รัฐธรรมนูญไทย : ประวัติ ความสำคัญ และเกร็ดความรู้นอกความหมายการปกครอง โดย วาทิน ศานติ์ สันติ




รัฐธรรมนูญไทย: ประวัติ ความสำคัญ และเกร็ดความรู้นอกความหมายการปกครอง

วาทิน ศานติ สันติ

เขียนเพื่อเป็นบทสุนทรพจน์เนื่องในวันรัฐธรรมนูญในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง 

ใช้กล่าววันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๕



             "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ณ พระที่นั่ง อนันตสมาคม

คนไทยรู้จักรัฐธรรมนูญมาอย่างยาวนานแล้วนับตั้งแต่เริ่มร่วมกลุ่มกันเป็นชุมชน รัฐธรรมนูญสมัยนั้นอยู่ในรูปแบบจารีตประเพณี ข้อห้าม ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นมุขปาฐะ เมื่อมีการรวมกลุ่มใหญ่มากขึ้นจนกลายเป็นรัฐ รัฐธรรมนูญจึงถูกจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นพระมนูธรรมศาสตร์ มังรายศาสตร์ กฎหมายตราสามดวง และ “รัฐธรรมนูญ” ในชื่อปัจจุบัน ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ของใหม่สำหรับคนไทยแต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ กำหนดรูปแบบของรัฐ  ไม่ว่าประเทศ

นั้น ๆ จะปกครองในรูปแบบใดก็ตามก็มีรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งนั้น สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญกำหนดให้ปกครองแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แนวความคิดประชาธิปไตยของไทย หากจะกล่าวไปแล้วน่าจะเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังในศิลาจารึกหลักที่ ๑ กล่าวว่า “ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า” หรือ “ใครใคร่จักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน”

ในสมัยอยุธยาความคิดประชาธิไตยได้หายไปชั่วคราว ระบบเอกกาธิปัตย์และเทวราชาเข้ามาแทนที่ และเข้มข้นที่สุดก็ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตรงกับรัชกาลที่ ๕ ที่เราเรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราช”

ในรัชกาลที่ ๕  แนวความคิดประชาธิปไตยเริ่มปรากฏขึ้นอีกครั้ง โดยที่ปรึกษาชาวฝรั่งแนะนำให้ทรงเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาเป็นระบบประชาธิปไตย อันเนื่องมาจากประเทศรอบข้างต่างก็ถูกมหาอำนาจคุกคาม โดยอ้างว่า การปกครองในระบอบเดิมทำให้ประเทศล้าหลัง แต่รัชการที่ ๕ ทรงไม่เห็นด้วย เพราะน้อยคนนักที่รู้เรื่องประชาธิปไตย หากพระราชทานอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี พระองค์จึงส่งพระบรมวงศานุวงศ์รวมถึงบุคคลไปเรียนเมืองนอกมากมาย เพื่อเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่การปกครองรูปแบบใหม่

ในรัชกาลที่ ๖ อันสืบเนื่องมากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วประเทศ ได้เกิดเหตุการณ์เรียกร้องการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกจากกลุ่มข้าราชการ แต่ความแตกเสียก่อนรู้ถึงพระกัณฑ์ จึงมีการจับกุมและลงโทษ ภายหลังทรงพระราชทานอภัยโทษให้หมด เราเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “กบฏ ร.ศ. ๑๓๐”ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๕๔ แต่กระนั้นก็มีการเรียกศรัทธาคืนจากประชาชนยกใหญ่ เช่นตั้งกองเสือป่า กองลูกเสือแห่งชาติ

นักเรียนไทยและข้าราชการส่วนหนึ่งในเมืองนอกกลุ่มหนึ่งทำการประชุมลับที่บ้านพักเลขที่ ๙ ถนนซอมเมอราร์ด กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ เกี่ยวกับอนาคตรูปแบบการปกครองของไทย โดยตกลงกันว่าจะใช้วิธีการยึดอำนาจโดยฉับพลันและพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด เรียกกลุ่มของตนว่า “คณะราษฎร” วันที่ ๒๔ มิถุนายน ปีเดียวกันนั้นเอง คณะราษฎรจึงเข้าทำการยึดอำนาจได้สำเร็จและทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยซึ่งแท้จริงแล้ว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีแนวคิดที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญและรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยให้กับประชาชนชาวไทยในวันที่ วันที่ ๖ เมษายน ๒๔๗๕

พระบาทสมเด็จพรปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรีได้พระราชทานรัฐธรรมนูญตามความหมายของรัฐใหม่ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ แล้วพระราชทานพระราชดำรัสที่สำคัญยิ่งดังที่กล่าวไปข้างต้น

ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญไทย นับตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นต้นมา มีเหตุการณ์กบฏมาแล้ว ๑๓ ครั้ง มีการรัฐประหารมาแล้ว ๑๑ ครั้ง มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาแล้ว๑๘ ฉบับ ๑๘ เปลี่ยนยกรัฐมนตรีมาแล้ว ๒๘ คน เป็นภาพสะท้อนที่ว่า ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลาน ขาดเสถียรภาพ อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

 ความน่าสนใจในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีมีเรื่องการปกครองเท่านั้น ยังมีมุมที่น่าสนใจเช่น

การก่อสร้างอาคารในทรงสี่เหลียม หลังคาจั่วแบบเรียบ ๆ หรือหลังคาตัดเรียบ อันเป็นการรณรงค์ของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงอาคารเครื่องสูงที่เน้นการประดับประดาที่หรูหราซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “โบราณพระราชประเพณี” ซึ่งคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองเรียกอาคารทรงใหม่นี่ว่า “อาคารที่ทันสมัย” เช่นอาคารริมถนนราชดำเนินหรือ อาคารที่เห็นในปัจจุบัน หรือแม้แต่วัดก็ลดความหรูหราแบบเดิม ลดลวดลายไทย เช่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บางเขน ซึ่งถือว่าเป็นวัดเนื่องในรัฐธรรมนูญอีกด้วย เราอาจเรียกว่า “สถาปัตยคณะราษฎร” ก็ได้

ศิลปกรรมรัฐธรรมนูญ สมัยที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการประกวดงานศิลปในงานฉลองรัฐธรรมนูญ มีทั้งงานจิตกรรมและประติมากรรม โดยเน้นงานสมัยใหม่แบบตะวันตก หลีกงานงานแบบไทยเดิม

นางสาวไทย การประกวดความงามของประเทศไทยในยุคแรกเป็นกิจกรรมส่งเสริมงานฉลองรัฐธรรมนูญจัดครั้งแรกในวันที่ ๑๐ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ใช้ชื่อว่า “นางสาวสยาม” ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นางสาวไทย”  ผู้ชนะจะได้ไปประกวดนางงามจักรวาล ในอดีตมีนางสาวไทยสองคนที่ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลมาแล้ว ๒ คนคือ อาภัสรา หงสกุล และ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก

สรุป รัฐธรรมนูญไทยจึงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องการเมืองการปกครองภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของชาวไทยนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การศึกษารัฐธรรมนูญจึงเปรียบเสมือนการศึกษาความเป็นตัวตนของเราอย่างแท้จริง

วาทิน ศานติ์ สันติ

๕ ธันวาคม ๒๕๕๕

                       

หมายเลขบันทึก: 511017เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2012 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท