ทำไมต้องออกไปปลูกนอกถิ่นปักษ์ใต้


 ภาพข้างบนนี้ เป็นยางพาราปลูกที่อำเภอลี้ ลำพูน ด้านหลังเป็นสวนลำไย

        ปักษ์ใต้ ปลูกยางพารามานาน  ทำให้พื้นที่ปลูกยางพาราเต็มไปหมด
ที่เชิงเขา การระบายน้ำดี ปลูกยางพาราเต็มหมดแล้ว  ลามลงสู่ที่นา > มีการแปลงนาข้าวเป็นสวนยาง ที่ระบายน้ำได้ก็ดีไป ที่ระบายน้ำยากก็แคระเกร็น ไม่มีน้ำยาง
ที่เชิงเขาแถวปักษ์ใต้ ราคาจึงสูงมาก  ที่สวนยางเก่าใกล้บ้านราคา 2-3 แสน ต่อไร่  ลงทุนไป 3 ล้าน ได้ที่ 10 ไร่

        

แล้วที่ดินนอกภาคใต้เขาปลูกยางได้ไหม??  หาข้อมูลซิ
ปี 2549 ไปเที่ยวงานราชพฤกษ์ เชียงใหม่ เดินโต๋เต๋ไปด้านหลัง เป็นสวนทดลองยางของกรมวิชาการเกษตรเชียงใหม่ เขาเปิดกรีดมานานแล้ว เข้าพบ จนท. เขาให้ความรู้เพิ่มเติมอีกโข ... ภาคเหนือก็มีปลูกยางพารา
ปี 2550 สนใจสอบถามราคาที่ดินแถวอำเภอลี้ ลำพูน  มีที่ สปก.4-01 เป็นสวนลำไย ไร่ละ 70,000 บาท เป็นที่เชิงเขา  เราถือครองที่ สปก.4-01 ไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่คนท้องถิ่น
ที่อีกแปลง เป็นที่เชิงเขาเหมือนกัน สภาพตอนที่ไปดู เป็นสถานที่เลี้ยงวัว  มีสระน้ำ  แต่ที่ส่วนมากเป็นกรวด ภาษาเหนือเขาเรียกที่แพะ  ดินไม่ดี  และเป็นที่ สปก. 4-01 เช่นกัน มีร่วม 90 ไร่
           ที่อีกแปลง เป็น นส.3 ครุฑดำ  จำนวน 9 ฉบับ เนื้อที่รวม 98 ไร่เศษ  บอกขายไร่ละ 30,000 บาท  ต้องใช้เงินเกือบ 3 ล้าน  แต่ที่ดินสวย ดินดี ดินดำน้ำชุ่ม
ปี 2551 ตระเวนดูว่าแถวภาคเหนือเขาปลูกกันที่ไหนบ้าง  ขับรถตระเวนจากเชียงราย ออกเชียงแสน ไปเชียงของ เลาะแนวชายแดนลาว ไปออกพะเยา พบว่าแถวเชียงราย-พะเยา ปลูกกันเยอะเลย ช่วงนั้นต้นยางอายุราว 3-4 ปี ป่านนี้คงกรีดกันตรึมแล้ว
           อยากรู้จังว่าแถวๆ อำเภอลี้ ลำพูนมีปลูกยางพาราบ้างไหม?  ถามคนแถวนั้น เขาบอกมีหลายแปลง ตระเวณดูอยู่ หลายแปลง  แปลงที่เก่าแก่ที่สุดเปิดกรีดมาหลายปีแล้ว เปิดกรีดขึ้นหน้า 2 แล้ว  มีประมาณ 8-10 ไร่  เจ้าของสวนชื่อ พ่อหลวงบูรณ์  แต่ไปสองสามครั้ง ไม่เคยเจอเจ้าของสวนสักที
นอกจากสวนพ่อหลวงบูรณ์ ไปดูตามคำชี้แนะของชาวบ้าน ไปพบอีกเยอะ เป็นร้อยๆไร่  ยางขณะนั้นอายุประมาณ 5 ปี



  ปี 2553 สำรวจพันธุ์กล้ายาง  แถวลี้ ลำพูน ราคาต้นละ 55-60 บาท  ที่รับจ้างปลูก ดูแลให้ 1 เดือน ราคาต้นละ 80 บาท  โอ้โฮ ในขณะที่ปักษ์ใต้ ตอนนั้ ราคาพันธุ์ยางต้นละ 35-40 บาท


ข้อมูลที่สำรวจ สรุปได้ว่า อำเภอลี้ ลำพูนปลูกยางพาราได้แน่นอน  ทำสวนยางพาราที่อำเภอลี้ ได้แน่นอน ด้วยเหตุผล
 
         1) ต้นทุนค่าที่ดิน ราคาไม่สูงนัก  ราคาประมาณ 1/3 ของราคาที่ดินปักษ์ใต้
         2) ต้นทุนค่าแรงไม่สูงมากนัก  แรงงานหาง่าย แม้เป็นแรงงานที่ทำสวนยางไม่เป็น แต่ขุดดินเป็น ดายหญ้าเป็น ใส่ปุ๋ยเป็น  ค่อยหาคนที่ชำนาญการปลูกยางไปคอยแนะนำ
ตัดสินใจซื้อที่ดิน  นส.3ครุฑดำ  จำนวน 9 ฉบับ เนื้อที่รวม 98 ไร่เศษ  แล้วลงมือเตรียมปลูกยางพารา

          3) ราคาพันธุ์ยางพาราที่สูง  เราค่อยหาไปจากแหล่งผลิตจากปักษ์ใต้ ซึ่งแน่นอนราคาย่อมถูกกว่าแถวโน้น

           4) ต้นทุนค่าไถสวน ตกไร่ละ 180 บาทเอง  ในขณะที่ปักษ์ใต้ ไร่ละ 400-500 บาท
          คราวหน้า จะเขียนเรื่องการเตรียมตัวปลูกยางพารา ครับ

หมายเลขบันทึก: 510099เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2012 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บ้านอยู่เชียงใหม่ค่ะ เป็นชาวสวน ชาวนา ...แถวบ้านก็ปลูกันเยอะค่ะ สวนติดๆ กันจากสวนส้ม สวนลำใย มะม่วง เปลี่ยนมาเป็นสวนยางหลายเจ้า ..แต่อายุต้นยางยังไม่ถึงเวลากรีด สงสัยอยู่เหมือนกันค่ะว่า แล้วอากาศที่หนาวเหน็บในภาคเหนือ น้ำยางจะใหลเยอะเหมือนภาคใต้มั้ย ..จะติดตามอ่านนะค่ะ

ไม่ได้เข้ามาติดตามนาน ขออภัยตอบช้าไปเยอะ  ถ้าจะคุยกันเรื่องนี้แบบติดต่อง่ายๆ ผมเขียนเพจไว้ที่ "ปลูกยางพารานอกถิ่นปักษ์ใต้" บนเฟสบุค ครับ  ลองเข้าไปใช้คำค้นดังกล่าวที่เฟสบุคนะครับ  แล้วช่วยกด Like บนเพจ ก็จะได้การสื่อสารที่ง่ายขึ้นมาอีก  บน G2K นี่ ผมเขียนไว้เพื่อผลระยะยาวครับ เพราะบนเฟสบุค นานๆไปมันจะหายาก  แต่บน G2K จะยั่งยืนกว่าครับ  บางเรื่องเขียนไว้ตั้งแต่ ปี 2548 ยังมีคนอ่านและใช้ประโยชน์อยู่ครับ  เข้าประเด็น เมื่อธันวาคา 2555 ผมไปเยี่ยมสวนยางที่อำเภอลี้ ที่เขาครบอายุเปิดกรีด  ปริมาณน้ำยางให้มากกว่าปักษ์ใต้ครับ  อาจเป็นเพราะหน้าหนาวด้วยมั้งครับ ต้องค่อยดูหน้าแล้งต่ออีกระยะ  วันนั้นที่เห็นยางกรีดครบ 24 ชม.แล้ว น้ำยางยังไหลอยู่เลย ทำให้น้ำยางเกือบเต็มถ้วย  แต่มองอีกมุม หากน้ำยางไหลยาวอย่างนี้อาจทำให้ต้นโทรมและเปลือกตาย ต้นตายในที่สุดครับ ต้อระวัง -- ผมเอามาตรฐานปักษ์ใต้ไปเทียบนะครับ ที่โน่นไม่ทราบเป็นอย่างไร  เข้าไปคุยกันที่ FB ก็ได้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท