สนธิ แสนง่าย


ผู้ศึกษาภาษาในตระกูลอินเดีย-ยุโรป อันได้แก่ กรีก ละติน บาลี สันสกฤต เป็นต้น จะต้องเหนื่อยกับเรื่องการเปลี่ยนรูปของคำ เพราะคำส่วนใหญ่จะต้องมีการเติมเสียงท้ายเพื่อเปลี่ยนรูป คำหนึ่งอาจเปลี่ยนรูปได้หลายสิบรูป โดยเฉพาะกริยานั้น มีความหลากหลายมาก

นอกจากนี้แล้ว ในบางภาษายังจะต้องปวดหัวกับการสนธิ คือ เสียงที่เปลี่ยนไปเมื่อมีการเชื่อมระหว่างคำ โดยเฉพาะ ในภาษาสันสกฤต มีสนธิมากมายหลายแบบ เช่น สฺตฺรี อากาศ แบบนี้ก็ต้องเปลี่ยนเป็น สฺตฺรยากาศ เมื่ออ่านข้อความภาษาสันสกฤตก็ต้องนึกย้อนไปหาเดิมมาจากอะไร

การสนธินั้นมีหลักที่ค่อนข้างชัดเจน แต่อะไรๆ ก็ไม่ง่ายนัก เช่น 1+2 = 3 แต่ไม่ได้หมายความว่า 3 จะมาจาก 1 + 2 เท่านั้น อาจจะมาจาก 4-1 ก็ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น คำที่สนธิแล้ว เมื่อแยกกลับ อาจไม่เจอะคำเดิม เพราะตีความผิดพลาดไป

ตัวอย่าง คำว่า ตถาคต อาจมาจากการสนธิได้หลายแบบ เช่น

  •   ตถา + คต(ไปแล้ว)
  •   ตถา + อาคต(มาแล้ว)
  •   ตถา + อคต(ไม่ไปแล้ว)

  (เฉพาะคำว่า ตถา แปลว่า เช่นนั้น)

  แบบนี้จะไม่ปวดหัวได้อย่างไร จริงไหมครับ..

เพื่อให้การอ่านเขียนคล่องขึ้น นักภาษาและนักคอมพิวเตอร์จึงมาสุมหัวกัน คิดโปรแกรมแยกสนธิ ป้อนคำว่า ตถาคต เข้าไป ผ่านการประมวลผล ไปค้นพจนานุกรม ค้นกฎสนธิ และแวบไปดูข้อยกเว้น ได้ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ที่สุดออกมา ถ้ายังไม่สะใจ ก็ขอผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นแบบอื่นๆ ด้วย วิธีนี้ทำให้การเรียนสันสกฤตง่ายขึ้นมาก คิดสนธิไม่ออก ป้อนเข้าโปรแกรม จบเลย


โปรแกรมเรื่องสนธิ

ทีนี้ นอกจากแยกสนธิแล้ว ก็ทำโปรแกรมทำสนธิด้วยเลยสิ ง่ายกว่าเยอะ เพราะมีกฎแล้ว มีข้อยกเว้นแล้ว ป้อนคำที่ต้องการสนธิเข้าไป ตื๊ดๆๆๆๆๆ ได้คำที่ต้องการเสร็จเรียบร้อยในชั่วพริบตา

  โปรแกรมที่ว่านี้เป็นความร่วมมือของสถาบันการศึกษา 7 แห่งในอินเดีย ได้แก่

  •   University of Hyderabad
  •   Jawaharlal Nehru University
  •   IIIT-Hyderabad
  •   Sanskrit Academy, Hyderabad
  •   Poornaprajna Vidyapeetha, Bangalore
  •   Rashtriya Sanskrit Vidyapeetha, Tirupati
  •   JRR Sanskrit University, Jaipur

  เข้าไปที่นี่เลย http://tdil-dc.in/san/

การใช้งาน

  การใช้งานนั้นง่ายมาก มี 2 ตัวเลือก คือ จะทำสนธิ หรือจะแยกสนธิ

  ถ้าทำสนธิ ก็เลือกที่ Sandhi ถ้าแยกสนธิก็ Sandhi-splitter

  มาทำสนธิก่อน คลิกที่เมนู Sandhi

  ขวามือ มีช่อง Encoding ให้เลือกว่าจะป้อนตัวอักษรแบบไหน ผมเลือก KH คือ ระบบอักษรโรมันแบบเกียวโต-ฮาวาร์ด (เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีฟอนต์พิเศษ เพราะระบบนี้ใช้ตัวอักษรพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่แทนขีด ทำให้สะดวก) หรือจะใช้เทวนาครีก็ได้ ถ้าสนใจระบบอื่นๆ ก็ลองคลิกดู และหากไม่แน่ใจ ก็คลิกที่ See the encoding Table จะมีตารางเทียบตัวอักษรให้ ง่ายจริงเชียว

  มารันโปรแกรมกันเลย

  ผมเลือกใช้ KH แล้วป้อนคำว่า taTha (ตถา) ในช่องบน gata(คต)ในช่องล่าง

  คลิก submit แล้วดูผล

  ได้ผลลัพธ์ออกมา(เป็นอักษรเทวนาครี)อย่างนี้

प्रथमपदम्

द्वितीयपदम्

समस्तपदम्

सन्धिः

सूत्रम्/वार्तिकम्

คำแรก

คำที่สอง

รูปสนธิ

ชนิดของสนธิ

สูตร หรือข้อกำหนด

तथा

गत

तथागत

डिफाल्ट्-सन्धिः


  ไม่ต้องสนใจอย่างอื่นมาก ดูในช่องที่ 3 จะเป็นรูปสำเร็จที่เราต้องการ ส่วนช่องขวาสุดเป็นชนิดของสนธิ

 

  ลองอีกสักตัวอย่าง เอาคำที่ลงท้ายสระอื่น ไม่ใช่อะ อา ซึ่งจะมีปัญหามากกว่า

  คำว่า maNi (มณิ) กับ RSis (ฤษิสฺ) ได้ผลดังนี้

प्रथमपदम्

द्वितीयपदम्

समस्तपदम्

सन्धिः

सूत्रम्/वार्तिकम्

คำแรก

คำที่สอง

รูปสนธิ

ชนิดของสนธิ

สูตร หรือข้อกำหนด

मणि

ऋषिस्

मण्यृषिस्

यण्-सन्धिः

इको यणचि (6।1।77)

मणि

ऋषिस्

मणिऋषिस्

प्रकृतिभाव-सन्धिः

ऋत्यकः (6।1।128)

  ได้ความว่า มณิ สนธิกับ ฤษิสฺ ได้สองรูป (เลือกใช้แบบไหนก็ได้ ไม่ผิด) คือ

  •   มณยฺฤษิสฺ ตามสูตรปกติ (6-1-77 ตามไวยากรณ์ของปาณินิ) เรียกว่า ยัณสนธิ ส่วนอีกรูปหนึ่งคือ
  •   มณิ ฤษิสฺ (คือไม่ต้องสนธิ) ตามหลัก ปฺกฤติภาวสนธิ หรือ สูตรที่ 6-1-128 ของปาณินิ

  ทีนี้มาแยกสนธิคลิกที่เมนู Sandhi-splitter ใส่รหัสอักษรแบบ KH

  เลือกชนิดสนธิ (Which sandhi) 1.สมาสจฺเฉท (แยกศัพท์สมาส) 2. ปทจฺเฉท (แยกคำที่สนธิกัน) และ 3.อุภโยรปิ (อุภโยสฺ+อปิ, แม้ทั้งสอง) คืออะไรก็ได้ ทั้งสองแบบนี่แหละ  เราเลือกแบบที่ 3 ก็แล้วกัน

  ป้อนคำ tathAgata (ตถาคต) นี่แหละ คลิกที่ show split

  ได้ข้อความในกรอบขวามือดังนี้

  •   तथागत = तथा-+आगत 
  •   तथागत = तथा+आगत

  เขาบอกว่า

  •   ตถาคต = ตถา-+อาคต (ตถา- หมายถึง สมาสในคำเดียว)
  •   ตถาคต = ตถา+อาคต (ตถา คำหนึ่ง, อาคต คำหนึ่ง)

  หากยังไม่พอใจ คลิกที่กรอบยาวๆ ดูว่ามีความเป็นไปได้อย่างอื่นไหม ออกมาเพียบเลย

  ลองเล่นกันดู มีหลายทางเลือกให้ทดลองครับ


สรุป

  สำหรับท่านที่เพิ่งสนใจภาษาสันสกฤต ไม่ต้องตกใจกับศัพท์อะไรยากๆ สรุปว่า หากต้องการแยกสนธิ หรือทำสนธิ ก็สามารถใช้ตัวช่วยนี้ได้

  ส่วนท่านที่เริ่มศึกษาภาษาสันสกฤต พอเข้าใจหลักสนธิบ้าง ก็พยายามพึ่งตัวช่วยนี้แต่น้อย ควรใช้เฉพาะเมื่อติด คิดไม่ออกจริงๆ มิฉะนั้นจะลืมเรื่องสนธิไปเพราะมีตัวช่วยแล้ว

  อีกอย่างหนึ่ง ผมเองก็ยังไม่ทราบประสิทธิภาพโดยรวมของโปรแกรมนี้ ว่าสามารถทำสนธิ หรือแยกสนธิได้ดีแค่ไหน คาดว่าทำสนธิน่าจะได้ดี 100% แต่การแยกสนธิอาจไม่สมบูรณ์มากนัก เพราะมีข้อยกเว้นมาก และมีบางเรื่องบางข้อความ อาจเป็นสนธิที่ไม่นิยมใช้ทั่วไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม การมีตัวช่วยก็ยังนับว่ามีประโยชน์ในการตรวจสอบหลักสนธิ ให้เราเข้าใจมากขึ้น อย่างน้อยก็อ้างถึงสูตรให้กลับไปตรวจสอบได้.

หมายเลขบันทึก: 508944เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2012 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบพระคุณครูมากคะ ...

สำหรับหนูแล้วคงจะพึ่งระบบนี้ให้น้อยที่สุด จะลองทำเองดูก่อน คงจะต้องจำให้แม่นจำให้ได้ อันไหนที่ยากและลงมือทำเอง เคยผิดเคยถูกมาแล้วคิดว่าคงจะจำได้ไปจนตาย เพราะมีบทเรียนมาแล้ว.. อิอิ

ของยากไม่ใช่ง่ายหรอก

สวัสดีค่ะคุณครู

แวะเวียนมากวนใจคุณครูเล่นๆ ด้วยความระลึกถึง

สงสัยคุณครูยุ่งๆ อย่าลืมรักษาสุขภาพค่ะ

มาพร้อมอาหารว่าง... ค่ะ

 

สนธิเป็นเรื่องยุ่งยากครับ ถ้าไม่มีสนธิ เราจะเรียนสันสกฤตได้ง่ายขึ้นมาก

มีตัวช่วยแบบนี้ทำให้ง่ายขึ้นอีกหลายเท่า

ขอบคุณข้าวต้มมัดครับ ต้องมัดแน่นๆ จะได้่เป็น ข้าวต้มมัด อิๆๆ

(ที่บ้านเรียกว่า ต้มกล้วย)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท