ในทุกข์ที่เราผ่านมา เมื่อมันผ่านไป เราจะพบว่าการคืนสู่ความเป็นปกตินั้นเป็นสุข... สิ่งที่เราทำเพื่ออุมการณ์ยิ่งใหญ่เพียงไร สำเร็จแล้วใจพองโตเพียงไร ได้ลาภยศสรรเสริญ เพลิดเพลินใจเพียงไร สุดท้ายแล้วกลับพบว่าความเป็นปกตินั้นคือสุข แม้ในยามที่เราใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะแสวงหาความสุขใดเข้าหาตัว กลับพบว่าสุขที่รู้ว่าสุข ทุกข์ที่รู้ว่าทุกข์ แล้วสำรวมในความใสเย็นเป็นปกตินั้นคือสุุข "การรู้และเป็นปกติ" สำหรับข้าพเจ้าคือความสุขแท้
การค้นพบความสุขของเรา คือการค้นพบตัวเอง
การค้นพบตัวเอง คือความสุข
การค้นพบความสุขในแบบที่เราเป็น ในแบบที่เรามีทำให้เราชัดเจนในตัวเอง ทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เราประพฤติ ปฏิบัติอยู่เสมอสร้างความสุขให้กับเราอย่างไร หรือทำให้เราทุกข์น้อยลงอย่างไร...
ในบางครั้ง ความสุขที่อยู่ภายใน และความสุขภายนอกที่ปรากฎ เราเองอาจจะมองไม่เห็นว่าคือ "ความสุขแบบไหน" อาจจำเป็นต้องมีกัลยาณมิตรร่วมสะท้อน ร่วมแบ่งปันต่อยอดความสุขซึ่งกันและกัน
ท่านวอญ่าได้ช่วยสะท้อนโดยให้คำนิยามความสุขของกัลยาณมิตรหลาย ๆ ท่านที่มาร่วมวงเสวนาในวันที่ ๑๗ - ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ สำหรับข้าพเจ้า ท่านวอญ่ากล่าวว่าเห็นทำงานเพื่อชุมชนที่ต่อสู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ยังนึกคำนิยามความสุขในสิ่งที่ข้าพเจ้าเป็นและทำอยู่ไม่ได้ จึงขอละไว้ก่อน ในขณะเดียวกัน คุณยายธี ได้กระซิบกับข้าพเจ้าว่า "สุขศิลาไงคะ" พอได้ยินคำนี้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกมองเห็นตัวเองทะลุปรุโปร่ง
จริงทีเดียวค่ะ...ในความเป็นเรา ความสุขของเรา บางครั้งก็ต้องมีกัลยาณมิตรช่วยสะท้อน ภาพของเราที่ปรากฎอาจนิยามไม่ได้ง่าย ๆ ในเมื่อนิยามไม่ได้ ก็คือสุขในชื่อของเราเอง ในแบบที่เราเป็น...เมื่อคิดต่อไปโดยละเอียดรอบคอบ
คำว่า "ศิลา" เป็นการใช้ชื่อนี้ใน Gotoknow ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ หลังจากไปปฏิบัติธรรมกับอาจารย์สันติกโรที่เขาชะเมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกันก่อนเข้ามาเป็นสมาชิก Gotoknow ข้าพเจ้าได้กล่าวคำที่เป็นการให้สัจวาจาต่อหน้าอาจารย์และในกลุ่มผู้ร่วมปฏิบัติธรรมว่าจะทำหน้าที่เพื่อหน้าที่อย่างมีสติ
รู้จักหน้าที่ รู้จักธรรม
เป็นคำกล่าวธรรมดาที่เรียบง่ายไม่ไกลเกินความฝัน ไม่ใช่อุดมคติที่ไม่มีวันเป็นความจริง จนในที่สุด จากคนที่ทำงานในออฟฟิสอย่างสุขสบายไปวัน ๆ ก็ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อสังคมและชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่างที่ได้พบกัลยาณมิตรที่ดีงามอยู่เสมอ
การทำงานให้กับชุมชน
เป็นงานที่ไม่สามารถเขียนเล่าเรื่องออกมาอย่างเปิดเผยได้มากนัก
เป็นงานเชิงกุลยุทธ์ ต่อสู้เชิงความคิดเหมือนออกรบทัพจับศึก
เป็นงานที่อยู่เบื้องหลังที่แอบมองความสำเร็จที่อยู่เบื้องหน้าอย่างเงียบ ๆ
เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของผู้คนที่มีผลถึงส่วนรวม
เป็นงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเพื่อคืนสู่ความปกติของชุมชน
การทำงานโครงการ Happy Ba Creation
เป็นงานที่เปิดเผยตรงไปตรงมา ส่งเสริมให้ผู้คนค้นพบความสุขในแบบที่ตนเป็น
เป็นงานที่เชื่อมต่อระหว่างความสุขของแต่ละท่านสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความ สุขร่วมกัน
เป็นงานที่อยากรวบรวมความสุขของทุกท่านใน Gotoknow ที่ร่วม Happy Ba CoP
เป็นงานที่ส่งต่อความสุขที่ตกผลึกร่วมกันในวง Happy Ba Cop สู่สังคมทั่วไป
เป็นงานที่อยากสร้างหนังสือมรดกทางปัญญา "ความสุข" ของชาว Gotoknow เพื่อองค์กรสุขภาวะ
การทำงานในหน้าที่การงานประจำเป็นสัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบโดยสุจริต เชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีความมั่นคง ปลอดภัยทางการเงินและสวัสดิการ ย่อมมีความคิดอ่าน คิดการงานใด ๆ เพื่อสังคมได้อย่างคล่องแคล่วไม่ติดขัด
สุขศิลาในแบบที่ข้าพเจ้าเป็นคือไม่ว่าทำการงานใด ๆ ล้วนทำเพื่อหน้าที่ หน้าที่ต่อตนเอง หน้าที่ต่อครอบครัว หน้าที่ต่อกัลยาณมิตร หน้าที่ทางสังคม และหน้าที่ทางศีลธรรมดังคำอธิษฐานจิต (๑) ที่ให้ไว้กับอาจารย์และกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรม
ข้าพเจ้าเชื่อว่าหลายท่านผ่านความทุกข์ในลักษณะต่าง ๆ มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความผิดหวัง ไม่ได้อย่างใจ ถูกใส่ร้ายป้ายสี เผชิญความขัดแย้ง เกิดความทุรนทุรายทางใจ ความพลัดพราก การสูญเสีย การเจ็บไข้ได้ป่วยทางกาย
ในทุกข์ที่เราผ่านมา เมื่อมันผ่านไป เราจะพบว่าการคืนสู่ความเป็นปกตินั้นเป็นสุข...
สิ่งที่เราทำเพื่ออุดมการณ์ยิ่งใหญ่เพียงไร สำเร็จแล้วใจพองโตเพียงไร ได้ลาภยศสรรเสริญ เพลิดเพลินใจเพียงไร
สุดท้ายแล้วกลับพบว่าความเป็นปกตินั้นคือสุข
แม้ในยามที่เราใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเราจะแสวงหาความสุขใดเข้าหาตัว กลับพบว่าสุขที่รู้ว่าสุข ทุกข์ที่รู้ว่าทุกข์ แล้วสำรวมในความใสเย็นเป็นปกตินั้นคือสุุข
"การรู้และเป็นปกติ" สำหรับข้าพเจ้าคือความสุขแท้ ... เจตนางดเว้น...ไม่สุขล้น ไม่ขาดสุข ทุกข์เป็นเรื่องปกติ เป็นความสุขทุกข์พอประมาณ ความสุขทุกข์ที่พอดี
ที่กล่าวมานี้คือ "สุขศิลา"
ท่านคงเคยได้ยินคำให้พรของพระที่กล่าวว่า
อิมานิ ปัญจะสิกขาปะทานิ,
สีเลนะ สุคะติง ยันติ,สีเลนะ โภคะสัมปะทา,
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ,ตัสฺมา สีลัง วิโสธะเย
๑ สีเลนะสุคติงยันติ แปลว่า ผู้จะไปดีได้นั้นก็เพราะศีลเป็นเหตุ ผู้มีความปกติสุข ในปัจจุบันและในอนาคตได้นั้นก็เพราะรักษาศีล
๒ สีเลนะ โภคะสัมปะทา แปลว่า ผู้ที่จะเจริญมั่งมีด้วยโภคทรัพย์ ก็เพราะศีลเป็นเหตุ กล่าวคือผู้มีศีลย่อมแสวงหาทรัพย์โดยสุจริต ย่อมเป็นที่เชื่อถือจากผู้อื่น
๓ สีเลนะนิพพุติงยันติ แปลว่า ผู้ที่จะถึงนิพพานได้ก็เพราะศีลเป็นเหตุ กล่าวคือศีลเกื้อให้จิตมีความตั่งมั่น มี สมาธิ และสมาธิเกื้อให้เกิดปัญญา เพื่อรู้ขันธ์ห้าตามที่เป็นจริง เมื่อรู้แจ้งขันธ์ห้าของไตรลักษณ์ ก็จะนำไปสู่การประจักษ์แจ้งซึ่งพระนิพพาน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตโต) กล่าวถึงเครื่องวัดความเจริญของจิตใจตามหลักธรรมเรียกว่า "อารยวัฒิ" แปลว่าความเจริญอย่างอริยชน หลักนี้มี ๕ ประการ (๒) หนึ่งในนั้นคือศีล
"ศีล" ปกติของกายและวาจา หมายถึงการสำรวมกายวาจาให้อยู่ในสุจริต ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นั่นก็คือศีล ศีล ๕ เป็นศีลพื้นฐานในการอยู่ร่วมกับผุ้อื่น หากถือศีล ๘ ก็จะเป็นการฝึกกายวาจาประณีตยิ่งขึ้น ขัดเกลาตนเองมากขึ้น อันเป็นพื้นฐานของการฝึกจิตใจ ศีลจึงนำไปสู่สมาธิ กล่าวคือผู้ที่มีศีลจะเกิดความปิติความอิ่มใจ นำไปสู่ความสุข และนำไปสู่สมาธิและปัญญา

ความสุขในวงเสวนา Happy Ba ที่ข้าพเจ้าค้นพบ แต่ละท่านล้วนมี "สัจจะ" และ "จาคะ" สัจจะที่จะกระทำสิ่งใดตามจริงดั่งวาจา ตรงไปตรงมา ยึดมั่นในความดี และจาคะ ที่มีแต่ความเสียสละเป็นผู้ให้เพื่อผู้อื่นและสังคม ก้าวข้ามพ้นความสุขส่วนตัวสู่ความสุขที่เป็นผู้แบ่งปัน
ขอให้ทุกท่านที่แบ่งปันความสุขเพื่อผู้อื่นและสังคม เจริญในธรรมโดยถ้วนหน้ากันค่ะ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(๑) อธิฐานจิต ธรรมเป็นที่มั่น, ธรรมอันเป็นฐานที่มั่นคงของบุคคล, ธรรมที่ควรใช้เป็นที่ประดิษฐานตน เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิด และไม่เกิดสิ่งมัวหมองหมักหมมทับถมตน, บางทีแปลว่าธรรมที่ตั้งไว้ในใจ
๑. ปัญญา (ความรู้ชัด หรือ หยั่งรู้ในเหตุผล พิจารณาให้เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายจนเข้าถึงความจริง)
๒. สัจจะ (ความจริง คือดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา เริ่มแต่จริงวาจาจนถึงปรมัตถสัจจ)
๓. จาคะ (ความสละ คือ สละสิ่งอันเคยชิน ข้อที่เคยยึดถือไว้ และสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ เริ่มแต่สละอามิสจนถึงสละกิเลส)
๔. อุปสมะ (ความสงบ คือ ระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวายอันเกิดจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ทำให้จิตใจให้สงบได้)
(๒) "อารยวัฒิ" แปลว่าความเจริญอย่างอริยชน หลักนี้มี ๕ ประการ
ประการที่ ๑ "ศรัทธา" ซึ่งก็คือความเชื่อ มีอยู่ ๒ อย่าง อย่างแรกคือความเชื่อไม่มีมูล ไม่มีเหตุผล งมงาย เห็นอะไรไม่ได้คิดพิจารณาก็เชื่อ เพราะนึกว่าเขาเป็นผู้รู้จริง เชื่อตาม ๆ กันมา เชื่อเพราะหลง ไม่มีหลัก เป็นความเชื่อแบบหลงใหล อย่างที่สองเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล มีปัญญาประกอบ รู้เข้าใจเหคุผล รู้เข้าใจเหตุปัจจัยมองเห็นธรรม ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หากเกิดศรัทธา ความเชื่อ ความมั่นใจในคุณธรรม ในความดีงาม ในคุณพระรัตนตรัย เจริญเพิ่มพูนขึ้นบ่อย ๆ สังเกตตนเองแล้ว จิตใจผ่องแผ้ว อิ่มเอิบ และมีศรัทธาที่มั่นคงเพิ่มขึ้น ก็แสดงว่ามีความเจริญอย่างอริยชนในขั้นที่หนึ่ง
ประการที่สอง "ศีล" ปกติของกายและวาจา หมายถึงการสำรวมกายวาจาให้อยู่ในสุจริต ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นั่นก็คือศีล ศีล ๕ เป็นศีลพื้นฐานในการอยู่ร่วมกับผุ้อื่น หากถือศีล ๘ ก็จะเป็นการฝึกกายวาจาประณีตยิ่งขึ้น ขัดเกลาตนเองมากขึ้น อันเป็นพื้นฐานของการฝึกจิตใจ ศีลจึงนำไปสู่สมาธิ กล่าวคือผู้ที่มีศีลจะเกิดความปิติความอิ่มใจ นำไปสู่ความสุข และนำไปสู่สมาธิและปัญญา
ประการที่สาม "สุตะ" คือความรู้หรือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ซึ่งจะเป็นความรู้ทางโลก คำบอกเล่า คำสั่งสอนของผู้ใหญ่รุ่นก่อนก็ได้ และมีความหมายรวมถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย หากเราจะก้าวหน้าสู่การปฏิบัติมากขึ้น เราก็จะต้องมีสุตะมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีสุตะคือไม่รู้ ก็ไม่สามารถปฏิบัติต่อไปได้ หมั่นทบทวนตัวเองว่ามีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมข้อใด เพียงใด ปฏิบัติแล้วเกิดผลอะไร อาศัยผู้รู้ก่อนขัดเกลาตนไปด้วย เป็นการสร้างความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างหนึ่ง
ประการที่สี่ "จาคะ" ความสละ หมายถึงสละความยึดติด ความยึดติดผูกพันในวัตถุสิ่งของต่าง ๆ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกิดความรู้สีกเป็นเจ้าของ ยึดมั่นถือมั่น ห่วง หวง กังวลใจต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ไปขวนขวายหามาได้ สร้างสรรค์มันขึ้นมาได้ หากเรามีสิ่งเหล่านี้ แล้วรู้จักทำใจ ไม่ผูกพันมากเกินไป โดยรู้เท่าทันความจริง มันต้องเป็นของมันตามธรรมดา ฝึกตนไม่ให้ยึดติด เริ่มตั้งแต่รู้จักสละสิ่งสอง ให้ เผื่อแผ่ แบ่งปัน เป็น "ทาน" การให้จะเกิดสุขก็ต่อเมื่อมีความพร้อมที่จะให้เช่นเดียวกับความรู้สึกของการให้ที่พ่อแม่มีต่อลูก ซึ่งเปี่ยมด้วยเมตตา ย่อมเป็นการให้ที่มีความสุข เป็นกุศลจิต ดังนั้น ผู้ที่ฝึกฝนพัฒนาจิตขึ้นมาแล้ว จะสามารถให้โดยมีความสุข แผ่เมตตากรุณาให้กว้างขวางออกไป ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ให้ความสุข ก็ได้ความสุข" ทั้งหมดนี้อยู่ที่ทำใจเป็น การมีจาคะจึงเป็นเครื่องสำรวจจิตใจของตนว่าเจริญในธรรมแค่ไหน สามารถอยู่เป็นสุขได้หรือไม่ เมื่อไม่ได้สิ่งนั้นหรือแม้ต้องสูญเสียอะไรไป ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขที่ไม่ฝากไว้กับสิ่งภายนอก เมื่อมีจาคะมากขึ้น จิตใจก็คลายความยึดติดผูกพัน เข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เกิดความรู้สึก "สุข" ด้วยใจตนเอง เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก
ประการที่ห้า คือ "ปัญญา" ความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง สุตะ ก็เป็นความรู้ ปัญญาก็เป็นความรู้ แต่ต่างกันตรงที่สุตะ เป็นความรู้ที่สดับตรับฟังมาจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นได้ฟังหรือได้อ่าน สิ่งที่รับเข้ามานี้ไม่ใช่ของเรา เป็นความรู้ที่มีการถ่ายทอดมา แต่หากเราเข้าใจในสิ่งที่รับมา ความรู้ที่เป็นความเข้าใจของตัวเองก็เกิดขึ้นใหม่ ความรู้นั้นแหละเป็นปัญญา ผู้ที่เล่าเรียนจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ก็มีปัญญาน้อยได้ หากไม่รู้ไม่เข้าใจไม่ใช้ประโยชน์ให้เห็นจริง