมายเหตุ  zh  ch  sh  r ให้ออกเสียงโดยยกปลายลิ้นขึ้นแตะบริเวณเพดานปาก ในการสะกดเสียงอ่านแบบไทยนั้น ผู้เขียนได้เลือกอักษร “ ร ” เป็นตัวแทนการออกเสียงยกลิ้นขึ้น มิได้หมายถึงให้สะกดเป็น จะ-รือ  ชะ-รือ  ซะ – รือ  ยะ-รือ แต่ให้ออกเสียงควบกัน

2. พยัญชนะต้นกึ่งสระมี 2 เสียง คือ

 y (i อี)  และ  w (u อู)

B.韵母 yùnmǔอวิ้นหมู่ สระ แบ่งออกเป็นสระเดี่ยว และสระผสม ดังนี้

1. 单韵母 dān yùnmǔตาน อวิ้นหมู่ สระเดี่ยว มี 6 เสียง ดังนี้

a (อา)  o (โอ)  e (เออ)  i (อี)  u (อู)  ü ( อวี)

** สระ ü จะออกเสียงสระ u (อู) ควบกับ สระ i (อี) ( u + i ) โดยจุดสองจุดที่อยู่ด้านบน u เท่ากับสระ i นั่นเอง

หมายเหตุ บางตำรากล่าวถึงสระเดี่ยวไว้ว่ามี 8 เสียง ดังนี้

a (อา)  o (โอ)  e (เออ)  i (อี)  u (อู)  ü ( อวี)  ê (เอ)  er (เออร)

2. 双韵母 shāung yùnmǔซวง อวิ้นหมู่ สระผสม สังเกตได้ว่าการออกเสียงสระผสม จะเกิดจากเทคนิคการลากเสียงของสระแต่ละเสียงมาชนกัน

มาตรฐาน ต 1.2 มีทักษะในการสื่อสารทางภาษา และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นแสดงความรู้สึก โดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่เหมาะสม เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต

มาตรฐาน ต 1.3 เข้าใจกระบวนการพูดการเขียน และการสื่อสารข้อมูลความคิดเห็น รวบยอดในเรื่องต่างๆได้อย่างสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและมีสุนทรียภาพ

ตัวอย่างเช่น ผู้สอนตั้งกระทู้ในสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มเฉพาะกิจกรรมการเรียนการสอน แล้วให้นักเรียนมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมในห้องเรียนด้วยภาษาจีน ใครที่แสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกได้ตรงตามวัตถุประสงค์

老师教书怎么样? Laoshi jiaoshu zenmeyang? เหล่าซือ เจียวซู เจิ่นเมอะยั่ง?

ซึ่งแปลว่า คุณครูสอนหนังสือเป็นอย่างไรบ้าง?

โดยห้ามตอบว่า เหล่าซือสอนหนังสือได้ดีเพียงอย่างเดียว

นักเรียนควรจะต้องให้ความเห็นว่า สอนดีอย่างไร เช่น

我觉得老师教书第一的课文这么好。

Wo juede Laoshi jiaoshu Di Yi de kewen zheme hao.

หว่อ เจว๋เต๋อ เหล่าซือ เจียวซู ตี้ อี เตอะ เค้อเหวิน เจ้อเมอะห่าว.

แปลว่า ผมคิดว่าครูสอนบทเรียนแรกได้ดีครับ

4. เนื้อหาวิชาและการวิเคราะห์งาน (Subject Content ,Task Analysis) ในการวางแผนการสอน เนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับหัวเรื่องนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากอย่างหนึ่ง โดยที่ต้องการเรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับขั้นตอนให้เหมาะสมและง่ายต่อความเข้าใจของผู้เรียน เนื้อหาวิชาและการวิเคราะห์งานนี้สามารถใช้เพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำหนดวัตถุประสงค์ หรือเพื่อจัดหาสื่อ วัสดุ อุปกรณ์และเพื่อการออกแบบเครื่องมือทดสอบเพื่อประเมินผลการเรียนก็ได้

ตัวอย่างเช่น สาระที่ 2: ภาษาและวัฒนธรรม

มาตรฐาน ต 2.1 เข้าใจความสัมพันธ์ ภาษาและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาและนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ

มาตรฐาน ต 2.2 เข้าใจความเหมือนและความแตกต่าง ระหว่างภาษาและวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา กับภาษาและวัฒนธรรมไทย และนำมาใช้อย่างมีวิจารณญาณ

ก่อนอื่นเมื่อจะเข้าสู่บทเรียนหน่วยที่ 1 เรื่อง ชีวิตในครอบครัว 家庭

ผู้สอนก็จะต้องเกริ่นนำเรื่องความสัมพันธ์ของเครือญาติแบบไทยก่อนที่จะนำไปสู่คำศัพท์ภาษาจีนที่เกี่ยวข้อง โดยไล่เรียงจากฝั่งพ่อหรือแม่ ก่อนก็ได้ เช่น ผู้สอนจะเริ่มสอนคำศัพท์ว่า 爸爸baba ป้าปะ แปลว่า พ่อ ก็ต้องสอนเครือญาติฝั่งพ่อให้ครบก่อน จึงค่อยนำเข้าสู่คำศัพท์ข้างต้น

ตามความนิยมแบบจีนจะต้องเริ่มต้นจากฝั่งพ่อก่อน แต่เมื่อมาไล่เรียงจากฝั่งของแม่ก่อนจะดีกว่าเพราะคำศัพท์จะมีน้อยกว่าและเรียกคล้ายกัน เช่น คำว่า 姨妈yima หยีมา แปลว่า พี่สาวของแม่ หรือน้องสาวของแม่ ก็ได้ เนื่องจากคนจีนถือว่าผู้หญิงแต่งออกไปอยู่บ้านสามีแล้วไม่ค่อยมีความจำเป็นจะต้องรู้จักกับญาติฝ่ายแม่มากเท่ากับฝั่งพ่อ ที่จะต้องลำดับเครือญาติให้ถูกต้องเพื่อแสดงถึงความเคารพ

แต่ผู้สอนก็ต้องรู้บริบทของประเทศจีนยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ยุคของประธานเหมาเจ๋อตุง ที่คนจีนเรียกว่า ยุคล้มล้างวัฒนธรรมเก่าของชาติ และเข้าสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ประเพณีหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาติจีนไม่เหลือเค้าเดิมอยู่แล้ว เพื่อที่จะได้บอกให้ผู้เรียนได้เข้าใจว่าเราเรียนภาษาเพื่อเข้าใจรากเหง้าที่เป็นมาของชาตินั้น ๆ แต่เมื่อบริบทเปลี่ยนไป เช่น ความนิยมในการลำดับญาติมีน้อยลง และสามารถใช้คำทั่วไป อย่างการเรียกพี่ชายหรือน้องชายของพ่อหรือแม่ ไม่จำเป็นต้องใช้อย่างโบราณก็ได้ อาจใช้คำว่า 叔叔shushu ซูซุ ซึ่งแต่เดิมแปลว่า น้องชายของพ่ออย่างเดียว แต่คนจีนปักกิ่งก็นิยมใช้ได้ทั้งฝ่ายพ่อหรือแม่ก็ได้ มีอีกคำที่นิยมใช้เรียก พี่สาวหรือน้องสาวของพ่อหรือแม่ ว่า 阿姨a yi อ่านว่า “อาหยี” ซึ่งมาจากคำว่า姨妈yima หยีมา ซึ่งแต่เดิมนั้นแปลว่า พี่สาวหรือน้องสาวของแม่เท่านั้น

  ในการที่จะให้บทเรียนหน่วยที่ 1 เรื่อง ชีวิตในครอบครัว 家庭เป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก็ด้วยการใช้แผนผังลำดับเครือญาติทั้งแบบจีนและแบบไทย เข้าช่วยในการเรียนการสอนซึ่งอาจจะเริ่มจากแบบไทยก่อน แล้วค่อยนำแบบจีนเข้าแทรกตอนหลัง เพื่อให้ผู้เรียนได้รื้อฟื้นความรู้เดิมที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับความรู้ใหม่ที่กำลังจะเรียน

5. วัตถุประสงค์การเรียน (Learning Objectives) เป็นการตั้งวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมของการเรียนว่า ผู้เรียนควรรู้หรือสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อเรียนบทเรียนนั้นจบแล้ว และนับเป็นส่วนช่วยในการวางแผนการสอนและจัดลำดับเนื้อหาวิชา ตลอดจนเป็นแนวทางในการประเมินผู้เรียนและประสิทธิภาพของการเรียนการสอนด้วย

เช่นเมื่อนำสาระที่ 3: ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น

มาตรฐาน ต 3.1 ใช้ภาษาต่างประเทศให้เชื่อมโยงความรู้ กับกลุ่มสาระอื่น และเป็น พื้นฐานในการพัฒนาและเปิดโลกทัศน์ของตน มาใช้สอนในบทเรียนหน่วยที่ 5 เรื่อง อาหาร นักเรียนก็สามารถผูกโยงเข้ากับวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ เช่นวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในเรื่องการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือใช้ภาษาในการสื่อสารความต้องการเลือกซื้อรับประทานอาหารที่ชอบได้

6. กิจกรรมการเรียนการสอน (Teaching / Learning Activities) การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมย่อมขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ต่าง ๆ หลายประการ นับตั้งแต่จุดมุ่งหมาย ลักษณะของผู้เรียน เนื้อหาวิชา และการ วัดผล โดยผู้สอนต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้เรียนด้วย เพื่อที่จะสามารถจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของวิชาและความสนใจของกลุ่ม นอกจากนั้นการเลือกวัสดุอุปกรณ์สื่อการสอนก็ต้องให้สัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย

  เช่นการสอนในบทเรียนหน่วยที่ 3 เรื่อง บุคคลที่ฉันชอบ  我喜欢的人อาจจะเสริมด้วยการแสดงบทบาทสมมติหรืออภิปรายด้วยภาษาไทยเสริมเข้าไปว่าทำไมจึงรู้สึกชอบบุคคลดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น หากนักเรียนคนหนึ่งชอบนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งที่เขารู้จัก ก็อาจจะให้นักเรียนคนนั้นไปสัมภาษณ์นักการเมืองคนนั้นด้วยภาษาไทย แล้วนำมาเสนอผลงานในห้องเรียนด้วยภาษาจีนด้วยความยาวไม่เกิน 2 นาที หรือนักเรียนอีกคนหนึ่งสนใจสัมภาษณ์ครูจีนที่มาสอนแลกเปลี่ยนในโรงเรียน เป็นต้น หรืออาจจะจัดแข่งขันการนำเสนอผลงานในรูปแบบดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนตามวัตถุประสงค์ของสาระที่ 4: ภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก

มาตรฐาน ต 4.1 สามาใช้ภาษาต่างประเทศ ในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งในสถานศึกษาชุมชนและสังคม

มาตรฐาน ต 4.2 สามารถใช้ภาษาต่างประเทศ เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ การทำงาน การประกอบอาชีพ การสร้างความร่วมมือ และการอยู่ร่วมกันในสังคม

หรือสร้างเหตุการณ์สมมตว่า อาชีพพนักงานต้อนรับบนสายการบินจะต้องเจอเหตุการณ์อย่างไรบ้าง เช่น ลูกเรือถามว่าห้องน้ำอยู่ไหนจะต้องตอบว่าอย่างไร โดยที่เรียนคำศัพท์ในหน่วยการเรียนที่ 1 เรื่อง ชีวิตในครอบครัว 家庭ซึ่งผู้สอนอาจจะมีการเพิ่มเติมคำศัพท์ในเรื่องห้องต่าง ๆ ภายในบ้านมาบ้าง

7. ทรัพยากรในการสอน (Instructional Resources) หมายถึงสื่อการสอนที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ กิจกรรมการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้สอนต้องเลือกสื่อมาใช้ให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงกลุ่ม ผู้เรียนและสถานการณ์การเรียนการสอนเป็นสำคัญ

เช่นต้องการจะสอนบทเรียนหน่วยที่ 2 เรื่อง สิ่งของที่ฉันชอบ  我喜欢的东西อาจจะใช้สื่อการสอนเป็นสิ่งของที่มีอยู่ในห้องเรียนเพื่อที่จะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และนักเรียนเกิดความเข้าใจได้ง่ายเช่น กระเป๋านักเรียน รองเท้า นาฬิกาแขวนหรือข้อมือ โทรทัศน์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

อาจจะใช้วิธีจับคู่ในการไล่เรียงคำศัพท์ที่นักเรียนมีและไม่มีติดตัว หรือในห้องเรียนมีและไม่มี ก็ได้ตามความเหมาะสม และที่สำคัญอาจจะต้องมีการทดสอบคำศัพท์ที่เรียนไปว่าจดจำได้มากน้อยเพียงใด เช่น ให้นักเรียนออกมายืนเดี่ยวหน้าชั้นเรียน แล้วให้บอกว่าสิ่งที่นักเรียนมีติดตัวคืออะไรบ้าง เป็นต้น

8. บริการสนับสนุน (Support Services) คือการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน เช่น งบประมาณ สถานที่อาคารเรียน สื่อวัสดุ อุปกรณ์ บุคลากร และตารางเวลาที่เหมาะสมในการทำงาน

  ผู้สอนอาจต้องสามารถตอบปัญหาในวันหยุดราชการได้ โดยใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับคำตอบในเวลาที่เขาต้องการ หรือการให้โอกาสผู้เรียนเข้ามาตั้งกระทู้ถามได้ตลอดเวลาซึ่งก็เป็นไปได้เพราะบางครั้งผู้เรียนอาจไม่เข้าใจงานที่ผู้สอนให้ไปสัมภาษณ์บุคคลที่ฉันชอบในบทเรียนหน่วยที่ 3 เรื่อง บุคคลที่ฉันชอบ  我喜欢的人 ซึ่งอาจจะเป็นคำถามของผู้เรียนที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับบทเรียนก็ได้ เช่น ข้อติดขัดเรื่องการใช้ภาษาไทยให้สละสลวยในบทสัมภาษณ์ เป็นต้น

9. การประเมินการเรียน (Learning Evaluation) เป็นการประเมินว่าผู้เรียนนั้นได้รับความรู้สามารถบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้หรือไม่และมากน้อยเพียงใด โดยการสร้างเครื่องมือทดสอบและวัดผล ทั้งนี้เพื่อเป็นการทราบข้อบกพร่องต่าง ๆ ของระบบการสอนและเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขระบบการสอนนั้นต่อไป

  การเรียนภาษา เป็นการยากมากสำหรับคนที่ไม่ใส่ใจอยู่ตลอด ตั้งแต่เรื่องการท่องจำคำศัพท์ของผู้เรียน ดังนั้นกิจกรรมที่ประเมินได้ตอนท้ายคาบของการสอนทุกคาบจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่า ผู้เรียนเกิดการเรียนไปบ้างแล้วหรือไม่ ผู้สอนจึงต้องหมั่นสังเกตว่าผู้เรียนมีพัฒนาการได้ดีเพียงใด เช่นการเรียนการสอนในบทเรียนหน่วยที่ 4 เรื่อง เพื่อนของฉัน我的朋友ซึ่งมีคำศัพท์อยู่ไม่มาก ก็อาจจะทดสอบด้วยการใช้บทสนทนาปากเปล่าหน้าชั้นเรียน ซึ่งการจดจำคำศัพท์ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญประการหนึ่ง แต่สิ่งที่จะถ่ายทอดภาษาออกมาให้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษาก็คือ ความมีอารมณ์ร่วม เช่น ผู้เรียนสามารถถ่ายทอดอารมณ์จากบทสนทนาได้ดีเยี่ยม หรือแค่ท่องจำเหมือนนกแก้วนกขุนทองเท่านั้น

10. การทดสอบก่อนการเรียน (Pretesting) เป็นการทดสอบก่อนว่าผู้เรียนมีประสบการณ์เดิมและพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาใหม่นี้อย่างไร และควรจะได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกบ้างจากความรู้เก่าที่เคยเรียนมา

ในการสอนภาษาจีนพื้นฐานนี้ นักเรียนอาจจะไม่มีความรู้เดิมอยู่เลยดังนั้นผู้สอนอาจออกแบบทดสอบเรื่องวัฒนธรรมเกี่ยวกับชนชาติจีน หรือข่าวสารเกี่ยวประเทศจีนยุคใหม่ ว่ามีข่าวคราวความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะทำให้ทราบเจตคติของผู้เรียนกับการเรียนภาษาจีน เพราะการเรียนภาษาเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในรับรู้เรื่องราวความเป็นไปของชนชาตินั้น ๆ หรือเพื่อสื่อสารความต้องการของผู้ศึกษาภาษานั้น ๆ นั่นเอง

คำสำคัญ (Tags): #kemp
หมายเลขบันทึก: 512614เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท