กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลกับการเข้าถือหุ้นของคนต่างด้าวในประเทศไทย(สิ่งที่วิทยานิพนธ์ต้องการศึกษา)


คนต่างด้าว

  วิทยานิพนธ์ที่ข้าพเจ้าเขียนนั้น อาจแบ่งปัญหาออกได้เป็นสองส่วนด้วยกัน คือ

  การจำกัดสิทธิและหน้าที่ที่คนต่างด้าวจะต้องปฏิบัติในการเข้าถือหุ้นในประเทศไทย ซึ่งได้แก่การศึกษาถึงหลักการและเหตุผลของกฎหมายภายในแต่ละฉบับของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถือหุ้นและระบุจำกัดสิทธิหรือระบุหน้าที่ให้คนต่างด้าวต้องปฏิบัติ โดยศึกษาถึงความเหมาะสมในการจำกัดสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว เหตุที่ข้าพเจ้าศึกษาในประเด็นนี้เนื่องจากเห็นว่าการเข้าถือหุ้นของคนต่างด้าวเป็นการนำเงินตราต่างประเทศและการถ่ายเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับกิจการบางประเภทที่มีการจำกัดสิทธิและระบุหน้าที่ตามกฎหมายในการเข้าถือหุ้นของคนต่างด้าวแล้ว หากประเทศไทยให้สิทธิแก่คนต่างด้าวในการเข้าถือหุ้นมากขึ้น ประเทศไทยอาจจะได้ประโยชน์จากคนต่างด้าวมากกว่าที่จะเสียประโยชน์ก็ได้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาหลักเกณฑ์ในการกำหนดการจำกัดสิทธิเพื่อที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าถือหุ้นของคนต่างด้าว

  นอกจากนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ยังได้ศึกษาถึงความเป็นคนต่างด้าวภายใต้กฎหมายไทย  ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยในเบื้องต้นต้องมีการศึกษาถึงหลักเกณฑ์ที่ประเทศไทยใช้ในการพิจารณาความเป็นคนต่างด้าว ซึ่งหากเป็นบุคคลธรรมดาต้องไปพิจารณาตามกฎหมายสัญชาติ แต่หากเป็นนิติบุคคลต้องแบ่งการพิจารณาออกเป็นกฎหมายทั่วไปและกฎหมายพิเศษ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการศึกษาความเป็นคนต่างด้าวนั้น ก็คือการศึกษาการจัดสรรเอกชนในทางระหว่างประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลนั้นเอง แต่วิทยานิพนธ์ที่ข้าพเจ้าเขียนนั้นในส่วนของการพิจารณาความเป็นคนต่างด้าวภายใต้กฎหมายไทย ปัญหาที่ข้าพเจ้าจะนำเสนอในส่วนความเป็นคนต่างด้าวของบุคคลธรรมดาคือการเข้าถือหุ้นของคนสองสัญชาติ ซึ่งสัญชาติหนึ่งที่บุคคลดังกล่าวถืออยู่นั้นเป็นบุคคลสัญชาติไทย ว่าจะเป็นการทำให้บุคคลดังกล่าวถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และหากเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่ถูกจำกัดสิทธิแล้ว จะเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายในการกำหนดจำกัดสิทธิในการเข้าถือหุ้นของคนต่างด้าวหรือไม่ และสำหรับนิติบุคคลนั้น ข้าพเจ้าต้องการนำเสนอปัญหาความเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าวซึ่งกำหนดนำหลักการควบคุม (The Control Test) โดยการจำกัดสัดส่วนจำนวนทุนหรือหุ้นของคนต่างด้าวมาเป็นข้อพิจารณาในการกำหนดความเป็นคนต่างด้าวนั้น เป็นการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวซำซ้อนกับกฎหมายที่กำหนดการประกอบอาชีพเฉพาะหรือไม่ และหลักที่เหมาะสมในการกำหนดสัญชาติของนิติบุคคลควรเป็นอย่างไร ที่จะส่งผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยมากที่สุด โดยพิจารณาความเหมาะสมในแง่ของเศรษฐศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 51143เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2006 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท