รายการสายใย กศน. 26 พ.ย., 3, 10, 17 ธ.ค.55


26 พ.ย.55 เรื่อง “การให้บริการทางวิชาการของสถาบันการศึกษาทางไกล”, 3 ธ.ค.55 เรื่อง “จากพระราชดำริสู่ประชาชนโดย กศน.”, 10 ธ.ค.55 เทปซ้ำวันที่ 3 ธ.ค.55, 17 ธ.ค.55 เรื่อง “งานสืบสานบุราณศิลป์”

รายการสายใย กศน.  วันที่ 17  ธันวาคม  2555

        เรื่อง “งานสืบสานบุราณศิลป์”

        ดำเนินรายการโดย นายคุปต์  มะรินทร์

        วิทยากร คือ
       
- ดร.มาริสา  โกเศยะโยธิน  ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ( วิทยาลัยในวัง )
        - เสาวณี  รักคง  หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ กิจกรรมการเรียนรู้และนิทรรศการ
        - นายจักรกริศษ์  สุขสวัสดิ์  ครูภูมิปัญญาไทย
        - นายศิริพรรณ  ศิริธรรมขันติ  วิทยากรงานช่างเขียน
        - นายธิติ  วิรุฬห์ชาตะพันธ์  นักศึกษา
        - ปริ่มพร ชาญสายชลนะธี  นักศึกษา

        ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจาภิเษก ( วิทยาลัยในวัง ) จัดตั้งขึ้นปี 2539 ขยายมาจากวิทยาลัยในวังชาย ที่ตั้งในพระบรมหาราชวังตั้งแต่ปี 2531  เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงห่วงใยการสืบสานงานช่าง 10 หมู่ ( ใช้กับวังและวัด ) ที่ร่อยหรอหายาก  พระองค์ให้ความสำคัญ เช่นเป็นผู้มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้จบหลักสูตรด้วยพระองค์เอง
        ต่อมา พ.ศ.2538 ทรงให้ฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ฯครบ 50 ปี โดยให้ขยายวิทยาลัยในวังออกมาอยู่ในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวน 4 ไร่ โดยกรมการศึกษานอกโรงเรียนร่วมกับสำนักพระราชทานจัดการเรียนการสอนวิชาช่าง 10 หมู่ หลักสูตร 800 ชั่วโมง ( ประมาณ 8 เดือน )  รับนักศึกษาจากต่างจังหวัดทั่วประเทศมาอยู่ประจำในหอพัก เรียนฟรี  ผู้อำนวยการท่านแรกคือ มรว.ภิญโญสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์
        ปัจจุบันปรับเปลี่ยนตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม เพราะผู้เรียนเป็นผู้ใหญ่ เป็นเกษตรกรยากจน ต้องทำงานหารายได้ ไม่ค่อยมีเวลามาอยู่ประจำเป็นเวลายาวนาน  จึงเปลี่ยนเป็นการเรียนแบบไป-กลับ และรับนักศึกษาในพื้นที่ แต่ขยายเครือข่ายไปต่างจังหวัด 5 แห่ง เช่นที่ เชียงใหม่ ( ช่างบุดุน )  นครสวรรค์และยโสธร ( จิตรกรรม )
     
  กิจกรรมและผลงานล่าสุดคือ งานช่างศิลป์ในพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, วันที่ 18 ธ.ค.55 จัดแสดงในงานไทยไฟต์  ช่าง 10 หมู่ แบ่งเป็นหมู่ใหญ่ ๆ คือ ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างบุ ช่างกลึง ช่างรัก ( งานประดับมุก, ลายรดน้ำ )  ช่างปูน  ช่างหุ่น ( หุ่นกระบอก หุ่นหัวโขน )  หลักสูตรยังเป็น 8 เดือน เรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์ นอกจากนี้มีวิชางานในวิถีชีวิตหญิงไทยในอดีต ( เย็บ ปัก ถัก ร้อย อาหารขนม เครื่องสด)  หลักสูตรระยะสั้น 40 ชั่วโมง  วิชางานแกะโฟม งานศิราภรณ์ งานจัดดอกไม้สด


        คณาจารย์ มี 3 ประเภท
        1. ผู้ทรงคุณวุฒิที่จบมาจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงโดยตรง
        2. ภูมิปัญญา ที่ทำเป็นอาชีพหรือเป็นที่ยอมรับ
        3. วิทยากรที่เคยเป็นลูกศิษย์แล้วไปฝึกไปเรียนเพิ่มเติม

        เป้าหมาย ต้องการให้ผู้ที่จบจากวิทยาลัยในวังทุกท่าน มีงานทำ สามารถพัฒนาการผลิตชิ้นงานสู่สากล

        มีภาคีเครือข่าย เช่นด้านวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ( คณะวัฒนธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม )  เครือข่ายเอกชนเช่น ผู้พิพากษาสมทบ ( นำศิลปะไปขัดเกลาจิตใจเด็กและเยาวชนที่ต้องคดี )  เครือข่ายที่เป็นวัด พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง  ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ( แสดงนิทรรศการ )


         ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเสริมในการถ่ายทอดความรู้และผลิตชิ้นงาน  ผู้เรียนจบยังได้รับประกาศนียบัตรจากสมเด็จพระเทพฯ  ในวิทยาลัยฯมีร้านจำหน่ายผลงานนักศึกษาราคาถูก
         ผู้สนใจเรียน ขอเพียงมีใจรักและมีความขยันเท่านั้นก็เรียนได้  ในเดือนมกราคม 56 จะเปิดหลักสูตรช่าง 10 หมู่วิชาช่างหุ่น  ส่วนหลักสูตรระยะสั้น 40 ชั่วโมง จะเปิดวิชาร้อยมาลัย งานดอกไม้ ( หลักสูตรระยะสั้นเฉพาะในวิทยาลัย ไม่รวมเครือข่าย มีประมาณ 20-30 หลักสูตร รับสมัครตลอดปี )

         มีผู้จบหลักสูตรประมาณ 4-5 พันคนแล้ว  สมัครเรียนได้ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก ( วิทยาลัยในวัง ) ต.ศาลายา ( อยู่เลยหลังมหาวิทยาลัยมหิดลไปหน่อย ) อ.พุทธมณทล จ.นครปฐม 

 

 

รายการสายใย กศน. วันที่  10  ธันวาคม  2555  

         เทป ซ้ำวันที่ 3 ธ.ค.55 เรื่อง “จากพระราชดำริสู่ประชาชนโดย กศน.”



รายการสายใย กศน.  วันที่ 3  ธันวาคม  2555 

         เรื่อง “จากพระราชดำริสู่ประชาชนโดย กศน.” 

         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์ 

         วิทยากร คือ  
         - กิ่งทอง  ชุ้นสามพราน  ผอ.ศฝก.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         - นายประพันธ์  ทองพราว  ครูชำนาญการ ศฝก.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         - ทิพวรรณ  สิทธิรังสรรค์  ครูเชี่ยาวชาญ ศฝก.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
         - อมรา  ชูเสน  ผู้แทนเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่รอบวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร
         - นายสุชาญ  ศิลอำนวย  เลขาธิการมูลนิธิเอ็มโอเอไทย
 

         ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชลบุรี ตั้งเป็นศูนย์อบรมและสาธิตด้านการเกษตรตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2528  มีความเป็นมาโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้งและความยากจนของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆพื้นที่วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2525 และทรงทราบถึงพระประสงค์ในการที่จะพัฒนาพื้นที่วัดญาณฯของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกเมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดญาณสังวรารารามฯอยู่ในขณะนั้นพระองค์จึงทรงมีพระราชดำริ ซึ่งสรุปได้ว่า
         - อยากให้วัดมีบทบาทแบบดั่งเดิม เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชุมชน
         - ควรมีโรงพยาบาล และโรงเรียนหรือศูนย์เยาวชนเกษตรฯ
         - ผู้มาฝึกอบรมควรปรณนิบัติพระ และเรียนรู้ศีลธรรมด้วย
         - การพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกจะมีความสำคัญด้านวัตถุมาก วัดนี้จะต้องสร้างความเจริญทางจิตใจ
 

         คณะที่มาเข้าเฝ้ารับเสด็จ ร่วมกันพิจารณาจัดและดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่วัดญาณฯ ขึ้น  หนึ่งในโครงการดังกล่าว ทรงมีพระราชดำรัสให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริจักรพันธ์ องคมนตรีร่วมกับหน่วยงานต่างๆพิจารณาจัดตั้งสถานที่ฝึกอบรมด้านการเกษตรให้แก่เยาวชน โดยใช้ชื่อว่า "ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนเกษตรวัดญาณสังวราราม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" ในพื้นที่ 32 ไร่เศษ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 มีศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดปราจีนบุรี (สระแก้ว) เป็นผู้ดำเนินการหลัก 
         วัตถุประสงค์ของโครงการ คือ
         1. เพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมที่เสื่อมโทรม ให้อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร
         2. เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
         3. เพื่อเป็นศูนย์บริการการพัฒนาด้านการเกษตรและอบรมความรู้ทางวิชาการด้านเกษตรให้แก่ประชาชนนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพและสามารถพึ่งตนเองได้
         4. เพื่อให้วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนโดยมีการพัฒนาจิตใจควบคู่กับความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคมทั้งเป็นศูนย์กลางติดต่อระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน
         5. เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
 

          เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสให้ดำเนินการเรื่อง
         - การแก้ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม และให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำแก่ราษฎรทั่วไป
         - การทดลองปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพดิน
         - การฝึกอบรมควรเน้นเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด
         - ให้มีการติดตามผลการนำความรู้ไปใช้ ของผู้ผ่านการอบรมอย่างสม่ำเสมอ 
         - ให้มีกระบวนการการจัดการและการตลาด เพื่อความมั่นใจแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
         - การแปรรูปและการถนอมอาหาร ควรจัดเป็นหลักสูตรให้สอดคล้องกับการนำความรู้ไปใช้
         - หน่อไม้ฝรั่งเป็นพืชที่ควรส่งเสริมชนิดหนึ่ง เพราะตลาดต่างประเทศต้องการมาก
         - ควรจัดเป็นสถานศึกษาเปิด เพื่อให้บริการแก่ราษฎรผู้ที่มีความสนใจเข้าชมและศึกษาด้วยตนเองด้วย
         - ควรขยายจำนวนผู้เข้าอบรมเพิ่มทีละน้อย ไม่ควรใหญ่โตอย่างรวดเร็วหรือมีปริมาณผู้เข้ารับการอบรมมากเกินไป

          ต่อมาได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นสถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2535 พร้อมกับชื่อใหม่คือ “ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”  เน้นเรื่องเกษตรธรรมชาติตามแนวพระราชดำริฯปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
         มีบทบาทหน้าที่ตามแนวพระราชดำริฯ ดังนี้
         1. จัดการศึกษาฝึกอบรมและสาธิตการเกษตรธรรมชาติตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกษตรธรรมชาติแนวทางอื่นๆ ที่เหมาะสมกับนิเวศเขตร้อนความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร เทคโนโลยีการเกษตร สมุนไพรและอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเกษตรธรรมชาติ
         2. เป็นศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะด้านเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
         3. วิจัยทดลองเผยแพร่เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและองค์ความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรธรรมชาติ
         4. ส่งเสริม สนับสนุนประสานกับชุมชน หน่วยงานเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน โดยเน้นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
         5. ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย


         ในระยะเริ่มต้น  มูลนิธิ MOA เข้ามาสำรวจพื้นที่ดินเมื่อเดือนสิงหาคม 2532  หลังจากนั้นได้ลงนามความร่วมมือกับ 3 หน่วยงาน คือ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย  มูลนิธิ MOA International และ กศน. เพื่อศึกษาวิจัยเรื่องเกษตรธรรมชาติ  ให้บุคลากรไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มเกษตรธรรมชาติโอฮิโตะ ญี่ปุ่น 3 เดือน  กลับมาร่วมกันศึกษาวิจัย 7 ปี สามารถพัฒนาดินและขยายผลสู่เกษตรกร  ระยะแรกอบรมเยาวชนและเกษตรกรรอบ ๆ ศฝก.วัดญาณฯ และขยายไปทั่วประเทศ รวมทั้งขยายไปยัง ศฝช.อีก 8 แห่งทั่วประเทศ  คัดเลือกผู้ผ่านการอบรมในประเทศทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติไปอบรมที่ญี่ปุ่นอีก ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ  แล้วกลับมาอบรมถ่ายทอดต่อ
         นอกจากนี้ มูลนิธิ
MOA ไทย ยังดำเนินการเรื่องการจัดการตลาดต่อจากการปลูกไว้กินเองเพื่อสุขภาพ  เรื่องการวางแผนปลูกผัก  เรื่องบรรจุภัณฑ์  โดยถ่ายทอดให้เกษตรกรสามารถดำเนินการด้วยตนเอง


         ปัญหาสำคัญของเกษตรกรคือ ดินไม่ดี กับ แมลงรบกวน  ทำให้เกษตรกรใช้สารเคมีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง  แก้ได้ด้วยเกษตรธรรมชาติ ช่วยให้ดินดีขึ้น ใช้ปุ๋ยน้อยลงการกำจัดโรคและแมลงง่ายขึ้น

         ศฝก. มีการทำวิจัยต่าง ๆเพื่อแก้ปัญหาของราษฎรและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ เช่นการศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกผักโดยวิธีเกษตรธรรมชาติเพื่อเป็นอาชีพ, การปลูกไม้ดอกสีสดในแปลงเกษตร, การปลูกพืชซ้ำที่, การปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยน้อย, การปลูกพืชผักสวนครัว, การปลูกพืชผักผสมผสานตามฤดูการ, การปลูกพืชโดยใช้เกษตรธรรมชาติอื่น ๆ เช่นองุ่น กุหลาบ สัปปะรด, อิทธิพลของปุ๋ยหมักต่อดาวเรือง, การวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์เกษตรธรรมชาติ ( เมล็ดพันธุ์ผัก 19 ชนิด  เมล็ดพันธุ์ไม้ดอก 9 ชนิด )  ปัจจุบันราคามูลสัตว์ก็แพง จึงมีการวิจัยใช้ปุ๋ยพืชสดให้มากขึ้น
         เน้นศึกษาทดลองเพื่อให้ได้องค์ความรู้มาจัดอบรมเผยแพร่สู่เครือข่ายและประชาชน ( อบรมให้ ศฝช.ทุกแห่ง )  มีผู้รับบริการแล้ว 19,995 คน  มีฐานเรียนรู้ต่าง ๆ มีป้ายนิเทศในแปลงให้ผู้สนใจเข้าไปเรียนรู้ด้วยตนเอง

         จากผลการวิจัยทำให้ได้องค์ความรู้ต่าง ๆ  เปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยหมัก พบว่าให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันแต่ผลผลิตจากการใช้ปุ๋ยหมักมีคุณภาพทางอาหารและรสชาติดีกว่า  ใช้เวลาลดการใช้สารเคมี 3-5 ปีเห็นผลชัดเจน


         เกษตรธรรมชาติ คือ การเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสิ่งขับถ่ายจากมนุษย์  หลักการเกษตรธรรมชาติ
         1. ปรับปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ดี เหมือนดินป่า (เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด )  โดยใช้ปุ๋ยหมัก ( ปุ๋ยอินทรีย์ ) ปุ๋ยชีวภาพปุ๋ยพืชสด และใช้วัสดุคลุมดิน
         2. ปลูกพืชให้หลากหลายชนิด  โดยปลูกพืชหมุนเวียนหรือปลูกพืชแซม
         3. อนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์ เอาไว้กำจัดแมลงศัตรูพืช  โดยไม่ใช้สารเคมี และปลูกไม้ดอกล่อแมลง


         ศฝก. จัดงานมหกรรมเกษตรธรรมชาติมาแล้ว 14 ปี มีผู้มาชมประมาณปีละ 25,000 คน  ปีนี้จะจัดงานมหกรรมเกษตรธรรมชาติระหว่างวันที่ 6-10ก.พ.56 ในบริเวณ ศฝก.  มีนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, การฝึกอบรมอาชีพเพื่อการมีงานทำ,  ชมพืชผักและไม้ดอกในแปลงสาธิต,  ประกวดผลผลิตทางด้านเกษตรธรรมชาติ ( มะพร้าว กล้วย ดอกไม้ กล้วยไม้ เห็ด ), ประกวดวาดภาพ, ประกวดร้องเพลง,  ผู้ผลิตพบผู้บริโภค,  การแข่งขันปลูกผักของนักเรียน ฯลฯ

         งานของ ศฝก. ส่งผลให้ตระหนักว่า แนวพระราชดำริฯเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้

 

 

รายการสายใย กศน.  วันที่ 26  พฤศจิกายน  2555

        เรื่อง “การให้บริการทางวิชาการของสถาบันการศึกษาทางไกล”

         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์

        วิทยากร คือ
        - นายสุรศักดิ์ เพิ่มผล  ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกล
        - วิไล  แย้มสาขา  ครูเชี่ยวชาญ หัวหน้าส่วนจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สทก.
        - วาสนา  โกสีย์วัฒนา  ครูเชี่ยวชาญ หัวหน้าส่วนพัฒนานวัตกรรมการศึกษาทางไกล สทก.

        สถาบันการศึกษาทางไกล เป็นสถานศึกษาส่วนกลาง สังกัดขึ้นตรงสำนักงาน กศน. มีบทบาทในการ
        1. จัดและส่งเสริมการศึกษาทางไกลหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
        2. จัดและส่งเสริมการศึกษาทางไกลหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง ที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและการเปลี่ยนแปลงของสังคม
        3. วิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล ( หลักสูตร สื่อกระบวน การเรียนการสอนการวัดผลประเมินผล ) ให้มีคุณภาพ เป็นตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ  นำไปใช้ในสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศได้  ( เป็นการช่วยกลุ่มงานพัฒนา กศน.ด้วย เพราะสถานศึกษาต่าง ๆ มีภาระมาก ไม่พร้อมในการพัฒนาเอง )  แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ
            - การพัฒนารายวิชาเลือกในหลักสูตรสถานศึกษา
            - การพัฒนาชุดการเรียนทางไกล ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาต่อเนื่อง  ( เป็นชุดวิชาที่เป็นทั้งตำราและครู เพื่อการเรียนด้วยตนเอง )
            - การพัฒนาข้อสอบวัดผลประเมินผล ทั้งระหว่างภาค ( ทุกวิชา ) และปลายภาค ( ข้อสอบปลายภาคเฉพาะวิชาบังคับ ส่วนข้อสอบซ่อมทุกวิชา )  และ คลังข้อสอบเทียบโอนความรู้

           ส่วนที่ 1-2 เปิดให้สถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศดาวน์โหลดไปใช้ได้ หรือขอเป็นแผ่น CD
           ส่วนที่ 3 สถานศึกษาต้องทำหนังสือราชการมาขอโดยตรง จะส่งให้ตอนใกล้สอบ และส่งแยกกันระหว่างข้อสอบกับเฉลย ( ยกเว้นข้อสอบระหว่างภาค ส่งให้พร้อมกันทั้งข้อสอบและเฉลย )

         ในการพัฒนาทางวิชาการนี้ เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ และร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร พัฒนาชุดการเรียน ออกข้อสอบ

        การสนับสนุนทางวิชาการ ด้านต่าง ๆ

          1) ด้านการพัฒนาบุคลากร
             - จัดอบรม/เป็นวิทยากร โดยตรง
             - ช่วยกลุ่มพัฒนา กศน. ทำสื่อ ทำข้อสอบ ทำหลักสูตร  หรือเชิญเครือข่ายมาร่วมพัฒนา

          2)  ด้านการสัมมนาก่อนจบหลักสูตร

          3) ด้านระเบียบและแนวปฏิบัติต่าง ๆ
              - ระเบียบสถานศึกษา ( เกี่ยวกับ การรับสมัคร การเรียนการพบครู การแต่งกาย การเข้าสอบ ... )
              - ระเบียบการวัดผลประเมินผล
              - หลักเกณฑ์การเทียบโอน
              - กพช.

          4)  ด้านการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร
              - การแนะแนว เช่น ปฐมนิเทศ จดหมายข่าว
              - กิจกรรมชมรม
              - การสอนเสริมและสื่อเสริม
              - ครูที่ปรึกษาประจำรายวิชา

 

คำสำคัญ (Tags): #รายการสายใย กศน.
หมายเลขบันทึก: 510205เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มกราคม 2013 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลย เป็นการเชื่ิยม สายงานเข้าด้วยกัน นะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท