มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

วิธีการเข้าถึงธรรมที่ออกจากกามคุณ


  โครงการธรรมศึกษาวิจัย 

วิธีการเข้าถึงธรรมที่ออกจากกามคุณ

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษาวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐  พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

คำนำ

การศึกษา วิธีการเข้าถึงธรรมที่ออกจากกามคุณ ช่วยให้ผู้ศึกษาได้ทราบถึงความจริงในหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงไว้ สร้างความลึกซึ้งการจะเข้าถึงธรรมได้อย่างดีวางใจเพื่อบรรลุธรรม เพราะในมีการแสดงเปรียบเทียบความจริงกับสิ่งปรากฏให้รู้ได้ 

เพื่อให้การศึกษาวิธีการเข้าถึงธรรมที่ออกจากกามคุณเป็นอย่างเข้าใจ ผู้เขียนจึงสกัดเนื้อธรรม และภาษาให้เข้าถึงธรรมได้อย่างง่ายๆและไม่เสียเนื้อความ อันที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์นี้ สามารถสร้างเข้าใจได้อย่างง่ายขึ้น

  หนังสือนี้เชื่อว่าจะยังคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อ่าน ด้วยผลแห่งกุศลที่ประสงค์จะดำรงพระสัทธรรมให้ดำรงคงมั่นในอยู่จิตใจชาวพุทธ สร้างเสริมปัญญาเป็นบารมี จงเป็นบุญญาบารมีให้บิดามารดาครูอาจารย์ญาติพี่น้องตลอดจนสหายธรรมทุกท่านเป็นผู้ดำรงคงมั่น ในสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และให้ศาสนาแห่งพระบรมศาสดาดำรงคงอยู่ตลอดกาลนาน เป็นแสงสว่างนำพาชีวิตของสรรพสัตว์ออกจากห้วงมหรรณพภพสงสารพ้นกองทุกข์กองโศกกองกิเลสเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต ด้วยทั่วหน้ากันทุกท่านทุกคนเทอญ

  ธีรเมธี

  ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

  มหาบัณฑิตพุทธศาสนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

บทที่ 

กระบวนการของกาม

  ในประเด็นแห่งกระบวนการของกามที่จะได้ทำการศึกษาค้นคว้า  ทั้งสองหัวข้อแห่งกามนั้น  คือ  ทั้งวัตถุกาม  และกิเลสกาม  โดยจะทำการศึกษาจากกระบวนการเริ่มต้นเกิดของกาม  สาเหตุที่ทำให้กามเกิด  ความแตกต่างแห่งกาม  ผลหรือวิบากของการประกอบตนในกาม  และสุดท้าย  คือ  การบรรเทา  หรือวิธีการดับกามตามแนวแห่งพุทธปรัชญา

  กามทั้งสอง  คือ  วัตถุกาม  และกิเลสกาม  โดยความหมายแล้ว  มีความแตกต่างกัน  ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในนิพเพธิกสูตร  ตอนหนึ่งว่า

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  กามคุณ    เหล่านี้  คือ  รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ...เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู....กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก...รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น…โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย  อันน่าใคร่  น่าปรารถนา  น่าพอใจ  เป็นที่รัก  ยั่วยวน  ชวนให้กำหนัด  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็แต่ว่า  สิ่งเหล่านี้  ไม่ชื่อว่ากาม  สิ่งเหล่านี้  เรียกว่า  กามคุณ  ในวินัยของพระอริยะเจ้า[1]

  คำว่า  กามคุณ  นี้  เป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของวัตถุกาม  เพราะโดยชื่อเรียกอาจจะแตกต่างกัน  แต่โดยเนื้อความแล้วเหมือนกัน  ส่วนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  สิ่งเหล่านี้  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ไม่ชื่อว่ากามนั้น  เป็นเพราะว่าในบางครั้ง  ทรงเรียก  กิเลสกามว่า  กาม  เฉยๆ  แต่บางครั้งทรงเรียก  กาม  ในความหมายรวมทั้งวัตถุกาม  และกิเลสกาม  ที่เป็นเช่นนี้  คงเป็นเพราะพระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญต่อกิเลสกามมากกว่าวัตถุกาม  วัตถุกามเป็นสิ่งภายนอก  ไม่อาจจะกำจัดให้หมดสิ้นไปได้  เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้นมาบ้าง  มนุษย์สร้างขึ้นมาบ้าง  ส่วนกิเลสกามนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในภายในจิต  เป็นสภาวะที่สามารถกำจัด  ชำระให้หมดไปจากจิตของแต่ละบุคคลได้  ดังเนื้อความในพระสูตรตอนหนึ่งที่ว่า 

  ความกำหนัดที่เกิดด้วยสามารถแห่งความดำริของบุรุษ  ชื่อว่ากาม  อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลก  ไม่ชื่อว่า  กาม  ความกำหนัดที่เกิดขึ้นด้วยสามารถแห่งความดำริของบุรุษ  ชื่อว่า  กาม  อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลกย่อมตั้งอยู่ตามสภาพของตน  ส่วนว่า  ธีรชนทั้งหลาย  ย่อมกำจัดความพอใจในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้น[2]

  ดังนั้น  ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสถึง  คำว่า  กาม  เพียงอย่างเดียว  ก็หมายความรวมทั้งวัตถุกาม  และกิเลสกาม  แต่ถ้าตรัสถึงวัตถุกามและกาม  คำว่ากาม  จะหมายถึงกิเลสกาม  เพราะทรงให้ความสำคัญในการกำจัดกิเลสที่มีภายในจิต  กำจัดความพอใจในวัตถุกาม  อันน่าใคร่  น่าปรารถนา  ชวนให้กำหนัด  ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้  เพราะถ้ามัวแต่ไปกำจัดวัตถุกาม  อันมีอยู่ในโลกนี้ให้หมดก่อน  แล้วจึงค่อยมากำจัดกิเลสในจิตของตน  ก็คงจะตายเสียเปล่า

  การเกิดของกาม

  ในเนื้อความแห่งพระสูตรที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้  ชี้ให้เห็นว่า  กามเกิดขึ้นมาเพราะความดำริถึงอารมณ์ภายนอกที่เคยพบเห็นมาแล้ว  เคยได้ยิน  เคยได้สูดดม  เคยได้ลิ้มลอง  หรือเคยได้สัมผัสมาแล้ว  หรืออาจจะคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  เป็นการสร้างมโนภาพขึ้นภายในจิต  หากไม่คิด  จิตไม่ส่ายไปหาอารมณ์ภายนอก  หรือจิตไม่จินตนาการสร้างมโนภาพขึ้นมา  กามก็ไม่เกิด  ดังเนื้อความแห่งพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า  "ดูก่อนเจ้ากาม  เราเห็นรากเหง้าของเจ้าแล้วว่า  เจ้าเกิดขึ้นมาจากความดำริ  เราจักไม่ดำริถึงเจ้าละ  เมื่อทำอย่างนี้  เจ้าจักไม่มี"  [3]  จากข้อความนี้ชี้ให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของกิเลสกาม  อันได้แก่  ราคะ  ความกำหนัด  โลภะ  ความโลภ  อิจฉา  ความอยากได้  อิสสา  ความหึงหวง  อรติ  ความไม่ยินดี  อสันตุฏฐิ  ความไม่สันโดษ  เป็นต้น  เมื่อตากระทบรูป  หูกระทบเสียง  จมูกกระทบกลิ่น  ลิ้นกระทบรส  หรือกายกระทบสิ่งสัมผัส  กิเลสซึ่งสงบนิ่งเนื่องนอนอยู่ในจิตนั้น  ก็จะปรุงแต่งมีจินตนาการการสร้างมโนภาพขึ้น  ถ้าชอบก็ทำให้เกิดความรักใคร่  อยากได้มาครอบครอง  ถ้าไม่ชอบก็ทำให้เกลียดชังไม่อยากได้  ไม่อยากประสบอีก  แต่ถ้าหากกระทบกับอารมณ์ภายนอกแล้วไม่ปรุงแต่ง  ไม่เกิดการจินตนาการ  หรือสร้างมโนภาพขึ้น  คือ  เห็นสักว่าเห็น  ได้ยินสักว่าได้ยินได้กลิ่นสักว่าดม  ลิ้มรสสักว่าได้ลิ้ม  ได้สัมผัสทางกายสักว่าถูกต้อง  ไม่เกิดการยึดติดในอารมณ์ที่มากระทบเหล่านั้น  กิเลสกามก็ได้ชื่อว่ายังไม่เกิด  ยังสงบนิ่งอยู่ในจิต  เหมือนฝุ่นที่ตกตะกอน  นอกจากนี้แล้วพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสถึงการเกิดขึ้นของกามอีกว่า

  เมื่อเสพเสวยเวทนาอย่างหนึ่งอย่างใด  เป็นสุขก็ตามเป็นทุกข์ก็ตาม  ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตาม  เขาย่อมครุ่นคิดคำนึง  ย่อมบ่นถึง  ย่อมหมกใจอยู่กับเวทนานั้น  เมื่อเขาครุ่นคิดถึง  เฝ้าบ่นถึง  หมกใจอยู่กับเวทนานั้น  ความติดใจอยาก ( นันทิ )  ย่อมเกิดขึ้น  ความติดใจอยากในเวทนาทั้งหลายนั่นแหละ  กลายเป็นอุปาทาน  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย  เขาก็มีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัย  ก็มีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัย  ก็มีชรา  มรณะ  ความโศก  ความคร่ำครวญ  ความทุกข์  ความเสียใจ  ความคับแค้น  ผิดหวัง  ก็มีพรั่งพร้อม  ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้  จึงมีด้วยประการฉะนี้[4]

  จากพระพุทธพจน์ที่ยกมากล่าวนี้  แสดงให้เห็นถึงลักษณะการเกิดขึ้นของกามที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  คือ  เมื่อได้เสพเสวยเวทนาจะเป็นสุขก็ตาม  เป็นทุกข์ก็ตาม  หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตาม  อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว  กลับหวนนึกถึงเวทนาที่เสพมาแล้วนั้นอีก  เป็นการสร้างจินตนาการเข้าลักษณะฝันหวาน  เมื่อครุ่นคิดฝันหวานถึงแต่เวทนาที่ประสบมาแล้ว  ซึ่งปรุงแต่งมาจากการที่ได้กระทบกับวัตถุกามอย่างใดอย่างหนึ่งอีกชั้นหนึ่ง  ก็เกิดความติดอกติดใจในเวทนาเหล่านี้  จนกลายเป็นอุปาทาน  ยึดมั่นถือมั่น  เพราะอุปาทานนั่นแหละจึงทำให้มีชาติ  ชรา  มรณะ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์  ตัวอย่างเช่น  นายก.  ได้พบเห็นและได้พูดคุยกับนางสาวข.  ผู้น่ารัก  เกิดความชอบใจ  หลงรักนางสาวข.  เข้า  ทุกครั้งที่ครุ่นคิดอดที่จะคิดถึงนางสาวข. ไม่ได้เมื่อครุ่นคิดถึงนางสาวข.  เขามีความสุข  ฝันหวาน  และจินตนาการไปต่างๆนานา  หลับตาลงก็ยังสร้างมโนภาพเห็นหน้าเธอคนนั้นอีก  พอรุ่งเช้าได้ข่าวว่า  นางสาวข.  ประสบอุบัติเหตุรถชน  เสียชีวิต  นายก.  เศร้าโศก  เสียใจ  พิไรรำพัน  บ่นเพ้อถึงเธอด้วยความรักความอาลัย  ไม่อาจตัดใจจากเธอผู้จากไปได้  กาลเวลาผ่านไปนานหลายปี  นาย  ก.  ก็ไม่อาจลืมภาพที่ตนได้พูดคุย  และรอยยิ้มของนางสาวข. ได้  มีความสุขเมื่อคิดย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น  และเศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของเธอ  เป็นต้น  จากอุทาหรณ์ที่กล่าวมานี้  แสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของกามอย่างเป็นกระบวนการ  เริ่มจากการได้พบเห็นและพูดคุยจนเกิดความรู้สึกว่าชอบนางสาวข.  นั้น  ครุ่นคิดจินตนาการถึงนางสาวข.  นั้นจนกระทั่งการจากไปจากโลกนี้ของนางสาวข.  แม้กาลเวลาจะผ่านไปหลายปี  ก็ยังคิดย้อนกลับไปหาอดีตอีก  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นกระบวนการเกิดขึ้นของกามทั้งสิ้น

  เหตุเกิดแห่งกาม

  เมื่อได้ทราบแล้วว่า  กามนั้นเกิดขึ้นเพราะการครุ่นคิดถึงเรื่องราว  หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว  เป็นไปในลักษณะของการจินตนาการสร้างมโนภาพขึ้นในจิต  จนติดอกติดใจ  พ่นเพ้อถึงเรื่องราว  หรือเหตุการณ์นั้นๆ  ทีนี้  มาถึงประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไป  คือ  เหตุเกิดของกาม  ว่า  อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้กามนั้นเกิดขึ้นในจิต  สาเหตุที่ทำให้กามเกิดก็คือ  ผัสสะ  ดังเนื้อความแห่งนิพเพธิกสูตรตอนหนึ่งว่า  "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เหตุเกิดแห่งกามเป็นไฉน ?  คือ  ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกามทั้งหลาย..." [5]  จากเนื้อความนี้  แสดงให้เห็นว่า  ผัสสะเป็นสาเหตุให้เกิดกาม  แล้วผัสสะมีกระบวนการเป็นมาอย่างไร  เพราะคำว่า  ผัสสะ  แปลว่า  กระทบ  เป็นการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในและอายตนะภายนอก  จึงทำให้เกิดการรับรู้  ทั้ง    ประการรวมกันเป็นผัสสะ  ดังเนื้อความแห่งฉฉักกสูตรตอนหนึ่งว่า

  บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ  ความประจวบกันของธรรมทั้ง    เป็นผัสสะ  อาศัยโสตะและเสียงเกิดโสตวิญญาณ  ความประจวบกันของธรรมทั้ง    เป็นผัสสะ  อาศัยชิวหาและรสเกิดชิวหาวิญญาณ  ความประจวบกันของธรรมทั้ง    เป็นผัสสะ  อาศัยกายและโผฏฐัพพะเกิดกายวิญญาณ  ความประจวบกันของธรรมทั้ง    เป็นผัสสะ  อาศัยมโนและธรรมารมณ์เกิดมโนวิญญาณ  ความประจวบของธรรมทั้ง    เป็นผัสสะ"  [6]

  จากข้อความแห่งพระสูตรข้างต้นนี้  ทำให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับผัสสะว่าเพระการรวมกันเข้าของธรรมทั้ง    ประการ  คือ  อายตนะภายใน  อายตนะภายนอกและวิญญาณ  เป็นผัสสะ  ดังจะเขียนเป็นแผนผังภาพได้  ดังนี้

  จักษุ  + รูป   +  จักษุวิญญาณ  =  จักษุผัสสะ

  โสตะ  +   เสียง    +  โสตวิญญาณ =    โสตผัสสะ

  ฆานะ  + กลิ่น    +  ฆานวิญญาณ   =    ฆานผัสสะ

  ชิวหา  +   รส    +  ชิวหาวิญญาณ =    ชิวหาผัสสะ

  กาย    +  โผฏฐัพพะ  +  กายวิญญาณ    =    กายผัสสะ

  มโน    +  ธรรมารมณ์  +  มโนวิญญาณ   =    มโนผัสสะ

  คำว่า  ผัสสะ  นี้บางทีก็เรียก  สัมผัส  เช่น  จักษุสัมผัส  โสตสัมผัส  เป็นต้น  โดยความหมายแล้วก็มีเนื้อความเหมือนกัน  เมื่อทราบความหมาย  และกระบวนการที่มาของผัสสะแล้ว  ทีนี้มาถึงประเด็นที่ว่า  เพราะเหตุไร  ผัสสะจึงเป็นสาเหตุให้กามเกิดขึ้น  ที่ว่า  ผัสสะเป็นสาเหตุให้กามเกิดนั้นเป็นเพราะเมื่ออายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอกแล้วเกิดการรับรู้ที่เรียกว่า  วิญญาณขึ้น  เช่น  ตา +  รูป  เกิดการรับรู้ทางตา  ที่เรียกว่า  จักษุวิญญาณ  เป็นต้น  เพราะการประจวบกันของอายตนะภายใน  อายตนะภายนอก  และวิญญาณเข้า  จึงเป็นผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  จึงมีเวทนา  เพราะเวทนาเป็นปัจจัย  จึงมีตัณหา  ดังเนื้อความแห่งฉฉักกสูตรตอนหนึ่งว่า

  บุคคลอาศัยจักษุและรูปเกิดจักษุวิญญาณ…อาศัยโสตะและเสียงเกิดโสตวิญญาณ...อาศัยฆานะและกลิ่นเกิดฆานวิญญาณ…อาศัยชิวหาและลิ้นเกิดชิวหาวิญญาณ...อาศัยกายและโผฏฐัพพะเกิดกายวิญญาณ...อาศัยมโนและธรรมารมณ์เกิดมโนวิญญาณ  ความประจวบของธรรมทั้ง    ประการเป็นผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  จึงมีเวทนา  เพราะเวทนาเป็นปัจจัย  จึงมีตัณหา  [7]

  จากพระพุทธพจน์ข้างต้นนี้  ทำให้เข้าใจได้ว่า  สาเหตุที่ผัสสะเป็นเหตุให้กามเกิดขึ้นนั้น  เพราะเมื่อมีผัสสะ  การกระทบกันของตากับรูป  หูกับเสียง  จมูกกับกลิ่น  ลิ้นกับรส  กายกับโผฏฐัพพะ  และใจกับธรรมารมณ์  จนเกิดการรับรู้ทางอายตนะภายใน  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ขึ้น  แล้วมีการปรุงแต่งเกิดเป็นเวทนา  ถ้าประสบกับรูปที่สวย  เสียงที่ไพเราะ  กลิ่นที่หอมหวน  รสที่อร่อย  สิ่งสัมผัสที่ดี  หรือธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งดี  เกิดความรู้สึกชอบก็เป็นสุขเวทนา  ถ้าประสบกับสิ่งที่ตรงกันข้าม  ก็เกลียดชัง  ไม่ชอบ  เป็นทุกขเวทนา  แต่ถ้าประสบแล้วไม่มีความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา  เมื่อเสวยอารมณ์ที่ชอบใจก็ติดแน่น  สยบ  หมกมุ่นอยู่กับอารมณ์นั้น  อยากได้มาครอบครอง  อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง  เกิดเป็นกามตัณหา  แต่ถ้าประสบเสวยอารมณ์ที่ไม่ชอบ  ก็เกลียด  ไม่อยากเป็นอย่างนี้  ก็เป็นตัณหาอีกอย่างหนึ่ง  เรียกว่า  วิภวตัณหา

  ดังนั้น  ผัสสะจึงเป็นเหตุเกิดของกาม  เพราะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้มีเวทนา  ความรู้สึกว่าเป็นสุขบ้าง  ทุกข์บ้าง  ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง  เวทนาก็ยังเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้มีตัณหาอีกทอดหนึ่ง

  ความแตกต่างกันแห่งกาม

 

  ในประเด็นต่อมา  คือ  ความแตกต่างกันแห่งกาม  ในบรรดากามคุณทั้ง    ประการ  ได้แก่  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  นั้นมีความแตกต่างกันตามแนวแห่งการรับรู้ทางระบบประสาทสัมผัสทั้ง    คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ซึ่งต่างก็มีคุณสมบัติในการรับรู้ที่แตกต่างกัน  คือ  ตามีคุณสมบัติในการมองเห็นรูป  หูมีคุณสมบัติในการฟังเสียง  หรือได้ยิน  จมูกมีคุณสมบัติในการสูดดมกลิ่น  ลิ้นมีคุณสมบัติในการชิมรส  คือรู้รสของอาหารที่กลืนกิน  กายมีคุณสมบัติในการถูกต้องสัมผัสสิ่งต่างๆมีแข็งอ่อน  เย็น  ร้อนเป็นต้น  แต่ละอย่างจะทำหน้าที่ๆผิดคุณสมบัติของตนไม่ได้  เช่น  ตามีคุณสมบัติในการมองเห็นรูป  จะไปทำหน้าที่ฟังเสียงไม่ได้  เพราะตาฟังเสียงไม่ได้ยิน  ไม่เหมือนหู  หรือตาจะไปดมกลิ่น  ลิ้มรส  ถูกต้องสัมผัสก็ไม่ได้  เพราะผิดคุณสมบัติและผิดหน้าที่ของตนนั่นเอง  ในอายตนะอื่นๆก็เช่นเดียวกัน  ดังนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสความแตกต่างกันของกามไว้ในนิพเพธิกสูตรตอนหนึ่งว่า

  ก็ความต่างกันแห่งกามเป็นไฉนคือ  กามในรูปเป็นอย่างหนึ่ง  กามในเสียงเป็นอย่างหนึ่ง  กามในกลิ่นเป็นอย่างหนึ่ง  กามในรสเป็นอย่างหนึ่ง  กามในโผฏฐัพพะเป็นอย่างหนึ่ง  นี้เรียกว่า  ความต่างกันแห่งกาม[8]

  จากเนื้อความแห่งพระสูตรข้างต้น  ได้แสดงความแตกต่างกันของกามทั้ง    ประการ  ที่มีลักษณะไม่เหมือนกัน  คือรูปเป็นสิ่งที่ถูกมองเห็นได้ด้วยตา  เสียงเป็นสิ่งที่ฟังหรือได้ยินได้ด้วยหู  กลิ่นเป็นสิ่งที่ถูกสูดดมได้ด้วยจมูก  รสเป็นสิ่งที่ถูกลิ้มลองได้ด้วยลิ้น  และโผฏฐัพพะเป็นสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย  แล้วมีการปรุงแต่งขึ้นภายในจิตว่า  รูปที่ได้เห็น  เสียงที่ได้ยินกลิ่นที่ได้ดม  รสที่ได้ลิ้ม  โผฏฐัพพะที่ได้ถูกต้องสัมผัส  ตนชอบใจหรือไม่ชอบใจ  ถ้าชอบใจก็เป็นความสุข  ถ้าไม่ชอบใจก็เกลียดชัง  เป็นความทุกข์  ความเศร้าใจ  หรือรู้สึกเฉยๆก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา  หากเกิดความใคร่พอใจ  ติดใจอยู่กับอารมณ์นั้น  ทะเยอทะยานอยากได้  อยากมี  ก็เป็นกามตัณหาต่อไป  ที่กล่าวเช่นนี้  เป็นเพราะคุณสมบัติในการรับรู้ของอายตนะที่แตกต่างกัน  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในปัญจกังคสูตรเนื้อความตอนหนึ่งว่า

  ดูก่อนอานนท์  กามคุณ    เหล่านี้  เป็นไฉน  ?  คือ  รูปที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยตา...เสียงที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยหู...กลิ่นที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยจมูก...รสที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยลิ้น...โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยกาย  น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  น่ารัก  ชักให้ใคร่  ชวนให้กำหนัด  กามคุณ    เหล่านี้แล[9]

  อายตนะภายนอก    เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  อารมณ์    อันน่ายินดี  เป็นที่ยึดเหนี่ยวและทำให้จิตข้องอยู่  ในแต่ละอย่างก็มีองค์ธรรมสำหรับเป็นเครื่องหมายให้รับรู้ทางประสาทรับรู้ของตนในแต่ละอย่าง  ในพระอภิธัมมัตถสังคหะได้จำแนกไว้  ดังนี้

  ๑).  รูปารมณ์    องค์ธรรม    ได้แก่    วัณณะ    คือ  สีต่างๆ

  ๒).  สัททารมณ์  องค์ธรรม    ได้แก่    สัททะ    คือ  เสียงต่าง 

  ๓).  คันธารมณ์    องค์ธรรม    ได้แก่    คันธะ    คือ  กลิ่นต่าง 

  ๔).  รสารมณ์    องค์ธรรม    ได้แก่    รสะ    คือ  รสต่างๆ

  ๕).  โผฏฐัพพารมณ์  องค์ธรรม  ได้แก่    ปฐวี  เตโช  วาโย    คือ  เย็น–ร้อนอ่อน - แข็ง  หย่อน - ตึง

  ๖).  ธรรมารมณ์  องค์ธรรม  ได้แก่  จิต  ๘๙,  เจตสิก  ๕๒,  รูป  ๒๑,  นิพพาน  และ  บัญญัติ  [10]

  อายตนะภายใน    ประการ  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจนี้  บางทีก็เรียกว่าอินทรีย์  เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่างเช่น  ตาเป็นใหญ่ในการเห็น  หูเป็นใหญ่ในการฟัง  จมูกเป็นใหญ่ในการดม  เป็นต้น  เพราะความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่างของอายตนะภายในทั้ง    ประการนี้แหละ  กามจึงมีความแตกต่างกัน

  วิบากแห่งกาม

  วิบากหรือผลอันเกิดจากการกระทำที่มีกามเป็นตัวกระตุ้นอยู่เบื้องหลัง  เพราะคำว่ากามนี้  มีความหมายเป็นกลางๆคือเป็นได้ทั้งในฝ่ายกุศลหรือฝ่ายดี  ทั้งในฝ่ายอกุศลหรือฝ่ายไม่ดี  เช่น  คำว่า  ธัมมกาโม  ในคำว่าธมฺมกาโมภวํ  โหติ  [11] นั้น  แปลว่า  ความเป็นผู้ใคร่ในธรรม  ใคร่ในการปฏิบัติธรรม  จัดเป็นกุศล  ส่วนคำว่า  อธัมมกาโม  ความใคร่ในสิ่งที่มิใช่ธรรม  เช่น  ความทะเยอทะยานอยากในกามคุณ    จัดเป็นอกุศลเพราะเป็นกิเลส  เป็นความใฝ่ต่ำ  หาใช่ใฝ่เจริญไม่  วิบากแห่งกามนี้  พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในนิพเพธิกสูตร  ตอนหนึ่งว่า  "วิบากแห่งกามเป็นไฉน  ?  คือ  การที่บุคคลใคร่อยู่  ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้นจากความใคร่นั้นให้เกิดขึ้นเป็นส่วนบุญหรือส่วนมิใช่บุญ  นี้เรียกว่า  วิบากแห่งกาม"  [12]  จากเนื้อความนี้  แสดงให้เห็นชัดเจนว่า  กามนั้น  สามารถปรุงแต่งให้ปุถุชนทำกรรมทั้งในส่วนที่เป็นกุศล  หรืออกุศล  และก็จะได้รับวิบากแห่งการกระทำของตนเช่นเดียวกัน  เพราะการปรุงแต่งของกามจึงทำให้บุคคลมีการแสวงหาที่แตกต่างกัน  ระหว่างกัลยาณปุถุชนกับพาลปุถุชน  กัลยาณปุถุชนแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม  ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น  แต่พาลปุถุชนแสวงหาโภคทรัพย์  โดยไม่ชอบธรรม  อีกทั้งเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  ดังตัวอย่างที่พระเทพวิสุทธิกวี  ได้แสดงไว้ในหนังสือโทษของกาม  ที่ว่า

  สมมติว่าเราไปเห็นรูปที่น่าพอใจขึ้น  เห็นคนที่น่าพอใจขึ้น  เราก็คิดว่าเราทำไมจึงจะเกิดเป็นคนมีรูปสวย  มีทรัพย์สมบัติอย่างนั้นอย่างนี้  เราก็ทำบุญเข้าไป  เพื่อจะได้รูปสวย  เกิดเป็นนางฟ้า  หรือเกิดเป็นคนรูปสวย  หรือเกิดเป็นคนมีเสียงไพเราะ  หรือเกิดได้สมบัติอย่างนั้นอย่างนี้  ก็ตั้งใจทำบุญเข้าอย่างนี้ก็เป็นวิบากแห่งกาม  คือ  ความใคร่อยากจะได้อย่างนั้นอย่างนี้  ก็ทำบุญเข้าไป  แต่บางคนไม่อย่างนั้น  กลับทำบาป  อยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่น  เพราะทรัพย์สมบัติมันเป็นตัวกาม  คือวัตถุสิ่งของที่จะให้คนไปติดมัน  เป็นวัตถุกาม  แล้วก็ไปแย่งชิง  ขโมย  หรือไปประพฤติผิดในกาม  ก็เป็นการประพฤติผิดเป็นอกุศล  เพราะฉะนั้น  วิบากแห่งกามนั้นมีทั้งฝ่ายบุญ  ทั้งฝ่ายบาป  [13]

  เพราะฉะนั้น  ความต้องการในโภคทรัพย์ซึ่งนำไปสู่การแสวงหานั้น  บางคนแสวงหาในทางที่สร้างสรรค์  ในทางที่ถูกต้อง  ดีงามตามศีลธรรม  แต่บางคนแสวงหาในทางที่ไม่สร้างสรรค์  ผิดหลักศีลธรรมอันดีงาม  ในการแสวงหาโภคทรัพย์ของกามโภคีบุคคลนั้น  พระพุทธเจ้าได้จัดประเภทแห่งกามโภคีบุคคล  ตามวิธีการแสวงหาโภคทรัพย์เป็น    จำพวกใหญ่  ไว้ในราสิยสูตร  [14]  ดังนี้

ก.  กามโภคีบุคคล  ประเภทแสวงหาโภคทรัพย์  โดยไม่ชอบธรรมและพลุนพลัน

  ๑).  กามโภคีบุคคลบางคนไม่เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  ไม่จำแนกทาน  ไม่ทำบุญ

  ๒).  กามโภคีบุคคลบางคน  เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  แต่ไม่จำแนกทาน  ไม่ทำบุญ

  ๓).  กามโภคีบุคคลบางคน  เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  จำแนกทาน  ทำบุญ

ข.  กามโภคีบุคคลประเภทแสวงหาโภคทรัพย์  โดยชอบธรรมและไม่ชอบธรรม  ผลุนผลันบ้างไม่ผลุนผลันบ้าง

  ๑).  กามโภคีบุคคลบางคนไม่เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  ไม่จำแนกทาน  ไม่ทำบุญ

  ๒).  กามโภคีบุคคลบางคน  เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  แต่ไม่จำแนกทาน  ไม่ทำบุญ

  ๓).  กามโภคีบุคคลบางคน  เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  จำแนกทาน  ทำบุญ

ค.  กามโภคีบุคคลประเภทแสวงหาโภคทรัพย์  โดยชอบธรรม  ไม่ผลุนผลัน

  ๑).  กามโภคีบุคคลบางคนไม่เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  ไม่จำแนกทาน  ไม่ทำบุญ

  ๒).  กามโภคีบุคคลบางคน  เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  แต่ไม่จำแนกทาน  ไม่ทำบุญ

  ๓).  กามโภคีบุคคลบางคน  เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  จำแนกทาน  ทำบุญ  แต่ยังเป็นคนละโมภ  หลงพัวพัน  ไม่เห็นโทษ  ไม่คิดจะสลัดตนออกจากาม  บริโภคทรัพย์นั้นอยู่

  ๔).  กามโภคีบุคคลบางคน  เลี้ยงตนเองให้สุขสบาย  จำแนกทาน  ทำบุญ  และไม่เป็นคนละโมภ  ไม่หลงพัวพัน  เห็นโทษ  มีปัญญาเครื่องสลัดออก  บริโภคทรัพย์นั้นอยู่

  ในบุคคลผู้บริโภคกามหรือ  กามโภคีบุคคลทั้ง    ประเภทนั้น  แสดงได้ชัดเจนทั้งวิธีการแสวงหาโภคทรัพย์ที่แตกต่างกัน  เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์มาได้แล้ว  วิธีการใช้สอยโภคทรัพย์ก็มีความแตกต่างกัน  เช่น  ผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรม  ไม่ว่าจะปล้น&nbsp

หมายเลขบันทึก: 512450เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

วิธีดับกามตามแนวแห่งอินทริยสังวร

  วิธีการที่จะดับหรือบรรเทาความกำหนัด  รักใคร่ในกามนั้น  มีอยู่หลายวิธีการด้วยกัน  อินทริยสังวรก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะสามารถดับกามได้  อินทริยสังวร  หมายถึงการสำรวมระวังอายตนะภายใน  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  มิให้เกิดความร้สึกว่าชอบ  ไม่ชอบ  หรือทั้งชอบและไม่ชอบในเมื่อกระทบกับอายตนะภานอก  อันได้แก่  เมื่อเวลาเห็นรูป  ฟังเสียง  ดมกลิ่น  ลิ้มรส  ถูกต้องโผฏฐัพพะ  รู้เแจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ  อย่างมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งความหมายของอินทริยสังวรนี้ไม่ได้หมายความว่า  ห้ามไม่ให้เห็นรูป  ห้ามไม่ให้ฟังเสียง  ห้ามไม่ให้ดมกลิ่น  ห้ามไม่ให้ลิ้มรส  ห้ามไม่ให้ถูกต้องโผฏฐัพพะ  หรือห้ามไม่ให้รู้ธรรมารมณ์แต่ประการใด  เพราะการห้ามเช่นนั้นเป็นวิธีการที่บุคคลผู้มีตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ไม่พิการหรือพิกลจริตกระทำไม่ได้แน่  ก็คงมีแต่เพียงคนตาบอด  หูหนวก  ลิ้นด้วน  หรือหมดสมรรถภาพทางร่างกายเท่านั้นแหละที่จะทำตามการห้ามอายตนะภายในไม่ให้กระทบอายตนะภายนอกเช่นนี้ได้  ฉะนั้น  ความหมายของการสำรวมอินทรีย์  ในที่นี้  จึงไม่ห้ามที่จะให้เห็น  ได้ยิน  สูดดม  ลิ้มลอง  ถูกต้อง  และการรับรู้  แต่เมื่อได้เห็น  ได้ยิน  ได้สูดดม  ได้ลิ้มลอง  ได้ถูกต้อง  และได้รู้อารมณ์แล้ว  ต้องรู้เท่าทันอารมณ์เหล่านั้น  ตามสภาพที่เป็นจริง  ถึงความเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นโดยเหตุปัจจัย  ไม่เที่ยง  ไม่ถาวรเลย  จึงวางเฉยต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างมีสติสัมปชัญญะเสีย  ก็จะได้ชื่อว่าสำรวมอินทรีย์แล้ว  ดังเนื้อความในอินทริยภาวนาสูตร  ตอนหนึ่งว่า

  ดูก่อนอานนท์  ก็การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะเป็นอย่างไร ?  ดูก่อนอานนท์  ภิกษุในธรรมวินัยนี้เกิดความชอบใจ  ไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น  เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ  เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า  เราเกิดความชอบใจ  ความไม่ชอบใจทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้  ก็  สิ่งนั้นแลเป็นสังขตะ  หยาบ  อาศัยกันเกิดขึ้น  ยังมีสิ่งที่ละเอียด  ประณีต  นั่นคือ  อุเบกขา  เธอจึงดับความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นนั้นเสีย  อุเบกขาจึงดำรงมั่น  ดูก่อนอานนท์  ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วนั้นได้เร็วพลันทันที  โดยไม่ลำบากเหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกระพริบตา  ฉะนั้น  อุเบกขาย่อมดำรงมั่น  ดูก่อนอานนท์  นี้เราเรียกว่า  การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุอย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ[1]

  จากเนื้อความแห่งพระสูตรข้างต้นนี้  ได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการของการสำรวมอินทรีย์ตามหลักของพุทธปรัชญาเมื่อเห็นรูป  ฟังเสียง  ดมกลิ่น  ลิ้มรส  ถูกต้องโผฏฐัพพะ  และรู้ธรรมารมณ์  ย่อมเกิดความรู้สึกชอบในสิ่งที่ถูกใจ  ไม่ชอบในสิ่งที่ไม่ถูกใจ  ทั้งชอบและไม่ชอบในบางสิ่ง  ถ้าชอบใจสิ่งใดก็อยากเห็น  อยากฟัง  อยากดม  อยากลิ้มลอง  อยากสัมผัส  อยากรับรู้หรืออยากคิดถึงอีก  เพราะได้เสวยเวทนา  จนยึดติดกับสิ่งนั้น  กลายเป็นอุปาทานไป  ถ้าไม่ชอบใจสิ่งใด  ก็มีความรู้สึกที่ตรงกันข้าม  คือ  ไม่อยากพบเห็น  อยากหนีไปให้ไกล  เกลียดชังเป็นต้น  เมื่อเกิดความรู้สึกดังที่กล่าวมาแล้วนี้  ก็จงรู้ให้เท่าทันถึงความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจต่อสิ่งที่ประสบมาแล้วนั้น  ว่าเป็นสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา  ตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขตธรรม  คือ  ความเกิดขึ้นปรากฏ  ความดับ  ปรากฏ  เมื่อตั้งอยู่  ความแปรปรวนปรากฏ[2]  เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น  ดำรงอยู่อย่างเปลี่ยนแปลง  และดับไปเป็นธรรมดา  จึงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง  เมื่อไม่เที่ยง  ก็เป็นทุกข์  ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้  เมื่อเป็นทุกข์  ก็เป็นอนัตตา  หาตัวตนที่แท้ถาวรไม่ได้ 

  เมื่อมีความคิดเช่นนี้แล้ว  ก็พิจารณาเห็นว่า  ความวางเฉยเสียซึ่งรูปที่ได้เห็น  เสียงที่ได้ฟัง  กลิ่นที่ได้ดม  รสที่ได้ลิ้ม  โผฏฐัพพะที่ได้ถูกต้อง  ธรรมารมณ์ที่ได้รู้แจ้ง  อันทำให้เกิดความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ  คำว่า  วางเฉย  ในที่นี้  มิได้หมายความว่า  ไร้ความรู้สึกทางอายตนะ  แต่คำว่า  วางเฉย  มาจากคำว่า  อุเบกขา  คือความวางเฉยอย่างมีสติสัมปชัญญะกำกับอยู่  รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอยู่  เพราะคำว่า  อุเบกขา  นี้  มาจากคำว่า  อุป  + อิกฺข  อุป  แปลว่า  ใกล้  อิกฺข  แปลว่า  ดู  แปลรวมกันว่าคอยดูอยู่ใกล้  หมายความว่า  พิจารณาจนเข้าใจตามสภาพความเป็นจริงของสิ่งนั้น  รู้ว่าต้องละในสิ่งที่ควรละ  ควรเจริญทำให้มากในสิ่งที่ควรเจริญทำให้มากเป็นต้น  เมื่อสามารถวางอุเบกขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้  ก็ได้ชื่อว่า  ดับความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจในกามนั้นได้อย่างเร็วพลัน

  การพิจารณาเห็นกามตามสภาพความเป็นจริง  แล้วสำรวมระวังอินทรีย์  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  มิให้ยินดียินร้าย  ไม่ตามรู้เท่าทัน  ไม่หลงมัวเมาไม่ยินดีไม่พัวพันก็จะได้ชื่อว่าได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์  เพราะไม่ถูกกิเลสครอบงำ  ดังเนื้อความแห่งสังคัยหสูตร  ที่ทรงตรัสแก่พระมาลุงกยบุตร  ตอนหนึ่งว่า

  ดูก่อนมาลุงกยบุตร  ในธรรมทั้งหลาย  คือ  รูปที่ได้เห็น  เสียงที่ได้ฟัง  อารมณ์ที่ได้ทราบ  และธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง  ในรูปที่ได้เห็นแล้ว  เธอจักเป็นเพียงแต่ว่าเห็น  ในเสียงที่ได้ฟัง  เธอจักเป็นแต่เพียงได้ฟัง  ในอารมณ์ที่ได้ทราบแล้ว  เธอจักเป็นเพียงแต่ได้ทราบ  ในธรรมที่ได้รู้แจ้งแล้ว  เธอจักเป็นเพียงแต่ได้รู้แจ้งแล้วในกาลใด  ในกาลนั้น  เธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม  ไม่ถูกโทสะประทุษร้าย  ไม่หลงเพราะโมหะ  เธอจักเป็นผู้ไม่ถูกราคะย้อม  ไม่ถูกโทสะประทุษร้าย  ไม่หลงเพราะโมหะ  ในกาลใด  ในกาลนั้น  เธอจักไม่พัวพันในรูปที่เห็น  ในเสียงที่ได้ฟัง  ในอารมณ์ที่ได้ทราบ  ในธรรมารมณ์ที่ได้รู้แจ้งดูก่อนมาลุงกยบุตร  ในโลกนี้ก็ไม่มี  ในโลกอื่นก็ไม่มี  ในระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มีนี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์[3]

  อนึ่ง  วิธีการดับกามตามแนวกระบวนการของอินทริยสังวรนี้  สามารถเขียนเป็นแผนผังแห่งกระบวนการดับกามได้ดังนี้

  ตา    -   เห็น   - รูป    +  จักษุวิญญาณ  =  จักษุผัสสะ

  หู    -  ฟัง    -  เสียง  +  โสตวิญญาณ  = โสตผัสสะ

  จมูก   -   ดม   - กลิ่น    +  ฆานวิญญาณ  =  ฆานผัสสะ

  ลิ้น    -  ลิ้ม    -  รส  +  ชิวหาวิญญาณ  =  ชิวหาผัสสะ

  กาย  -  ถูกต้อง -  โผฏฐัพพะ    +  กายวิญญาณ  =  กายผัสสะ

  ใจ    -  รู้    -  ธรรมารมณ์  +  มโนวิญญาณ  =  มโนผัสสะ

¯  ¯

  เกิดความชอบใจ  ไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ

¯  ¯

รู้ว่าตนเกิดความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ

¯  ¯

วางอุเบกขา

  เห็นรูป  -  สักว่าเห็น

  ฟังเสียง  -  สักว่าฟัง

  ดมกลิ่น  -  สักว่าดม 

  ลิ้มรส  -  สักว่าลิ้ม 

  ถูกต้องโผฏฐัพพะ  -  สักว่าถูกต้อง

  รู้ธรรมารมณ์  -  สักว่ารู้

¯

ผัสสะดับ

¯

กามดับ

  จากกระบวนการดับแห่งกามตามนัยแห่งอินทริยสังวรจะเห็นได้ว่า  ผัสสะ  หรือสัมผัสแห่งอายตนะ  ๑๒  ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกามนั้นดับไป  กามจึงได้ชื่อว่าดับ  ดังเนื้อความแห่งนิพเพธิกสูตรตอนหนึ่งที่ว่า  "ความดับแห่งกามเป็นไฉน  ?  คือ  ความดับแห่งกามเพราะผัสสะดับ"  [4]

  อนึ่งเมื่อดับกามได้แล้ว  ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันตขีณาสพ  ปราศจากกิเลสโดยสิ้นเชิง  ไม่มีความอาลัยในกามทั้งหลาย  เมื่อประสบกับกาม  ท่านเหล่านั้นก็มีวิธีการเจริญอินทรีย์ของท่าน  โดยการคิดในสิ่งปฏิกูลให้เป็นสิ่งไม่ปฏิกูลก็ได้  หรือในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล  ให้เป็นสิ่งปฏิกูลก็ได้  หรือจะวางอุเบกขาต่อสิ่งทั้งสองนั้นก็ได้  คือ  คิดจะให้เป็นอย่างไรก็ได้  เพราะความที่ท่านเหล่านั้นไม่ยึดมั่น  ไม่พัวพัน  ไม่ยินดีต่ออารมณ์เหล่านั้นแล้วนั่นเองดังเนื้อความแห่งอินทริยภาวนาสูตรตอนหนึ่งว่า

  ดูก่อนอานนท์  ก็พระอริยะเจ้าผู้เจริญอินทรีย์แล้ว  เป็นอย่างไร  ?  ดูก่อนอานนท์  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  เกิดความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจขึ้น  เพระเห็นรูปด้วยจักษุ...ฟังเสียงด้วยหู...ดมกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น...ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ  ถ้าเธอหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่  ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆว่าเป็นของไม่ปฏิกูล  ถ้าหวังจะมีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่  ย่อมเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ  ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้  ถ้าหวังว่าจะมีความสำคัญในสิ่งนั้นๆ  ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลและปฏิกูลอยู่ได้  ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่  ย่อมมีความสำคัญในสิ่งนั้นๆว่า  เป็นของปฏิกูลอยู่ได้  ถ้าหวังจะวางเฉย  ( อุเบกขา )  เว้นเสียซึ่งสิ่งปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้งสองนั้นอยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะ  ย่อมเป็นผู้วางเฉยในสิ่งนั้นๆ  อยู่อย่างมีสติสัมปชัญญะได้  ดูก่อนอานนท์อย่างนี้แล  ชื่อว่า  พระอริยะเจ้าผู้เจริญอินทรีย์แล้ว[5]

  แต่สำหรับปุถุชนธรรมดา  ควรที่จะเจริญอบรมอินทรีย์ของตนเองเช่นกัน  เพื่อนำไปสู่การดับความใคร่ในกามทั้งหลาย  เพราะกามนั้นถึงแม้ว่าจะให้ความสุขในระดับหนึ่งก็จริง  ถึงกระนั้น  กามสุขก็ยังถือได้ว่าเป็นความสุขที่ยังหยาบ  และก็ให้โทษต่างๆแก่ผู้ติดอยู่ในกามนั้นได้  และยังมีความสุขที่ดีกว่า  ประณีตกว่ากามสุขนั้นอีก  นั่นคือฌานสุข  และฌานสุขเองก็ยังมีความสุขอื่นที่ยิ่งกว่า  ประณีตกว่า  นั่นก็คือ  นิพพานสุข  ดังนั้น  พระอริยะเจ้าจึงละทั้งกามสุขและฌานสุข  เพื่อนิพพานสุขที่ยิ่งกว่า  และการที่จะเป็นพระอริยะเจ้าได้ก็ต้องผ่านการเป็นปุถุชนก่อน  ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วนี้  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ปุถุชนจะต้องเจริญอบรมอินทรีย์ของตนเองเพื่อสุขที่ยิ่งกว่า  ในการสำรวมระวังอินทรีย์สำหรับปุถุชนนั้น  ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า

  ให้เห็นว่าสิ่งที่เราเห็นกันว่างามนั้น  มันไม่งาม  กระทั่งทั้งหมด  ทั้งเนื้อทั้งตัว  เช่นให้ไปดูซากศพในป่าช้า  จะมองเห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายที่เป็นไปตามธรรมชาติ  จะมาเป็นเครื่องทำให้สลดสังเวช  จะข่มความรู้สึกที่เป็นความกำหนัด  ถ้าว่าจะเลื่อนสูงขึ้นไปอีก  ก็พิจารณาโดยความเป็นธาตุ  เป็นไปตามธรรมชาติ  ไม่ใช่อะไรมากไปกว่านั้น  คือเริ่มเห็นไปตั้งแต่ว่า  ความกำหนัด  รู้สึกกำหนัด  หลงใหลอย่างยิ่งนี้  มันเป็นความลวง  ความหลอกลวงของธรรมชาติ  เป็นความหลอกลวงทางอายตนะคือ  างตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  และสัมผัส  เป็นความหลอกลวงทางอายตนะของธรรมชาติ  เราโง่  รู้ไม่ทัน  ไปหลงรู้สึกพอใจสูงสุดอย่างนี้ก็ได้  มองเห็นความถูกลวง  น่าขายหน้า  มันก็ซาความกำหนัด  แต่มันก็ต้องทำให้มาก  ทำจนรู้สึกโดยแท้จริง  เข้าใจจริง  เป็นจริงว่า  มันเป็นความลวงของอะไรอย่างหนึ่งให้เราเป็นทาสของมัน  [6]

  ท่านพุทธทาสได้พยายามอธิบายการสำรวมอินทรีย์  โดยให้เห็นทุกสิ่งที่เห็นว่าเป็นของสวยงามนั้น  ว่า  เป็นของไม่สวยงาม  เป็นการเจริญอสุภสัญญา  โดยท่านมุ่งไปที่บุคคลที่เป็นเพศตรงกันข้าม  เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว  มนุษย์จะเห็นอวัยวะร่างกายของเพศตรงกันข้ามว่าเป็นสิ่งสวยงาม  น่ารัก  น่าใคร่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดกว่าความรู้สึกต่อสิ่งอื่นๆ  โดยท่านให้มองดูที่ซากศพ  แล้วพิจารณาตามความเป็นจริงของควมเป็นไปตามกฎธรรมชาติของร่างกายที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมา  เมื่อเกิดขึ้นแล้ว  ย่อมตั้งอยู่ชั่วขณะเพื่อให้มีการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น  แล้วดับไป  เช่น  บุคคลถือกำเนิด  เป็นเด็กไร้เดียงสา  เป็นเด็กรู้เดียงสา  เติบโตเป็นหนุ่มสาว  แต่งงาน  เป็นผู้ใหญ่  แก่เฒ่า  ตาย  เปื่อยเน่าเป็นต้น  ก็จะสามารถข่มความกำหนัดได้  หรืออาจจะมองให้เห็นกาม  โดยความเป็นของลวงทางอายตนะ  เป็นสิ่งที่ล่อลวงให้ไปหลงติด  หลงยึดว่า  นั่นสวยงาม  นั่นของเรา  นั่นตัวเราเป็นต้น  ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว  หาเป็นเช่นนั้นไม่  ที่เป็นเช่นนั้น  เพราะเป็นสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมาตามกระบวนธรรมแห่งปฏิจจสมุปบาทซึ่งจะกล่าวในข้างหน้า  เพราะถ้าไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งก็คงไม่เป็นเช่นนั้น  คงไม่เห็นว่าเป็นของสวยงาม  เป็นของตัวเรา  เป็นตัวตนเราเมื่อเห็นกามโดยความเป็นของลวงทางอายตนะแล้ว  จะรู้สึกว่า  ขายหน้า  ก็พยายามที่จะไม่ให้ถูกลวงอีกต่อไป  ความกำหนัดในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  และธรรมารมณ์ก็จะคลายลงไปตามลำดับ 

  ดังนั้น  วิธีการดับกามตามแนวแห่งอินทริยสังวรนั้น  ที่สำคัญ  คือ  เมื่อเกิดกระทบกันของอายตนะแล้ว  ต้องพิจารณาให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงของอายตนะเหล่านั้น  ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง  มีการเปลี่ยนแปลง  และดับไป  เป็นวัฏจักร  เป็นสิ่งที่หยาบ  แล้ววางอุเบกขาต่อกามเหล่านั้น  โดยเห็นรูปสักว่าเห็น  ได้ยินเสียงสักว่าได้ยิน  ดมกลิ่นสักว่าดม  ลิ้มรสสักว่าลิ้ม  ถูกต้องโผฏฐัพพะสักว่าถูกต้อง  และรู้แจ้งธรรมารมณ์สักว่ารู้เท่านั้น  ไม่ยึดติด  ไม่พัวพัน  เป็นเหตุให้สัมผัสทางอายตนะดับ  เมื่อสัมผัสทางอายตนะดับ  กามก็ได้ชื่อว่าดับโดยไม่เหลือ  นี้คือ  วิธีการดับกามตามแนวแห่งอินทริยสังวรในพระพุทธศาสนา.

  วิธีดับกามตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาท

  ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นหลักธรรมที่กล่าวถึงกระบวนการของธรรมชาติที่เกิดขึ้นและดับไป  อย่างมีเหตุปัจจัยที่ส่งเสริมกันและกัน  จะเกิดขึ้นและดับไปลอยๆ  หรือโดยบังเอิญไม่ได้  ปฏิจจสมุปบาทนี้มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง  เช่น  ธัมมฐิติ  ความตั้งอยู่ตามธรรมดา  ธัมมนิยาม  ความแน่นอนของธรรมดา  หรือ  อิทัปปัจจัยตา  ความที่มีสิ่งนี้เป็นปัจจัยของสิ่งนี้  [7]  เป็นหลักที่มีอยู่โดยธรรมชาติ  พระพุทธเจ้าเป็นแต่เพียงผู้ค้นพบ  แล้วทรงนำมาแสดงเปิดเผยแก่สาวกของพระองค์

  คำว่า  ปฏิจจสมุปบาท  มีอยู่    ศัพท์  คือ  ปฏิจจ  แปลว่า  อาศัย  และ  สมุปบาท  แปลว่า  ความเกิดขึ้น  แปลรวมกันว่า  ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกันและกัน  หรืออาศัยกันและกันเกิดขึ้น  ปฏิจจสมุปบาทนี้มี  ๑๒  หัวข้อธรรม  ดังนี้

  ๑).  อวิชชา  ได้แก่  ความไม่รู้ในทุกข์  ความไม่รู้ในทุกขสมุทัย  ความไม่รู้ในทุกขนิโรธ  และความไม่รู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

  ๒).  สังขาร  ได้แก่  กายสังขาร  ความจงใจทางกาย  วจีสังขาร  ความจงใจทางวาจา  มโนสังขาร  ความจงใจทางใจ

  ๓).  วิญญาณ  ได้แก่  จักษุวิญญาณ  ความรับรู้ทางตา  โสตวิญญาณ  ความรับรู้ทางหู  ฆานวิญญาณ  ความรับรู้ทางจมูก  ชิวหาวิญญาณ  ความรับรู้ทางลิ้น  กายวิญญาณ  ความรับรู้ทางกาย  และมโนวิญญาณ  ความรับรู้ทางใจ

  ๔).  นามรูป  ได้แก่  เวทนา  สัญญา  เจตนา  ผัสสะ  มนสิการ  จัดเป็นนาม  มหาภูตรูป    คือ  ปฐวี  อาโป  เตโช  วาโย  และอุปาทายรูป  ๒๘  จัดเป็น  รูป

  ๕).  สฬายตนะ  ได้แก่  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ

  ๖).  ผัสสะ  ได้แก่  จักขุสัมผัส  กระทบทางตา  โสตสัมผัส  กระทบทางหู  ฆานสัมผัส  กระทบทางจมูก  ชิวหาสัมผัส  กระทบทางลิ้น  กายสัมผัส  กระทบทางกาย  และมโนสัมผัส  กระทบทางใจ

  ๗).  เวทนา  ได้แก่  จักขุสัมผัสชาเวทนา  เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา  โสตสัมผัสชาเวทนา  เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางหู  ฆานสัมผัสชาเวทนา  เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก  ชิวหาสัมผัสชาเวทนา  เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น  กายสัมผัสชาเวทนา  เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางกาย  และมโนสัมผัสชาเวทนา  เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางใจ

  ๘).  ตัณหา  ได้แก่  รูปตัณหา  ความอยากในรูป  สัททตัณหา  ความอยากในเสียง  คันธตัณหา  ความอยากในกลิ่น  รสตัณหา  ความอยากในรส  โผฏฐัพพตัณหา  ความอยากในสิ่งสัมผัสทางกาย  และธัมมตัณหา  ความอยากในธรรมารมณ์

  ๙).  อุปาทาน  ได้แก่กามุปาทาน  ความยึดมั่นในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  และธรรมารมณ์ ,  ทิฏฐุปาทาน  ความยึดมั่นในทิฏฐิต่างๆ ,  สีลพัตตุปาทาน  ความยึดมั่นในศีลและพรต,  อัตตวาทุปาทาน  ความยึดมั่นในอัตตา

  ๑๐).  ภพ  ได้แก่  กามภพ  รูปภพ  และอรูปภพ

  ๑๑). ชาติ  ได้แก่  ความเกิด  ความบังเกิด  ความปรากฏแห่งขันธ์  ความได้อายตนะครบในหมู่สัตว์นั้น  ความเกิดขึ้นของธรรมต่างๆ

  ๑๒).  ชรามรณะ  ได้แก่  ชรา  ความแก่  ภาวะของความแก่  ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์,  มรณะ  ความเคลื่อน  ความแตกแห่งขันธ์  ความขาดแห่งอินทรีย์  [8]

  ปฏิจจสมุปบาททั้ง  ๑๒  ประการนี้  ถือเอาความหมายตามนัยแห่งวิภังคสูตร  ซึ่งเป็นความหมายในชั้นดั้งเดิม  กระบวนการธรรมชาติตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น  โดยหลักการทั่วไปแล้วท่านจะแสดงไว้    สายด้วยกัน  คือ  ในท่อนแรกจะทรงแสดงกระบวนการเกิดเรียกว่าสมุทยวาร  และถือว่าเป็นการแสดงตามลำดับ  จึงเรียกว่า  อนุโลมปฏิจจสมุปบาท  เทียบในอริยสัจเป็นข้อที่    คือ  ทุกขสมุทัย  และท่อนหลังจะทรงแสดงกระบวนการดับ  เรียกว่า  นิโรธวาร  และถือว่าเป็นการแสดงย้อนลำดับ  เรียกว่า  ปฏิโลมปฏิจจสมุปบาท  เทียบในหลักอริยสัจข้อที่    คือ  ทุกขนิโรธ  ดังเนื้อความในพระบาลีแห่งอัสสุตวตสูตรว่า

.  สายเกิด

  อิมสฺมึ  สติ  อิทํ  โหติ  เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้จึงมี

  อิมสฺสุปฺปาทา  อิทํ  อุปฺปชฺชติ  เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

.  สายดับ

  อิมสฺมึ  อสติ  อิทํ    โหติ  เมื่อสิ่งนั้นไม่มี  สิ่งนี้ก็ไม่มี

  อิมสฺส  นิโรธา  อิทํนิรุชฺฌติเพราะสิ่งนี้ดับ  สิ่งนี้จึงดับ  [9]

  พระบาลีนี้เป็นการขยายความโดยแสดงเพียงปัจจัยเดียว  เพียงสั้นๆ  ถึงกระบวนการธรรมชาติที่เกิดขึ้นและดับไป  เพราะมีปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยทำให้เกิดและดับวนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้ตลอดไป  จนกว่าจะทำลายวงจรแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้ได้

  แม้กระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท  ๑๒  ประการนี้จะมีกระบวนการเกิดขึ้นและดับไป  ตามปัจจัยที่เป็นลูกโซ่ของกันและกัน  ดังในพระบาลีแห่งเทศนาสูตรว่า

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็ปฏิจจสมุปบาทเป็นไฉน  ?  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย  จึงมีสังขาร  เพราะสังขารเป็นปัจจัย  จึงมีวิญญาณ  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย  จึงมีนามรูปเพราะนามรูปเป็นปัจจัย  จึงมีสฬายตนะ  เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย  จึงมีผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  จึงมีเวทนา  เพราะเวทนาเป็นปัจจัย  จึงมีตัณหา  เพราะตัณหาเป็นปัจจัย  จึงมีอุปาทาน  เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย  จึงมีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัย  จึงมีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัย  จึงชรามรณะ  โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส  ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้  นี้เราเรียกว่า  ปฏิจจสมุปบาท

  ก็เพราะอวิชชานั่นแหละ  ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ  สังขารจึงดับ  เพราะสังขารดับ  วิญญาณจึงดับ  เพราะวิญญาณดับ  นามรูปจึงดับ  เพราะนามรูปดับ  สฬายตนะจึงดับ  เพราะสฬายตนะดับ  ผัสสะจึงดับ  เพราะผัสสะดับ  เวทนาจึงดับ  เพราะเวทนาดับ  ตัณหาจึงดับ  เพราะตัณหาดับ  อุปาทานจึงดับ  เพราะอุปาทานดับ  ภพจึงดับ  เพราะภพดับ  ชาติจึงดับ  เพราะชาติดับ  ชราและมรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ  ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้  [10]

สมุทยวาร  สายเกิด

อวิชชาเกิด  à  สังขารเกิด  àวิญญาณเกิด  à  นามรูปเกิดà  สฬายตนะเกิดà  ผัสสะเกิดà  เวทนาเกิดàตัณหาเกิด  àอุปาทานเกิด  à  ภพเกิด  àชาติเกิด  àชรามรณะเกิด.............โสกะ  ปริเทวะ  ทุกขะ  โทมนัส  อุปายาสเกิด  =  ทุกขสมุทัย

นิโรธวาร  สายดับ

อวิชชาดับ  à  สังขารดับ  àวิญญาณดับ  à  นามรูปดับà  สฬายตนะดับà  ผัสสะดับ  àเวทนาดับàตัณหาดับà  อุปาทานดับ  àภพดับà  ชาติดับà  ชรามรณะดับ.............โสกะ  ปริเทวะ  ทุกขะ  โทมนัส  อุปายาสดับ  =  ทุกขนิโรธ

  เป็นที่น่าสังเกตว่า  กระบวนการเกิดขึ้นและดับไปแห่งทุกข์  เป็นข้อสรุปตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท  แต่บางแห่งสรุปว่า  เป็นการเกิดขึ้นและดับไปแห่งโลก  โดยใช้คำพระบาลีว่า  "  อยํ  ภิกฺขเว  โลกสฺส  สมุทโย  นี้แล  ภิกษุทั้งหลายคือ  ความเกิดขึ้นแห่งโลก, อยํ  โข  ภิกฺขเว  โลกสฺส  อตฺถงฺคโม  นี้แล  ภิกษุทั้งหลาย  คือ  ความสลายตัวแห่งโลก "  [11]  หรือว่า  " เอวมยํ  โลโก  สมุทติ  โลกนี้ย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการอย่างนี้,  เอวมยํ  โลโก  นิรุชฺฌติ  โลกนี้ย่อมดับไปด้วยอาการอย่างนี้" 

ถึงอย่างไรก็ตาม  ถ้าว่าโดยความหมายที่แท้จริงแล้ว  คำสรุปทั้งสองนี้มีความหมายเหมือนกัน

  วิธีการดับกามตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้  เริ่มต้นจากการที่อวิชชาดับ  กระบวนการที่เป็นลูกโซ่อีก  ๑๑  ประการก็ดับตามไปด้วย  ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะอวิชชาเป็นมูลรากของกิเลสทั้งปวง  เหมือนเราตั้งหนังสือไว้ติดกัน  ๑๒  เล่ม  พอหนังสือเล่มแรกล้มทับหนังสือเล่มที่    หนังสือเล่มที่    ก็ล้มทับหนังสือเล่มที่    หนังสือเล่มที่    ก็ล้มทับหนังสือเล่มที่    และหนังสือเล่มที่  ๕ - ๖ - ๗ - ๘ - ๙  - ๑๐ - ๑๑  ก็ล้มทับกันไปเรื่อยๆ  จนเล่มสุดท้าย  การที่จะดับกามตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาทก็เช่นเดียวกัน  เริ่มจากการดับไม่เหลือของอวิชชา  จนเป็นเหตุให้สังขารและปัจจัยอื่นๆดับตาม  โดยผู้วิจัยจะถือเอาคำอธิบายตามที่อาจารย์บรรจบ  บรรณรุจิ  ได้อธิบายไว้ในปฏิจจสมุปบาท  [1]  เป็นหลักในการอธิบายกระบวนการธรรม  ตามลำดับดังนี้

    เพราะดับอวิชชาได้สิ้น  สังขารจึงดับ 

  คำว่า  ดับอวิชชา  คือการดับความไม่รู้จริง  ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ    คือ  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค  แล้วเกิดวิชชา  ความรู้จริง  ความรู้แจ้งในอริยสัจ    ก็เกิดขึ้นมาแทน  เมื่อบุคคลสามารถดับอวิชชา  คือ  ความไม่รู้ได้แล้ว  ความคิดปรุงแต่งหรือเจตนาในการที่จะทำบาป  ทำบุญก็ไม่มี  กล่าวคือไม่มีสังขารปรุงแต่งเช่นนั้น

  วิชชา  คือ  ความรู้แจ้ง  ความรู้จริง  หมายถึง  ความรู้ในกระบวนการเกิดขึ้นตั้งอยู่  และแตกดับของชีวิตตามสภาพความเป็นจริง  ที่เรียกว่า  เป็นการประชุมของธาตุ    ขันธ์    รวมเรียกว่า  นามรูป  ตามสภาพของความเป็นจริง  รวมทั้งความรู้แจ้งในอริยสัจ  ซึ่งกว่าจะรู้แจ้งได้ย่อมมีวิวัฒนาการเป็นไปตามลำดับ  เรียกว่า  วิปัสสนาญาณ    [2]  มีลำดับดังนี้

  ๑).  อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ  ความรู้เรื่องความเกิดและความดับของนามรูป  หมายถึง  รู้นามรูป  กล่าวคือชีวิตของคนเรานั้น  เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว  ดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา  เมื่อดับไปแล้วก็เกิดขึ้นอีก  เมื่อเกิดขึ้นมาอีก  ดำรงอยู่ชั่วขณะก็ดับไปอีก  วนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดไป  ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า  รู้ความเกิดและความดับของนามรูป

  ๒).  ภังคานุปัสสนาญาณ  ความรู้ว่า  นามรูปมีการแตกดับไปเป็นธรรมดา  หมายถึง  ความรู้แจ้งในสรรพสิ่ง  เช่น  คน  สัตว์  ต้นไม้  ภูเขา  บ้าน  เรือน  เป็นต้น  เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความแตกดับในที่สุด  ไม่มีอะไรจะเที่ยงแท้ถาวร  คงทนอยู่ได้

  ๓).  ภยตูปัฏฐานญาณ  ความรู้ว่านามรูปเป็นสภาพน่ากลัว  หมายความว่า  ให้กลัว  เพราะนามรูปมีสภาพพังทลายเป็นปกติ  เสื่อมไปเพราะกาลเวลาล่วงไปก็ดี  เพราะเป็นรังของโรค  มีโรคภัยคอยเบียดเบียนจนหาความปกติสุขมิได้  และนามรูปนี้มีความดับสลายไปในที่สุด  ฉะนั้น  นามรูปเป็นสิ่งที่น่ากลัว

  ๔).  อาทีนวานุปัสสนาญาณ  ความรู้ว่า  นามรูปเป็นโทษ  คือ  เมื่อรู้ว่า  นามรูปเป็นสิ่งที่น่ากลัวแล้ว  ยังเกิดความรู้ต่อไปอีกว่า  นามรูปนั้นมีโทษ  คือ  เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความทุกข์  เพราะมีนามรูปจึงทำให้มีความเดือดร้อน

  ๕).  นิพพิทานุปัสสนาญาณ  ความรู้ว่า  นามรูปเป็นของน่าเบื่อหน่าย  คือ  เมื่อนามรูปเกิดแล้วดับสลายไป  นามรูปก่อให้เกิดทุกข์ต่างๆฉะนั้น  นามรูป  จึงเป็นของน่าเบื่อหน่าย

  ๖).  มุญจิตุกัมมยตาญาณ  ความรู้ความปรารถนาที่จะไปให้พ้นจากนามรูป  ซึ่งน่าเบื่อหน่าย  หาความเที่ยงไม่ได้  มีภัยและโทษนานาประการ  เพราะเห็นอย่างนี้จึงอยากไปให้พ้นจากนามรูป

  ๗).  ปฏิสังขารานุปัสสนาญาณ  ความรู้ที่จะพิจารณาทบทวน  หมายถึง  เมื่อรู้ว่า  เบื่อหน่ายนามรูป  ถึงขั้นอยากจะไปให้พ้นเสียจากนามรูป  แล้วก็เกิดรู้ต่อไปอีกว่า  การที่จะพ้นจากนามรูปนั้น  ต้องนำเอานามรูปไปพิจารณาทบทวนด้วยหลักไตรลักษณ์  คือ  พิจารณานามรูปจนเห็นชัดว่า  นามรูปไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  และเป็นอนัตตา  ต้องแตกสลายไปในที่สุด  ทั้งนี้เพื่อหาอุบายที่จะไปให้พ้นจากนามรูปนั้น

  ๘).  สังขารุเปกขาญาณ  ความรู้ในการวางใจเป็นกลางในสังขาร  หรือนามรูป  หมายถึง  เมื่อรู้จักยกนามรูปมาพิจารณา  ตามหลักการของไตรลักษณ์แล้วเกิดความวางใจเป็นกลางในนามรูปนั้น  เพราะพิจารณาเห็นตามสภาพความเป็นจริงว่า  นามรูปเป็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว  จึงวางใจเป็นกลางไม่ยินดียินร้ายในนามรูปนั้น  และเห็นว่า  นิพพาน  คือ  การดับนามรูปได้สิ้น  เป็นทางแห่งความสงบ  เกิดความมุ่งตรงต่อนิพพาน

  ๙).  สัจจานุโลมิกญาณ  ความรู้ที่สอดคล้องตามอริยสัจ  หมายถึง  เมื่อพิจารณาตามญาณทั้ง    ข้อข้างต้นย้อนไปย้อนมาจนเห็นสอดคล้องตามอริยสัจว่า  นามรูปทั้งหมดล้วนมีความทุกข์  ซึ่งมีสาเหตุมาจากตัณหา  สามารถดับนามรูปทั้งหมดนั้นได้โดยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์    ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

  ญาณหรือความรู้ลำดับที่    นี้  เป็นความรู้ในลำดับสุดท้ายแห่งวิปัสสนาญาณ  จากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณ  คือ  ญาณที่อยู่กั้นกลางระหว่างปุถุชนกับอริยะ  แล้วก็จะเกิดมรรคญาณหรือผลญาณได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน  พระสกาทาคามี  พระอนาคามี  และพระอรหันต์  ตามลำดับ  เมื่อสามารถดับอวิชชาได้หมดสิ้นจนเกิดวิชชา  ได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว  ย่อมสามารถดับสังขารได้

    เพราะดับสังขารได้  วิญญาณจึงดับ 

  คำว่า  ดับสังขาร  หมายถึง  ดับความคิดปรุงแต่ง  หมายเอาเจตนา  ความตั้งใจหรือความจงใจทางกาย  วาจา  ใจ  ซึ่งเป็นไปทั้งในทางดี  และทางไม่ดี  โดยปกติคนที่ยังมีอวิชชาอยู่หรือ  คนผู้เป็นปุถุชนอยู่ย่อมคิดทำดีทำชั่ว  แต่สำหรับคนผู้ดับสังขารได้แล้ว  ไม่คิดทำทั้งความดีและความชั่ว  คือ  ไม่คิดทำดีเพื่อหวังผลตอบแทน  เช่น  ทำดีเพื่อหวังไปเกิดในสวรรค์  หรือหวังลาภยศเป็นต้น  รวมทั้งไม่คิดทำความดีเพื่อละกิเลส  เพราะละกิเลสได้หมดแล้ว  ถึงกระนั้นก็ยังคงทำความดีอยู่อย่างต่อเนื่อง  เช่นแสดงธรรมเพื่อให้คนอื่นพ้นทุกข์เป็นต้น  เมื่อสามารถดับสังขารได้อย่างนี้ย่อมสามารถดับวิญญาณได้ด้วย

    เพราะดับวิญญาณได้  นามรูปจึงดับ 

  ดับวิญญาณ  หมายถึง  ดับการรับรู้ทางอายตนะทั้ง    คือ  ดับการรับรู้ทางตา  ดับการรับรู้ทางหู  ดับการรับรู้ทางจมูก  ดับการรับรู้ทางลิ้น  ดับการรับรู้ทางกาย  และดับการรับรู้ทางใจ  เมื่อเห็นรูปสักว่าเห็น  เมื่อได้ยินเสียงสักว่าได้ยิน  เมื่อดมกลิ่นสักว่าดม  เมื่อลิ้มรสสักว่าลิ้ม  เมื่อถูกต้องสิ่งสัมผัสทางกาย  สักว่าถูกต้อง  เมื่อรู้สิ่งสัมผัสทางใจสักว่ารู้เท่านั้น  ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา  อุปาทานไม่มีกิเลสเจือปน  เป็นการรับรู้ที่เป็นแต่เพียงกิริยาเท่านั้น  เมื่อดับวิญญาณได้อย่างนี้  ก็ย่อมสามารถดับนามรูปได้

    เพราะดับนามรูปได้  สฬายตนะจึงดับ 

  ดับนามรูป  หมายถึง  ดับอาการของจิต  และดับพฤติกรรมทางกาย  วาจา  ทั้งที่เป็นบุญและที่เป็นบาป  ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มีผลมาจากการปรุงแต่งจากการรับรู้ทางอายตนะหรือวิญญาณ  ถ้าปรุงแต่งในทางบุญ  พฤติกรรมทางกายวาจาก็แสดงออกทางบุญด้วย  หากปรุงแต่งในทางบาป  พฤติกรรมทางกาย  วาจาก็แสดงออกทางบาปด้วย

  การดับนามรูปในที่นี้  มิได้หมายความว่า  ดับชีวิต  ชีวิตดำรงอยู่แต่มิได้มีจิตปรุงแต่งทั้งบุญและบาป  เพราะไม่มีกิเลสเหลืออยู่เลย  แม้ทำความดีก็ไม่มีผลต่อจิตใจ  ส่วนบาปนั้นเว้นโดยเด็ดขาด  เมื่อสามารถดับนามรูปได้  ก็ย่อมสามารถดับสฬายตนะได้

    เพราะดับสฬายตนะได้  ผัสสะจึงดับ

  ดับสฬายตนะ  หมายถึง  ดับแดนติดต่อของอายตนะ  คือ  ดับตามิให้เป็นแดนติดต่อกับรูป  ดับหูมิให้เป็นแดนติดต่อกับเสียง  ดับจมูกมิให้เป็นแดนติดต่อกับกลิ่น  ดับลิ้นมิให้เป็นแดนติดต่อกับรส  ดับกายมิให้เป็นแดนติดต่อกับสิ่งสัมผัสทางกาย  ดับใจมิให้เป็นแดนติดต่อกับสิ่งสัมผัสทางใจ  หมายความว่า  อายตนะ    เหล่านี้  ยังคงทำหน้าที่ในการรับรู้อารมณ์ตามปกติ  แต่การรับรู้ต่างๆเหล่านั้น  เป็นเพียงกิริยา  ไม่มีกิเลสตัณหาเกิดขึ้นกับการรับรู้ทางอายตนะเหล่านั้น  เมื่อสามารถดับแดนติดต่อทางทาวารทั้ง    ได้แล้วก็ย่อมสามารถดับผัสสะได้

    เพราะดับผัสสะได้  เวทนาจึงดับ 

  ดับผัสสะ  หมายถึง  ดับการกระทบถูกต้องกับสิ่งต่างๆ  ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง    คือ  ดับการกระทบถูกต้องทางตา  ดับการกระทบถูกต้องทางหู  ดับการกระทบถูกต้องทางจมูก  ดับการกระทบถูกต้องทางลิ้น  ดับการกระทบถูกต้องทางกาย  ดับการกระทบถูกต้องทางใจ

  คำว่า  ดับการกระทบถูกต้องนี้  ไม่ใช่ว่า  ต้องตาบอด  หูหนวก  แต่หมายถึง  การทำหน้าที่ตามปกติของทวารทั้ง    คือ  ตายังกระทบรูป  หูยังกระทบเสียง  จมูกยังกระทบกลิ่น  ลิ้นยังกระทบรส  กายยังกระทบกับสิ่งสัมผัสทางกาย  ใจยังกระทบสิ่งสัมผัสทางใจ  เพียงแต่การกระทบเหล่านั้นเป็นเพียงกิริยา  สักว่ากระทบไม่มีกิเลสเจือปน  ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น  เมื่อสามารถดับการกระทบถูกต้องได้ดังนี้แล้ว  ย่อมสามารถดับเวทนาได้

    เพราะดับเวทนาได้  ตัณหาจึงดับ 

  ดับเวทนา  คือ  ดับความรู้สึกต่างๆกล่าวคือความรู้สึกเป็นสุข  ความรู้สึกเป็นทุกข์  ความรู้สึกว่าไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นสุข  เป็นกลางๆ  ในขณะที่ตากระทบกับรูป  หูกระทบกับเสียง  จมูกกระทบกับกลิ่น  ลิ้นกระทบกับรส  กายกระทบกับสิ่งสัมผัสทางกาย  และใจกระทบกับสิ่งสัมผัสทางใจ  เมื่อสามารถดับเวทนาได้อย่างนี้แล้ว  ย่อมสามารถดับตัณหาได้

    เพราะดับตัณหาได้  อุปาทานจึงดับ 

  ดับตัณหา  หมายถึง  ดับความอยากต่างๆ  คือความอยากในรูป  ความอยากในเสียง  ความอยากในกลิ่น  ความอยากในรส  ความอยากในสิ่งสัมผัสทางกาย  และความอยากในสิ่งสัมผัสทางใจ  ทั้งที่ตนมีและได้ครอบครองอยู่แล้ว  หรือสิ่งใหม่ที่จะมาทดแทนของเก่า  เมื่อสามารถดับความอยากได้  ก็ย่อมสามารถดับอุปาทานได้

    เพราะดับอุปาทานได้  ภพจึงดับ 

  ดับอุปาทาน  หมายถึง  ดับความยึดมั่นต่างๆ  ได้แก่  ความยึดมั่นในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สิ่งสัมผัสทางกาย  และสิ่งสัมผัสทางใจ  ความยึดมั่นในทิฏฐิต่างๆ  ความยึดมั่นในศีลและพรตที่เข้าใจว่าจะทำให้บริสุทธิ์ด้วยแค่ศีลพรต  และความยึดมั่นในขันธ์    คือ  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ว่าเป็นอัตตาเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน  เมื่อสามารถดับอุปาทานได้อย่างนี้  ย่อมดับภพได้

    เพราะดับภพได้  ชาติจึงดับ 

  ดับภพ  หมายถึง  ดับกรรมภพ  คือ  ดับการกระทำกรรม  จึงดับชาติ  คือขันธ์    ได้แก่  รูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ซึ่งถือว่าเป็นวิบากหรือผลของกรรมโดยตรงลงได้  ดับการกระทำกรรมและดับขันธ์    นี้  คือ  เมื่อบุคคลดับตัณหา  อุปาทานได้แล้ว  การกระทำดีต่างๆ  ของเขา  ก็สักแต่ว่ากิริยา  ไม่จัดเป็นกรรม  เพราะว่า  แม้ทำลงไปด้วยความจงใจ  แต่ก็ไม่มีกิเลสเข้าไปยึดถือ  การกระทำดีของท่านไม่ก่อให้เกิดผลชั้นในต่อจิต  และจิตก็ไม่สะสมความดีไว้เพื่อเป็นปัจจัยสืบต่อภพ  สืบต่อชาติอย่างแต่ก่อน  จัดเป็นความดีที่ว่างจากตัณหาและอุปาทาน  เป็นความดีที่ไม่มีตัณหาอุปาทานมาปรุงแต่ง  ส่วนการกระทำความชั่ว  ย่อมไม่มีแน่นอน  เมื่อสามารถดับภพได้แล้วอย่างนี้  ก็ย่อมสามารถดับชาติได้

    เพราะดับชาติได้  ชรามรณะจึงดับ 

  ดับชาติ  หมายถึง  ดับการเกิดของขันธ์    ได้แก่  ดับการเกิดของรูป  เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ  โดยเฉพาะดับการเกิดของเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณ  ได้แล้ว  รูปซึ่งเกิดขึ้นตามเวทนา  สัญญา  สังขาร  วิญญาณนั้น  ก็ไม่สามารถจะเกิดได้  เมื่อเกิดไม่ได้  ชรามรณะก็ย่อมไม่มี  เมื่อสามารถดับชาติได้อย่างนี้  ก็ดับชรามรณะได้  รวมทั้งโสกะ  ปริเทวะทุกขะ  โทมนัส  อุปายาสก็ดับลงด้วย

  เมื่อสามารถดับได้เด็ดขาดอย่างนี้แล้ว  กระบวนการของปฏิจจสมุปบาทที่มีการสืบต่อกันมานานก็ขาดตอนลง  การเป็นไปของชีวิตก็ขาดลงไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก  ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย  ไม่มีภพใหม่สำหรับเขา  เหมือนไฟที่ดับแล้วและก็หมดเชื้อเพลิงแล้ว  เป็นการบรรลุคุณธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา  นั่นก็คือพระอรหันต์

  การดับวงจรชีวิตตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น  จะเห็นได้ว่า  เป็นการเริ่มต้นดับที่อวิชชาซึ่งเป็นรากเหง้าของกิเลสทั้งปวงก่อน  เมื่ออวิชชาดับ  วิชชาก็เกิดขึ้นแทน  เหมือนกับว่า  เมื่อหมดความมืดแล้ว  ความสว่างก็เกิดขึ้นมาแทนที่  เมื่ออวิชชาดับไป  สิ่งที่มีอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดคือ  สังขารก็ดับด้วย  เมื่อสังขารดับไป  สิ่งที่มีสังขารเป็นปัจจัยให้เกิด  คือวิญญาณก็ดับด้วย  เมื่อวิญญาณดับไป  สิ่งที่มีวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิด  คือ  นามรูปก็ดับด้วย  เมื่อนามรูปดับไป  สิ่งที่มีนามรูปเป็นปัจจัยให้เกิด  คือ  สฬายตนะก็ดับด้วย  เมื่อสฬายตนะดับไป  สิ่งที่มีสฬายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดคือ  ผัสสะก็ดับด้วย  เมื่อผัสสะดับไป  สิ่งที่มีผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิด  คือเวทนาก็ดับด้วย  เมื่อเวทนาดับไปสิ่งที่มีเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดคือตัณหาก็ดับไปด้วย  เมื่อตัณหาดับไปสิ่งที่มีตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิด  คือ  อุปาทานก็ดับด้วย  เมื่ออุปาทานดับไป  สิ่งที่มีอุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิด  คือภพก็ดับด้วย  เมื่อภพดับไปสิ่งที่มีภพเป็นปัจจัยให้เกิด  คือชาติก็ดับด้วย  และโสกะปริเทวะ  ทุกขะโทมนัส  และอุปายาสก็ดับเช่นกัน  นี้คือ  กระบวนการดับกามตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาท

  อนึ่ง  ในวิธีการดับกามตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้  พุทธทาสภิกขุได้ให้ความเห็นว่า

  การปฏิบัติเพื่อไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นมาได้ด้วยการมีสติในทวารทั้ง    เมื่อมีการกระทบทางอายตนะนั่นเอง  โดยหลักที่เรียกว่า  สำรวมอินทรีย์ในทวารทั้งหลาย  โดยประการที่อาสวะไม่เกิดขึ้น  ซึ่งเป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารอยู่โดยสมบูรณ์  แม้จะมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น  แต่เป็นเรื่องเดียวกันแท้  [3]

  ทัศนะของพุทธทาสภิกขุเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ตามหลักปฏิจจสมุปบาท  โดยท่านให้มีสติในทวารทั้ง    ซึ่งเป็นการสำรวมระวังไม่ให้เกิดความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  หรือทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ  เมื่อมีการกระทบกันทางอายตนะ  อาสวะก็ไม่เกิดขึ้น  ซึ่งความเห็นของพุทธทาสภิกขุในเรื่องนี้มีความเหมือนกันกับความเห็นของอาจารย์วศิน  อินทสระ  ที่ได้กล่าวเกี่ยวกับการดับทุกข์ตามหลักปฏิจจสมุปบาทว่า

  ต้องไปเริ่มต้นที่ผัสสะ  คือ  ใช้มนสิการอยู่เสมอว่า  เห็นสักว่าเห็น  ฟังสักแต่ว่าฟัง  ดมกลิ่น  ลิ้มรส  ถูกต้อง  และรู้อารมณ์ให้ใช้มนสิการว่าสักแต่ว่าๆ  ไม่ให้อภิชฌา  (สุขเวทนา) หรือโทมนัส  (ทุกขเวทนา)  เกิดขึ้นได้  ให้มีสติปัญญารู้เท่าทันตลอดเวลา  เป็นการตัดอาหารของตัณหา  หรือทางเดินแห่งตัณหา  เมื่อตัณหาไม่ได้อาหาร  หรือไม่มีทางเดินก็จะค่อยๆฝายผอมลงและตายไปเอง  หลักนี้  ก็คือ  อินทรียสังวร  การสำรวมอินทรีย์  ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในพระสูตรมากหลายในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมไปสู่ความหลุดพ้น  สติปัฏฐาน    ก็มีหลักใหญ่  และจุดศูนย์รวมอยู่ที่การสำรวมอินทรีย์นี่เอง  เมื่อตัณหาสิ้นอาหาร  สิ้นเชื้อ  ก็ดับมอดไป  วิชชา  คือ  แสงสว่างเกิดขึ้น  อวิชชาก็พลันดับไป  เมื่ออวิชชาดับ  สังขารก็ดับ  สังขารดับ  วิญญาณก็ดับ...ชาติดับ  ชรามรณะก็ดับ...ความดับโดยสิ้นเชื้อของกองทุกข์ทั้งมวลย่อมมีด้วยประการฉะนี้" [4]

  ตามทัศนะของทั้งสองท่านนี้  การดับวงจรของปฏิจจสมุปบาทนั้น  ไม่ได้เริ่มจากอวิชชาซึ่งเป็นต้นตอของกิเลสทั้งปวง  แต่เริ่มจากผัสสะ  การกระทบทางทวารทั้ง    คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ในขณะที่กระทบนั้นก็ให้มีสติสัมปชัญญะกำกับ  เพื่อมิให้เกิดความยินดียินร้าย  เมื่อตาเห็นรูป  หูฟังเสียง  จมูกดมกลิ่น  ลิ้นลิ้มรส  กายถูกต้องสิ่งสัมผัสทางกาย  และใจรู้ธรรมารมณ์  ซึ่งเป็นการตัดกระแสของตัณหา  หรือตัดอาหารซึ่งจะไปหล่อเลี้ยงให้เกิดตัณหาและอุปาทานซึ่งเป็นตัวกิเลส  เมื่อกระแสตัณหาหรืออาหารของตัณหาถูกตัดไป  ตัณหาก็ดับ  อุปาทานจึงดับตามมา  ภพ  ชาติ  ชรามรณะก็ดับ  วิชชา  คือ  แสงสว่างก็เกิดขึ้น  เมื่อวิชชาเกิดขึ้น  อวิชชาก็ดับไป  และยังเป็นปัจจัยให้สิ่งอื่นๆดับตามไปด้วย  ซึ่งทัศนะของทั้งสองท่านนี้หาได้ผิดแปลกไปจากมโนทัศน์ของพระพุทธเจ้าไม่  เพราะในการแสดงปฏิจจสมุปบาทในบางครั้งพระพุทธเจ้ามิได้ตรัสแสดงตามลำดับเสมอไป  คือ  ตรัสไล่ลำดับไปตั้งแต่อวิชชา  ถึง  ชรามรณะ  ซึ่งในการแสดงตามลำดับและเต็มรูปแบบเช่นนี้  มักตรัสแสดงในกรณีเป็นการแสดงตัวหลัก  แต่ในทางปฏิบัติซึ่งเป็นการเริ่มต้นด้วยข้อปัญหา  มักตรัสในรูปย้อนลำดับ  คือ  ชักปลายมาหาต้น  เช่น  ชาติดับ  ชรามรณะจึงดับ,  ภพดับ  ชาติจึงดับ,  อุปาทานดับ  ภพจึงดับ,  ตัณหาดับ  อุปาทานจึงดับ,  เวทนาดับ  ตัณหาจึงดับ,  ผัสสะดับ  เวทนาจึงดับ,  สฬายตนะดับ  ผัสสะจึงดับ,  นามรูปดับ  สฬายตนะจึงดับ,  วิญญาณดับ  นามรูปจึงดับ,  สังขารดับ  วิญญาณจึงดับ  อวิชชาดับ  สังขารจึงดับ  [5]

  บางครั้งการแสดงปฏิจจสมุปบาท  อาจเริ่มต้นที่องค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งในระหว่างก็ได้  สุดแต่องค์ประกอบข้อไหนจะกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา  เช่น  เริ่มต้นที่วิญญาณว่า  "เมื่อวิญญาณไม่มี  นามรูปจึงไม่มี  เมื่อนามรูปไม่มี  สฬายตนะจึงไม่มี  ฯลฯ  เมื่อชาติไม่มี  ชรามรณะจึงไม่มี"  [6]  เป็นการแสดงการดับวงจรของปฏิจจสมุปบาทจากกลางไปหาปลาย  หรือบางที่อาจจะตรัสแสดงสืบสาวย้อนลำดับไปจนถึงอวิชชา  หรือชักกลางมาหาต้นก็ได้  หรือ  อาจจะเริ่มด้วยหัวข้ออื่นๆ  ที่มิใช่ข้อใดข้อหนึ่งใน  ๑๒  หัวข้อนี้  แล้วชักเข้ามาพิจารณาตามแนวแห่งปฏิจจสมุปบาทก็ได้  ดังตัวอย่างในอาหารสูตรที่ว่า

  อาหาร    คือ  กวฬิงการาหาร  ผัสสาหาร  มโนสัญเจตนาหาร  และวิญญาณาหาร  มีตัณหาเป็นแดนเกิด  ตัณหามีเวทนาเป็นแดนเกิด  เวทนามีผัสสะเป็นแดนเกิด  ผัสสะมีสฬายตนะเป็นแดนเกิด  สฬายตนะมีนามรูปเป็นแดนเกิด  นามรูปมีวิญญาณเป็นแดนเกิด  วิญญาณมีสังขารเป็นแดนเกิด  สังขารมีอวิชชาเป็นแดนเกิด[7] 

 

  ดังนั้น  การแสดงวงจรของปฏิจจสมุปบาททั้งสายเกิดและสายดับ  บางครั้งก็ไม่จำเป็นจะต้องครบ  ๑๒  หัวข้อ  และไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในรูปแบบเสมอไป  ต้องมีการประยุกต์ตามเรื่องราวที่ปรารภ

  สรุปความ  วิธีการดับกามตามหลักปฏิจจสมุปบาทก็เช่นเดียวกัน  อาจจะเริ่มจากอวิชชาดับเป็นต้นไป  จนถึง  ชรามรณะดับ  หรืออาจจะเริ่มจากการผัสสะดับ  ความรู้สึกว่า  ชอบใจ  ไม่ชอบใจ  หรือทั้งชอบใจและไม่ชอบใจในกาม  ก็เป็นอันดับไป  เพราะไม่มีการปรุงแต่งให้เกิดเวทนา  เมื่อไม่มีเวทนา  ตัณหาในกาม  คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  และธรรมารมณ์ก็ไม่มีเมื่อตัณหาไม่มี  อุปาทานคือความยึดมั่นในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  และธรรมารมณ์ก็ไม่มี  เมื่ออุปาทานไม่มี  ภพก็ไม่มีเมื่อภพไม่มี  ชาติก็ไม่มี  เมื่อชาติไม่มี  ชรามรณะก็ไม่มี  ด้วยหลักการนี้  กาม  จึงได้ชื่อว่า  ดับ  ตามหลักของปฏิจจสมุปบาทแท้

  วิธีดับกามตามแนวแห่งอริยสัจ 

  อริยสัจ    ถือว่าเป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  เพราะเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยพระองค์เองที่โคนต้นโพธิ์สถานที่ตรัสรู้  แล้วทรงนำเอาอริยสัจนั้นมาเผยแพร่  บอกชี้แจง  แนะนำ  หลังจากตรัสรู้แล้ว  อริยสัจนี้เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มาก  โดยจะทรงแสดงอริยสัจ    นี้หลังจากที่ทรงแสดงอนุบุพพีกถาจบลง  อริยสัจ  ๔เป็นหลักธรรมที่ครอบคลุมหลักธรรมคำสอนทั้งหมดของพระพุทธศาสนา  ดังพระบาลีที่ว่า

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายที่เที่ยวไปบนผืนแผ่นดินทั้งสิ้นทั้งปวง  ย่อมประชุมลงในรอยเท้าช้าง  รอยเท้าช้างนั้นกล่าวได้ว่า  เป็นยอดในบรรดารอยเท้าเหล่านั้น  โดยความมีขนาดใหญ่  ฉันใด  กุศลธรรมทั้งสิ้นทั้งปวง  ก็สงเคราะห์ลงในอริยสัจ๔ฉันนั้น  [8]

  อริยสัจ    นี้เป็นแกนกลางแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา  เพราะถึงแม้ว่า  พระไตรปิฎกซึ่งเป็นที่บรรลุหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาถึงจะมีถึง  ๔๕  เล่มนั้น  ก็เป็นเพียงการบรรยายอริยสัจอย่างใดอย่างหนึ่งในแง่มุมต่างๆ  โดยมีเป้าหมายสูงสุด  คือ  ความดับทุกข์เท่านั้น

  คำว่า  อริยสัจจะ  แยกเป็น  อริยะ  +  สัจจะ  อริยะ  แปลว่า  ประเสริฐ  สัจจะ  แปลว่า  ความจริง  แปลรวมกันว่า  ความจริงอันประเสริฐ  ความจริงอันล้ำเลิศ  หรือบางท่านอาจจะแปล  อริยสัจจะ  ว่า  ความจริงอันทำบุคคลให้เป็นพระอริยบุคคลก็ได้  เพราะพระอริยบุคคลเป็นผู้สามารถดับกิเลส  หรือสังโยชน์ได้บางส่วนก็มี  ดับได้ทั้งหมดก็มี  เช่น  พระโสดาบัน  สามารถละสังโยชน์ได้    ข้อ  คือ  สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  และสีลัพพตปรามาส  พระสกทาคามีสามารถละสังโยชน์ได้    ข้อแรกเหมือนพระโสดาบัน  และก็สามารถทำราคะ  โทสะ  โมหะให้เบาบาง  เป็นต้น 

  พระพุทธเจ้าได้ให้คำจำกัดความของอริยสัจ  ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อริยสัจ    ประการนี้แล  เป็นของจริง  เป็นของแท้  ไม่คลาดเคลื่อนไปได้  ไม่กลายเป็นอย่างอื่น  เพราะฉะนั้น  จึงเรียกว่า  อริยสัจ [9]

  อริยสัจ    ในฐานะที่เป็นคำสอนที่เป็นแกนกลางแห่งคำสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนา  และเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้มาก  ในการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์  ก็ได้ทรงแสดงอริยสัจ    ประการนี้ด้วย  ดังนั้น  ก่อนที่กล่าววิธีการดับกามตามแนวแห่งอริยสัจ    ก็จะได

 

อริยสัจ    ในฐานะที่เป็นคำสอนที่เป็นแกนกลางแห่งคำสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนา  และเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้มาก  ในการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์  ก็ได้ทรงแสดงอริยสัจ    ประการนี้ด้วย  ดังนั้น  ก่อนที่กล่าววิธีการดับกามตามแนวแห่งอริยสัจ    ก็จะได้นำเอาเนื้อความแห่งอริยสัจ    ที่ทรงตรัสไว้ในธัมมจักกัปปวัตนสูตรว่า

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็  นี้แล  เป็นทุกขอริยสัจ  คือ  ความเกิดก็เป็นทุกข์  ความแก่ก็เป็นทุกข์  ความตายก็เป็นทุกข์  ความเศร้าโศก  ความร่ำไร  ความทุกข์  โทมนัส  และความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์  การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์  การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์  ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น  ก็เป็นทุกข์  โดยย่ออุปาทานขันธ์    เป็นทุกข์

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็นี้แลเป็นทุกขสมุทยอริยสัจ  คือ  ตัณหาที่ทำให้มีภพใหม่  ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความติดใจ  คอยเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์นั้นๆ  ได้แก่  กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็  นี้แล  เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ  คือ  การดับเพราะสำรอกออกไปโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ  การสละเสียได้  การสลัดคืน  ความพ้น  ความไม่มีอาลัย

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็  นี้แล  เป็นทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ  คือ  อริยมรรคมีองค์    นี้แหละ  ได้แก่  สัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ[1]

  เนื้อความแห่งอริยสัจ    ประการนี้  พระธรรมปิฏก[2]  ได้อธิบายขยายความออกไปเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น  ดังนี้

  ๑.  ทุกข์  แปลว่า  ความทุกข์  หรือสภาพที่ทนได้ยาก  ได้แก่  ปัญหาต่างๆ  ของมนุษย์  กล่าวให้ลึกลงไปอีก  หมายถึง  สภาวะของสิ่งทั้งหลายที่ตกอยู่ในกฎธรรมดาแห่งความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  ซึ่งประกอบด้วยภาวะบีบคั้น  กดดัน  ขัดแย้ง  ขัดข้อง  มีความบกพร่อง  ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง  ขาดแก่นสาร  และความไม่เที่ยงแท้  ไม่อาจให้ความพึงพอใจเต็มอิ่มแท้จริง  พร้อมที่จะก่อปัญหา  สร้างความทุกข์ขึ้นมาได้เสมอ  ทั้งที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นแล้ว  และที่อาจเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา  เมื่อใดเมื่อหนึ่ง  ในรูปใดรูปหนึ่งแก่ผู้ที่ยึดติดถือมั่นไว้ด้วยอุปาทาน

  ๒.  ทุกขสมุทัย  เรียกสั้นๆ  ว่า  สมุทัย  แปลว่า  เหตุเกิดแห่งทุกข์  หรือสาเหตุใ้ทุกข์เกิดขึ้น  ได้แก่  ความอยากที่ยึดถือเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง  โดยอาการที่มีเรา  ซึ่งจะเสพเสวย  ที่จะได้จะเป็น  จะไม่เป็นอย่างนั้น  อย่างนี้  ทำให้ชีวิตถูกบีบคั้นด้วยความเร่าร้อน  ร่านรน  กระวนกระวาย  ความหวงแหน  เกลียดชัง  หวั่นกลัว  หวาดระแวง  ความเบื่อหน่าย  หรือความคับข้องติดขัดในรูปใดรูปหนึ่งอยู่ตลอดเวลา  ไม่อาจปลอดโปร่งโล่งเบา  เป็นอิสระ  สดชื่น  เบิกบานได้อย่างบริสุทธิ์สิ้นเชิง  ไม่รู้จักความสุขชนิดที่เรียกว่าไร้ไฝฝ้า  และอึดเพ้อ

  ๓.  ทุกขนิโรธ  เรียกสั้นๆ  ว่า  นิโรธ  แปลว่า  ความดับทุกข์  ได้แก่  ภาวะที่เข้าถึง  เมื่อกำจัดอวิชชาสำรอกตัณหาสิ้นแล้ว  ไม่ถูกตัณหาย้อมใจ  หรือฉุดลากไป  ไม่ถูกบีบคั้นด้วยความรู้สึก  กระวนกระวาย  ความเบื่อหน่าย  หรือความขัดข้องอย่างใดๆหลุดพ้นเป็นอิสระ  ประสบความสุขที่บริสุทธิ์  สงบ  ปลอดโปร่งโล่งเบา  ผ่องใส  เบิกบาน  เรียกสั้นๆ  ว่า  นิพพาน

  ๔.  ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  เรียกสั้นๆ  ว่า  มรรค  แปลว่า  ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับทุกข์  หรือ  ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  ได้แก่  อริยอัฏฐังคิกมรรค  หรือทางประเสริฐมีองค์ประกอบ    คือ  สัมมาทิฏฐิ  ฯลฯ  สัมมาสมาธิ  ที่เรียกว่า  มัชฌิมาปฏิปทา  เพราะเป็นทางสายกลาง  ซึ่งดำเนินไปพอดีที่จะให้ถึงนิโรธ  โดยไม่ติดข้องหรือเอียงไปหาที่สุดสองอย่าง  คือ  กามสุขัลลิกานุโยค  ( ความหมกมุ่นในกามสุข )  และอัตตกิลมถานุโยค  ( การประกอบความลำบากแก่ตน  คือ  บีบคั้นทรมานตนเองให้เดือดร้อน )

  อริยสัจ    นี้  เป็นวิธีการนำเสนอที่ครบกระบวนการ  คือ  ทั้งปัญหา  สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา  ปัญหาหมดไปและวิธีการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา  เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับปฏิจจสมุปบาทแล้ว  จะเห็นได้ว่า  ในอริยสัจ    นั้น  มีทั้งสายเกิด  และสายดับเหมือนปฏิจจสมุปบาท  สายเกิดของอริยสัจ  คือ  สมุทัย  ส่วนสายดับก็คือ  นิโรธ  แต่ดูเหมือนว่า  อริยสัจ    จะมีความพิเศษกว่าปฏิจจสมุปบาท  นั่นก็คือ  ในอริยสัจ    นั้นได้  นำเสนอวิธีการปฏิบัติเพื่อความพ้นจากทุกข์  นั่นก็คือ  อริยมรรคมีองค์    และได้เปรียบเทียบแต่ละข้อเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น  เช่น  ทุกข์เปรียบเหมือนปัญหา  สมุทัยเปรียบเหมือนสาเหตุของปัญหา  นิโรธเปรียบเหมือนความหมดปัญหา  และมรรคเปรียบเหมือนวิธีการแก้ปัญหา  เป็นต้น  ถ้าจะว่าไปแล้ว  อริยสัจ    ประการนี้  เป็นสิ่งที่มีอยู่และเป็นไปตามธรรมชาติในชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์  โดยเฉพาะทุกข์  เห็นได้ง่ายกว่าหัวข้ออื่น  และคงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงทุกข์ก่อนอื่นใด  ถึงแม้ว่าชีวิตของเราจะมีความจริงอยู่ด้วย  แต่เราก็ไม่สามารถมองเห็นตามความเป็นจริงได้  ทั้งนี้เป็นเพราะเราถูกมิจฉาทิฏฐิปิดบังไม่ให้เห็นตามความเป็นจริงดังที่อาจารย์แสง  จันทร์งาม  กล่าวไว้ว่า

  อริยสัจจะทั้ง    เป็นความจริงที่มีอยู่แล้วโดยตัวของมันเองในชีวิตของเราและในสัตว์ทั้งหลาย  ทุกข์มีอยู่แล้วที่ตัวเราทุกคน  เราจะเห็นหรือไม่เห็น  มันก็มีอยู่อย่างนั้น  สมุทัยคือเหตุให้ทุกข์เกิด  มันก็ติดอยู่กับทุกข์นั้นเอง  เหมือนต้นไม้กับรากไม้  หรือถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดก็เหมือนอาการโรคกับตัวเชื้อโรค  อยู่ด้วยกันอาศัยซึ่งกันและกัน  นิโรธ  คือความดับทุกข์  ก็แฝงอยู่ในชีวิตนี้  เหมือนความหายโรค  ก็มีแฝงอยู่ในโรคและอาการของโรคนั้นแหละ  ถ้าตัวเชื้อโรคตายเมื่อไร  ความหายโรคก็แสดงตัวออกมาทันที  มรรค  คือทางดับทุกข์ที่มีอยู่ที่ตัวเรา  แต่มีอยู่ในลักษณะแฝง  เช่น  สัมมาทิฏฐิก็มีแฝงอยู่  แต่มันถูกมิจฉาทิฎฐิปิดบังไว้  จึงไม่แสดงตัวออกมา  กำจัดมิจฉาทิฎฐิออกไปเมื่อใด  สัมมาทิฏฐิก็ปรากฏตัวออกมาทันทีเมื่อนั้น  [3]

    ญาณ    อาการ  ๑๒ 

  อนึ่ง  ก่อนที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการดับกามตามแนวแห่งอริยสัจ    นั้น  จะได้กล่าว  ญาณ    ที่เกี่ยวกับอริยสัจ    ซึ่งมีความสำคัญมาก  เพราะเป็นเกณฑ์ในการวัดความตรัสรู้  ถ้าเมื่อใดสามารถรู้อริยสัจ    แต่ละอย่างด้วยญาณครบทั้ง    ประการ  คือ  สัจจญาณ  กิจญาณ  และกตญาณ  เมื่อนั้น  ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้อริยสัจอย่างแท้จริง  หรือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว  ญาณ    นี้  เรียกอีกอย่างว่า  ญาณทัสสนะ  อันมีรอบ    [4]  ดังนี้

  ๑.  สัจจญาณ  ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ    แต่ละอย่างตามที่เป็น  คือ  ยอมรับว่า  นี้ทุกข์  นี้ทุกขสมุทัย  นี้ทุกขนิโรธ  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  เป็นขั้นของการยอมรับอริยสัจ  ทั้ง    นี้ว่ามีอยู่จริง  หรือขั้นปริยัติ

  ๒.  กิจญาณ  ปรีชาหยั่งรู้หน้าที่ที่จะต้องทำต่ออริยสัจ    ว่า  ทุกข์ควรกำหนดรู้  สมุทัยควรละ  นิโรธควรทำให้แจ้ง  และมรรคควรเจริญอบรม  ขั้นนี้เป็นขั้นของการลงมือปฏิบัติ

  ๓.  กตญาณ  ปรีชาหยั่งรู้ว่าหน้าที่ที่ต้องทำตามอริยสัจ    นั้นทำเสร็จแล้ว  คือรู้ว่า  ทุกข์เป็นสิ่งควรกำหนดรู้  ก็ได้กำหนดรู้แล้ว  สมุทัยควรละ  ก็ได้ละแล้ว  นิโรธควรทำให้แจ้ง  ก็ได้ทำให้แจ้งแล้ว  และมรรคควรเจริญ  ก็ได้เจริญแล้ว  ขั้นนี้เป็นขั้นของการบรรลุ  หรือปฏิเวธ

  ญาณทัสสนะนี้  มีอาการ  ๑๒  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  ญาณ    อาการ  ๑๒  ความรู้ในอาการ  ๑๒  นี้เป็นตัวชี้วัด  หรือตรวจสอบความสำเร็จในการปฏิบัติการแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง  เพื่อให้เห็นรูปที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  จึงจัดทำเป็นตารางได้ดังนี้

ญาณ    อาการ  ๑๒  ในอริยสัจ 

ญาณ 

สัจจะ 

สัจญาณ

กิจญาณ

กตญาณ

ทุกข์

รู้ว่าทุกข์มีอยู่จริง

-รู้ว่าทุกข์คือกามมีอยู่จริง

รู้ว่าทุกข์ควรกำหนดรู้

-รู้ว่าทุกข์คือกามควรกำหนดรู้

รู้ว่าทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว

-รู้ว่าทุกข์คือกามได้กำหนดรู้แล้ว

สมุทัย

รู้ว่าสาเหตุแห่งทุกข์มีอยู่จริง

-รู้ว่าสาเหตุแห่งกามคือผัสสะมีอยู่จริง

รู้ว่าสาเหตุแห่งทุกข์ควรละ

-รู้ว่าผัสสะควรละ

รู้ว่าสาเหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว

-รู้ว่าผัสสะได้ละแล้ว

นิโรธ

รู้ว่านิโรธมีอยู่จริง

-รู้ว่าภาวะดับกามมีอยู่จริง

รู้ว่านิโรธควรทำให้แจ้ง

-รู้ว่าภาวะดับกามควรทำให้แจ้ง

รู้ว่านิโรธได้ทำให้แจ้งแล้ว

-รู้ว่าภาวะดับกามได้ทำให้แจ้งแล้ว

มรรค

รู้ว่ามรรคมีอยู่จริง

-รู้ว่าวิธีดับกามมีอยู่จริง

รู้ว่ามรรคควรเจริญ

-รู้ว่าวิธีดับกามควรเจริญ

รู้ว่ามรรคได้เจริญแล้ว

-รู้ว่าวิธีดับกามได้เจริญแล้ว

  .  กิจในอริยสัจ    เป็นวิธีปฏิบัติดับกาม 

  วิธีการดับกามตามหลักของอริยสัจ    ซึ่งกำหนดให้กามนั้นเป็นตัวทุกข์  เพราะกามคือความใคร่  ความกำหนัดในจิต  ความยึดติด  จึงเป็นเหตุให้มีการแสวงหาโภคทรัพย์  เมื่อได้โภคทรัพย์นั้นมาก็เป็นสุข  เมื่อไม่ได้  ก็เสียใจ  เป็นทุกข์  เพราะการแสวงหาโภคทรัพย์นั้นจะสมความปรารถนาทุกครั้งไปคงเป็นไปไม่ได้  กามได้สร้างทุกข์ให้นานาประการแก่ผู้แสวงหาโภคทรัพย์ในทางที่ผิดศีลธรรม  เช่น  การแก่งแย่ง  การปล้นสดมภ์  การประหัตประหารกัน  อาจจะถึงความตาย  หรือถึงทุกข์ปางตายได้  เป็นต้น  เพราะกามนี้มีโทษ  มีข้อบกพร่องอยู่ในตัวไม่เต็มอิ่ม  เป็นความขัดข้อง  เป็นความคับแค้น  ดังนี้  กามนี้จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์

  สมุทัย  คือ  สาเหตุแห่งทุกข์  ตัวทุกข์ในวิธีการนี้  กำหนดไว้แล้วก็คือ  กาม  ความกำหนัดยินดี  สาเหตุที่ทำให้กามเกิดจนก่อให้เกิดปัญหา  ก่อให้เกิดความทุกข์ตามมามากมาย  โดยกำหนดสาเหตุที่ทำให้กามเกิด  คือ  ผัสสะ  ผัสสะคือ  การประจวบกันของธรรม    ประการ  คือ  ตากระทบรูป  เกิดจักษุวิญญาณ  รวมทั้ง    ประการ  เป็นจักษุสัมผัส  ( ตา  +  รูป  +  จักษุวิญญาณ  =  จักษุสัมผัส )  เป็นต้น  ในหู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  ก็เช่นเดียวกัน  สาเหตุที่ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกาม  ก็เพราะเมื่อมีการกระทบกันแล้วทำให้มีการปรุงแต่งเกิดความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  ทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจต่ออารมณ์ที่มากระทบนั้นจึงทำให้รู้สึกว่าสุขบ้าง  ทุกข์บ้าง  เฉยๆบ้าง  ที่เรียกว่า  เวทนา  และเวทนานี้ก็ยังปรุงแต่งต่อไปอีก  ถ้าเกิดความชอบใจ  ติดใจ  อยากได้สิ่งที่ชอบใจนั้น  ก็เป็นกามตัณหา  ถ้าเกิดความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ก็เป็นภวตัณหา  ถ้ากระทบแล้วความเบื่อ  เกลียดชัง  ไม่อยากอย่างนั้น  ก็เป็นวิภวตัณหา  พูดง่ายๆ  แล้วก็คือ  เพราะกระทบแล้วทำให้กิเลสเกิดขึ้นในจิตใจ  ดังนั้น  ผัสสะ  จึงถือว่า  เป็นสมุทัยของกาม  ดังที่กล่าวไว้แล้วในหัวข้อที่ว่า  เหตุเกิดแห่งกาม

  นิโรธ  คือ  ความดับทุกข์  ความหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง  ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต  นั่นก็คือ  นิพพาน  และสภาวะของการดับกามได้โดยสิ้นเชิง  ก็กำหนดเอาไว้ที่นิพพานเช่นเดียวกัน  เพราะเป็นสภาวะแห่งความโล่งโปร่ง  สบาย  เพราะหมดความเยื่อใยในกามแล้ว

  และมรรค  คือปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์  อันได้แก่  อริยมรรค  มีองค์    มีสัมมาทิฏฐิ  ฯลฯ  สัมมาสมาธิ  เป็นหนทางอันประเสริฐ  เพราะถ้าปฏิบัติตามได้อย่างสมบูรณ์แล้วย่อมนำมาซึ่งความดับทุกข์ทั้งปวง  และในปฏิปทาที่จะปฏิบัติเพื่อความดับกาม  ในที่นี้ก็คืออริยมรรค  มีองค์    นี้เช่นกัน  ดังพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งในนิพเพธิกสูตรว่า  "อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์    ประการนี้แล  คือ  สัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ  เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับกาม" [5]

  อนึ่ง  เนื่องจากอริยมรรคมีองค์    เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับกาม  เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับอริยมรรคมีองค์    จึงจะขยายความเพิ่มเติมตามแนวแห่งมรรควิภังคสูตร[6]  ดังนี้

  ๑.  สัมมาทิฏฐิ  คือ  ความเห็นชอบ  หมายถึง  ความรู้ในทุกข์  ความรู้ในทุกขสมุทัย  ความรู้ในทุกขนิโรธ  และความรู้ในปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์

  ๒.  สัมมาสังกัปปะ  คือ  ความดำริชอบ  หมายถึง  ดำริในการออกจากกาม  ดำริในการไม่พยาบาท  ปองร้ายผู้อื่น  และดำริในทางไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น 

  ๓.  สัมมาวาจา  คือ  การเจรจาชอบ  หมายถึง  การงดเว้นจากการพูดเท็จพูดคำส่อเสียดพูดคำหยาบ  และพูดเพ้อเจ้อ

  ๔.  สัมมากัมมันตะ  คือ  การงานชอบ  หมายถึง  การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์  การลักขโมย  และการประพฤติไม่ประเสริฐ

  ๕.  สัมมาอาชีวะ  คือ  การเลี้ยงชีพชอบ  หมายถึง  การไม่ประกอบมิจฉาชีพ  ได้แก่  ค้าขายอาวุธ  ค้าขายสัตว์รวมทั้งมนุษย์  ค้าขายเนื้อ  ค้าขายสิ่งมึนเมาต่างๆ  และค้าขายยาพิษ  และมาประกอบสัมมาอาชีพ

  ๖.  สัมมาวายามะ  คือ  ความเพียรชอบ  หมายถึง  ความเพียรพยายามระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน  (สังวรปธาน)  เพียรพยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว  (ปหานปธาน)  เพียรพยายามให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน  (ภาวนาปธาน)  และเพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม (อนุรักขนาปธาน)

  ๗.  สัมมาสติ  คือ  การระลึกชอบ  หมายถึง  การระลึกในสติปัฏฐาน    คือ  พิจารณาเห็นกายในกาย  พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา  พิจารณาเห็นจิตในจิต  และพิจารณาเห็นธรรมในธรรม

  ๘.  สัมมาสมาธิ  คือ  ความตั้งมั่นชอบ  หมายถึง  การสงบสงัดจากกาม  สงัดจากอกุศลทั้งหลายแล้ว  บรรลุปฐมฌาน  ทุติยฌาน  ตติยฌานและจตุตถฌานตาลำดับ

  อริยมรรคมีองค์    นี้  เป็นหนทางเดียว  หรือเป็นอันเดียว  มิใช่ว่าจะแยกกันเป็น    ประการ    อย่างแต่ประการใด  เปรียบอริยมรรคมีองค์๘  เหมือนถนนสายเดียว  แต่มี    เลน  หรือเชือกเส้นเดียว  แต่มี    เกลียว  เพราะถ้าเมื่อปฏิบัติตามได้ก็ได้ชื่อว่าปฏิบัติได้ทั้ง    พร้อมกันไป

 

  เมื่อยอมรับแล้วว่า  ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  และมรรค  มีอยู่จริง  เพราะได้ทำการศึกษามาแล้ว  ในขั้นของสัจญาณ  ในการที่จะดับกามได้นั้น  ต้องลงมือปฏิบัติตามหน้าที่หรือกิจในอริยสัจให้ถูกต้องและสมบูรณ์  กิจในอริยสัจนั้น  มี    อย่าง  ตามพระบาลีว่า

  ๑.  ทุกฺขํ  อริยสจฺจํ  ปริญฺเญยฺยํ  ทุกขอริยสัจควรกำหนดรู้

  ๒.  ทุกฺขสมุทโย  อริยสจฺจํ  ปหาตพฺพํ  ทุกขสมุทยอริยสัจ  ควรละ

  ๓.  ทุกฺขนิโรโธ  อริยสจฺจํ  สจฺฉิกาตพฺพํ  ทุกขนิโรธอริยสัจ  ควรทำให้แจ้ง

  ๔.  ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสจฺจํ  ภาเวตพฺพํ  ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาควรเจริญ  [7]

 

  .  ปริญญากิจ  หน้าที่ในการกำหนดรู้ทุกข์  ซึ่งทุกข์ในวิธีการดับนี้  ก็คือ  กาม  เพราะกามเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด  ความพอใจ  ความยินดี  เพราะความอยากได้ในกามคุณ    คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  จึงทำให้มีการแสวงหา  ซึ่งในบางครั้งแสวงหาแบบไร้ศีลธรรมจนเป็นเหตุนำมาซึ่งการประหัตประหารกัน  การสู้รบกัน  วิวาทกัน  แย่งชิงกัน  อาจถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บปางตายได้  เพราะกามเป็นเหตุให้มีการยึดมั่นในอัตตาอย่างลืมหูลืมตา  และเพราะกามให้ความสุขอันไม่ประเสริฐ  ไม่ยั่งยืน  มีความยินดีน้อย  มีทุกข์มาก  มีความคับแค้นมาก  เพราะตกอยู่ภายใต้ของไตรลักษณ์  คือ  ไม่เที่ยง  ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้  และหาตัวตนที่แท้ถาวรไม่ได้  เมื่อเกิดขึ้นแล้ว  ตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วก็ดับไปเป็นต้น  ดังนั้น  กามนี้  จึงเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้  หรือ  ควรทำความเข้าใจให้ดี

  .  ปหานกิจ  หน้าที่ในการละสาเหตุแห่งทุกข์  ในที่นี้  ก็คือสาเหตุแห่งกาม  ซึ่งสาเหตุที่ทำให้กามเกิดขึ้นมา  คือ  ผัสสะ  ได้แก่  ตากระทบรูป  หูกระทบเสียงจมูกกระทบกลิ่นลิ้นกระทบรสกายกระทบสิ่งสัมผัสทางกายและใจกระทบธรรมารมณ์ด้วยละผัสสะหรือการกระทบนั้นเสีย  เพราะถ้าละผัสสะซึ่งเป็นสาเหตุแห่งกามได้  กามซึ่งเป็นตัวก่อปัญหาก็เป็นอันถูกละไปทันที 

  การที่จะละผัสสะนั้นต้องให้รู้เท่าทันถึงอารมณ์    คือ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์  ที่เข้ามากระทบทางทวารทั้ง    ว่าเป็นสิ่งที่หยาบตกอยู่ภายใต้ของสังขตลักษณะ  คือ  ความเกิดย่อมปรากฏ  ความเสื่อมย่อมปรากฏ  และเมื่อตั้งอยู่ความเปลี่ยนแปลงปรากฏ  พูดง่ายๆก็คือ  เกิดขึ้น  ดำรงอยู่อย่างเปลี่ยนแปลง  แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา  ไม่เที่ยงแท้  ไม่อาจทนอยู่สภาพเดิม  ไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้  เมื่อเห็นอารมณ์    ตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว  ก็วางอุเบกขา  คือ  วางเฉยอย่างมีสติสัมปชัญญะกำกับ  เมื่อเห็นรูปก็สักว่าเห็น  เมื่อได้ยินเสียงก็สักว่าได้ยิน  เมื่อได้กลิ่นก็สักว่าดม  เมื่อลิ้มรสก็สักว่าลิ้ม  เมื่อถูกต้องสิ่งสัมผัสทางกายก็สักว่าถูกต้องเมื่อรู้ธรรมารมณ์ก็สักว่ารู้  ไม่เกิดความชอบใจ  ความไม่ชอบใจ  หรือทั้งความชอบใจและความไม่ชอบใจ  ไม่เจือด้วยกิเลส  ไม่กำหนัด  ไม่ยินดี  เมื่อเป็นเช่นนี้  ผัสสะซึ่งเป็นสาเหตุแห่งกามก็เป็นอันถูกละได้  เมื่อผัสสะถูกละ  กามซึ่งเป็นปัญหาก็เป็นอันถูกละได้ด้วย  นี้คือ  กิจในการละสาเหตุแห่งกาม

 

  .  สัจฉิกิริยกิจ  หน้าที่ในการทำความทุกข์ให้แจ้ง  เป็นการบรรลุถึงภาวะแห่งความดับทุกข์  เป็นภาวะที่แก้ปัญหาได้เสร็จสิ้น  หมดปัญหา  ซึ่งเป้าหมายของความดับกามก็คือ  การได้บรรลุถึงพระนิพพาน  ซึ่งเป็นภาวะที่เป็นสุขอันประเสริฐ  เป็นภาวะที่โล่งโปร่ง  เบาสบาย  พระนิพพานมี    ประการ  คือ

  ๑).  สอุปาทิเสสนิพพาน  ดับกิเลสได้แล้ว  แต่ยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่  คือมีชีวิตอยู่  ยังต้องประสบกับร้อน  หนาวอยู่  แต่กิเลสภายในจิต  ท่านละได้หมดสิ้นแล้ว

  ๒).  อนุปาทิเสสนิพพาน  ดับกิเลสได้แล้ว  และก็สิ้นชีพแล้วด้วย  [8]

  .  ภาวนากิจ  หน้าที่ในการเจริญอบรม  หรือปฏิบัติตามหนทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์  ซึ่งทุกข์ในที่นี้ก็คือกาม  การที่จะดับกามได้นั้นต้องปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์    คือ  สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ  สัมมาสังกัปปะ  ความดำริชอบสัมมาวาจา  การเจรจาชอบ  สัมมากัมมันตะ  การงานชอบ  สัมมาอาชีวะ  การเลี้ยงชีพชอบ  สัมมาวายามะ  ความเพียรชอบ  สัมมาสติ  ความระลึกชอบ  และสัมมาสมาธิ  ความตั้งมั่นชอบ  เป็นการปฏิบัติเพื่อไปสู่จุดหมายที่ได้ตั้งเอาไว้แล้ว  คือ  นิพพาน 

  เมื่อปัญหาคือกามควรทำความเข้าใจ  สาเหตุของกามคือผัสสะ  ควรละ  เพื่อจุดหมายคือนิพพาน  ก็ลงมือแก้ปัญหาโดยแก้ที่สาเหตุที่ทำให้กามเกิด  นั่นก็คือ  ผัสสะ  โดยการพิจารณากระบวนการของผัสสะให้เห็นตามความเป็นจริง  กระบวนการของผัสสะ  คือ  การประจวบกันเข้าของธรรม    ปะการ  คือ  อายตนะภาใน    อายตนะภายนอก    และวิญญาณ    รวมกันเป็นผัสสะดังที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้  ซึ่งสามารถเขียนได้ดังนี้

  ตา    -   เห็น   - รูป    +  จักษุวิญญาณ  =  จักษุสัมผัส

  หู    -  ฟัง    -  เสียง  +  โสตวิญญาณ  = โสตสัมผัส

  จมูก   -   ดม   - กลิ่น    +  ฆานวิญญาณ  =  ฆานสัมผัส

  ลิ้น    -  ลิ้ม    -  รส  +  ชิวหาวิญญาณ  =  ชิวหาสัมผัส

  กาย  -  ถูกต้อง -  โผฏฐัพพะ    +  กายวิญญาณ  =  กายสัมผัส

  ใจ    -  รู้    -  ธรรมารมณ์  +  มโนวิญญาณ  =  มโนสัมผัส

  การที่จะพิจารณากระบวนการของผัสสะให้เห็นตามความเป็นจริงนั้นก็ด้วยการยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์  คือ  ให้เห็น  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะธรรมารมณ์  และ  จักษุวิญญาณ  โสตวิญญาณ  ฆานวิญญาณ  ชิวหาวิญญาณ  กายวิญญาณ  มโนวิญญาณ  เป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา  เพราะบางครั้งตาก็เห็นรูปชัดบ้าง  ไม่ชัดบ้าง  เห็นรูปสวยบ้าง  ไม่สวยบ้าง  บางครั้งหูก็ได้ยินเสียงไพเราะบ้าง  ไม่ไพเราะบ้าง  บางครั้งจมูกก็ได้กลิ่นเหม็นบ้าง  หอมบ้าง  บางครั้งลิ้นก็ได้ชิมรสอาหารที่อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้าง  บางครั้งกายก็ได้ถูกต้องสัมผัสสิ่งที่ดีนุ่มนวลบ้างสิ่งที่ไม่ดี  ไม่นุ่มนวลบ้าง  บางครั้งใจเองก็คิดในทางอกุศลบ้าง  คิดในทางกุศลบ้าง  เมื่อพิจารณาจนเห็นตามสภาพความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว  ก็จะเกิดความวางอุเบกขา  ไม่ยินดี  ไม่กำหนัด  เมื่อตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง  จมูกได้กลิ่น  ลิ้นได้ลิ้มรส  กายได้กระทบสิ่งสัมผัสทางกาย  และใจได้ทราบธรรมารมณ์  คือเห็นสักว่าเห็น  ได้ยินสักว่าได้ยิน  ได้กลิ่นสักว่าดม  ลิ้มรสสักว่าลิ้ม  ได้ถูกต้องสิ่งสัมผัสทางกายสักว่าถูกต้อง  ได้ทราบอารมณ์ทางใจสักว่าทราบไม่ยึดมั่น  ไม่ติด  ไม่เจือด้วยกิเลส  เป็นสักแต่ว่ากิริยา  บุคคลที่สามารถยกกระบวนการของผัสสะขึ้นสู่ไตรลักษณ์ได้จนเห็นตามสภาพความเป็นจริงอย่างนี้  อริยมรรคมีองค์    ชื่อว่าได้เจริญอบรมทันที  เพราะถ้าในขณะนั้น  เขามีความเห็นอย่า

 

  เพราะถ้าในขณะนั้น  เขามีความเห็นอย่างไร  ความเห็นอันนั้น  เป็นสัมมาทิฐิ  มีความคิดเป็นอย่างไรในขณะนั้น  ความคิดนั้นเป็นสัมมาสังกัปปะ  มีความพยายามเป็นอย่างไร  ความพยายามนั้นเป็นสัมมาวายามะ  มีความระลึกเป็นอย่างไร  ความระลึกนั้นเป็นสัมมาสติ  มีความตั้งมั่นอย่างไร  ความตั้งมั่นนั้นเป็นสัมมาสมาธิ  เป็นการปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานไปพร้อมกัน  เพราะอริยมรรคมีองค์    นี้  เมื่อย่อให้เหลือ    ประการ  ก็ย่อลงที่สมถะและวิปัสสนา  ดังเนื้อความแห่งสฬายตนวิภังคสูตร*  ซึ่งมีเนื้อความโดยย่อว่า

    การอบรมเจริญมรรคมีองค์    นั้น  เริ่มจากการรู้เห็นสัมผัสทางตา  สัมผัสทางหู  สัมผัสทางจมูก  สัมผัสทางลิ้น  สัมผัสทางกาย  และสัมผัสทางใจตามสภาพความเป็นจริง  รู้เห็นการเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขก็ตาม  เป็นทุกข์ก็ตาม  ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ตามเพราะการสัมผัสนั้นๆ  เป็นปัจจัย  ตามสภาพความเป็นจริง  จึงไม่กำหนัด  ไม่ลุ่มหลง  เมื่อได้สัมผัส  ไม่ยึดมั่นถือมั่นจนสามารถละตัณหาได้  ละความทุกข์  ความกระวนกระวาย  ความเร่าร้อนได้  แล้วมาได้เสวยอารมณ์เป็นสุขทั้งทางกายและทางใจ  ในขณะนั้น  มีความเห็นอย่างไร  ความรู้ความเห็นเช่นนั้นเป็นสัมมาทิฐิ  มีความคิดอย่างไรความคิดเช่นนั้นเป็นสัมมาสังกัปปะ  มีความพยายามอย่างไร  ความพยายามเช่นนั้นเป็นสัมมาวายามะ  มีความระลึกอย่างไรความระลึกเช่นนั้นเป็นสัมมาสติมีความตั้งมั่นอย่างไร  ความตั้งมั่นเช่นนั้นเป็นสัมมาสมาธิ  เป็นต้น  อริยมรรคมีองค์    เขาชื่อว่าได้ปฏิบัติสมบูรณ์พร้อมกันไปและหลักธรรมอื่นๆที่เป็นเครื่องสนับสนุนการบรรลุคือ  สติปัฏฐาน    สัมมัปปธาน    อิทธิบาท    อินทรีย์    พละ    โพชฌงค์    ก็ได้ปฏิบัติสมบูรณ์ไปพร้อมกัน  เขาย่อมมีสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป  เขาชื่อว่ากำหนดร้ธรรมที่ควรกำหนดร้ด้วยปัญญาอันยิ่ง  ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง  เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง  ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง[1]

  การที่จะดับกามได้ตามแนวแห่งอริยสัจ    นั้นต้องรู้เห็นในญาณ    อาการ  ๑๒  ตามความเป็นจริง  มิใช่ว่าเป็นแต่เพียงการท่องจำ  แต่เป็นการรู้เป็นตามความหมายของคำว่า  ญาณทัสสนะ  อย่างแท้จริง  ก็จะได้ชื่อว่าบรรลุพระอรหันต์ดำรงตนอยู่ในสอุปาทิเสสนิพพาน  คือ  ผู้ดับกิเลสได้แล้ว  แต่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยความสุขใจ  เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  คือมรณภาพ  เรียกว่า  ท่านเข้าสู่อนุปาทเสสนิพพาน  คือ  ผู้ที่ดับกิเลสได้แล้ว  และขันธ์    ของท่านก็ดับเช่นกัน  นับเป็นการดับอย่างสมบูรณ์โดยไม่เหลือ  และไม่มีภพใหม่สำหรับท่าน  ชาติสิ้นแล้วภพสิ้นแล้ว  พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

  สรุปความ  กามตามทัศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทนั้น  เกิดขึ้นเพราะมนุษย์คิดอยากได้  อยากเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้  อยากดีกว่าคนอื่น  อยากเด่น  แล้วปรุงแต่งให้วิจิตร  และสาเหตุที่ทำให้เกิดความคิดเช่นนั้น  ก็เพราะสัมผัสหรือได้ประสบพบเห็นกับสิ่งนั้นๆ  หรือเหตุการณ์นั้นๆมาแล้ว  หลังจากที่ได้สัมผัสแล้วก็ปรุงแต่งทำให้เกิดความชอบใจในสิ่งที่อยากได้  ไม่ชอบใจในสิ่งที่เกลียด  หรือเฉยๆกับบางสิ่งที่ไม่รู้สึกว่าชอบใจก็ไม่ใช่  ไม่ชอบใจก็ไม่ใช่  ความรู้สึกชอบใจ  ไม่ชอบใจ  หรือเฉยๆนั้นก็จะปรุงแต่งให้เกิดตัณหา  อุปาทานซึ่งเป็นตัวกิเลส  ต่อไปอีกเป็นวัฏจักร  ถึงแม้ว่ากามจะมีกระบวนการเกิดที่เป็นลูกโซ่เช่นนี้  แต่ก็สามารถที่จะทำลายหรือกำจัดกระบวนการของกามนั้นได้ด้วยวิธีการสำรวมอินทรีย์  หรือด้วยวิธีการตามหลักปฏิจจสมุปบาท  หรือว่าจะด้วยการพิจารณาให้เห็นแจ้งตามหลักอริยสัจ    โดยการกำหนดพิจารณาให้รู้เท่าทัน  เช่น  เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น  เมื่อได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน  เมื่อได้กลิ่นก็สักแต่ว่าดม  เมื่อได้ลิ้มรสก็สักว่าลิ้ม  เมื่อได้สัมผัสทางกายก็สักแต่ว่าได้สัมผัส  หรือเมื่อรู้ธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่ารู้เท่านั้น  คือให้รู้เท่าทันว่าสิ่งเหล่านั้น  ล้วนแล้วแต่ไม่เที่ยงแท้  ทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้  และไม่มีตัวตนที่เที่ยงแท้  เมื่อรู้เท่าทันตามความเป็นจริงอย่างนี้  จิตก็ย่อมไม่ลุ่มหลง  ไม่ยึดติด  กิเลสคือตัณหา  อุปาทาน  ก็ไม่เกิดขึ้น  เมื่อกิเลสไม่เกิดขึ้นแล้ว  ก็สามารถดับกามนั้นได้โดยไม่เหลือ  และจิตก็จะก้าวเข้าสู่ฌาน  สมาบัติหรือมรรคผลสืบต่อไป

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล    นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี



  * ในพระสูตรนี้  ธรรมที่ควรกำหนดรู้  คือ  อุปาทานขันธ์  ๕,  ธรรมที่ควรละ  คือ  อวิชชา  และภวตัณหา,  ธรรมที่ควรเจริญ คือ  สมถะและวิปัสสนา,  และธรรมที่ควรทำให้แจ้ง คือ  วิชชาและวิมุตติ.

  [1]ม.อุป.  ๑๔/๘๒๘-๘๓๑/๕๒๓-๕๒๖. 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท