เดินทางสู่ค่ายวรรณกรรม เดินทางซ้ำรอยท้าวก้าวเดิม


ชัดเจนอย่างยิ่งว่าการกำหนดแนวทางและวัตถุประสงค์ในการเดินทางสู่ค่ายวรรณกรรมครั้งนี้ ได้ถูกวางไว้อย่างกว้างๆ แต่คิดว่าคงไม่หนักหน่วงเกินไปสำหรับนิสิต ในการเรียนรู้ แบบ “บันเทิงเริงปัญญา”


วันที่ ๒๑-๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ ที่จะถึงนี้ ผมคงต้องเดินทางฝ่าสายลมที่ไม่ค่อยจะหนาวเท่าใดของจังหวัดบุรีรัมย์ มุ่งหน้าสู่ เรือนภูงามรีสอร์ท วังน้ำเขียว นครราชสีมา ด้วยภารกิจหลักที่ต้องนำพานักศึกษาวิชาเอกภาษาไทยเข้าสู่ค่ายวรรณกรรม ครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ แล้วที่ผมเองต้องฝ่าฟันอุปสรรคในการทำกิจกรรมเพื่อนิสิต ด้วยความท้าทายต่อความรู้สึกตนเองที่จะต้องนำพาเอาความหวังของนักศึกษาครึ่งร้อยไปเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน


               ครั้งนี้ เรากำหนดหรอบกว้างๆของกิจกรรมเอาไว้ว่า “เรื่องเล่า กวี ดนตรี และธรรมชาติ” หลังจากที่เมื่อเดือน มิถุนายนที่ผ่านมา ผมก็คือผู้ที่นำพาพลังนักศึกษาทั้งมวลไปเรียนรู้เรื่องการเขียน เรื่องสั้น บทกวี และสารคดี  ณ สถานที่แห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่ง เรามีทีมงานทัพนักเขียนมืออาชีพที่มากประสบการณ์มาเสริมหนุนความฝันนั้นเต็มที่ แต่ในทางกลับกัน ผลที่สะท้อนคืนมาในครานั้น ผมกลับรู้สึกว่านักศึกษาเองเขายังก้าวไม่ถึงขั้นนั้นเสียทีเดียว แต่ก็ยังแอบยิ้มให้แก่ความสำเร็จทางความคิดตนเองนิดๆว่า...”อย่างน้อย กระบวนการที่ผมโยนลงสู่กระบวนการ แบบ โยนหินถามทาง ก็มีแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นบ้าง” เพราะสุดท้ายผมพยายามเข็ญใสให้นักศึกษาเขียนเรื่องราวที่เขาได้อยู่กับพี่ๆเหล่านักเขียนตั้ง ๒ วันนั้นส่งเป็นเรื่องราวค่าย  นักศึกษาบอกว่า ไม่เข้าใจในความมุ่งหวังว่าเราจะให้เขาตั้งหน้าตั้งตาเขียนอะไรนักหนา เขาอยากจะไปเที่ยวเสียมากกว่า ซึ่งผมเองไม่ได้รู้สึกโกรธเคืองเด็กที่ต่อว่าเช่นนั้น ผมกลับดีใจที่เขาระบายความรู้สึกนั้นออกมา จนแล้วจนรอดความรู้สึกที่อัดอั้นอยากจะหลุดพ้นจากการเรียนเพื่อเที่ยวก็คือแรงบันดาลใจให้เกิดวาทกรรม “เรื่องเล่าค่ายวังน้ำเขียว” ที่ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยเนื้อหาที่น้อยใจต่อการเดินทางไปค่ายครั้งนั้น แต่ทว่านั่นคือเรื่องราวที่ทรงพลังอย่างยิ่งที่ทำให้ผมต้องพานักศึกษาเดินทางกลับไปที่นั่นอีกครั้ง


  เรื่องของวังน้ำเขียว พื้นที่ทางธรรมชาติที่สดชื่นและยังคงความอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในธรรมชาติอันหนาวเย็นและที่สำคัญคือผมมองว่าที่นั่นเหมาะสมที่จะเป็นสถานที่เรียนรู้ของนิสิตได้เป็นอย่างดี ทั้ง เรื่องเล่า กวี ดนตรี และธรรมชาติที่สมบูรณ์ เพราะจุดประสงค์ของการเดินทางไปเรียนรู้ท่ามกลางธรรมชาติครั้งนี้ โจทย์สำคัญที่ผมและพี่ๆมองแล้วว่าเหมาะสมแก่นักศึกษาในการเรียนรู้มากที่สุดคือ

  เรื่องเล่า งานเขียนแบบอิสระที่ทุกคนสามารถสร้างสรรค์งานตามจินตนาการของตนเองได้อย่างสร้างสรรค์ ที่ผมไม่เรียกให้เป็น เรื่องสั้น หรือความเรียงนั้นเห็นว่าน่าจะเป็นขั้นสูงในการเรียนรู้จนเกินไป

  บทกวี ความจริงมุ่งหวังให้เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนที่มีทั้งรูปแบบฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์

  ดนตรี ให้นักศึกษาได้เรียนรู้และผ่อนคลายด้วยดนตรีตามแนวทางของชาวค่ายวรรณกรรม จากประสบการณ์ของตนเองที่สัมผัสมาแล้วตั้งแต่อดีตสมัยเรียน ที่ยังจดจำอยู่มิลืมเลือน

  ธรรมชาติ ผมกำหนดให้ธรรมชาตินี้เป็นเสมือนหัวใจหลักของการไปค่ายวรรณกรรมครั้งนี้ เพราะผมเชื่ออย่างสนิทใจว่าธรรมชาติมีพลังที่ยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนอารมณ์สุนทรียในตัวของมนุษย์ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเรียนรู้


              ชัดเจนอย่างยิ่งว่าการกำหนดแนวทางและวัตถุประสงค์ในการเดินทางสู่ค่ายวรรณกรรมครั้งนี้ ได้ถูกวางไว้อย่างกว้างๆ แต่คิดว่าคงไม่หนักหน่วงเกินไปสำหรับนิสิต ในการเรียนรู้ แบบ “บันเทิงเริงปัญญา” (แนวคิดหลักของพี่พนัส ปรีวาสนา เมื่อครั้งอยู่ที่กองกิจการนิสิต มมส) และผมหวังอย่างยิ่งว่าการเดินทางสู่ค่ายวรรณกรรมในครั้งนี้จะเป็นการเดินทางตามเส้นทางการพัฒนาความเป็นนักศึกษาที่สมบูรณ์ ตามแนวทาง คนภาษาไทย อย่างมีความสุข


หมายเลขบันทึก: 512110เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

“เรื่องเล่า กวี ดนตรี และธรรมชาติ”

ขอบคุณ ท่านขุนแผ่นดินเย็นที่นำมาแบ่งปัน"บันเทิงเริงปัญญา"

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ธรรมชาติ เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการหนุนให้ผู้คนเกิดพลัง หรือแรงบันดาลใจในการที่จะสร้างงานศิลปะ  ลองพิจารณาดูนะครับว่า  ที่สุดแล้ว  งานเขียนของเด็กๆ มีชิ้นใดที่เขียนถึงปรากฎการณ์ธรรมชาติ  หรือแม้แต่เรื่องราวอันเป็นบทบาทและหน้าที่ของมนุษย์ที่พึงมีต่อการรับผิดชอบต่อ "ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม"   หรือ "จิตสาธารณะ"  นั่นเอง

เห็นด้วยเป็นที่สุดค่ะ 

อยากให้มีการจัดกิจกรรมให้กับ นศ.ปีสาม จังเลยค่ะ อยากไปๆค่ะ สนุก ได้ความรู้ ก่อนจบ.....

ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใด...ยังส่งเสริมกิจกรรมดีๆแก่เยาวชนเสมอ...เป็นกำลังใจให้คับ

ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งให้ครับ..แม้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้ลงจอนำกิจกรรมมาส่งข่าว แต่ทว่าบนเส้นทางสายคนกิจกรรมย่อมไม่เดียวดายเพราะความอบอุ่นเสมอครับ

             การเขียนมันเกิดจากความรู้สึกอยากที่จะเขียนเป็นเบื้อต้นแล้วหนุนเสริมด้วยปัจจัยอื่นๆ การถูกบังคับหรือบีบให้เขียนย่อมขัดแย้งและทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า "ไม่เข้าใจในความมุ่งหวังว่าเราจะให้เขาตั้งหน้าตั้งตาเขียนอะไรนักหนา เขาอยากจะไปเที่ยวเสียมากกว่า" แต่คำถามนี้มันไม่ได้สะท้อนถึงความล้มเหลว เพราะอย่างน้อยที่สุดเราได้เริ่มต้นกระบวนการเขียนให้แก่เขา การตั้งคำถามในวันนี้จะนำไปสู่การค้นหาหรือค้นพบคำตอบในตอนท้ายเมื่อเขาก้าวออกไปในวงการวิชาชีพ

              การเขียนมันต้องอาศัยการสร้างความศรัทธาในตัวตนและรู้สึกรัก ชอบที่จะเขียนเป็นทุน เราจะต้องก่อให้เขารู้สึกอยากมากกว่าการมองว่าเป็นคำสั่ง

   การปลูก-ฝัง  เป็นกระบวนการที่ทรงพลัง  การปลูก หมายถึงการสร้างพลังทางความคิดหรือการฉีดนำ้เชื้อแห่งความรู้สึกเข้าไปสู่ตัวคน ส่วนฝัง เป็นการเสริมเน้นย้ำซ้ำทวนอยู่มิได้ขาดหาย ไม่ใช่ค่ายวันนี้เสร็จมันจบและสิ้นสุด หากกระบวนการและการเขียนยังคงต้องต่อเนื่องและดำรงอยู่ตลอดระยะเวลา

ซึ่งทั้งหมดก็เดินมาถูกทางแล้วแต่ควรดันต่อไป สร้างความต่อเนื่อง

ขอบคุณมากครับ..ผมกำลังจะเข้าสู่กระบวนการสร้างพลังจากภายใน เพื่อขับเคลื่อนสู่ภายนอก  และจะพยายามทำให้ได้ถึงที่สุดครับ..


เห็นด้วยจ้ะ  เดินหน้าต่อไป

เรียนรู้แบบบันเทิงเริงปัญญา..เพื่อพัฒนาให้นิสิตเกิดจิตอาสาเพื่อสังคม

ตามมาให้นักเขียนรุ่นใหม่ในอนาคตนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท