ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยโคราช


ที่ผมประทับใจก็คือ กิจกรรมที่เรียกว่า “เวทีวงเดือนลำดวน” ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยเรียนรู้ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนและเครือข่ายต่าง ๆ ทำให้มีพลังในการดำเนินการสู่ความสำเร็จของชมรมฯได้อย่างยั่งยืน

        เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์อนามัยที่ ๕ ได้ไปร่วมงาน ตลาดนัดความรู้ "สานงาน สานใจ ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยโคราช" ที่ สุรสัมมนาคาร มทส.  จังหวัดนครราชสีมา ที่จัดโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)  บรรยากาศในพิธีเปิด เริ่มต้นด้วยการเสนอ วีดิทัศน์ “ ๓ ปีกับงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่น” ที่ประสพผลสำเร็จอย่างสูงของตำบลหนองสรวง  ตามด้วยการแสดงศิลปะพื้นบ้านของชมรมผู้สูงอายุตำบลดอนชมพู  ก่อนที่จะเป็นพิธีเปิดโดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา   ที่บรรยากาศ เต็มไปด้วยผู้สื่อข่าวและช่างภาพจำนวนมากจน ผู้เข้าร่วมงานแทบไม่ได้เห็นพิธีเปิดเลยทีเดียว เนื่องจากช่างภาพทั้งภาพนิ่งและวีดิโอ ต่างก็ต้องการภาพที่ชัดเจนและใกล้ ในพิธีเปิด ผู้ที่เข้าร่วมงานที่นั่งอยู่จึงได้เห็นแต่ด้านหลังของตากล้องทั้งหลายเต็มไปหมด  เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบันจำนวนผู้สื่อข่าวมีมากขึ้นมาก  เป็นทั้งผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ ทีวี และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถมด้วยนักข่าวพลเมืองหรือประชานคนรุ่นใหม่ที่ต่างก็มีกล้องมาเก็บภาพ  เพื่อรายงานสู่สาธารณะผ่านทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ด  กันอย่างทันที


  หลังพิธีเปิดแล้วก็จะเป็นพิธีลงนามความร่วมมือ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครราชสีมา และ การมอบรถเข็นให้แก่ผู้พิการ  ต่อจากนั้นก็จะเป็นการบรรยายแนวคิดเรื่อง “งานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ก้าวอย่างอย่างยั่งยืน” ต่อเวทีการเสวนาในหัวข้อ “สานงาน สานใจ สู่คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยโคราช”  จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของที่อยู่ในนครราชสีมา โดยเน้นที่ ภาพอนาคตของสังคมผู้สูงอายุและปัญหาผู้สูงอายุของจังหวัดนครราชสีมา และ ทิศทาง นโยบาย บทบาทและการสนับสนุนของแต่ละภาคีเครือข่าย

  หลังรับประทานอาหารกลางวันแล้วก็จะเปิดให้ชมนิทรรศการ เพื่อการเรียนรู้ จากการแสดงผลงานและผลการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุจากพื้นที่ปฏิบัติต้นแบบ จาก ๑๑ ตำบล ของโคราช ซึ่งทางศูนย์อนามัยที่ ๕ ก็ได้ไปร่วมจัดนิทรรศการในงานนี้ด้วย 


  ในภาคบ่ายจะเป็น “วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เทคนิควิธีการปฏิบัติสู่ความสำเร็จ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ”  โดยแบ่งออกเป็น ๙ กลุ่มย่อย  สำหรับผมและประธานชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์อนามัยที่ ๕ เลือกที่จะเข้าร่วมในกลุ่มที่ ๑ ที่จะเป็น “เทคนิควิธีการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชมรมผู้สูงอายุ” 


      ในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กลุ่มที่ ๑ นี้ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นประธานชมรมผู้สูงอายุ จากตำบลต้นแบบ ที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูงมาแล้ว ผมจึงได้เรียนรู้เทคนิควิธีการที่หลากหลาย ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชมรมผู้สูงอายุที่น่าสนใจมาก  ที่จะสามารถนำมาปรับใช้กับชมรมผู้สูงอายุของ บ้านยางใหญ่พัฒนา ตำบลสุรนารี ที่ผมได้รับเกียรติให้เป็นประธาน ที่ปรึกษา ต่อไป  สำหรับการนำไปปรับใช้กับชมรมผู้สูงอายุของศูนย์อนามัยที่ ๕ นั้นหลายอย่างอาจจะทำไม่ได้เนื่องจากโครงสร้างของกรรมการและสมาชิกชมรมฯ จะมีความแตกต่าง จากชมรมฯ ในระบบของหมู่บ้านและตำบล  

  กิจกรรมสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ชมรมผู้สูงอายุจากตำบลต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จอย่างสูง  ที่ผมประทับใจก็คือ กิจกรรมที่เรียกว่า “เวทีวงเดือนลำดวน”  ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยเรียนรู้ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนและเครือข่ายต่าง ๆ  ทำให้มีพลังในการดำเนินการสู่ความสำเร็จของชมรมฯได้อย่างยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 510903เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2012 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท