นิสิตจิตอาสา : ถามทัก "จิตอาสา : มีความหมายใดในกิจกรรม"


ถึงแม้จะยังเป็นคนส่วนน้อยในมหาวิทยาลัยก็เถอะ แต่ผมก็เชื่อว่า พวกเขาจะยังเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีพลัง และมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่วันยังค่ำ ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำองค์กรเหล่านี้จะมี “ทักษะการเรียนรู้” (ที่ดี) แค่ไหน รวมถึงการมี “ครู” ที่พร้อมจะทุ่มเทกายใจเพื่อทำหน้าที่การเป็น “โค้ช” (ที่ดี) ให้กับพวกเขา หรือไม่เท่านั้นเอง

เป็นความโชคดีอย่างมหาศาลกับการได้รับการสนับสนุนให้ขับเคลื่อนเครือข่ายเกี่ยวกับเรื่อง “เด็กและเยาวชน” จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ภายใต้ชื่อโครงการที่ผมเป็นผู้รับผิดชอบหลักคือ “เครือข่ายชุมชนนักปฏิบัติการทางออนไลน์ด้านกระบวนการพัฒนานิสิตนักศึกษาและนักเรียนในGotoknow.org”




หลังจากพยายามเชื่อมโยงพื้นที่การเรียนรู้มาระยะหนึ่ง  จึงถือโอกาสเปิดตัวอย่างเป็นทางการจากกลุ่มเป้าหมายหลักที่ใกล้ตัวเป็นอันดับแรก  อันหมายถึงบุคลากรและนิสิตที่ผมได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมในถนนแห่ง “โลกและชีวิต”  ภายใต้แก่นสารของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือเรียนรู้กระบวนการทำกิจกรรมเพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555  ณ  กองกิจการนิสิต  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  พุ่งประเด็นไปสู่การถอดบทเรียนผ่านผู้นำองค์กรนิสิตในหัวข้อ “กิจกรรมนิสิตกับจิตสำนึกสาธารณะและการทำงานเพื่อชุมชน”  ซึ่งตอบโจทย์ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)  รวมถึงอัตลักษณ์ของนิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)




ครับ-ผมเลือกเปิดตัวในเวทีนี้  เนื่องเพราะต้องการกระตุ้นให้บุคลากรและนิสิตได้เห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ผ่านกระบวนการอันหลากหลาย  รวมถึงการกระตุ้นให้บุคลากรและนิสิตเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่คุณภาพที่มีชื่อว่า “gotoknow.org”  อันเป็นคลังความรู้และมิตรภาพอันไพศาลที่ไม่แยกชั้นวรรณะ


เปิดเวที : ทบทวน ถามทักความคาดหวัง


การเปิดเวทีครั้งนี้  ผมไม่ลงมือเอง  หากแต่มอบหมายทีมงานให้ทำหน้าที่แทน  เป็นการ “สอนงาน สร้างทีม” ในแบบที่ผมถนัด  ส่วนทีมงานจะใช้กลวิธีการใดก็ให้อิสระเต็มกำลัง  เพื่อให้เขาได้  “คิดและได้ทำในสิ่งที่คิด”  เหมือนการฝึกปรือทักษะของการออกแบบการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ไปในตัว


ไม่เพียงแค่นั้นหรอกนะครับ-ผมยังถือโอกาสให้ทีมงาน จัดเก็บข้อมูล สังเคราะห์ประเด็นความคาดหวังเหล่านั้นด้วยตนเอง  เรียกได้ว่าผลักขึ้นเวทีหนเดียว มอบภารกิจตั้งแต่ “ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ” อย่างเสร็จสรรพ


มิหนำซ้ำ  ยังทิ้งทวนให้จัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมแบบง่ายๆ ไม่กระโดดโลดเต้นอะไรมาก  เน้นการรู้จักกัน เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (โสเหล่)  โดยย้ำเน้นให้เป็นธรรมชาติที่สุด  ไม่ต้องขนวัสดุอุปกรณ์อันอลังการมาให้เปล่าเปลืองงบประมาณ 




เป็นที่ทราบกันดีว่า  ผมให้ความสำคัญกับกระบวนการถามทักความคาดหวัง (BAR : Before Action Review)  เป็นอย่างมาก  เพราะเป็นระบบและกลไกกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมการเรียนรู้มี "เป้าหมายในการเรียนรู้ "  หรือมีเตือนสติ-มีสมาธิกับการเรียนรู้ร่วมกับคนอื่น  ไม่ใช่ลงมือทำสิ่งใดแล้วเลื่อนลอย ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุของการเรียนรู้


และนี่คือความคาดหวังที่เหล่าบรรดาผู้นำองค์กรนิสิตได้สะท้อนในวันนั้น

·  อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้

·  อยากได้ทักษะการกล้าคิด กล้าแสดงออก

·  อยากรู้เรื่องจิตอาสาขององค์กรอื่นๆ

·  อยากพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม

·  อยากเรียนรู้ทักษะความผู้นำ

·  อยากสร้างเครือข่ายจิตอาสา ทั้งในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย

·  อยากได้รับการเรียนรู้ที่เพลิดเพลิน  สนุกสนาน ไม่เครียด

·  อยากรู้กระบวนการทำงานใหม่ๆ จากเพื่อนต่างองค์กร


ครับ-ประเด็นที่ค้นพบจากความคาดหวัง  จะเห็นได้ชัดว่าผู้นำองค์กรมีความคาดหวังในการที่จะพัฒนาศักยภาพตนเองในมิติต่างๆ เช่น  ความเป็นผู้นำ  ทักษะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การสร้างเครือข่าย รูปแบบหรือเทคนิคในการขับเคลื่อนงานจิตอาสา  ฯลฯ


  


มีความหมายใดใน “กิจกรรม”  (1)


ถัดจากนั้นก็ถึงวาระที่ผมต้องออกมาเคลื่อนเอง  หากแต่แทนที่จะลั่นระฆังการโสเหล่ในทันที  ผมกลับใจเย็นพอที่จะลากกระบวนการของการเตรียมความพร้อมออกไปในอีกสักระยะด้วยการชวนเชิญให้แต่ละคนนิยามความหมายของคำว่า “กิจกรรมนิสิต”  ร่วมกัน

ครับ-โดยส่วนตัวผมถือว่าการนิยามความหมายเช่นนี้  จะช่วยให้นิสิตสังเคราะห์ความรู้อันเป็นโลกทัศน์และชีวทัศน์ของตนเองได้เป็นอย่างดี  เสมือนการฝึกให้นิสิต ได้สะท้อนแนวคิดอันเป็นมุมมองของตนเองที่มีต่อ “กิจกรรมนิสิต” (กิจกรรมนอกหลักสูตร)  หรือกระบวนการเรียนนอกฤดูว่า “พวกเขามองกิจกรรมนิสิตในมิติใด”





กระบวนการเช่นนี้  ผมเปิดกว้างให้นิสิตสะท้อนได้อย่างอิสระ  ทั้งวาทกรรมสั้นๆ หรือเขียนบรรยาย  หรือแม้แต่วาดเป็นรูปก็ไม่ผิด  ซึ่งก็ปรากฏออกมาอย่างไม่ธรรมดา  ดังนี้

·  กิจกรรม  คือ ชีวิต

·  กิจกรรม คือ พลังอันยิ่งใหญ่ของการทำงานร่วมกัน

·  กิจกรรม คือ  การวางแผน

·  กิจกรรม คือ  การทำประโยชน์เพื่อตนเองและสังคม

·  กิจกรรม คือ  การเต็มใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

·  กิจกรรม  คือ  การให้และการรับ

·  กิจกรรม คือ  ประสบการณ์ชีวิต

·  กิจกรรม คือ  การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต

·  กิจกรรม คือ ความเสียสละ

·  กิจกรรม คือ  ต้นไม้

·  กิจกรรม คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

·  กิจกรรม คือ  กำไรชีวิตและรสชาติชีวิต

·  กิจกรรม คือ  แรงงานความรู้

·  กิจกรรม คือ หนังสือ

·  กิจกรรม คือ เวทีพิสูจน์ความสามัคคี

·  กิจกรรม คือ  กระบวนการสู่เป้าหมายชีวิตและการงาน

·  กิจกรรม คือ  แสงเทียนส่องสว่าง

·  กิจกรรม คือ  เครื่องจักรชีวิต

·  กิจกรรม คือ  ครู

·  กิจกรรม คือ การเรียนรู้คุณค่าชีวิต และการเรียนรู้สังคม

·  กิจกรรม คือ สิ่งเหนื่อยกาย และอิ่มเอมใจ

·  กิจกรรม คือ  นิยายที่ไม่มีวันจบ

·  กิจกรรม คือ  ความเป็นคน




ครับ- ทันทีที่ผมได้รับถ้อยคำเหล่านั้น  ผมไม่รีรอที่จะสะท้อนกลับไปยังนิสิตให้ได้รับฟังร่วมกัน  เป็นการสะท้อนดิบๆ แบบไม่จัดหมวดหมู่ประเด็นใดๆ เน้นความสดเป็นที่ตั้ง  เพื่อให้เกิดการเชื่อมร้อยไปสู่การแลกเปลี่ยนของนิสิตให้ทันท่วงที

เช่นเดียวกัน  สำหรับผมแล้ว  เมื่อฟังวาทกรรมการนิยามความหมายของคำว่ากิจกรรม หรือ “เรียนนอกฤดู” เช่นนี้แล้ว  ทำให้ผมรู้สึกอิ่มเอมใจไปกับผู้เขาเป็นอย่างมาก -

เนื่องเพราะวาทกรรมสั้น ๆ เหล่านั้นล้วนอัดแน่นด้วยพลังปรัชญาชีวิตของคนหนุ่มสาว  ถึงแม้จะยังเป็นคนส่วนน้อยในมหาวิทยาลัยก็เถอะ  แต่ผมก็เชื่อว่า  พวกเขาจะยังเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีพลัง และมีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่วันยังค่ำ  ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำองค์กรเหล่านี้จะมี “ทักษะการเรียนรู้” (ที่ดี) แค่ไหน  

  • รวมถึงการมี “ครู” ที่พร้อมจะทุ่มเทกายใจเพื่อทำหน้าที่การเป็น “โค้ช” (ที่ดี) ให้กับพวกเขา  หรือไม่เท่านั้นเอง


และถัดจากนั้น  ผมก็นำเข้าสู่การปูพรมเรื่อง “ถอดบทเรียน” เล็กๆ น้อยๆ พร้อมๆ กับการนำพาทุกคนเข้าสู่เวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแบบที่ตนเองถนัด คือ “ง่ายๆ สบายๆ ...เป็นกันเอง...มีอะไรก็เล่าสู่กันฟัง”  ซึ่งมีบุคลากรคอยทำหน้าที่เป็น “ผอ” (ผู้อำนวยการกระบวนการเรียนรู้) คอยประคองอยู่ใกล้ๆ ...





ปิดเวที : มีความหมายใดในกิจกรรม (2)


ภายหลังกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ยุติลง  กระบวนการประเมินผลการเรียนรู้ (AAR : After Action Review)  ยังคงถูกนำมาใช้ตามครรลองเหมือนทุกครั้ง  หากแต่ครั้งนี้ผมแถมพ่วงประเด็นการประเมินเข้าไปอีกประเด็น  นั่นก็คือ การถามทักถึงสิ่งที่นิสิตได้รับจากการทำกิจกรรมนอกชั้นเรียน  (มีความหมายใดในกิจกรรม)  ซึ่งกระตุ้นให้นิสิตได้หันกลับไปทบทวนตัวเองอีกรอบว่า  ตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมมานั้น ได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือกิจกรรมให้อะไรกับนิสิต บ้าง

ครับ-นี่คือส่วนหนึ่งที่นิสิตสะท้อนกลับมาให้ผมได้ร่วมรับรู้ว่า “กิจกรรมทำให้เขาเปลี่ยนแปลงอย่างไร”...

·  กิจกรรม สร้างกระบวนการคิดและการทำงานอย่างมีเหตุผล

·  กิจกรรม ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมของสังคม

·  กิจกรรม เปลี่ยนมุมคิดเชิงสร้างสรรค์ในการเรียนและการใช้ชีวิตให้มีค่ามากขึ้น

·  กิจกรรม สร้างทักษะการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับชีวิต

·  กิจกรรม ทำให้คิดเป็น พูดเป็น 

·  กิจกรรม สอนให้รับฟังผู้อื่น  อยู่ร่วมกับผู้อื่น

·  กิจกรรม สอนให้ตระหนักถึงการทำความดีเพื่อสังคม

·  กิจกรรม สอนให้รู้จักการวางแผน

·  กิจกรรม สอนให้รู้จักความรับผิดชอบที่มีต่อตนเองและคนรอบข้าง

·  กิจกรรม สอนให้เห็นคุณค่าของการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน

·  กิจกรรม  ทำให้การใช้ชีวิตมีสีสันมากขึ้น 

·  กิจกรรม สอนให้รู้ว่าความหมายของการได้อย่างเสียอย่าง




ครับ-ฟังแล้วก็อดคิดตามไม่ได้  หัวจิตหัวใจของพวกเขาล้วนน่ากราบเป็นที่สุด  เพราะพวกเขาไม่เพียงเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองเท่านั้น  หากแต่ระยะทางแห่งการเรียนรู้ทั้งปวง  พวกเขายังต้องแบกภาระของสังคมไปพร้อมๆ กัน  ถึงแม้จะเป็นเพียงการเรียนรู้ที่จะแบกรับก็ตาม  แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า  มันคือความจริง มันคือเรื่องจริงที่รอวันให้พวกเขาได้เติบโตไปสู่สถานะเช่นนั้น –

ครับ-สถานะของการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม 
สถานะของการเป็นผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน 
หรือการเป็นที่ช่วยเหลือสังคมและชุมชน  นั่นเอง



หมายเลขบันทึก: 511957เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2012 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อ่านแล้วได้ความสุขและกำลังใจในการทำงานต่อไป  อยากได้สัญญาหน้าเสาธง ครับ

อยากเอาไปให้ครูดู

เรียนอาจารย์พนัส ด้วยความเคารพ

ขอเรียนถามนิดนะคะ อาจารย์เขียนเรียงความเป็นตอนเรียนอยู่ชั้นไหนคะ?

อัศจรรย์ใจว่า เขียนได้อย่างไร...ทุกถ้อยคำอักษร ไม่มีเฟ้อ ไม่มีเกิน แม้เพียงครึ่งตัว!

หรือ...คงสั่งสมข้ามชาติมากระมังหนอ?

ขอบพระคุณ "ต้นแบบ" ในการเขียน

ที่ถ่ายทอดให้รับซับทราบ แบบเยี่ยมยุทธที่สุดเลยค่ะ สาธุ

 


อ่านบันทึกเช่นนี้แล้วมีความสุขและความหวังที่ดีๆมากค่ะ..

ใจนำพา  ศรัทธานำทาง  และท้ายสุดคงเป็น กิจกรรมสร้างคนดีในอนาคต

เยี่ยมยุทธิ์เหมือนเดิมค่ะอาจรย์

เรียนอาจารย์แผ่นดิน  จิตอาสา  มีคนเคยถามคืออะไ ตอบไม่ได้ จึงเล่านิทานให้ฟัง

(http://www.gotoknow.org/posts/187545?)  หมีกับลูกหลุมพีครับ

ขอบคุณบันทึกที่ให้ความสุข และความดีงามจ้ะ

ความสุข ที่นึกถึงทุกครั้งแล้ว  จะคิดกับตนเองว่า.....อยากให้คนอื่นมาสัมผัสบ้าง

ชื่นชมกับกิจกรรมดีๆค่ะ 

พลังจิตอาสา พลังคนกิจกรรม สายธารผู้นำกิจกรรมไม่เคยเหือดแห้ง และที่สำคัญมีผู้คอยหนุนเสริมที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังอย่างเช่น พี่พนัส อีกแรงแล้ว เชื่อเสมอว่า สอนงาน สร้างทีม ของพลังนิสิตจิตอาสา ย่อมขับเคลื่อนได้อย่างเยี่ยมยุทรแน่นอนทีเดียวครับ


ได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มที่เข้าทำกิจกรรมโดยไม่รู้ตัว...แต่สุดท้ายเขาก็หลงเสน่ห์การทำกิจกรรม...จนทำให้เขาทำงานด้วยใจ....และเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากพี่ ๆ ของเขาจนทุกวันนี้

ดีครับพี่

จิตอาสา มีความหมายใดในกิจกรรม? เป็นคำถามที่แม้จะไม่มีคำตอบใดๆๆ แต่ผู้ถามและผู้ถูกถามกลับรู้สึกว่าได้รับความคิดอะไรมากมายที่เกิดขึ้นในตัวของเขา ความหมายมันผุดขึ้นในใจแต่ละคนอย่างไม่น่าเชื่อ

เพราะว่า "จิตอาสา มันเป็นปุ๋ยที่เสริมให้ผลผลิตของกิจกรรมงอกเงย งอกงาม ไม่ให้กิจกรรมแห้งเฉาและตายลง"


ขอบคุณที่เปิดโอกาสได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครั้งนี้

  •  มาชื่นชม....ชื่นใจครับ 
  • ปณิธิ ภูศรีเทศ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ  ส่วนสัญญาหน้าเสาธง  ผมจะส่งทางเมล์ให้นะครับ

สวัสดี ครับ คุณTawandin

อ่านแล้ว ทำให้ผมลอยตัวไปในอากาศ  อย่ายกยอปอปั้นผมมากเลยครับ  เดี๋ยวลอยหายในอากาศ จะยุ่งไปใหญ่

ส่วนหนึ่งที่ผมชอบเชียน  มันมาจากแรงบันดาลใจความรักครับ  ความรักในสมัยแรกหนุ่ม (มัธยม) แต่ไม่ใช่เขียนเรื่องรักแบบหนุ่มสาวหรอกนะครับ  หากแต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับท้องทุ่ง ความคิดฝันของผมเอง  เขียนและอยากให้ใครซักคนได้อ่าน

ซึ่งเขาก็ได้อ่านจริงๆ....

โตมา ก็เขียน เพราะรักอยากที่จะเขียน  ชอบอ่านมาก่อน จากนั้นอ่านแล้วค่อยอยากเขียน -- เขียนไปเขียนมา ก็มาเจอโกทูโนนี่แหละครับ  ที่ทำให้ค้นพบการเขียนในแบบ "เรื่องเล่าเร้าพลัง" ...

ผมยังต้องพัฒนาอีกเยอะมากครับ..

ยืนยันว่า ยังต้องพัฒนา อีกเยอะมากๆ


ถึงคุณแดนไทย

ใช่ค่ะ ตอนนี้ หลงเสน่ห์การทำกิจกรรม...จนทำให้เราทำงานด้วยใจ....และเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากพี่ ๆ ของเราจนทุกวันนี้ จนแทบจะโงหัวไม่ขึ้น


ไม่รู้ว่า หลงรักไปตอนไหน  แต่ตอนนี้ รักไปหมดหัวใจแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท