เราจะ "เรียน"และ"รู้" กันอย่างไรในอนาคต


                                     นางมาลี  คงแก้ว รหัส 555579013  สาขาการจัดการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา

เราจะ “เรียน”  และ “รู้” กันอย่างไรในศตวรรษที่ 21

  รศ.ดร. ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนมีชื่อท่านหนึ่งของบ้านเราเคยกล่าวไว้ว่า “คนเก่งในอนาคตไม่จำเป็นต้องรู้ไปเสียทุกเรื่อง แต่ต้องรู้ว่าในสถานการณ์ใดต้องใช้ข้อมูลใด และจะเข้าถึงข้อมูลนั้นได้อย่างไร” ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่ไปสอดคล้องกับแนวคิดของ ศ.ดร. เมอร์เรย์ เกลล์-แมนน์ (Prof. Dr. Murray Gell-Mann) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ที่ได้แสดงทัศนะไว้ว่า “ในศตวรรษที่ ๒๑ จิตที่มีคุณค่ามากที่สุดคือ “จิตสังเคราะห์” หมายถึงจิตที่รู้จักสำรวจข้อมูลอันหลากหลาย รู้ว่าสิ่งใดสำคัญ ควรค่าแก่การสนใจ และนำข้อมูลดังกล่าวมาประสานกันได้อย่างมีเหตุมีผลสำหรับตนเองและผู้อื่น”

  ศ. เกลล์-แมนน์ ยังกล่าวถึงการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตว่า ทำให้โลกอุดมไปด้วยความรู้มากมายมหาศาล จนเกิดการทะลักทะลายของข้อมูล (Information Explosion) การรู้จักเลือกข้อมูลอย่างชาญฉลาดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น คนที่รู้จักสังเคราะห์ข้อมูลให้ตนเองได้ดีจึงเป็นบุคคลชั้นแนวหน้า ส่วนคนที่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายจะกลายเป็นนักสื่อสาร ครู และผู้นำที่มีคุณค่า

  ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช เคยให้ทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราจำเป็นต้องเปลี่ยนสังคมให้เกิดวัฒนธรรมความรู้ เปลี่ยนการไหลเวียนขององค์ความรู้จากไหลขึ้น-ลงตามแท่งอำนาจ เป็นไหลเวียนไปทุกทิศทางภายในสังคม” นั่นเป็นเพราะปัจจุบันความรู้ไม่ได้กระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ความรู้มีอยู่ทั่วทุกหนแห่ง เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ภายในห้องเรียน แต่เราจะทำอย่างไรถึงจะสกัดเอาความรู้ที่มีประโยชน์ออกมาให้ได้เท่านั้น

  รูปแบบการศึกษาในยุคปัจจุบันแปรเปลี่ยนไปจากเดิม ด้วยองค์ความรู้ที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น พฤติกรรมของมนุษย์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามเวลา ทฤษฎีการศึกษาแบบเดิมอาจใช้ไม่ได้ผล ผลสัมฤทธิ์ของการศึกษาอยู่ที่ไหน หากมองกันที่การประสบความสำเร็จของบุคคล มิใช่แค่เพียงผลการสอบ รูปแบบการเรียนรู้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อยุคสมัย

  กรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ จึงถูกขยายขอบเขตออกไปจากเมื่อครั้งอดีต แน่นอนว่าวิชาแกนยังคงมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ (Core Subjects) ซึ่งได้แก่วิชาการสามัญที่มีความสำคัญเป็นพื้นฐาน ได้แก่ ภาษาอังกฤษ การอ่านและการใช้ภาษา ศิลปะ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การปกครองและหน้าที่พลเมือง และสิ่งที่ควบคู่ไปกับวิชาแกนคือ แนวคิดสำคัญในศตวรรษที่ ๒๑ (21st Century Themes) ได้แก่ จิตสำนึกต่อโลก ความรู้พื้นฐานด้านต่างๆ อาทิ การเงิน ด้านพลเมือง สุขภาพ สิ่งแวดล้อม

  ทักษะประการต่อมาคือ ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี (Information, Media and Technology Skills) ด้วยเหตุที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างไม่มีขีดจำกัด และมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ในยุคปัจจุบัน การละเลยทักษะด้านนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

  Learning and Innovation Skills หรือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ประกอบไปด้วย 4Cs ได้แก่ ความคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ไขปัญหา (Critical Thinking) การสื่อสาร (Communication) การร่วมมือ (Collaboration) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative)

  ไม่เพียงแต่ความรู้และทักษะด้านวิชาการเท่านั้น หากแต่ยังต้องรู้จักเรียนรู้ ทักษะชีวิตและการทำงาน (Life and Career Skills) คือ รู้จักยืดหยุ่นและปรับตัว (Flexibility and Adaptability) มีความคิดริเริ่มและการชี้นำตนเอง (Initiative and Self-Direction) มีทักษะทางสังคมและเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม (Self and Cross-Cultural Skills)

   นางมาลี  คงแก้ว รหัส 555579013  สาขาการจัดการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา

  ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดนั้นจะต้องรองรับด้วยระบบสนับสนุนที่เหมาะสมกับยุคสมัย คือระบบมาตรฐานและการประเมิน หลักสูตรและการสอน การพัฒนาทางวิชาชีพ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้

  หันกลับมามองประเทศไทยว่าเราทำได้ในข้อใดบ้าง ทุกวันนี้การศึกษาบ้านเรากำลังเข้าขั้นวิกฤต เห็นได้จากตัวชี้วัดด้านการศึกษาและการสอบ เหนืออื่นใดคือตัวผู้เรียนซึ่งเป็นผลผลิตของการศึกษาที่ไม่มีศักยภาพที่จะเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการศึกษา นั่นคือ กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้

  หันกลับมามองประเทศไทยว่าเราทำได้ในข้อใดบ้าง ทุกวันนี้การศึกษาบ้านเรากำลังเข้าขั้นวิกฤต เห็นได้จากตัวชี้วัดด้านการศึกษาและการสอบ เหนืออื่นใดคือตัวผู้เรียนซึ่งเป็นผลผลิตของการศึกษาที่ไม่มีศักยภาพที่จะเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการศึกษา นั่นคือ กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้

  ระบบการศึกษาไทยยังคงวนเวียนอยู่กับทักษะของศตวรรษที่ ๒๐ ที่ยึดเอาผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เอาปริมาณเป็นที่ตั้ง ไม่ฟังเสียงของผู้เรียน ไม่ตระหนักว่าโลกได้เปลี่ยนไปเพียงไร และไม่ใส่ใจปรับปรุงคุณภาพ ด้วยวิธีการเช่นนี้ย่อมเป็นการยากที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ได้เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน

คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 509815เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2012 22:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท