การให้สัญชาติไทย และการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่กลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553


การให้สัญชาติไทย และการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่กลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553

การให้สัญชาติไทย และการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่กลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553

ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ทุกอำเภอ ทุกสำนักทะเบียนท้องถิ่นฯ เริ่มรับคำร้องขอสัญชาติไทย ฯ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป ตามหนังสือสั่งการกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0308.4/ว 5288 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการให้สัญชาติไทย และการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่กลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 [1]

โดยการประกาศกระทรวงหมาดไทย ทั้ง 2 ฉบับ คือ [2]

1.ประกาศกระทรวงหมาดไทย เรื่อง การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย ลงวันที่ 26 กันยายน 2555

2.ประกาศกระทรวงหมาดไทย เรื่อง ให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยและอาศัยอยู่มานานตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

ได้สั่งการให้จังหวัดดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทยในแนวทางเดียวกัน ดังนี้

1.เตรียมความพร้อมในการดำเนินการ โดยให้ศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดตามประกาศกระทรวงหมาดไทยทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ (1) กลุ่มเป้าหมาย/ผู้ยื่นคำขอ (2) สถานที่ยื่นคำขอ (3) หลักฐานเงื่อนไขและขั้นตอนการปฏิบัติในการยื่นคำร้อง และ (4) แบบพิมพ์แต่ละประเภทที่ใช้ดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมาย โดยกรมการปกครองจะได้จัดส่งแบบคำร้อง แบบพิมพ์ลายนิ้วมือ คู่มือการปฏิบัติงาน และการจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมให้แต่ละจังหวัด

2.มอบหมายให้เจ้าหน้าที่และที่ทำการปกครองจังหวัด (กลุ่มงานปกครองหรือกลุ่มงานความมั่นคง) เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติการของจังหวัด/อำเภอ

3.แจ้งทุกอำเภอทราบและถือปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้อง

4.ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และสามารถดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ทางเว็บไซต์สำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง [3]

5.กำหนดให้รับคำร้องฯ ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป

เพื่อเป็นการศึกษาแนวทาง และการแก้ไขประเด็นปัญหาต่าง ๆที่อาจเกิดขึ้น จึงขอนำเสนอ "ปัญหาและข้อเสนอในการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553" [4]

กลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯ กลุ่มที่ 1

กลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่เป็นเวลานานแต่ตกสำรวจ

(เข้ามาในประเทศไทยก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2542)

หลักเกณฑ์การให้สถานะตามมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553

• ให้สถานะบุคคลแก่ชนกลุ่มน้อยที่กระทรวงมหาดไทยสำรวจจัดทำทะเบียนไว้แล้วก่อนที่ จะมียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (จัดทำทะเบียนไว้ก่อนวันที่ 18 มกราคม 2548) จำนวน 18 กลุ่ม ซึ่งจะมีเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข 6 หรือเลข 7

เช่น จีนฮ่ออพยพไทยลื้อ เนปาลอพยพ ผู้อพยพจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย บุคคลบนพื้นที่สูง เป็นต้น โดยกำหนดให้สถานะ ดังนี้

(1) กลุ่ม ที่มีเชื้อสายไทย ให้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ส่วนบุตรที่เกิดในประเทศไทย ให้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติฯ

(2) กลุ่ม ที่ไม่ใช่เชื้อสายไทย ให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนบุตรที่เกิดในประเทศไทย ให้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติฯ

ปัญหาที่เกิดจากมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553

1. กลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่นานซึ่งได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปี พ.ศ.2554 ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งจะมีเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นหลักแรกด้วยเลข 0 (บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน) จำนวนประมาณ 1.7 แสนคน ยังไม่มีหลักเกณฑ์การให้สถานะ (ไม่อยู่ในมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553)

ทำให้ขาดโอกาสในสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การประกันสุขภาพ การทำงานที่เหมาะสมกับความรู้ เป็นต้น

2. การกำหนดหลักเกณฑ์การให้สถานะบุคคลตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของ บุคคลตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ซึ่งมีกรอบระยะ เวลาดำเนินงานตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 อนุมัติให้ขยายระยะเวลาดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ อีกสองปี ซึ่งปัจจุบันระยะ เวลาได้สิ้นสุดแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 โดยที่การดำเนินการสำรวจจัดทำทะเบียนและกำหนดให้สถานะแก่บุคคลกลุ่มเป้าหมาย ยังไม่แล้วเสร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์

1 ข้อเสนอแนะ

1) ขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล โดยในส่วนของการกำหนดสถานะบุคคลและการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิ ไม่ควรกำหนดระยะเวลา ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลกลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯ ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างครบถ้วน และเป็นการสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการปฏิบัติงานซึ่งมีข้อจำกัดหลาย ประการ ทั้งในส่วนของบุคคลที่เป็นเจ้าของปัญหาและเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติทุกระดับชั้น

2) ขยายกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการกำหนดสถานะตามยุทธศาสตร์ ให้ครอบคลุมกลุ่มที่อพยพเข้ามาอยู่นานซึ่งได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงปี พ.ศ. 2554 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในประเทศไทย ตามที่สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองได้จัดทำทะเบียนไว้แล้ว

3) ขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ ทั้งในส่วนของการสำรวจจัดทำทะเบียนและบัตรประจำตัวการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลกลุ่มเป้าหมาย และการสกัดกั้นการอพยพเข้ามาใหม่ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิของบุคคล และให้ปฏิบัติด้วยความเป็นธรรม ถูกต้องและรวดเร็ว โดยไม่เลือกปฏิบัติ

กลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯ กลุ่มที่ 2

กลุ่มเด็กนักเรียนและบุคคลในสถานศึกษา

• ให้สถานะบุคคลแก่เด็กนักเรียนและบุคคลในสถานศึกษาที่ได้รับการสำรวจจัดทำ ทะเบียนระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2552 ประมาณ 6.4 หมื่นคน ดังนี้

(1) ผู้ที่เกิดในประเทศไทย ถ้ามีคุณสมบัติ ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ให้ขอลงรายการสัญชาติไทย ส่วนผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติ ให้ได้สถานะตามสถานะของบิดามารดา

(2) ผู้ที่เกิดนอกประเทศไทย ถ้าเรียนจบปริญญาตรีก่อนวันที่ 18 มกราคม 2548 ให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนผู้ที่ไม่จบปริญญาตรี ให้สถานะตามสถานะของบิดามารดา

ปัญหาที่เกิดจากมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553

1. เด็กนักเรียนที่บิดามารดาตกสำรวจหรือไม่ได้รับการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกิดในหรือนอกประเทศไทย เป็นกลุ่มคนที่ตกหล่นจากมติ ครม.วันที่ 7 ธันวาคม 2553 จึงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะตามยุทธศาสตร์ฯ และไม่ได้รับสิทธิเกี่ยวกับสถานะบุคคล

2. เด็กนักเรียนที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2554 ประมาณ 3 หมื่นคน ยังไม่มีหลักเกณฑ์การให้สถานะ (ไม่อยู่ในมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553) ทำให้ขาดโอกาสในสิทธิขั้นพื้นฐาน

3. ปัญหาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 ข้อ 2

2 ข้อเสนอแนะ

1) ขยายระยะเวลาการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล โดยไม่ควรกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสำหรับการกำหนดสถานะบุคคล

2) ขยายกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการกำหนดสถานะตามยุทธศาสตร์ ให้ครอบคลุมกลุ่มนักเรียนที่บิดามารดาตกสำรวจหรือไม่ได้รับการสำรวจและกลุ่ม ที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนระหว่างปี พ.ศ. 2553 ถึงปี พ.ศ. 2554ตามที่สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองได้จัดทำทะเบียนไว้แล้ว

3) ทบทวน หลักเกณฑ์การให้สถานะบุคคลแก่เด็กนักเรียนที่เกิดในประเทศไทยและไม่มี คุณสมบัติตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น ถ้าเรียนจบชั้นอุดมศึกษาหรือมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีเด่น ให้ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ ฯ เป็นต้น

กลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯ กลุ่มที่ 3

กลุ่มคนไร้รากเหง้า [5] ที่อยู่ในและนอกสถานสงเคราะห์

• ให้สถานะบุคคลแก่คนไร้รากเหง้าที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนระหว่างปี พ.ศ. 2550 – 2552 ซึ่งเป็นคนไร้รากเหง้าที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ประมาณ 3 พันคนเศษ ดังนี้

(1) ผู้ที่เกิดในประเทศไทย ถ้าอาศัยอยู่เป็นเวลา 10 ปี ให้ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ ฯ

(2) ผู้ที่เกิดนอกประเทศไทย ถ้าเข้ามาอยู่ก่อนวันที่ 19 มกราคม 2538 ให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาที่เกิดจากมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553

1. บุตรของคนไร้รากเหง้า เป็นกลุ่มคนที่ตกหล่นจากมติ ครม.วันที่ 7 ธันวาคม 2553 จึงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะตามยุทธศาสตร์ฯ และไม่ได้รับสิทธิเกี่ยวกับสถานะบุคคล

2. คนไร้รากเหง้าที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2554 ประมาณ 5 พันคนเศษ ยังไม่มีหลักเกณฑ์การให้สถานะ (ไม่อยู่ในมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553) ทำให้ขาดโอกาสในสิทธิขั้นพื้นฐาน

3. ยังไม่มีความชัดเจนว่าคนไร้รากเหง้าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาน้อยกว่า 10 ปี หรือคนที่เข้ามาหลังวันที่ 18 มกราคม 2538 จะมีสถานะอย่างไร

4. ในความเป็นจริงพบว่ามีคนไร้รากเหง้าที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานะการเกิดได้ว่า เป็นผู้ที่เกิดในหรือนอกประเทศไทย จึงทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิขั้นพื้นฐาน

5. ปัญหาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 ข้อ 2

3 ข้อเสนอแนะ

1) ขยายระยะเวลาการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล โดยไม่ควรกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสำหรับการกำหนดสถานะบุคคล

2) ขยายกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการกำหนดสถานะตามยุทธศาสตร์ ให้ครอบคลุมคนไร้รากเหง้าที่ได้รับการ สำรวจจัดทำทะเบียนระหว่างปี พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2554 ตามที่สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองได้จัดทำทะเบียนไว้แล้ว รวมถึงบุตรของคนไร้รากเหง้า

3) ให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายและวิธีการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของ ต่าง ประเทศ กรณีคนไร้รากเหง้าที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่สามารถพิสูจน์สถานการณ์เกิดได้ และดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

กลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯ กลุ่มที่ 4

กลุ่มคนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ

•ให้สถานะบุคคลแก่ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ ดังนี้

(1) ผู้ที่เกิดในประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ ฯ

(2) ผู้ที่เกิดนอกประเทศไทย ถ้าเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี (เข้ามาอยู่ก่อนวันที่ 19 มกราคม 2538) ให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาที่เกิดจากมติ ครม. 7 ธันวาคม 2553

1. บุตรของคนที่ทำคุณประโยชน์เป็นกลุ่มคนที่ตกหล่นจากมติ ครม.วันที่ 7 ธันวาคม 2553 จึงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาสถานะตามยุทธศาสตร์ฯ และไม่ได้รับสิทธิเกี่ยวกับสถานะบุคคล

2. ยังไม่มีความชัดเจนว่าคนที่ทำคุณประโยชน์ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาน้อย กว่า 10 ปี หรือเข้ามาหลังวันที่ 18 มกราคม 2538 จะมีสถานะอย่างไร

3. ปัญหาเช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 ข้อ 2

4 ข้อเสนอแนะ

1) ขยายระยะเวลาการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลโดยไม่ควรกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสำหรับการกำหนดสถานะบุคคล

2) ขยายกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการกำหนดสถานะตามยุทธศาสตร์ ให้ครอบคลุมบุตรของคนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศที่เกิดในประเทศไทย

3) ทบทวนหลักเกณฑ์การให้สถานะบุคคลแก่คนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดต่างประเทศ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น การยืดหยุ่นเรื่องระยะเวลาการอาศัยอยู่ในประเทศไทยอาจน้อยกว่า 10 ปีเมื่อเทียบกับผลงานและประโยชน์ที่ประเทศได้รับหรืออาจให้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ เป็นต้น


[1] http://www.isab.go.th/dopa_isab/ebookFile/222/222.pdf &

http://www.dopa.go.th/dopanew/doc/moi03091587.pdf

[2] ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไปและการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/177/50.PDF &

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและอาศัยอยู่มานานตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/177/54.PDF

[3]http://www.isab.go.th/dopa_isab/home.jsp

[4] โดย นักวิชาการภาคประชาชน (บทความสำหรับ Stateless Watch Review เผยแพร่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554), http://www.statelesswatch.org/autopagev4/print_all.php?idp=topic&topic_id=528&auto_id=2 &

http://www.nhrc.or.th/2012/wb/img_contentpage_attachment/443_file_name_8788.pdf

บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน 6 ประเภท (บุคคลประเภท 0) ตามมติ ครม. 18 มกราคม 2548 (6 กลุ่มเป้าหมาย)

แต่ มติ ครม. 7 ธันวาคม 2553 เห็นชอบตามที่ สมช.เสนอ ใน 4 กลุ่มเป้าหมาย (ยกเว้นกลุ่มที่ 5 - 6) ได้แก่

1 บุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยที่มีความเกี่ยวพันกับผู้ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติชนกลุ่มน้อยไว้เดิมแต่ตกสำรวจ (มิได้มีเชื้อสายไทย) เฉพาะชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ (มติ ครม.ให้อาศัยอยู่ถาวร 13 กลุ่ม อาศัยอยู่ชั่วคราว 5 กลุ่ม) อาศัยอยู่เป็นเวลานาน (10 ปี) และอพยพเข้ามาก่อน 18 มกราคม 2538

2 เด็กนักเรียนที่อยู่ในสถานศึกษาของทางราชการ (รร.สำรวจ) และที่จบการศึกษา(ระดับอุดมศึกษา)แล้ว ได้รับสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย

3 บุคคลไร้รากเหง้า (สำรวจปี 2550-2552) เกิดและอาศัยอยู่อย่างน้อย 10 ปี และถูกบุพการีทอดทิ้ง

4 บุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

5 กลุ่มแรงงาน 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) (บุคคลประเภท 00)

6 กลุ่มต่างด้าวอื่น ๆ (ที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นสังกัดได้)ตาม ทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38 ก.) และ ตาม แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38 ข.) หากบุคคลดังกล่าวมีการลงรายการในทะเบียนบ้าน และได้สัญชาติไทย ก็จะเป็น บุคคลประเภท 8

[5] บุคคลไร้รากเหง้า (สำรวจปี 2550-2552) เกิดและอาศัยอยู่อย่างน้อย 10 ปี และถูกบุพการีทอดทิ้ง

(ดู ปทิตตา ไชยปาน, ปัญหาการจัดการกับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติเพราะไร้รากเหง้าในประเทศไทย, 5 พฤศจิกายน 2555, https://www.l3nr.org/posts/528598

บุคคลไร้รากเหง้า หมายถึง คนที่ไม่รู้หรือไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ตนเกิดที่ไหน เกิดเมื่อไหร่ หรือบิดามารดาเป็นใครเนื่องจากบุคคลไร้รากเหง้าดังกล่าวไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลโดยรัฐใดเลยบนโลกใบนี้)

หมายเลขบันทึก: 510669เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2012 22:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มกราคม 2015 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)
นายนิเวศน์ บวทองใส

บิดามารดาของเพื่อนผมสัญชาติพม่า แต่ได้อพยพเข้ามาอยู่ที่เมืองไทยประมาณ ๒๐ ปีแล้ว ซึ่งผมเองก็เกิดที่เมืองไทย แต่ไม่ได้เกิดในโรงพยาบาล ในสมัยนั้นผมเกิดที่บ้าน และไม่มีเอกสารอะไรเกี่ยวกับทางกฏหมายเลย ตอนนี้ผมอายุ ๒๑ ปีแล้ว และได้สำเร็จการศึกษาระดับ ม.๖ ในประเทศไทยแล้ว ผมอยากได้สัญชาติไทย พอจะมีหนทางไหมครับ ต้องทำอย่างไรบ้าง ท่านใดช่วยชี้แนะด้วยกัน ขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ตอบคุณนิเวศน์ฯ ตอบช้าไปไหมครับ
ถามว่าคุณนิเวศน์ฯ ได้ลงทะเบียนเป็นบุคคลประเภท "๐" ไว้หรือไม่

บิดามารดาเป็นต่างด้าว (เข้าเมืองโดยมิชอบ?มาอยู่ประเทศไทยประมาณปี ๒๕๓๕ - ๒๕๓๖) บุตรเกิดในประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (ปัจจุบันอายุ ๒๑ ปี)

หากคุณนิเวศน์ เกิดช่วง ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ถึง ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ซึ่ง ปว.๓๓๗ ถูกยกเลิกแล้ว แต่อยู่ในบังคับของ พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดน ตาม มาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง เพราะมีมารดาที่เข้าเมืองโดยมิชอบ ฯ (เกิดต่างประเทศ) ขอสัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม แห่งพรบ.สัญชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๑

กลุ่มเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ฯ กลุ่มที่ 4 ประเภทกลุ่มบุคคลผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ ได้แก่ ผู้ที่เกิดในประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ ฯ ตามโครงการการให้สัญชาติไทย และการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่กลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553

คุณนิเวศน์ฯ ไปปรึกษานายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่นฯ ที่ได้ขึ้นทะเบียนบุคคลเลข "๐" ไว้

สวัสดีครับ ผมชื่อนายก้องภพ  พรวนา ครับผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไร้สัญชาติไทย เกิดในเมืองไทย แต่ตอนนั้นแม่ไม่ได้ทำใบเกิดให้เพราะว่าเกิดที่บ้าน ปัจจุบันนี้ ผมกำลังศึกษาอยู่ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยนาท ชั้น ปวส.2 ผมอยากเรียนถามผู้ที่รู้เรื่องทางด้านนี้หรือใครก็ได้ที่รู้วอนช่วยตอบหน่อยครับว่า ผมหรือคนอื่นๆที่มีสถานะเหมือนผม ถ้าหากเรียนจนจบปริญญาตรีแล้ว จะมีโอกาศได้สัญชาติไทยหรือเปล่าครับ ปัจจุบันยังใช้บัติประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนอยู่ครับ ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ครับ หมดอายุ 2560 ครับ

650 217 2046 633 เลขประจำตัวคนพื้นที่สูงนี้สมควรถึงแก่เวลาได้เปลี่ยนมาเป็บ บัตร ปชช แล้วหรือยังครับ  นี่ของภรรยาผมเอง ขึ้นตรงกับอำเภอไชยปราการเชียงใหม่สัญชาติจีน ตอนนี้เงียบเลย เอกสารยังกองไว้ที่เดิม

เลขนี้  650 217 2046 633 บัตรประจำตัวคนพื้นที่สูงสมควรแก่เวลาได้เปลี่ยนมาใช้บัตรประชาชนแล้วหรือยังครับ 

ได้ข่าวและได้เหนว่า อำเภอรอบข้างหรือ เชียงราย เช่นแม่ฟ้าหลวง ได้กันแล้วนะครับที่เลขประจำตัวนำหน้าขึ้น เลขหก เหมือนข้อความด้านบน

สวัสดีค่ะหนูเป็นคนหนึ่งที่ถือบัตรไม่มีสถานกิดในประเทศไทยแต่ตอนเขาทำบัตรพื้นที่สงเเม่ไม่ทำเพราะตอนนั้นฐานะทางบ้านเราอยากจนเลยไม่ทำแต่พี่สาวที่อาศัยอยู่กับยายนี้ได้ทร13ไปแล้วตอนนี้หนูเรียนอยู่ปี3เรียนครูอยากทราบว่าจะมีทางไหนบ้างที่จะมีโอกาสได้สัญชาติไทยบ้าง

ตอบคุณ sangjing Araya

หนู ถือบัตรเลข "0" เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(1) เมื่อมีพยานหลักฐานก็ขอลงรายการสัญชาติไทยได้ หรือ

(2) อาจขอแจ้งเกิด หรือ เพิ่มชื่อในฐานะ "บุคคลสัญชาติไทย" ได้

ดู https://www.gotoknow.org/posts/510664 & https://www.gotoknow.org/posts/510669



ตอบคุณ เทียนชัย วิชาพร

คุณเทียนชัยเป็นบุคคล "เลข 6" มีชื่ออยู่ใน ท.ร. 13 (ทะเบียนบ้านเล่มสีเหลือง) ก็สามารถขอลงรายการสัญชาติไทยได้ ให้ดูว่าเป็นกรณีใด อยู่ในกลุ่มใด หากไม่มีกลุ่ม ก็ขอลงรายการสัญชาติไทยเฉพาะรายได้ ลองปรึกษาสำนักทะเบียนอำเภอ หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่นที่อยู่

ดู https://www.gotoknow.org/posts/510683



ตอบ คุณก้องภพ พรวนา กรณีของคุณ จะเหมือนกับคุณ sangjing Araya "บุคคลเลข 0" ต้องดูว่าเราอยู่กลุ่มใด แต่ของคุณ sangjing Araya ดูจะง่ายกว่า เพราะมีพี่สาวที่มีชื่ออยู่ใน ท.ร.13 แล้ว (บุคคลเลข 6) ทำให้ง่ายในการบอกว่าเป็น "กลุ่มใด"

ตอบคุณ sangjing Araya

หนู ถือบัตรเลข "0" เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีพี่สาวที่มีชื่ออยู่ใน ท.ร.13 แล้ว (บุคคลเลข 6) ทำให้ง่ายในการบอกว่าเป็น "กลุ่มใด"

(1) เมื่อมีพยานหลักฐานก็ขอลงรายการสัญชาติไทยได้ หรือ

(2) อาจขอแจ้งเกิด หรือ เพิ่มชื่อในฐานะ "บุคคลสัญชาติไทย" ได้

ดู https://www.gotoknow.org/posts/510664 & https://www.gotoknow.org/posts/510669

& https://www.gotoknow.org/posts/510683


สวัสดีค่ะ หนูมีเรื่องอยากปรึกษาค่ะตอนนี้หนูกับน้องสาวถือบัตรหัว 6 อยู่ค่ะหนูเกิดที่ไทยนะคะมีใบเกิดมีทุกอย่างเลยค่ะ ปีที่แล้วก็ยื่นเรื่องไปแล้วแล้ววันนั้นหนูไปถามเค้าว่าเรื่องไปถึงไหนแล้วเค้าก็บอกยังเก็บข้อมูลของอีกหมูบ้านไม่เสร็จ หนูก็ถามว่าปีนี้จะได้สัญชาติไหมเค้าก็บอกภายในปีนี้ยังไม่ได้ หนูขอสัญชาติมาหลายปีแล้วค่ะแต่ทางอำเภอเปลี่ยนนายอำเภอบ่อยมากแล้วทำให้ต้องยื่นเรื่องใหม่หลายๆครั้ง อยากถามว่าถ้าหนูจะยื่นเรื่องใหม่ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอทำกับหมู่บ้านอื่นได้ไหมคะ ? เพราะจากที่อ่านคือเราสามารถยื่นเรื่องเองได้เลย หนูเรียนปี 2 ค่ะหนูกลัวว่าถ้าไปฝึกงานหรือเรียนจบแล้วกลัวจะหางานทำไม่ได้น่ะค่ะ ช่วยให้ข้อมูลหน่อยนะคะ อีกอย่างคือถ้าเราเดินทางในประเทศโดยเครื่องบินเรามีใบขออนุญาติออกนอกพื้นที่เราสามารถยื่นใบนี้ให้เจ้าหน้าที่ที่สนามบินได้ใช่ไหมคะ ขอบคุณมากค่ะ

อยู่นานเกินสิบปีแล้ว ทุกวันนี้ใช่พาสปอร์ต แล้วจะ ขอสัญชาติใทยได้ไมค่ะ


ตอบคุณ Wanpen สามารถยื่นคำขอเฉพาะรายได้ เพราะคุณน่าจะอายุเกิน 20 ปีแล้ว

ข้อมูลขอลคุณวันเพ็ญไม่ครบ เดาว่า คุณและน้องสาวเป็นบุคคลเลข "6" เกิดในไทย ไม่ระบุว่าบิดามารดาเป็นต่างด้าวที่เกิดในไทยหรือไม่ คุณวันเพ็ญเรียน ปี 2 ถ้าเรียนหนังสือตามเกณฑ์อายุคุณวันเพ็ญจะมีอายุประมาณ 20-21 ปี ก็คงจะเกิดราว ๆ ประมาณ พ.ศ. 2537-2538

คุณวันเพ็ญเกิดหลัง พรบ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 เกิดหลัง 25 กุมภาพันธ์ 2535 ไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แต่ รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทว วรรคสอง

แต่หากปรากฏว่าบิดาหรือมารดาของคุณวันเพ็ญเกิดในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก ปว.337 (บิดามารดาถูกถอนสัญชาติไทย) กรณีเช่นนี้ คือเกิดตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 - วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 มีบิดาหรือมารดาเกิดในราชอาณาจักรไทย จะได้สัญชาติไทยตามมาตรา 23

ให้คุณ ไปปรึกษานายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่นฯ

ตอบคุณหมวยจัง คุณมีพาสปอร์ต เป็นบุคคล "ต่างด้าวแท้" ก็อาจขอแปลงสัญชาติเป็น "ไทย" ได้ ถ้าเข้าเงื่อนไข

สวัสดีค่ะ หนูถือบัตรขึ้นต้นด้วยหมายเลข6เกิดวันที่1 ม.ค.37 เกิดในประเทศไทยค่ะแต่ไม่มีใบเกิดและหลักฐานการเกิดค่ะเพราะเกิดที่บ้านแม่ไม่ได้ฝากท้องและแจ้งเกิด พ่อกับแม่ถือบัตรขึ้นต้นด้วยเลข6เหมือนกันค่ะ เข้าเมืองมาเมื่อปี 2536 ตอนนี้หนูอายุ22ปี เรียนจบแล้วหลักสูตร ปวส. สาขาธุรกิจสถานพยาบาลและได้ทำเรื่องขอสัญชาติไปแล้วราว3ปีค่ะ แต่ยังไม่ได้คนที่ส่งขอสัญชาติไปพร้อมกันแต่เขามีใบเกิดได้สัญชาติแล้วเป็นบางส่วนค่ะ หนูอยากทราบว่าต้องใช้เวลาอีกนานมั้ยคะในการดำเนินการ หนูสามารถขอยื่นขอเองได้มั้ยคะ เพราะหนูต้องทำงานในโรงพยาบาล แต่ไม่มีโรงพยาบาลไหนอยากจะรับเลยเพราะไม่ทีสัญชาติไทยทั้งที่เกรดเฉลี่ยหนู3.91ไปสมัครพร้อมเพื่อนได้3นิดๆเขายังเลิกเพื่อนหนูทั้งที่ไม่มีประสบการณ์เหมือนกัน ขอคำแนะนำหน่อยนะคะ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

ตอบคุณ ปุ้มปุ้ย หากน้องมีพยานหลักฐานว่า "เกิดในประเทศไทย" น้องมีสิทธิขอลงรายการสัญชาติไทยตาม พรบ.สัญชาติฯ มาตรา 7 ทวิ ... แต่ขั้นแรกน้องต้องไปยื่นคำร้องขอ ทร. 20/1 หรือ "หนังสือรับรองการเกิด" เสียก่อน... ไม่ทราบว่าที่น้องไปยื่นคำร้องไว้ที่สำนักทะเบียนฯ จะถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ อย่างไร เพราะกาลเวลาล่วงเลยมานาน 3 ปีแล้ว.... ให้น้องเข้าไปแสดงตัวตน และขอคำปรึกษาในกลุ่ม "Well-being Social Lab เพื่อต้นแบบการจัดการสิทธิในสุขภาวะของประชากรต่างด้าว" ที่เฟซบุ๊ค ... โดยให้ แนะนำตัวเอง ... แล้วจะมีพี่ ๆ น้อง ๆ และ อาจารย์ มาช่วยตอบคำถาม แก้ไขปัญหาให้... และให้น้องแสดง "ใบรับคำร้องที่สำนักทะเบียนรับคำร้องของน้องให้สมาชิกเฟซดูด้วย".... โดยปิดเลขประชาชนเลขท้ายไว้สัก 4-5 ตัว กันคนอื่นเอาไปทำทุจริต ... ตามนี้ https://www.facebook.com/groups/450416831792411/?ref=bookmarks นะ

ให้น้องปุ้มปุ้ย เข้าไปปรึกษาในกลุ่มเฟซบุ๊ค "Well-being Social Lab เพื่อต้นแบบการจัดการสิทธิในสุขภาวะของประชากรต่างด้าว" ตามลิงค์นี้นะ https://www.facebook.com/groups/450416831792411/?ref=bookmarks โดยเข้าไปแนะนำตัว บอกข้อมูลส่วนตัว (ปิดเลขประจำตัว 13 หลักไว้สัก 4-5 หลักท้าย กันคนทุจริตเอาไปใช้) เดี๋ยวจะมีพี่ ๆ น้อง ๆ และ อาจารย์ มาช่วยแนะนำ แก้ไขปัญหา

สวัสดีค่ะรบกวนสอบถามนะคะถือบัตรพื้นที่สูง หัว 6 ในทะเบียนประวัติเดินทางเข้ามาปี2537 (เกิดนอกประเทศค่ะ) อยากทราบว่าพอจะยืนขอบัตรประชาชนหรือบัตรหัว 8ได้ไมคะ

ได้ แต่เรียกว่า “ขอสถานะถิ่นที่อยู่ถาวรของคนต่างด้าว” จะได้เลข 8 (คนต่างด้าว) มีชื่อในทะเบียนบ้าน (ทร.14) ลองไปหาอ่านระเบียบฯ หลักเกณฑ์ หากเป็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มที่ 1 (คนกลุ่มน้อยที่ได้รับการสำรวจมาก่อนแล้ว 19 ชาติพันธุ์) ก็จะทำได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท