วัฒนธรรมชาวโอเพนซอร์สที่สอดคล้องกับการจัดการความรู้


รู้สึกว่าตัวเองชักจะโง่ลงเรื่อยๆ

สมาชิกของชาวโอเพนซอร์ส(ตัวจริง) จะมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการจัดการความรู้
เรามาลองดูกันว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น จากคุณสมบัติข้อกำหนดของซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์สหลายๆข้อ
มีข้อที่ผมให้ความสนใจและชอบมากเป็นพิเศษคือ

  • เผยแพร่ต่อได้อย่างเสรี
  • เปิดเผยรหัสต้นฉบับ

คำว่า "เผยแพร่ต่อได้อย่างเสรี" หมายความว่าใครจะเอาซอฟต์แวร์นี้ไปเผยแพร่ต่ออย่างไรก็ได้
ไม่ว่าจะแจกฟรีหรือขายต่อในราคาพอสมควรเช่นเป็นค่าจัดทำซีดี เอกสาร เป็นต้น

ผมเคยประสบปัญหาการเผยแพร่ความรู้การใช้งานซอฟต์แวร์เชิงพานิชย์
หลังจากสัมนาเผยแพร่แล้ว ผมไม่สามารถแจกซอฟต์แวร์นั้นให้แก่ผู้เข้าสัมนาได้
เนื่องจากผิดกฏหมายละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้สนใจต้องไปจัดหาเอาเอง
ทำนองเดียวกับการสัมนาทั่วๆไปที่เรียกว่า "ฝึกอบรมหรือถ่ายทอดเทคโนโลยี"
ที่หลังจากสัมนา(ไม่ว่าเสียสตังค์หรือฟรี) ผู้เข้าร่วมสัมนาอาจได้รับแจกตัวอย่างซอฟต์แวร์ทดสอบ
แต่ก็ยังคงต้องจ่ายสตังค์ค่าใช้ซอฟต์แวร์ฉบับตัวจริง

เมื่อผมเปลี่ยนมาเป็นการสัมนาโดยใช้ซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส
ผมสามารถแจกแผ่นซีดีบรรจุซอฟต์แวร์ที่ใช้ประกอบการสัมนาให้ด้วย
ผลคือเป็นการเผยแพร่ แบ่งปันความรู้กันแบบครบวงจรจริงๆ

คำว่า "เปิดเผยรหัสต้นฉบับ" หมายความว่าต้องเปิดเผยข้อมูลต้นฉบับ
ตรงนี้สำคัญมาก เป็นการเปิดโอกาสให้สามารถทำการศึกษาเพื่อย้อนรอยถึงแก่นความรู้เดิมได้

ผมเคยประสบปัญหากับตนเอง ในอดีตผมมีโอกาสได้ใช้งาน UNIX มาก่อน
ต่อมาก็มาหันมาใช้ MS DOS ต่อด้วย MS Windows 3.1 ติดพันจนถึง windows 95
เพราะใช้งานง่ายแถมหาซีดีเถื่อน(ละเมิดลิขสิทธ์)ง่ายอีก
พอเริ่มยุค Windows 98 ผมก็ชักเอะใจว่าทำไมความรู้ของเดิมๆของผมที่มีอยู่
ตั้งแต่ยุค MS DOS ความรู้นั้นเริ่มใช้ไม่ได้กับของใหม่ๆ
แต่ความรู้ผมเดิมๆด้าน UNIX ผมก็ยังคงสามารถใช้กับ Linux
จึงได้เริ่มทบทวนตนเอง ก็พบว่าตัวเองหลวมตัวตกอยู่ในฐานะผู้ถูกบังคับบริโภค
ให้ใช้ซอฟต์แวร์ที่เป็นไปตามกลไกตลาดธุรกิจเท่านั้น
ไม่มีโอกาสศึกษาย้อนรอยกลับไปถึงแก่นความรู้ได้

ปรกติแล้วในเชิงธุรกิจ สูตรหรือแก่นความรู้ ต้องถูกปกปิดไว้เป็นความลับของผู้ประกอบการ
เพื่อไว้ใช้หากินล้วงเงินจากลูกค้าต่อไปเรื่อยๆ แบบว่าลูกค้าที่ดีของบริษัทก็คือ
ประเภท "ทำเองไม่คุ้ม(ขี้เกียจ)" ทำให้ต้องเกิดการจ้างคนอื่นดำเนินการแทน
ส่วนลูกค้าที่ดีเยี่ยมก็คือ "ทั้งขี้เกียจแลัวยังแถมไม่รู้(โง่)ด้วย" แบบว่าไม่มีความรู้พอที่จะลงมือทำเอง

ในทางธุรกิจ อาจมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนข้อมูลความลับระหว่างกันบ้าง
แต่ก็เป็นไปตามกลไกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อกันเท่านั้น

ผมได้ทบทวนตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองชักจะโง่ลงเรื่อยๆ
มัวแต่หลงตัวเองว่ามีความสามารถและทันสมัย
แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงผู้บริโภคที่ถูกบังคับให้ไหลไปตามกระแสเท่านั้น
ทำนองเดียวกับมีความรู้แค่ลวกบะหมี่สำเร็จรูปกินเป็น แล้วนึกว่าตนเองปรุงอาหารได้

ผมจึงได้กลับเนื้อกลับตัวพยายามเปลี่ยนมาศึกษาใช้งานโอเพนซอร์ส
ผลก็คือผมสามารถค่อยๆศึกษาย้อนรอยกลับเข้าไปถึงแก่นความรู้ได้อย่างเป็นลำดับ
ทำให้ผมมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น แก้ไขปัญหาได้หลายๆอย่าง
แล้วยังสามารถนำความรู้มาเผยแพร่ต่อผู้สนใจอื่นๆด้วยครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 51เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2005 05:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมมีความเชื่อลึกๆ ว่าความสำเร็จของ open source
สามารถอธิบายได้ ด้วยเรื่องของ KM คือ
1. การใช้ IT ช่วยในการสื่อสาร และถ่ายทอดความรู้
2. วัฒนธรรม "การให้"  ตามแนวคิด open source

ข้อแรกเป็นเรื่อง IT ข้อหลังเป็นเรื่อง Culture
ถ้าองค์กรใด หรือหน่วยงานใด  มีทั้ง 2 ข้อ ก็ย่อมทำให้
เกิดการแบ่งปันความรู้ได้อย่างมีพลัง  ทำให้ประสบความสำเร็จได้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท