ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๐๘. ให้ชาวนาอยู่ได้



          เที่ยงวันที่ ๒๔ พ.ย. ๕๕ หลังการประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ห้องสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กรรมการสภาฯ ก็ ลงมาตักอาหารรับประทาน  ผมตักแล้วเดินไปนั่งที่โต๊ะด้านหน้าหอประชุม  เพราะเล็งว่าเป็นที่โล่ง ลมน่าจะเย็นดี  ซึ่งก็จริงดังคาด


          นอกจากได้ลมเย็น และอาหารอร่อยแล้ว  ผมยังได้ปัญญาจากการพูดคุยอีกด้วย  โดยสาระเป็นเรื่องการรับจำนำข้าว  ศ. ดร. สนิท อักษรแก้ว บอกว่า คำว่า “รับจำนำข้าว” เป็นคำที่แปลกมาก  ไม่เหมือนการรับจำนำโดยทั่วไป ท่านเล่าแบบติดตลก (ตามแบบของท่าน) ว่าสมัยเป็นนิสิต เสื้อนอกที่ตัดมาราคาตั้ง ๖๐๐ บาท  เอาไปจำนำ เขาให้ ๓๐ บาทเท่านั้น เพราะฉนั้น จำนำแล้วต้องไปไถ่คืน


          แต่จำนำข้าวของรัฐบาลนี้แปลก ให้ราคาจำนำมากกว่าราคาตลาด  และจำนำแล้วไม่ไถ่คืน  เพราะได้ราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงไปแล้ว


          เราคุยกันว่า รัฐบาลรับจำนำข้าวในราคา15,000 บาทต่อตัน  แต่ที่ชาวนาขายได้จริงๆ ราวๆ ๙,๐๐๐ บาทเท่านั้น  เพราะเวลาเอาไปจำนำจริงมีการหักโน่นหักนี่  แต่ชาวนาก็ยังชอบ เพราะขายได้แพงกว่าเดิม ซึ่งอาจได้เพียง ๗,๐๐๐ เท่านั้น 


          เราคุยกันว่านโยบายรับจำนำข้าวทำให้รัฐบาลได้ใจชาวนา  แต่ผมและอีกท่านหนึ่งแย้งว่า ชาวนาไม่ได้ประโยชน์จริงจัง  ขายได้ราคาสูงขึ้น หรือดูที่รายรับอย่างเดียว เป็นวิธีคิดที่ผิดพลาด  ที่ถูกต้องดูที่กำไรสุทธิ  วิธีทำนาแบบปัจจุบันที่อัดสารเคมีเข้าไปในแปลงนา  คนที่รวยคือบริษัทผลิตสารเคมี และคนขาย  ชาวนาไม่มีวันรวยหรือรายได้ดี  เพราะต้นทุนสูง  ต้นทุนที่มองไม่เห็นคือเสียสุขภาพ  ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล  ที่เวลานี้รัฐบาลจ่ายตามระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า  ก็เท่ากับพวกเราผู้เสียภาษีทุกคนจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกิดจากสารเคมีเป็นพิษในแปลงนา ก่อปัญหาสุขภาพแก่ชาวนา  และจริงๆ แล้วสารเคมีมันตกค้างในน้ำและในเมล็ดข้าวเอง  แล้วเราก็ได้รับด้วยโดยทางอ้อม


           ให้ชาวนาอยูได้จึงไม่ใช่มาตรการรับจำนำข้าวเป็นหลัก  มาตรการจับจำนำข้าวเป็นมาตรการมายา  ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของประเทศภาพรวม  แต่เพื่อประโยชน์ในการหาเสียง และหาเงินเข้ากระเป๋า


          ให้ชาวนาอยู่ได้ ต้องให้ชาวนารู้เท่าทันมายาหรือคิดเป็นและทำนาแบบที่ให้กำไรสูงสุด คือแม้รายรับจะไม่สูงสุด แต่ต้นทุนก็ไม่สูง  หักรายจ่ายออกจากรายรับแล้วส่วนกำไรสูงกว่า เป็นใช้ได้


          นั่นคือต้องใช้วิธีทำนาแบบไม่ใช้สารเคมี  แบบที่สนับสนุนหรือเผยแพร่โดยมูลนิธิข้าวขวัญ  มูลนิธิโรงเรียนชาวนานครสวรรค์ เป็นต้น



วิจารณ์ พานิช
๒๖ พ.ย. ๕๕


หมายเลขบันทึก: 512000เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 19:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ทำตามแบบของอาจารย์ ดร. แสวง รวยสูงเนินด้วยก็ดีมากเช่นเดียวกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท