ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 64. มีสติอยู่กับการเรียน (4) วิเคราะห์ผลสอบ


เนื่องจากเทคนิคนี้มีเป้าหมายเพื่อเตรียมตัวเพิ่มทักษะการสอบของ นศ. จึงควรเริ่มใช้ตั้งแต่ตอนต้นๆ เทอม จึงจะมีประโยชน์ต่อ นศ. ได้จริง

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 64. มีสติอยู่กับการเรียน  (4) วิเคราะห์ผลสอบ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๖๔ นี้ ได้จาก Chapter 18  ชื่อ Self-Awareness as Learners  และเป็นเรื่องของ SET 44 : Post-test Analysis

บทที่ ๑๘ ว่าด้วยเรื่องการมีสติอยู่กับการเรียน   เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ นศ. ไตร่ตรองทบทวนการเรียนของตน  เกิดความเข้าใจตนเองในเรื่องการเรียน  ว่ามีสไตล์การเรียนอย่างไร ชอบ-ไม่ชอบอะไร  เข้าใจพัฒนาการในทักษะการเรียนรู้ของตน  ผมคิดว่า บทนี้เน้นที่ Learning How To Learn หรือการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ (Learning Skills) นั่นเอง 

บทที่ ๑๘ นี้ ประกอบด้วย ๔ เทคนิค  คือ SET 41 – 44  เทคนิค “วิเคราะห์ผลสอบ” นี้เป็นเทคนิคสุดท้าย ในบทนี้  

SET 44  :  Post-test Analysis

จุดเน้น  :  รายบุคคล

กิจกรรมหลัก :  การเขียน, การวิเคราะห์

ระยะเวลา  : คาบเดียว

โอกาสเรียน online  :  สูง

เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ นศ. มีทักษะในการเตรียมสอบ และในการสอบ 

เทคนิคนี้ประกอบด้วย ๒ ช่วง  ช่วงแรกทำก่อน นศ. ส่งคำตอบ  ช่วงหลังทำหลังจาก นศ. ได้รับผลการสอบ

ช่วงแรก เมื่อ นศ. ทำข้อสอบเสร็จ แต่ยังไม่ส่งคำตอบ  ให้ นศ. ทำนายผลคะแนน,  เขียนรายการยุทธศาสตร์การเรียนของตน,  บอกระดับความพยายามของตน,  และระบุส่วนที่ยากที่สุด และส่วนที่ง่ายที่สุดในข้อสอบ 

กระบวนการในช่วงแรกช่วยให้ นศ. รู้จักประเมินความสัมพันธ์ระหว่างความพยายามกับผลการเรียน  และรู้ว่าวิธีการเรียนแบบไหนที่ช่วยให้ตนมีความพร้อมต่อการสอบ 

ช่วงที่สอง หลังจาก นศ. ได้รับผลคะแนนสอบ  ให้ นศ. เขียนบรรยายอารมณ์รู้สึกเมื่อทราบผลคะแนน  เปรียบเทียบคะแนนที่ได้กับคะแนนที่ตนคาดหมายไว้  แล้วอ่านข้อสอบทีละข้อ เพื่อทำความเข้าใจว่าข้อสอบแต่ละข้อต้องการทักษะการคิดระดับไหน (เช่น ความจำ  การประยุกต์ การวิเคราะห์)  และข้อสอบมาจากไหน (เช่น จากหนังสือ  การบรรยาย  การบ้าน) 

ช่วงที่สองนี้ ช่วยให้ นศ. ทำความเข้าใจทักษะการคิดระดับต่างๆ  ช่วยให้ นศ. เข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง  ช่วยให้ นศ. ปรับปรุงตนเองให้ทำข้อสอบเก่งขึ้นได้ 

หลังจากนั้นจึงให้ นศ. สะท้อนความคิดว่า ในการเตรียมสอบครั้งต่อไปตนเองจะปรับปรุงอย่างไรบ้าง   

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูเลือกใช้วิธีจำแนกระดับทักษะที่เหมาะสมต่อรายวิชา  เช่นอาจใช้ของ Bloom,  ของ Anderson, ของ Fink, ของ Shulman เป็นต้น 

2.  ตอนออกข้อสอบ ให้ออกข้อสอบที่มุ่งทดสอบระดับการเรียนรู้ครบทุกระดับ  และระบุไว้ด้วยว่า ข้อนั้นทดสอบระดับไหน (เช่น apply, analyze, evaluate, etc.)   รวมทั้งระบุแหล่งความรู้ (เช่น หนังสือ  การบรรยาย  การบ้าน เป็นต้น)  สำหรับครูเอาไว้ใช้เอง เพื่อตรวจสอบกับข้อวิเคราะห์ของ นศ.

3.  ในช่วงที่ นศ. ทำข้อสอบเสร็จ  ดำเนินการตามช่วงที่ ๑ ของเทคนิค  คือมีใบงานให้ นศ. ดังต่อไปนี้

หลังจาก นศ. ทำข้อสอบเสร็จ แต่ยังไม่ส่งคำตอบ ขอให้ นศ. ทำสิ่งต่อไปนี้

ก. ทำนายคะแนนสอบของตน

ข. ให้คะแนนความพยายามในการเรียนวิชานี้ จาก ๑ (ต่ำสุด) ถึง ๑๐ (สูงสุด)

ค. ระบุรายการยุทธศาสตร์การเรียนที่ นศ. ใช้เตรียมสอบ (เช่น ท่องจำนิยามด้วย flash cards, เขียนโน้ตย่อจากบันทึกจากเล็กเช่อร์, ทำรายการย่อจากหนังสือที่ครูสั่งให้อ่าน, เป็นต้น)

ง. ระบุว่าข้อสอบข้อไหนง่ายที่สุด  ข้อไหนยากที่สุด  เพราะอะไร

ช่วงที่ ๒ ของเทคนิคดำเนินการหลังจาก นศ. ได้รับผลคะแนนสอบ  โดยทำทันทีในห้องเรียน หรือกลับไปทำที่บ้านก็ได้  โดยครูจัดทำใบงานที่มีรายการระดับของการเรียนรู้ และขั้นตอนข้างล่าง  เมื่อ นศ. ทำเสร็จก็ให้แนบคำตอบใบงานกับกระดาษคำตอบข้อสอบส่งครู

นศ. ได้รับกระดาษคำตอบพร้อมคะแนนเรียบร้อยแล้ว  โปรดดำเนินการต่อไปนี้

ก. เขียนบอกอารมณ์ความรู้สึกของตนเองต่อคะแนนที่ได้ (เช่น แปลกใจ  ผิดหวัง  โล่งใจ  เป็นต้น)

ข. เปรียบเทียบคะแนนที่ได้  กับที่ทำนายไว้

ค. ตรวจสอบข้อสอบแต่ละข้อ และระบุว่าเป็นการสอบระดับใดของการเรียนรู้

ง. คำนวณว่า ในแต่ละระดับของการคิดหรือการเรียนรู้ นศ. ทำข้อสอบถูกเป็นสัดส่วนเท่าใด

จ. ตรวจสอบที่มาของความรู้ในข้อสอบแต่ละข้อ (เช่น จากหนังสือ  การบรรยายของครู  การบ้าน  เป็นต้น)

ฉ. ทบทวนตนเองและสะท้อนความคิด ว่าตนเองจะปรับปรุงการเตรียมตัวสอบคราวหน้าอย่างไรบ้าง

ช. เสนอแนะว่าครูและเพื่อน นศ. จะช่วยให้ตัว นศ. ผู้ตอบใบงาน พัฒนาความสามารถในการตอบข้อสอบได้อย่างไรบ้าง

ตัวอย่าง

วิชาชีววิทยาเบื้องต้น

ครูสังเกตว่า นศ. ถอนการเรียนวิชานี้ และสอบตกกันมาก  จึงใช้เทคนิค “วิเคราะห์ผลสอบ” ช่วยให้ นศ. ได้มีส่วนร่วมปรับปรุงการเรียนการสอนวิชานี้  ครูได้ใช้เทคนิคนี้ในช่วงการสอบกลางเทอม ๒ ครั้ง  และพบว่า ช่วยให้ นศ. พัฒนาทักษะการเตรียมตัวสอบ และการทำข้อสอบได้ดีขึ้นมาก

การประยุกต์ใช้ online

 ใช้ online ได้เหมือนกับในชั้นเรียน face-to-face

การขยายหรือปรับปรุงวิธีการ

·  ยุคนี้มีปัญหา นศ. ถอนวิชาเรียน หรือสอบตกกันมาก   จึงมีสถาบันการศึกษาที่ใช้เทคนิคนี้กับ นศ. กลุ่มเสี่ยง  เช่น นศ. ปี ๑  หรือ นศ. ที่ติดโปร  และพบว่าช่วยทั้ง นศ. และครู  ในการปรับปรุงการเรียน และการสอน 

·  ใช้เทคนิคนี้กับการเรียนแบบโครงงาน  หรือในการทำการบ้าน

·  ครูน่าจะพิจารณาใช้ผลการประเมินการเรียนการสอนรายวิชาในตอนปลายเทอม เป็นเครื่องประกอบการตัดเกรด

·  ให้ นศ. ตั้งเป้าหลังใช้เทคนิคนี้ ว่าในวิชาต่อไปตนจะตั้งเป้าหมายการเรียนอย่างไร  แล้วตรวจสอบว่าผลเป็นอย่างไร  คือยุให้ นศ. เอาเทคนิคนี้ไปใช้เอง  เพื่อปรับปรุงวิธีการเรียนด้วยตนเอง

คำแนะนำเพิ่มเติม

เทคนิคนี้ใช้เวลาและความพยายามของครูมาก 

เนื่องจากเทคนิคนี้มีเป้าหมายเพื่อเตรียมตัวเพิ่มทักษะการสอบของ นศ. จึงควรเริ่มใช้ตั้งแต่ตอนต้นๆ เทอม  จึงจะมีประโยชน์ต่อ นศ. ได้จริง

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Achacoso MV. (2004). Post-test analysis : A tool for developing students’ metacognitive awareness and self-regulation. In MV Achacoso & MD Svinicki (Eds.) Alternative strategies for evaluating student learning.  San Francisco : Jossey-Bass, pp. 115-119.

วิจารณ์ พานิช

๒๘ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 510356เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2012 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท