มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

เทพยดา


ประมวลเรื่องเทพยดา

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

สารบัญ

บทนำ

บทที่ ๑  เทพยาดาที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธ

บทที่ ๒  ธรรมสร้างความสำเร็จ

บทนำ


 ในเทวปุตตสังยุตนี้ก็มีเนื้อความสืบต่อมาจากเทวตาสังยุตกล่าวถึงเทพบุตรและเทพธิดาทั้งหลายเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามปัญหาบ้างแสดงความคิดของตนเองในสำนักพระผู้มีพระภาคบ้างดังมีรายละเอียดที่นักศึกษาควรศึกษาดังต่อไปนี้

 เรื่องสิ่งที่ได้โดยยาก
 กามทเทพบุตรทูลว่า"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สมณธรรมทำได้ยากยิ่ง"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ชนทั้งหลายผู้ตั้งมั่นในศีลแห่งพระเสขะ มีตนตั้งมั่นแล้วย่อมกระทำสมณธรรมอันบุคคลทำได้โดยยากความยินดีย่อมนำสุขมาให้แก่บุคคลผู้เข้าถึงความเป็นไม่มีเรือน"
 กามทเทพบุตรทูลว่า"ธรรมชาติที่ตั้งมั่นได้ยากนี้คือจิต"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ชนเหล่าใดยินดีแล้วในความสงบอินทรีย์ ย่อมตั้งมั่นจิตที่ตั้งมั่นได้ยากอริยทั้งหลายเหล่านั้นตัดข่ายแห่งมัจจุไปได้"
 กามทเทพบุตรทูลว่า"ทางที่ไปได้ยากคือทางที่ไม่เสมอ"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"อริยะทั้งหลายย่อมไปได้ในทางที่ไม่เสมอที่ไปได้ยากผู้มิใช่อริยะย่อมเป็นผู้บ่ายศีรษะลงเบื้องต่ำ ตกลงไปในทางอันไม่เสมอทางนั้นสม่ำเสมอสำหรับอริยทั้งหลายเพราะอริยะทั้งหลายเป็นผู้สม่ำเสมอในทางอันไม่สม่ำเสมอ" (สัง.๑๕/กามทสูตร/๒๓๒-๒๓๕/๕๙-๖๐)อรรถกถาธิบาย
 เทพบุตรองค์นี้เคยเป็นพระโยคาวจรข่มกิเลสทั้งหลายด้วยความพากเพียร เพราะเป็นผู้มีกิเลสหนากระทำสมณธรรมก็ยังไม่บรรลุอริยภูมิ เพราะมีอุปนิสัยในปางก่อนน้อย กระทำกาละ (ตาย)แล้วไปบังเกิดในเทวโลก ไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยหวังจะทูลบอกว่าสมณธรรมทำได้ยาก คือ การกระทำสมณธรรมให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวตลอด ๑๐ ปีบ้าง ฯลฯ ๖๐ปีบ้าง ชื่อว่ากระทำได้ยาก
 ภิกษุอยู่บนปราสาท ๗ ชั้นเมื่อถูกพระภิกษุผู้แก่กว่ามาบอกว่า เสนาสนะนี้ตกถึงผมย่อมถือเอาบาตรจีวรออกไปโดยดี เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าผู้เข้าถึงความไม่มีเรือนคือปราศจากเรือน
 พระอริยะเหล่าใดยินดีแล้วในความสงบแห่งอินทรีย์ทั้งกลางวันและกลางคืนพระอริยเหล่านั้นย่อมตั้งมั่นจิตที่ตั้งมั่นได้ยากพระอริยะเหล่าใดมีจิตตั้งมั่นแล้ว พระอริยะเหล่านั้นทำความสันโดษในปัจจัย ๔ให้บริบูรณ์ ย่อมไม่ลำบาก พระอริยะเหล่าใดสันโดษแล้วพระอริยะเหล่านั้นทำศีลให้บริบูรณ์ ย่อมไม่ลำบาก พระอริยะเหล่าใดตั้งมั่นในศีลพระอริยะเหล่านั้น คือพระเสขะ ๗ ย่อมตัดข่ายคือกิเลสที่เรียกว่าข่ายมัจจุไป
 เทพบุตรทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระอริยะเหล่าใดยินดีในอินทรีย์อันสงบพระอริยะเหล่านั้นย่อมตั้งมั่นจิตที่ตั้งมั่นได้ยาก พระอริยะเหล่าใดตั้งมั่นในศีลพระอริยะเหล่านั้นตัดข่ายมัจจุไปได้ ก็บุคคลนี้จักไปได้อย่างไรทางนี้เป็นทางที่ไปได้ยาก เป็นทางที่ไม่เรียบมิใช่หรือ ? ในข้อนั้นอริยมรรคไม่เป็นทางที่ไปได้ยาก ไม่เป็นทางที่ไม่เรียบก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้นอันตรายเป็นอันมากย่อมมีแก่บุคคลนั้น เพราะปฏิปทาเป็นบุพภาคส่วนเบื้องต้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสอย่างนั้น
 เรื่องเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตายนเทพบุตรผู้เคยเป็นเจ้าลัทธิมาก่อนเข้ามาเฝ้าเราถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ภาษิตว่า "ท่านจงพยายามตัดกระแสตัณหา จงบรรเทากามเสียเถิดพราหมณ์มุนีไม่ละกามย่อมไม่เข้าถึงความที่จิตแน่วแน่ได้ ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียรพึงทำความเพียรนั้นจริง ๆ พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่นเพราะการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อนยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลีความชั่วไม่ทำเสียเลยประเสริฐกว่า ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลังก็กรรมใดทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็นความดี ทำแล้วประเสริฐกว่าหญ้าคาอันบุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือนั่นเองฉันใดความเป็นสมณะอันบุคคลปฏิบัติย่อมฉุดเข้าไปเพื่อเกิดในนรกฉันนั้นกรรมอันย่อหย่อนอย่างใดอย่างหนึ่ง วัตรอันใดที่เศร้าหมองและพรหมจรรย์ที่น่ารังเกียจทั้งสามอย่างนั้น ไม่มีผลมาก" อภิวาท ทำประทักษิณเราแล้วอันตรธานไปในที่นั้นเอง เธอทั้งหลายจงศึกษา เล่าเรียน ทรงจำตายนคาถาไว้ตายนคาถาประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์" (สัง.๑๕/ตายนสูตร/๒๓๘-๒๔๐/๖๐-๖๒)อรรถกถาธิบาย
 ตายนเทพบุตรผู้เคยเป็นเจ้าลัทธิมาก่อน (ทิฐิ ๖๒ ชื่อว่าลัทธิ) ศาสดาผู้ก่อกำเนิดลัทธิเหล่านั้นชื่อว่าเจ้าลัทธิคือใคร ? คือ นันทะ มัจฉะ กิสะ สังกิจจะ และที่ชื่อว่าเดียรถีย์ทั้งหลายมีปูรณะเป็นต้นก็ตายนเทพบุตรนี้ก่อทิฐิขึ้นแล้วบังเกิดในสวรรค์ได้อย่างไร ? เพราะเป็นกัมมวาทีได้ยินว่า ตายนเทพบุตรนี้ได้ให้อาหารในวันวันอุโบสถเป็นต้นเริ่มตั้งอาหารไว้สำหรับคนอนาถา ทำที่พัก ให้ขุดสระโบกขรณีทั้งหลายได้ทำความดีมากแม้อย่างอื่น เพราะผลวิบากแห่งความดีนั้น เขาจึงบังเกิดในสวรรค์แต่เขาไม่รู้ว่า พระศาสนาเป็นธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์เขามายังสำนักของพระตถาคตด้วยประสงค์จะกล่าวคาถาคำร้อยกรองประกอบด้วยความเพียรอันเหมาะแก่พระศาสนา จึงกล่าวคำว่าจงตัดกระแสตัณหาเป็นต้น

  บทที่ ๑

  เทพยาดาที่ปรากฎในคัมภีร์พุทธ
  เรื่องราหูอมจันทร์ (จันทรคราส)
 จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้วระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้กล่าวว่า"ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้าขอความนอบน้อมจงมีแต่พระองค์ ๆ เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวงข้าพระองค์ถึงเฉพาะแล้วซึ่งฐานะอันคับขันขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแห่งข้าพระองค์เถิด"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภจันทิมเทวบุตรได้ตรัสกะอสุรินทราหูว่า"จันทิมเทวบุตรถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ว่าเป็นที่พึ่ง ราหูท่านจงปล่อยจันทิมเทวบุตรพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก"
 อสุรินทราหูปล่อยจันทิมเทวบุตรแล้วมีรูปอันกระหืดกระหอบเข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพองได้อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อสุรินทเวปจิตติได้กล่าวว่า"ราหูทำไมท่านจึงกระหืดกระหอบปล่อยพระจันทร์เสีย ทำไมท่านจึงมีรูปสลดมายืนกลัวอยู่ ?"
 อสุรินทราหูกล่าวว่า"ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้าหากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยงมีชีวิตอยู่ก็ไม่พึงได้รับความสุข" (สัง.๑๕/จันทิมสูตร/๒๔๑-๒๔๕/๖๒-๖๓)


  เรื่องสุริยคราส
 สุริยเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้วระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าได้กล่าวว่า"ข้าแต่พระพุทธเจ้าผู้แกล้วกล้า ฯลฯขอข้าพระองค์จงเป็นที่พึงแห่งข้าพระองค์"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"สุริยเทวบุตรถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ว่าเป็นที่พึ่ง ราหูท่านจงปล่อยสุริยะ พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้อนุเคราะห์โลก สุริยะใดเป็นผู้ส่องแสงกระทำความสว่างในที่มืดมิด มีสัณฐานเป็นวงกลม มีเดชสูง ท่านอย่ากลืนกินสุริยะนั้นผู้เที่ยวไปในอากาศ ท่านจงปล่อยสุริยะผู้เป็นบุตรของเรา"
 อสุรินทราหูปล่อยสุริยเทวบุตรแล้วมีรูปอันกระหืดกระหอบเข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพองได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อสุรินทเวปจิตติได้กล่าวว่า"ราหูทำไมท่านจึงกระหืดกระหอบปล่อยพระจันทร์เสีย ทำไมท่านจึงมีรูปสลดมายืนกลัวอยู่ ?"
 อสุรินทราหูกล่าวว่า"ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้าหากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยงมีชีวิตอยู่ก็ไม่พึงได้รับความสุข" (สัง.๑๕/สุริยสูตร/๒๔๖-๒๕๐/๖๓-๖๗)อรรถกถาธิบาย
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ราหู ท่านอย่ากลืนสุริยะผู้โคจรไปในอากาศเลย" ก็ราหูนั้นกลืนสุริยะได้หรือ ? กลืนได้สิ เพราะว่า ราหูมีอัตภาพใหญ่ ว่าโดยส่วนสูง ๔,๘๐๐ โยชน์ ช่วงแขนยาว ๑,๒๐๐โยชน์ ว่าโดยส่วนหนา ๖๐๐ โยชน์ ศีรษะ ๙๐๐ โยชน์ หน้าผาก ๓๐๐ โยชน์ ระหว่างคิ้ว ๕๐โยชน์ คิ้ว ๒๐๐ โยชน์ ปาก ๒๐๐ โยชน์ จมูก ๓๐๐ โยชน์ ขอบปากลึก ๓๐๐ โยชน์ฝ่ามือฝ่าเท้าหนา ๒๐๐ โยชน์ ข้อนิ้ว ๑๕ โยชน์ราหูนั้นเห็นจันทระและสุริยะส่องสว่างอยู่ มีความริษยาเป็นปกติอยู่แล้วก็ลงสู่วิถีโคจรของจันทระและสุริยะนั้นยืนอ้าปากอยู่จันทรวิมานหรือสุริยวิมานก็เป็นหนึ่งถูกใส่เข้าไปในมหานรก ๓๐๐ โยชน์เทวดาทั้งหลายที่สถิตอยู่ในวิมานถูกมรณภัยคุกคามก็ร้องเป็นเสียงเดียวกัน ราหูนั้นบางคราวก็เอามือบังวิมาน บางคราวก็ใส่ไว้ใต้คาง บางคราวก็เอาลิ้นเลียบางคราวก็วางในกระพุ้งแก้มเหมือนกินทำแก้วตุ่ยหรือคิดว่าขมองเทพบุตรนั้นจักแตกออกไป ราหูก็คร่าวิมานนั้นน้อมเข้ามา เพราะฉะนั้นเทพบุตรนั้นจึงไปพร้อมด้วยกันกับวิมาน เทพบุตรทั้งสองคือจันทระและสุริยะบรรลุโสดาปัตติผลในวันที่ตรัสมหาสมยสูตรพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า นั่นเป็นบุตรของเรา


  เรื่องทุกข์มีเพราะความเพลิดเพลิน
 กกุธเทพบุตรยังป่าอัญชนวันให้สว่างไสวเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ณ พระอัญชนวัน เขตเมืองสาเกตถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามว่า"ข้าแต่พระสมณะ พระองค์ทรงยินดีอยู่หรือ ?"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ผู้มีอายุเราได้อะไรจึงจะยินดี"
 กกุธเทพบุตรทูลถามว่า"พระองค์ทรงเศร้าโศกอยู่หรือ ?"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"เราเสื่อมอะไรจึงจะเศร้าโศก"
 กกุธเทพบุตรทูลถามว่า"พระองค์ไม่ทรงยินดีเลย ไม่ทรงเศร้าโศกเลยหรือ ?"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"เป็นเช่นนั้น"
 กกุธเทพบุตรทูลถามว่า"พระองค์ไม่มีทุกข์บ้างหรือความเพลิดเพลินไม่มีบ้างหรือความเบื่อหน่ายไม่ครอบงำพระองค์ผู้ประทับนั่งแต่พระองค์เดียวบ้างหรือ ?"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ไม่มีเลย"
 กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า"ทำไมจึงไม่มีเลย ?"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ผู้มีทุกข์นั่นแหละจึงมีความเพลิดเพลินผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละจึงมีทุกข์ ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลินจึงไม่มีทุกข์"
 กกุธเทพบุตรกราบทูลว่า"นานนักที่ข้าพระองค์จึงได้พบเห็นภิกษุผู้เป็นพราหมณ์ ดับรอบแล้ว ไม่มีความเพลิดเพลินไม่มีทุกข์ ข้ามพ้นเครื่องข้องในโลกได้แล้ว" (สัง.๑๕/กกุธสูตร/๒๖๖-๒๗๒/๖๘-๖๙)อรรถกถาธิบาย
 กกุธเทพตรองค์นี้เป็นบุตรอุปัฏฐากของพระมหาโมคคัลลานเถระอยู่ในโกฬนครเมื่อวัยรุ่นอยู่ในสำนักของพระเถระ ทำฌานให้เกิดแล้ว ทำกาละไปอุบัติในพรหมโลกแม้ในพรหมโลกนั้น เหล่าพรหมก็รู้จักเขาว่ากกุธพรหม


  เรื่องสัตว์บริสุทธิ์ด้วยส่วน๕
 อนาถปิณฑิกเทพบุตรกราบทูลว่า"พระเชตวันวันนี้อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงหาพำนักอยู่พระธรรมราชาก็ประทับอยู่แล้ว เป็นที่ให้เกิดปีติแก่ข้าพระองค์สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยส่วน ๕ นี้ คือ กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ชีวิตและอันอุดม ๑ หาใช่บริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือทรัพย์ไม่ เหตุนั้นบุรุษผู้เป็นบัณฑิตเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตนพึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคายจึงจะบริสุทธิ์ในธรรมนั้น พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้นเป็นผู้ประเสริฐด้วยปัญญา ศีลและธรรมเครื่องสงบระงับ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่งภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรเป็นอย่างยอดเยี่ยม"แล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทำประทักษิณแล้วหายไปในที่นั้นเอง
 เมื่อล่วงราตรีนั้นไปแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสเล่าเรื่องอนาถปิณฑิกเทพบุตรมาเข้าเฝ้าและกราบทูลคาถาทั้งหลาย พระอานนท์ได้กราบทูลว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เทวบุตรองค์นั้นเห็นจะเป็นอนาถปิณฑิกเทพบุตรแน่เพราะเขาเลื่อมใสท่านพระสารีบุตรยิ่งนัก"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ถูกละ ๆข้อที่จะพึงถึงด้วยการนึกคิดมีประมาณเพียงใดนั้น เธอถึงแล้ว" (สัง.๑๕/อนาถปิณฑิกสูตร/๒๗๕-๒๗๖/๗๐-๗๑)


  เรื่องบุญเป็นที่พึ่งในโลกหน้า
 เสรีเทวบุตรกราบทูลว่า"เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายต่างก็พอใจอาหารด้วยกันทั้งนั้นก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหารชื่อว่ายักษ์โดยแท้"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสให้ข้าวและน้ำด้วยศรัทธาข้าวและน้ำนั้นย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เหตุนั้นสมควรเปลื้องความเหนียวแน่นเสีย ครอบงำมลทินของใจเสีย พึงให้ทานบุญเท่านั้นย่อมเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า"
 เสรีเทวบุตรกราบทูลว่า "น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมาพระดำรัสนี้แจ่มแจ้งแล้ว หม่อมฉันเคยเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีนามว่าเสรี เป็นทายกทานบดี เป็นผู้กล่าวชมการให้ทานที่ประตูทั้ง ๔ ด้าน หม่อมฉันได้ให้ทานแก่สมณพราหมณ์คนกำพร้า คนเดินทางไกล วณิพกและยาจกทั้งหลายต่อมาพวกฝ่ายในพากันไปหาหม่อมฉันได้พูดปรารภขึ้นว่า "พระองค์ทรงบำเพ็ญทานแต่พวกหม่อมฉัน เป็นการชอบที่พวกหม่อมฉันจะได้อาศัยใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทให้ทานกระทำบุญบ้าง" หม่อมฉันจึงมอบประตูด้านแรกให้พวกฝ่ายในไปพวกเขาต่างพากันให้ทานในที่นั้น ทานของหม่อมฉันก็ลดไป
 ต่อมาพวกกษัตริย์พระราชวงศ์พากันเข้าไปหาหม่อมฉันได้พูดปรารภขึ้นเหมือนอย่างนั้นหม่อมฉันจึงมอบประตูด้านที่สองให้แก่พวกกษัตริย์พระราชวงศ์ไปพวกเขาต่างพากันให้ทานในที่นั้น ทานของหม่อมฉันก็ลดไปต่อมาพวกพลกายเข้าไปหาหม่อมฉันได้พูดปรารภขึ้นเหมือนอย่างนั้นหม่อมฉันจึงมอบประตูด้านที่สามให้พวกพลกายไป พวกเขาต่างพากันให้ทานในที่นั้นทานของหม่อมฉันก็ลดไป
 ต่อมามีพวกพราหมณ์คฤหบดีเข้าไปหาหม่อมฉันได้พูดปรารภขึ้นเหมือนอย่างนั้นหม่อมฉันจึงมอบประตูด้านที่สี่ให้พวกพราหมณ์คฤหบดีไปพวกเขาต่างพากันให้ทานในที่นั้น ทานของหม่อมฉันก็ลดไปพวกเจ้าหน้าที่ทั้งหลายต่างพากันเข้าหาหม่อมฉันได้ทูลสนองขึ้นว่า "บัดนี้พระองค์จะไม่ทรงบำเพ็ญทานในที่ไหน ๆ อีกหรือ ?" หม่อมฉันจึงกล่าวตอบไปว่า "ท่านทั้งหลาย ในท้องถิ่นชนบทนอก ๆ ออกไป มีรายได้ดี ใด ๆ เกิดขึ้นพวกท่านจงรวบรวมส่งเข้าไปในท้องพระคลังเสียกึ่งหนึ่งอีกกึ่งหนึ่งพวกท่านจงให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทางไกลวณิพกและยาจกทั้งหลายในชนบทนั้นเถิดหม่อมฉันจึงยังไม่ถึงที่สุดแห่งบุญที่ได้บำเพ็ญไว้แห่งกุศลที่ได้ก่อสร้างไว้ตลอดกาลนานอย่างนี้ โดยที่จะมาคำนึงถึงว่า "เท่านี้เป็นบุญพอแล้ว เท่านี้เป็นผลของบุญพอแล้วหรือเท่านี้ที่เราพึงตั้งอยู่ในสามัคคีธรรม" (สัง.๑๕/เสรีสูตร/๒๘๒-๒๘๖/๗๓-๗๖)อรรถกถาธิบาย
 ผู้ใดบริโภคของอร่อยด้วยตนเองและให้ของไม่อร่อยแก่คนอื่นผู้นั้นชื่อว่าเป็นทาสแห่งไทยธรรม กล่าวคือทาน ให้ทาน (ทาสทาน)ผู้ใดบริโภคของใดด้วยตนเอง ให้ของนั้นนั่นแหละ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นสหายให้ทาน (สหายทาน) ส่วนผู้ใดดำรงชีวิตด้วยของนั้นใดด้วยตนเอง และให้ของอร่อยแก่ผู้อื่นผู้นั้นชื่อว่าเป็นเจ้า เป็นใหญ่ เป็นนายให้ทาน (ทานบดี) เสรีเทพบุตรกล่าวว่าข้าพระองค์ได้เป็นเช่นนั้น
 พระราชาพระองค์นั้นได้มีรัฐ ๒ รัฐ คือสินธวรัฐ และโสวีรรัฐ มีนครชื่อโรรุวนครที่ประตูแต่ละประตูแห่งนครนั้นเกิดทรัพย์แสนหนึ่งทุก ๆ วัน ณ สถานที่วินิจฉัยคดีภายในนครก็เกิดทรัพย์แสนหนึ่ง ท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นกองเงินกองทองเป็นอันมากทำให้เกิดกัมมัสสกตาญาณ โปรดให้สร้างโรงทานทั้ง ๔ ประตู แต่งตั้งอมาตย์เจ้าหน้าที่ไว้สั่งว่า พวกเจ้าจงเอารายได้ที่เกิดขึ้น ณ ประตูนั้น ๆ ให้ทานเสรีเทพบุตรจึงกล่าวว่า ให้ทานทั้ง ๔ ประตู
 ผู้ถือบวชชื่อว่าสมณะผู้มีปกติทูลว่าผู้เจริญชื่อว่าพราหมณ์แต่สมณพราหมณ์ที่ว่านี้ไม่ได้ในสมณพราหมณ์ผู้สงบบาปและผู้ลอยบาป คนเข็ญใจ คนยากจนมีคนตาบอด คนง่อยเป็นต้นชื่อว่าคนกำพร้า (กปณะ) คนเดินทางชื่อว่าอัทธิกะคนเหล่าใดเที่ยวสรรเสริญทานโดยนัยว่า ให้ทานที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจให้ตามกาล ให้ทานที่ไม่มีโทษ ทำจิตให้ผ่องใส ท่านผู้เจริญก็จะไปพรหมโลก เป็นต้นชนเหล่านั้นชื่อว่าวณิพก ชนเหล่าใดกล่าวว่า โปรดให้สักฝายมือเถิดโปรดให้สักขันจอกเถิด เป็นต้น เที่ยวขอไป ชนเหล่านั้นชื่อว่ายาจก
 พวกฝ่ายในได้ให้ทานมากกว่าที่พระราชาพระราชทานเพราะเติมทรัพย์ส่วนอื่นลงในทรัพย์แสนหนึ่งซึ่งเกิดที่ประตูนั้นเพราะได้รับประตูแรก ถอนอำมาตย์ของพระราชาเสียตั้งอำมาตย์ของตนทำหน้าที่แทนเสรีเทพบุตรหมายเอาข้อนั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ทานของข้าพระองค์ที่ให้ ณประตูนั้นก็เปลี่ยนไป แม้ในประตูที่เหลือก็นัยนี้เหมือนกัน ได้ยินว่าทานของพระราชาพระองค์นั้นปรากฏตลอดกาลประมาณ ๘๐,๐๐๐ปีเท่านั้น

 

คำสำคัญ (Tags): #เทพยดา
หมายเลขบันทึก: 512439เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

เรื่องฆฏิการเทพบุตรสนทนากับพระพุทธเจ้า
 ฆฏิการเทพบุตรได้กล่าวว่า"ภิกษุ ๗ รูป ผู้เข้าถึงพรหมโลกชื่อว่าอวิหาเป็นผู้หลุดพ้นแล้วสิ้นราคะโทสะแล้ว ข้ามพ้นเครื่องข้องต่าง ๆในโลกเสียได้แล้ว"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า"ก็ภิกษุเหล่านั้นคือใครบ้าง ผู้ข้ามเครื่องข้องเป็นบ่วงมารอันแสนยากที่ใครๆ จะข้ามพ้นได้ ละกายของมนุษย์แล้ว ก้าวล่วงเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ ?"
 ฆฏิการเทพบุตรกราบทูลว่า"คือท่านอุปกะ ๑ท่านผลคัณฑะ ๑ ท่านปุกกุสาติ ๑ ท่านภัททิยะ ๑ ท่านขัณฑเทวะ ๑ ท่านพาหุรัคคิ ๑ท่านลิงคิยะ ๑"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า"ท่านเป็นคนมีความฉลาดกล่าวสรรเสริญภิกษุเหล่านั้น ผู้ละบ่วงมารได้แล้วภิกษุเหล่านั้นรู้ทั่วถึงธรรมของใครจึงได้ตัดเครื่องผูกคือภพเสียได้ ?"
 ฆฏิการเทพบุตรกราบทูลว่า"ท่านเหล่านั้นรู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์และธรรมนั้นนอกจากพระศาสนาของพระองค์แล้วไม่มีนามและรูปดับไม่เหลือในธรรมใดท่านเหล่านั้นได้รู้ธรรมในพระศาสนานี้จึงตัดเครื่องผูกคือภพได้"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า"ท่านกล่าววาจาลึกซึ้ง รู้ได้ยาก เข้าใจให้ดีได้ยากท่านรู้ทั่วถึงธรรมของใครจึงกล่าววาจาเช่นนี้ได้ ?"
 ฆฏิการเทพบุตรกราบทูลว่า"ครั้งก่อนข้าพระองค์เป็นช่างหม้อ ทำหม้ออยู่ในเวภฬิงคชนบท เป็นผู้เลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นอุบาสกของพระกัสสปพุทธเจ้า เว้นขาดจากเมถุนธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีอามิสได้เคยเป็นคนร่วมบ้านกับพระองค์ ทั้งเคยได้เป็นสหายของพระองค์ ในปางก่อนข้าพระองค์รู้จักภิกษุทั้ง ๗รูปเหล่านี้"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ท่านพูดอย่างใดก็ได้เป็นจริงอย่างนั้นแล้ว" (สัง.๑๕/ฆฏิการสูตร/๒๘๗-๒๙๒/๗๖-๗๗)

  เรื่องภิกษุประพฤติโลเล
 ภิกษุเป็นจำนวนมากอยู่ในกุฎีอันตั้งอยู่ในป่าข้างเขาหิมวันต์แคว้นโกศล เป็นผู้ฟุ้งซ่าน เย่อหยิ่ง โอนเอน ปากกล้า วาจาสามหาว มีสติฟั่นเฟือนขาดสัมปชัญญะ ไม่มั่นคง มีจิตคิดนอกทาง ประพฤติเยี่ยงคฤหัสถ์ วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ๑๕ ค่ำ ชันตุเทพบุตรเข้าไปหาพวกภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่แล้วได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า"ครั้งก่อนพวกภิกษุผู้เป็นสาวกของพระโคดมเป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่เป็นผู้มักง่ายแสวงหาบิณฑบาตไม่มักได้ที่นอน ที่นั่ง ท่านรู้ว่าสิ่งทั้งปวงในโลกเป็นของไม่เที่ยงกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ส่วนท่านเหล่านี้ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงยากเหมือนชาวบ้านที่โกงเขากิน กิน ๆ แล้วก็นอนเที่ยวประจบไปในเรือนของคนอื่น ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีต่อท่านขอพูดกะท่านบางพวกในที่นี้เลยว่า "พวกท่านถูกเขาทอดทิ้ง หมดที่พึ่งเป็นเหมือนเปรต"ที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้หมายเอาบุคคลจำพวกที่ประมาทอยู่ส่วนท่านเหล่าใดไม่ประมาทอยู่ ข้าพเจ้าขอนมัสการท่านเหล่านั้น" (สัง.๑๕/ชันตุสูตร/๒๙๓-๒๙๔/๗๗-๗๘)อรรถกถาธิบาย
 เหล่าภิกษุเป็นอันมากรับกัมมัฏฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วพากันไปอยู่แคว้นโกศล เป็นผู้มีปกติฟุ้งซ่าน เพราะสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควรสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร สำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษสำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ มีมานะดุจไม้อ้อที่ชูขึ้น (ยกมานะที่เปล่า ๆ ขึ้น)ประกอบด้วยความฟุ้งเฟ้อมีแต่งบาตรจีวรเป็นต้น ปากกล้า (มีถ้อยคำกร้าว)ไม่ประหยัดถ้อยคำ (เพ้อเจ้อ) เจรจาถ้อยคำที่ไร้ประโยชน์ได้ทั้งวัน มีสติหายไปเว้นจากสติ กิจที่ทำในที่นี้ ภิกษุทั้งหลายก็หลงลืมเสียในที่นี้ ปราศจากความรอบรู้เว้นจากสมาธิที่เป็นอัปปนาและอุปจาระ เสมือนเรือที่ผูกไว้ในกระแสน้ำเชี่ยวมีจิตไม่มั่นคง เสมือนมฤคร้ายที่ขึ้นทาง มีอินทรีย์เปิดเหมือนครั้งเป็นคฤหัสถ์เพราะไม่มีความสำรวม
 ชันตุเทพบุตรคิดว่าภิกษุเหล่านี้รับกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้ว พากันออกไป บัดนี้อยู่เป็นผู้ประมาท แต่ภิกษุเหล่านี้ถูกเราทักท้วงในสถานที่นั่งแยก ๆ กันจักไม่ถือคำเรา จำเราจักทักท้วงในเวลาที่มารวมกันถึงวันอุโบสถรู้ว่าภิกษุเหล่านั้นประชุมกันแล้ว จึงเข้าไปหายืนอยู่ท่ามกลางเหล่าภิกษุทั้งหมดได้กล่าวคาถาทั้งหลาย เพราะเหตุที่สภาพมิใช่คุณ (โทษ) ของผู้ไร้คุณ ย่อมปรากฏพร้อมกับการกล่าวคุณ ว่าพวกภิกษุแต่ก่อนเป็นผู้บำรุงเลี้ยงง่าย ยังชีพให้เป็นไปด้วยอาหารคลุกกันซึ่งเที่ยวไปตามลำดับตรอกในตระกูลสูงและต่ำได้มา ปราศจากตัณหา"เมื่อจะกล่าวโทษของภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวว่า ส่วนภิกษุเหล่านี้เป็นผู้เลี้ยงยากเปรียบเหมือนนายบ้านเยี่ยมประชาชนในตำบลบ้านให้ลูกบ้านนำนมสดนมส้มข้าวสารเป็นต้นมากิน ฉันใด แม้พวกท่านตั้งอยู่ในอเนสนาแสวงหาไม่สมควรมาเลี้ยงชีวิตของพวกท่านก็ฉันนั้น ไม่ต้องการด้วยการเรียนอุเทศสอบถาม และใส่ใจกัมมัฏฐาน นอนปล่อยมือเท้าอยู่บนที่นอนเที่ยวประจบไปในเรือนของผู้อื่นคือในเรือนสะใภ้ของตระกูลเป็นต้นหมกมุ่นด้วยอำนาจกิเลส พวกที่ควรจะกล่าวถึงนี่แหละที่เขาทอดทิ้งแล้ว ไม่มีที่พึ่งเป็นเหมือนเปรต (คนที่ตายแล้ว เขาทิ้งไว้ในป่าช้า)คือเปรียบเหมือนคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ย่อมถูกนกต่าง ๆ เป็นต้นจิกกินแม้เหล่าญาติก็เป็นที่พึ่งของคนเหล่านั้น รักษาไม่ได้ คุ้มครองไม่ได้ ฉันใดภิกษุทั้งหลายเป็นปานนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมไม่ได้รับโอวาทและคำพร่ำสอนแต่สำนักของอาจารย์และอุปัชฌาย์เป็นต้น เพราะฉะนั้นภิกษุเหล่านั้นจึงถูกทอดทิ้งไม่มีที่พึ่งเป็นเหมือนคนตายที่เขาละทิ้งฉะนั้น"

  เรื่องสถานที่ไม่เกิดไม่แก่ไม่ตาย
 โรหิตัสสเทวบุตรทูลถามว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ณ โอกาสใดหนอ บุคคลจึงจะไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตายไม่จุติ ไม่อุบัติ อันบุคคลอาจหรือบรรลุที่สุดโลกได้ด้วยการเดินทางได้บ้างไหมหนอ ?"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า"ผู้มีอายุโอกาสใดบุคคลไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติเราไม่เรียกโอกาสนั้นว่าที่สุดของโลกว่า ที่ควรรู้ ควรเห็นควรบรรลุด้วยการเดินทาง"
 โรหิตัสสเทวบุตรกราบทูลว่า "น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระดำรัสนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วแต่ปางก่อน ข้าพระองค์เป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรของอิสสระ มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศได้ มีความเร็วประดุจอาจารย์สอนศิลปธนู จับธนูมั่น ชาญศึกษา ชำนาญมือเคยประลองยิงธนูมาแล้ว ยิงผ่านเงาตาลตามขวางได้ด้วยลูกศรขนาดเบาโดยสะดวกด้วยย่างเท้าของข้าพระองค์เป็นปานนี้ ประดุจจากมหาสมุทรด้านทิศบูรพาก้าวถึงมหาสมุทรด้านทิศประจิม ข้าพระองค์มาประสงค์อยู่แต่เพียงว่าเราจักบรรลุถึงที่สุดของโลกด้วยการเดินทาง ข้าพระองค์ประกอบด้วยความเร็วขนาดนี้ด้วยย่างเท้าขนาดนี้ เว้นจากการกิน การขบเคี้ยว และการลิ้มรสอาหารเว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากระงับความเหน็ดเหนื่อยด้วยการนอนหลับมีอายุถึง ๑๐๐ ปี ดำรงชีพอยู่ถึง ๑๐๐ ปี เดินทางตลอด ๑๐๐ ปีก็ยังไม่ถึงที่สุดของโลกได้แต่มาทำกาลกิริยาเสียในระหว่าง"
 "ก็ถ้าหากเราไม่บรรลุถึงที่สุดของโลกแล้วก็จะไม่กล่าวถึงการกระทำที่สุดทุกข์ ก็แต่ว่าเราบัญญัติโลก เหตุให้เกิดโลกการดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลกในเรือนร่างมีประมาณวาหนึ่งนี้และพร้อมทั้งสัญญา พร้อมทั้งใจครอง แต่ไหนแต่ไรมายังไม่มีใครบรรลุถึงที่สุดโลกด้วยการเดินทางและเพราะที่ยังบรรลุถึงที่สุดโลกไม่ได้จึงไม่พ้นจากทุกข์ เหตุนั้น คนมีปัญญาดี รู้แจ้งโลกถึงที่สุดโลกได้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว รู้ที่สุดโลกแล้ว เป็นผู้สงบแล้ว จึงไม่หวังโลกนี้และโลกอื่น" (สัง.๑๕/โรหิตัสสสูตร/๒๙๕-๒๙๘/๗๘-๗๙)อรรถกถาธิบาย
 เทพบุตรทูลถามถึงที่สุดแห่งโลกจักรวาลพระผู้มีพระภาคตรัสถึงที่สุดแห่งสังขารโลก แต่เทพบุตรนั้นร่าเริงด้วยสำคัญว่าคำพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาคสมกับปัญหาของตนจึงกล่าวว่า น่าอัศจรรย์เป็นต้นเทพบุตรแสดงคุณสมบัติคือความเร็วของตนว่า ลูกธนูพึงผ่านเงาตาลเพียงใดข้าพระองค์ก็ผ่านจักรวาลไปโดยกาลชั่วขณะเพียงนั้น ข้าพระองค์ย่างเท้าก้าวได้ไกลทำนองไกลจากสมุทรด้านตะวันออกจดสมุทรด้านตะวันตก ทราบว่าเทพบุตรนั้นยืนที่ขอบปากจักรวาลทิศตะวันออกย่างเท้าแรกก้าวเลยขอบปากจักรวาลทิศตะวันตกไป ย่างเท้าที่สองออกก็ก้าวเลยขอบปากจักรวาลอื่น ๆ ไป
 โรหิตัสสฤาษี ในเวลาไปภิกขาจารเคี้ยวไม้ชำระฟันชื่อนาคลดาแล้วบ้วนปากที่สระอโนดาด ถึงอุตตรกุรุทวีปแล้วออกหาอาหารนั่งที่ขอบปากจักรวาล ฉันอาหาร ณ ที่นั้นพักชั่วครู่ก็เหาะไปเร็วอีกโรหิตัสสฤาษีเริ่มเดินทางเมื่ออายุเหลือ ๑๐๐ ปี เป็นอยู่โดยไม่มีอันตรายตลอด ๑๐๐ ปียังไม่ทันถึงที่สุดโลกจักรวาลก็ตายเสียในระหว่าง ทำกาละในภพนั้นก็มาบังเกิดในจักรวาลนี้
 พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ผู้มีอายุเราไม่บัญญัติสัจจะ ๔ นี้ลงในหญ้าและไม้เป็นต้นแต่เราบัญญัติลงในกายที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔นี้เท่านั้น

 เรื่องทรงสรรเสริญคุณพระสารีบุตร
 พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามพระอานนท์ผู้เข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับณ พระมหาวิหารเชตวันแล้วถวายอภิวาท นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า"อานนท์ เธอชอบสารีบุตรหรือไม่ ?"
 พระอานนท์กราบทูลว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาสจะไม่ชอบท่านพระสารีบุตร เพราะท่านเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก เป็นเจ้าปัญญามีปัญญาชวนให้ร่าเริง มีปัญญาแล่น มีปัญญาหลักแหลม มีปัญญาแทงตลอดมีความปรารถนาน้อย สันโดษ เป็นผู้สงัดกาย สงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียรเป็นผู้เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ เป็นผู้โจทย์ท้วงคนผิดเป็นผู้ตำหนิคนชั่ว"
 ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอานนท์เถระกำลังกล่าวสรรเสริญคุณพระสารีบุตรอยู่สุสิมเทพบุตรแวดล้อมด้วยเทพบุตรบริษัทเป็นอันมากได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ถึงที่ประทับ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จริงอย่างนั้นเพราะข้าพระองค์ได้เข้าร่วมประชุมเทพบุตรบริษัทใด ๆก็ได้ยินเสียงคำสรรเสริญท่านพระสารีบุตรเถระอย่างนั้นเหมือนกัน"
 ขณะที่สุสิมเทพบุตรกำลังกล่าวสรรเสริญคุณพระสารีบุตรอยู่เทพบุตรบริษัทของสุสิมเทพบุตรเป็นผู้ปลื้มใจ เบิกบาน เกิดปีติ โสมนัสมีรัศมีแห่งผิวพรรณแพรวพราวปรากฏอยู่เหมือนแก้วมณีและแก้วไพฑูรย์อันงามโชติช่วงแปดเหลี่ยม อันบุคคลขัดสีเรียบร้อยแล้ววางไว้บนผ้ากัมพลสีเหลือง ย่อมส่องแสงแพรวพราว ไพโรจน์ฉะนั้น เหมือนแท่งทองชมพูนุชเป็นของที่บุตรนายช่างทองผู้ขยันหมั่นใส่เบ้าหลอมไล่จนสิ้นราคีเสร็จแล้ววางไว้บนผ้ากำพลสีเหลือง ย่อมขึ้นสีผุดผ่องเปล่งปลั่งฉะนั้นเหมือนดาวประกายพฤกษ์ขณะที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆในฤดูสารทกาลย่อมส่องแสงสุกสกาววาวระยับฉะนั้นเหมือนพระอาทิตย์ขณะที่อากาศปลอดโปร่งปราศจากหมู่เมฆในฤดูสารทกาลพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ขจัดความมืดที่มีอยู่ในอากาศทั้งปวงย่อมแผดแสงแจ่มจ้าไพโรจน์ฉะนั้น
 สุสิมเทพบุตรได้กล่าวว่า "ท่านพระสารีบุตรคนรู้จักท่านดีว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความปรารถนาน้อยสงบเสงี่ยม ฝึกฝนมาดี มีคุณงามความดีอันพระศาสดาทรงสรรเสริญเป็นผู้แสวงหาคุณ"
 พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "สารีบุตรอันใคร ๆก็รู้จักว่าเป็นบัณฑิต ไม่ใช่คนมักโกรธ มีความปรารถนาน้อย สงบเสงี่ยม อบรมฝึกฝนมาดี จำนงอยู่ก็แต่กาลเป็นที่ปรินิพพาน" (สัง.๑๕/สุสิมสูตร/๓๐๓-๓๑๒/๘๐-๘๒)อรรถกถาธิบาย
 พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะตรัสคุณของพระสารีบุตรเถระก็ธรรมดาว่าคุณนี้ไม่สมควรกล่าวในสำนักของบุคคลที่ไม่ชอบพอกัน เพราะว่าคุณที่กล่าวในสำนักของบุคคลที่ไม่ชอบกันนั้นจะกล่าวไม่ทันจบ จริงอยู่บุคคลผู้ไม่ชอบกันนั้น เมื่อเขากล่าวคุณว่า ภิกษุชื่อโน้นมีศีล ก็จะกล่าวคำว่าศีลของภิกษุนั้นเป็นอย่างไร ภิกษุนั้นมีศีลอย่างใดหรือภิกษุอื่นที่มีศีลท่านไม่เคยเห็นหรือ ? เมื่อเขากล่าวคุณว่า ภิกษุชื่อโน้นมีปัญญาก็จะกล่าวคำเป็นต้นว่า ปัญญาเป็นอย่างไร ภิกษุอื่นที่มีปัญญานั้นท่านไม่เคยเห็นหรือ ? ก็จะทำอันตรายแก่คาถาพรรณนาคุณส่วนพระอานนเถระเป็นผู้ชอบพอของพระสารีบุตรเถระได้ปัจจัยมีจีวรเป็นต้นอันประณีตก็ถวายพระเถระ ให้เด็กของอุปัฏฐากตนบรรพชาให้ถืออุปัชฌาย์ในสำนักพระเถระแม้พระสารีบุตรก็กระทำเท่าพระอานนทเถระอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุไร ? เพราะเลื่อมใสในคุณทั้งหลายของกันและกัน จริงอยู่ พระอานนทเถระดำริว่าพี่ชายของพวกเราบำเพ็ญบารมีมาถึงหนึ่งอสงไขยแสนกัป แทงตลอดปัญญา ๑๖ อย่างดำรงอยู่ในตำแหน่งพระธรรมเสนาบดี แม่ทัพธรรมเลื่อมใสในคุณทั้งหลายของพระเถระจึงชอบใจรักใคร่พระเถระฝ่ายพระสารีบุตรเถระก็ดำริว่า พระอานนท์ทำกิจทุกอย่าง มีถวายน้ำบ้วนพระโอษฐ์เป็นต้นที่เราพึงทำแด่พระพุทธเจ้า อาศัยอานนท์ เราจึงได้เข้าสมาบัติตามที่ปรารถนา ๆ แล้วเลื่อมใสในคุณทั้งหลายของท่าน จึงชอบใจรักใคร่พระอานนทเถระ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะตรัสคุณของพระสารีบุตรเถระจึงทรงเริ่มในสำนักของพระอานนทเถระ
 พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อานนท์ สารีบุตรมีอาจาระ โคจร วิหารธรรม การก้าวไป การถอยกลับ การแลเหลียว การคู้การเหยียด ชอบใจเรา ชอบใจพระอสีติมหาสาวก ชอบใจมนุษย์โลกทั้งเทวโลก ชอบใจแม้แก่เธอ"
  พระเถระก็มีใจยินดีประหนึ่งนักมวยปล้ำที่มีกำลังได้ช่องในช่องผ้าดำริว่าพระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะให้กล่าวคุณของสหายเราเราจักได้กล่าวคุณของพระสารีบุตรเถระของพวกเราเหมือนต้นหว้าใหญ่อันเป็นธงแห่งชมพูทวีปเสียในวันนี้เหมือนนำดวงจันทร์ออกจากช่องพลาหก (เมฆฝน) แสดงอยู่ฉะนั้น
 คนเขลาชื่อว่าคนโกรธ เพราะหลง ชื่อว่าคนหลง เพราะเป็นคนมีโทสะชื่อว่ามีจิตวิปลาส คือคนบ้า เพราะโมหะ ย่อมไม่รู้คุณว่าคุณ โทษว่าโทษ หรือว่าผู้นี้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้นี้เป็นสาวก ธรรมดาว่าคนที่ไม่เขลาเป็นต้นเท่านั้นย่อมรู้
 ก็พระเถระนั้นไม่พึงชอบใจแก่เหล่าคนเขลาเป็นต้นเท่านั้นพระเถระไม่พึงชอบใจแก่ใครอื่น พระอานนทเถระ ครั้นนำถ้อยสนทนาของบุคคลมาฉะนี้แล้วเมื่อจะกล่าวคุณตามเป็นจริงด้วยบท ๑๖ บท จึงทูลว่า ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิตคำนี้เป็นชื่อของท่านผู้ตั้งอยู่ในความฉลาด ๔ อย่างสมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ โดยเหตุใดแลภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในธาตุ ๑ เป็นผู้ฉลาดในอายตนะ ๑ เป็นผู้ฉลาดในปฏิจจสมุปบาท ๑เป็นผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ ๑ ด้วยเหตุเพียงนั้น ภิกษุนั้นควรเรียกว่า ภิกษุบัณฑิต

บทที่ ๒

  ธรรมสร้างความสำเร็จ๑. มหาปัญญาเป็นไฉน ?ชื่อว่ามหาปัญญาเพราะกำหนดถือศีลขันธ์อย่างใหญ่ ชื่อว่ามหาปัญญา เพราะกำหนดถือสามธิขันธ์วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์อย่างใหญ่ ชื่อว่ามหาปัญญาเพราะกำหนดถือฐานะและอฐานะอย่างใหญ่ วิหารสมาบัติอย่างใหญ่ อริสัจอย่างใหญ่สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาทอย่างใหญ่ อินทรีย์และโพชฌงค์อย่างใหญ่อริยมรรคอย่างใหญ่ สามัญญผลอย่างใหญ่ อภิญญาอย่างใหญ่ ปรมัตถนิพพานอย่างใหญ่ก็มหาปัญญานั้นปรากฏแก่พระเถระ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ประทับยืนณ ประตูสังกัสสนครตรัสถามปัญหา ชื่อว่าปุถุชนปัญจกะแล้วทูลถวายวิสัชนาปัญหานั้น
 ๒. ปุถุชนปัญญาเป็นไฉน ?ชื่อว่าปุถุชนปัญญา เพราะญาณเป็นไปในขันธ์ต่าง ๆ แน่นหนา… เป็นไปในธาตุต่าง ๆแน่นหนา… ในอรรถต่าง ๆ แน่นหนา… ในปฏิจจสมุปบาทต่าง ๆ แน่นหนา… ในความหน่วงสุญญตาต่าง ๆ แน่นหนา… ในอรรถธรรมนิรุกติปฏิภาณแน่นหนา… ในศีลขันธ์ต่างๆ แน่นหนา… ในสมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ต่าง ๆแน่นหนา… ในฐานะและอฐานะต่าง ๆ แน่นหนา… ในวิหารสมาบัติต่าง ๆ แน่นหนา… ในอริยสัจต่าง ๆ แน่นหนา… ในสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละโพชฌงค์ต่าง ๆ แน่นหนา… ในอริยมรรค สามัญญผล อภิญญาต่าง ๆ แน่นหนา… ญาณเป็นไปในปรมัตถนิพพาน ล่วงธรรมที่ทั่วไปแก่ชนต่าง ๆแน่นหนา
 ๓. หาสปัญญาเป็นไฉน ?ชื่อว่าหาสปัญญาเพราะบางคนในโลกนี้มีความร่าเริง แช่มชื่น ยินดี ปราโมทย์ บำเพ็ญศีลบำเพ็ญอินทรีย์สังวร บำเพ็ญโภชเนมัตตัญญุตา ชาคริยานุโยค ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ชื่อว่าหาสปัญญาเพราะเป็นผู้มากด้วยความร่าเริง ปราโมทย์ แทงตลอดฐานะและอฐานะ ชื่อว่าหาสปัญญาเพราะเป็นผู้มากด้วยความร่าเริง แทงตลอดอริยสัจ ชื่อว่าหาสปัญญา เพราะอบรมสติปัฏฐานสัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ อริยมรรค ชื่อว่าหาสปัญญาเพราะเป็นผู้มากด้วยความร่าเริง กระทำให้แจ้งสามัญญผล แทงตลอดอภิญญาชื่อว่าหาสปัญญา เพราะเป็นผู้มากด้วยความร่าเริง มากด้วยความแช่มชื่น ยินดีปราโมทย์ กระทำให้แจ้งปรมัตถนิพพาน ชื่อว่าหาสปัญญาก็เพราะพระเถระครั้งเป็นดาบสชื่อนารทกระทำความปรารถนาเป็นอัครสาวกแทบเบื้องพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสีนับตั้งแต่ครั้งนั้นมาก็เป็นผู้มากด้วยความร่าเริง กระทำการบำเพ็ญศีลเป็นต้น
 ๔. ชวนปัญญาเป็นไฉน ?ก็เพราะปัญญาพิจารณาเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันทั้งไกลทั้งใกล้ รูปทั้งหมดโดยเป็นของไม่เที่ยง แล่นไปเร็ว ชื่อว่าขวนปัญญาก็เพราะปัญญาพิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นทุกข์ แล่นไปเร็ว โดยความเป็นอนัตตาแล่นไปเร็ว ชื่อว่าชวนปัญญา ก็เพราะพิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน วิญญาณทั้งหมดโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล่นไปเร็ว ชื่อว่าชวนปัญญาก็เพราะพิจารณาจักษุ ฯลฯ ชรามรณะ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล่นไปเร็ว ชื่อว่าชวนปัญญาก็เพราะพิจารณาใคร่ครวญแจ่มชัดจะแจ้งว่า รูป ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบันชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะอรรถว่าสิ้นไป ชื่อว่าทุกข์ เพราะอรรถว่าน่ากลัวชื่อว่าอนัตตา เพราะหาแก่นสารมิได้ แล่นไปเร็วในพระนิพพานเป็นส่วนดับแห่งรูปชื่อว่าชวนปัญญา ก็เพราะพิจารณาใคร่ครวญแจ่มชัดจะแจ้งว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจักษุ ฯลฯ ชรามรณะ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ชื่อว่าไม่เที่ยงเพราะอรรถว่าสิ้นไป ฯลฯ แล่นไปเร็วในพระนิพพาน เป็นส่วนดับแห่งชรามรณะชื่อว่าชวนปัญญา ก็เพราะพิจารณาใคร่ครวญแจ่มชัดจะแจ้งว่า รูป ทั้งที่เป็นอดีต อนาคตปัจจุบัน ฯลฯ วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชรามรณะ ไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีอันสิ้นไป เสื่อมไป ดับไปเป็นธรรมดาแล่นไปเร็วในพระนิพพานเป็นส่วนดับแห่งชรามรณะ
 ๕.ติกขปัญญาเป็นไฉน ?ชื่อว่าติกขปัญญา เพราะตัดกิเลสทั้งหลายได้เร็วชื่อว่าติกขปัญญา เพราะไม่พักไว้ซึ่งกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นไม่พักอกุศลบาปธรรมที่เกิดขึ้นอีก ไม่พัก ละ บรรเทา ทำให้สิ้น ทำให้ไม่มีซึ่งราคะโทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาไถย ถัมภะ สารัมภะ มานะอติมานะ มทะ ปมาทะ ที่เกิดขึ้นแล้ว กิเลสทุจริตทั้งหมด อภิสังขารทั้งหมดกรรมที่ให้ถึงสังสารภพทั้งหมด ชื่อว่าติกขปัญญา เพราะปัญญาที่บรรลุกระทำให้แจ้งสัมผัสมรรค ๔ สามัญญผล ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ ณ ที่นั่งแห่งเดียวเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังทรงแสดงเวทนาปริคคหสูตรแก่ทีฆนขปริพาชกหลานชายพระสารีบุตรเถระยืนถวายงานพัด ก็ตัดกิเลสได้ทั้งหมด ชื่อว่ามีปัญญาแหลมตั้งแต่แทงตลอดสาวกบารมีญาณ ด้วยเหตุนั้น พระอานนทเถระจึงทูลว่า "พระเจ้าข้าท่านพระสารีบุตรมีปัญญาแหลม"
 ๖. นิพเพธิกปัญญาเป็นไฉน ?ชื่อว่านิพเพธิกปัญญาเพราะบางคนในโลกนี้มากด้วยความหวาดสะดุ้งเอือมระอาไม่ยินดีนักเบือนหน้าหนีไม่ไยดีในสังขารทั้งปวง เจาะทำลายกองโลภะที่ไม่เคยเจาะไม่เคยทำลายในสังขารทั้งปวง ชื่อว่านิพเพธิกปัญญา เพราะเจาะทำลายกองโทสะกองโมหะ โกธะ อุปนาหะฯลฯที่ไม่เคยเจาะไม่เคยทำลายกรรมที่ให้ถึงภพทั้งหมด
 ลักษณะของผู้มีความมักน้อยคือ เป็นผู้ประกอบด้วยลักษณะอย่างนี้ว่า ปกปิดคุณที่มีอยู่ รู้จักประมาณในการรับส่วนผู้ประกอบด้วยสันโดษ ๓ ในปัจจัย ๔ คือ ยถาลาภสันโดษ ยถาพลสันโดษยถาสารุปปสันโดษ ส่วนผู้ได้วิเวก ๓ คือ กายวิเวกของผู้มีกายตั้งอยู่ในความสงัดผู้ยินดีในเนกขัมมะ จิตตวิเวกของผู้มีจิตบริสุทธิ์ ผู้ถึงความผ่องแผ้วอย่างยิ่งและอุปธิวิเวกของเหล่าบุคคลผู้ไร้อุปธิผู้ถึงวิสังขาร
 ผู้เว้นจากการคลุกคลี ๕ อย่าง คือ คลุกคลีด้วยการฟังคลุกคลีด้วยการเห็น คลุกคลีด้วยการสนทนา คลุกคลีด้วยการบริโภค คลุกคลีด้วยกายการคลุกคลี ๕ อย่างนี้ย่อมเกิดกับบุคคล ๘ จำพวก คือ พระราชา อมาตย์ของพระราชาเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ อุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีความคลุกคลีทั้งหมดนั้นไม่มีแก่พระเถระ เหตุนั้นพระเถระจึงว่าผู้ไม่คลุกคลี
 ผู้ประคองความเพียรมีความเพียรบริบูรณ์ในข้อนั้นภิกษุผู้ปรารภความเพียรย่อมไม่ยอมให้กิเลสที่เกิดขณะเดินติดมาถึงขณะยืนไม่ยอมให้กิเลสที่เกิดขณะยืนติดมาถึงขณะนั่งไม่ยอมให้กิเลสที่เกิดขณะนั่งติดมาถึงขณะนอน กิเลสเกิดในที่นั้น ๆก็ข่มไว้ได้ในที่นั้น ๆ นั่นแหละ ก็พระเถระมิได้เหยียดหลังบนเตียงมาถึง ๔๔ ปีพระอานนทเถระหมายถึงข้อนั้นจึงทูลว่า ผู้ปรารภความเพียร
 ผู้กล่าวกำจัดโทษพระเถระเห็นความประพฤติทรามของเหล่าภิกษุก็ไม่ผัดเพี้ยนว่า ค่อยพูดกันวันนี้พูดกันวันพรุ่งนี้ ท่านสั่งสอน พร่ำสอนในที่นั้น ๆเลย
 ย่อมทนฟังคำของผู้อื่น จริงอยู่ ภิกษุรูปหนึ่งชอบสอนผู้อื่นแต่ตัวเองถูกผู้อื่นสอนเข้าก็โกรธ ส่วนพระเถระให้โอวาทแก่ผู้อื่นด้วยตัวเองแม้ถูกโอวาทก็ยอมรับด้วยเศียรเกล้า เล่ากันมาว่า วันหนึ่ง สามเณรอายุ ๗ ขวบเรียนพระสารีบุตรเถระว่า ท่านสารีบุตรขอรับ ชายผ้านุ่งของท่านห้อยลงมาแน่ะพระเถระไม่พูดอะไรเลย ไป ณ ที่เหมาะแห่งหนึ่ง นุ่งเรียบร้อยแล้วก็มายืนประณมมือพูดว่า เท่านี้เหมาะไหม อาจารย์ พระเถระกล่าวว่าผู้บวชในวันนั้นเป็นคนดี อายุ ๗ ขวบโดยกำเนิด ถึงผู้นั้นพึงสั่งสอนเราเราก็ยอมรับด้วยกระหม่อม สั่งสอนตามแบบธรรมเนียมว่าธรรมดาว่าภิกษุเห็นวีติกกมโทษในเมื่อเรื่องเกิดขึ้นแล้วก็ตาม ยังไม่เกิดขึ้นก็ตามพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้ เดินอย่างนี้ ยืนอย่างนี้ นั่งอย่างนี้ฉันอย่างนี้
 ไม่เห็นแก่คนชั่ว ไม่ฟังคำคนชั่วเหล่านั้นไม่ยอมอยู่ในจักรวาลเดียวกับคนชั่วเหล่านั้น พระอานนทเถระทูลว่า พระเจ้าข้าท่านพระสารีบุตรตำหนิบาปด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ตำหนิคนชั่วอย่างนี้ว่า"ในกาลไหน ๆ ขอเพื่อนสพรหมจารีของเราอย่าเป็นผู้มีความปรารถนาลามกเกียจคร้าน หย่อนความเพียร มีสุตะน้อย ไม่ยึดถือรอบด้าน ไม่มีในที่ไหน ๆเลย"บ้าง ตำหนิธรรมฝ่ายชั่วอย่างนี้ว่า"ธรรมดาว่าสมณะไม่พึงตกอยู่ในอำนาจราคะ โทสะและโมหะ ๆที่เกิดขึ้นแล้วพึงละเสีย"บ้าง
 เมื่อท่านพระอานนท์กระทำการประกาศคุณตามความเป็นจริงของพระเถระด้วยบท๑๖ บทอย่างนี้แล้ว บุคคลชั่วไร ๆ ก็อย่าได้กล่าวว่าทำไมพระอานนท์ไม่ได้กล่าวคุณสหายที่รักของตนคำอะไรที่พระอานนท์นั้นกล่าวแล้วก็เป็นอย่างนั้น พระอานนท์นั้นเป็นสัพพัญญูหรือพระศาสดาเมื่อทรงกระทำการกล่าวคุณนั้นที่ไม่กำเริบเป็นคำตรัสของพระสัพพัญญูพุทธะก็เท่ากับประทับแหวนตราชินลัญจกร (ตราพระชินเจ้า)
 เมื่อพระตถาคตและพระอานนทเถระกำลังกล่าวคุณของพระมหาสาวกอยู่เหล่าภุมมเทวดาคือเทวดาผู้อยู่ภาคพื้นดินก็ลุกขึ้นกล่าวคุณด้วยบท ๑๖บทเหล่านั้นเหมือนกัน แต่นั้นเหล่าอากาสัฏฐกเทวดา คือเทวดาผู้อยู่ในอากาสเทวดาฝนเย็น เทวดาฝนร้อนเทวดาชั้นจาตุมมหาราชตลอดถึงอกนิฏฐพรหมโลกก็ลุกขึ้นกล่าวคุณด้วยบท ๑๖บทเหล่านั้นเหมือนกันเทวดาในหมื่นจักรวาลตั้งต้นแต่จักรวาลหนึ่งก็ลุกขึ้นกล่าวโดยอุบายนั้น ครั้งนั้นสุสิมเทพบุตรสัทธิวิหาริกของท่านพระสารีบุตรดำริว่าเทพบุตรเหล่านี้ละกีฬาในงานนักษัตรของตน ๆ เสียแล้วดำรงอยู่ในที่นั้นกล่าวคุณอุปัชฌาย์ของเราเท่านั้น จำเราจะไปสำนักพระตถาคตกระทำการกล่าวคุณนั้นซึ่งเป็นคำของเทวดา เขาว่ารัศมีแห่งวรรณะของเทวบริษัทปรากฏชัดมี ๔ อย่าง คือที่เขียวก็เขียวจัดที่เหลืองก็เหลืองจัด ที่แดงก็แดงจัด ที่ขาวก็ขาวจัด
 พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งท่ามกลางบริษัท ๘ทรงนำคุณของพระเถระมาโดยนัยว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะ เป็นต้นพระเถระก็ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณที่พระศาสดาทรงนำมาแล้ว จริงอยู่พระขีณาสพย่อมไม่กระหยิ่มยินดีความตาย ไม่มุ่งหมายความเป็น แต่ปรารถนายืนคอยดูกาลเวลา เหมือนบุรุษยืนคอยค่าจ้างไปวันหนึ่ง ๆ ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า"เราไม่ยินดีความตาย เราไม่ยินดีความเป็นอยู่ แต่เรารอเวลาปรินิพพานเหมือนลูกจ้างรอค่าจ้างฉะนั้น"

สัง. ๑๕/สคาถวรรค/หน้า ๕๖-๘๕

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท