ยาลดน้ำมูกให้ได้บ่อยแค่ไหน


สรุปว่า ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ ไม่ควรใช้ยาในการลดน้ำมูก แก้คัดจมูก ที่เกิดจากกลุ่มโรคไข้หวัด เนื่องจากข้อควรระวังเรื่องผลข้างเคียงของยาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่แนะนำให้แก้ไขปัญหาอาการหวัดได้ด้วยการดูแลรักษาเบื้องต้น

ยาลดน้ำมูกให้ได้บ่อยแค่ไหน

มีคำถามจากผู้ปกครองของคนไข้ถามว่า  เด็กมีน้ำมูกไม่หาย ทำอย่างไรดี ควรใช้ยาลดน้ำมูกในเด็กถี่ห่างแค่ไหน อย่างไร

 

ก่อนอื่นขอพูดถึงอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก และจาม หรือที่เรียกว่า เป็นหวัด ก่อน

 

หวัด พบได้บ่อยในเด็ก เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ

หนึ่ง กลุ่มโรคไข้หวัด

สอง กลุ่มโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก

 

กลุ่มโรคไข้หวัด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักมีอาการไข้ ตัวร้อน ปวดหัว ร่วมกับอาการหวัด คือ อาการน้ำมูกไหล คัดจมูก และจาม

การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการพร้อมกับการรักษาร่างกายให้แข็งแรง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากยาปฏิชีวนะไม่ได้มีผลต่อเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัด

 

ส่วนกลุ่มโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก เป็นความผิดปกติ ของระบบภูมิคุ้มกันที่มีการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่มากกว่าปกติ ทำให้มีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก คันจมูกและจาม โดยไม่มีอาการของการติดเชื้อ เช่น ไข้ ตัวร้อน ปวดหัว เป็นต้น ในเด็กโตถ้ามีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม ทำให้เกิดความไม่สบายตัวและอาการรำคาญ

 

ในเด็กเล็กเมื่อมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก และจาม อาการเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กหายใจไม่สะดวก ร้องไห้ กวน โยเย นอนไม่หลับ ทำให้ดื่มนมได้น้อยลง นมหรืออาหารไม่ย่อย เกิดท้องอืด เกิดอาเจียน และอาจมีภาวะเยื่อบุลำไส้บวม เกิดอาการถ่ายเหลวร่วมด้วยได้

 

 

ในการรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม มี ทั้งชนิดที่ต้องใช้ยาและชนิดที่ไม่ต้องใช้ยาในการรักษา

 

ยาที่ใช้ในการรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และจาม มี 2 กลุ่มใหญ่

1. ยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮิสตามีน (antihistamines)

2. ยาลดการคั่งของน้ำมูก (decongestants)



กลุ่มแรกคือยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (antihistamines)นั้นเป็นยาที่มีการใช้กันมานานแล้ว มีฤทธิ์ทำให้น้ำมูกแห้งแก้คันจมูก คันตา ลมพิษ และอาการแพ้ ยากลุ่มนี้ใช้รักษาอาการเหล่านี้ได้ผลดี แต่มีผลทำให้ง่วงนอน จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ในเวลาทำงาน โดยเฉพาะทำงานเครื่องจักรหรือขับขี่รถ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้

แต่เหมาะสำหรับให้กับผู้ป่วยตอนก่อนนอน ที่ต้องการให้ง่วงนอน นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ยังมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่สั้นทำให้ต้องใช้วันละ 3-4 ครั้ง

 

ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงทำให้ปากแห้ง คอแห้ง เสมหะเหนียวข้นมากขึ้นด้วยจึงได้มีการพัฒนายาต้านฮิสตามีนรุ่นใหม่ที่ไม่ทำให้เกิด ผลข้างเคียงเรื่องง่วงนอนเช่นยารุ่นเก่า ทั้งยังออกฤทธิ์ได้นาน ทำให้ใช้ยาเพียงวันละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ทำให้สะดวกสบาย ในการใช้ยา โดยไม่ส่งผลกระทบกับการทำงานตามปกติ

 

ปัจจุบันมีการใช้ยากลุ่มนี้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มโรคไข้หวัด และกลุ่มโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก เพื่อบรรเทาอาการน้ำมูกไหลในเด็ก แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าได้ผลดีในโรคไข้หวัดในเด็ก ทั้งยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ง่วง ซึม และชักได้ ดังนั้นในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้

 

การมีอาการหวัดในเด็กเล็ก แนะนำให้ดูแลในการกำจัดน้ำมูกออกพร้อมทั้งทำให้จมูกโล่งด้วยวิธีอื่น ๆ แทนเช่น ใช้ลูกยางดูดออก ให้ดูดน้ำมาก ๆ เพื่อให้น้ำมูกไม่เหนียวจะปลอดภัยกว่า

 

 

ยากลุ่มที่สอง ยาลดการคั่งของน้ำมูก (decongestants)

 

ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดการคัดจมูก จึงทำให้โล่งจมูก และยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ขยายหลอดลมด้วย จึงทำให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น ยากลุ่มนี้ที่มีใช้กันมี 2 ชนิด คือ

1.ชนิดกิน

2. ชนิดทาภายนอกโดยการเช็ดจมูก

 

ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ได้ผลดี ทำให้โล่งจมูก หายใจได้สะดวก แต่ในเด็กบางคนที่ไวต่อยากลุ่มนี้ อาจมีอาการข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ร้องกวน โยเยได้  

 

ยาลดการคั่งของน้ำมูกอีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดทาภายนอก เช่น ephedrine เป็นยาที่ได้ผลดี ทำให้โล่งจมูก หายใจได้สะดวก ถ้าใช้อย่างถูกวิธีและไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3-5 วัน เพราะถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดอาการกลับมาคัดจมูกได้เนื่องจากอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยานานเกินไป

 

สรุปว่า ในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ ไม่ควรใช้ยาในการลดน้ำมูก แก้คัดจมูก ที่เกิดจากกลุ่มโรคไข้หวัด เนื่องจากข้อควรระวังเรื่องผลข้างเคียงของยาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่แนะนำให้แก้ไขปัญหาอาการหวัดได้ด้วยการดูแลรักษาเบื้องต้น

 

 

การดูแลเบื้องต้นเมื่อเด็กเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล

 

1.ถ้าน้ำมูกมาก แนะนำให้ใช้ไม้พันสำลีหรือผ้านุ่มๆ ที่ม้วนปลาย ค่อยๆ สอดเข้าไปในรูจมูก เพื่อซับน้ำมูกออกมา หรือใช้ลูกยางแดง (ที่ดูดน้ำมูกสำหรับเด็ก)  ค่อยๆ ดูดน้ำมูก ออกทีละน้อยๆ อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดการอุดตันของรูจมูก เด็กจะหายใจได้ดีขึ้น ถ้าเป็นเด็กโตก็ควรแนะนำหรือ สอนวิธี การสั่งน้ำมูก เพื่อช่วยให้ทางเดินหายใจในจมูกโล่งดียิ่งขึ้นได้ด้วยตนเอง

 

2. ถ้ามีการอุดตันของรูจมูก หรือน้ำมูกแห้งกรัง แนะนำให้ใช้ไม้พันสำลีหรือผ้านุ่มๆ ที่ม้วนปลายชุบน้ำเกลือ ร้อยละ 9 (Normal saline solution) เช็ดหรือหยดในรูจมูกให้ชุ่ม แล้วทิ้งไว้สักพัก เพื่อช่วยให้น้ำมูกที่แห้งกรัง ค่อยๆ อ่อนนุ่มลง แล้วจึงใช้ไม้พันสำลีค่อยๆ เช็ดออกไป นอกจากนี้ ควรแนะนำให้เด็กดื่มน้ำมากๆ กินอาหาร ตามปกติ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และสร้างภูมิต้านทานมาต่อสู้กับโรคเหล่านี้  ในเด็กที่มีเคยมีประวัติโรคหืด หูชั้นกลางอักเสบ และไซนัสอักเสบ ควรระวังมากขึ้นเมื่อเป็นหวัด  เพราะอาจทำให้กลับมาเป็นโรคเหล่านี้ได้อีกหรือทำให้โรคลุกลามรุนแรงมากขึ้น

 

 

สรุป

 

 การให้ยาลดอาการคัดจมูก ลดน้ำมูก ลดคั่งบวมของจมูก ให้ตามกลุ่มยาที่ใช้ หากเป็นกลุ่มแรก คือ แอนตี้ฮีสตามีนรุ่นเก่า ให้ได้วันละสามถึงสี่ครั้ง คือ ทุกหกชั่วโมง

หากเป็นยาแอนตี้ฮีสตามีนรุ่นใหม่ ๆ ให้ได้วันละสองครั้ง

 

อย่าให้ยาทุกครั้งที่เห็นว่ามีอาการกำเริบขึ้นมา เพราะการให้ยามากเกินไป อาจเกิดผลข้างเคียงของยาเช่น เยื่อบุจมูกหรือเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนอื่น เช่น เยื่อบุหลอดลมแห้งเกินไป อาจเกิดผลอื่น ๆ เช่น อาการระคาย คัน หรือไอ แถมเพิ่มเติมมาค่ะ

 

ให้ยามากเกินไปไม่เกิดประโยชน์และยังก่อให้เกิดผลเสียได้ 


อย่าลืมนะคะ และเลยราตรีสวัสดิ์ค่ะ นอนหัวค่ำ ทำร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศ ฝนกำลังจะไป หนาวกำลังจะมา(จริงหรือเปล่านะ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อหวัดค่ะ

หมายเลขบันทึก: 512427เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 21:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

แวะมารับความรู้จากผู้เีชี่ยวชาญครับ พี่หมอเล็ก ;)...

 ขอบคุณมากๆ เลยครับ สำหรับคำแนะนำดีๆ และเป็นประโยชน์นี้

เอาไว้ผมจะนำไปปฏิบัติตามนะครับ อาจารย์

Ico48 ขอบคุณคุณอักขณิชค่ะ คุณอักขริชกินอาหารสุขภาพ อยู่ในอากาศบริสุทธิ์ คงไม่ค่อยต้องอาศัยยารักษาอาการหวัดค่ะ

กดแป้นพิมพ์ผิดไปคำหนึ่งค่ะ คุณอักขณิช

ขอโทษด้วยค่ะ  

ได้ความรู้มากมายเลยครับ อ่านง่าย เข้าใจง่าย -
เหมือนความรู้สามัญประจำบ้าน ก็ไม่ปาน

ขอบพระคุณครับ

Ico48
แผ่นดิน ขอบคุณคำชมค่ะ เรื่องนี้ไม่ยาก เป็นเรื่องสามัญประจำบ้านได้ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท