รายการสายใย กศน. 12, 19 พ.ย.55


12 พ.ย.55 เรื่อง “นโยบายและจุดเน้นการดำเนินงานสำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ 2556”, 19 พ.ย.55 เรื่อง “หลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องของสถาบันการศึกษาทางไกล”

รายการสายใย กศน.  วันที่ 19  พฤศจิกายน  2555

        เรื่อง “หลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องของสถาบันการศึกษาทางไกล”

        ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์

        วิทยากร คือ
        - นายสุรศักดิ์ เพิ่มผล  ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกล
        - นายเชาวลิต  ธาดาสิทธิเวท  หัวหน้าส่วนจัดการศึกษาต่อเนื่อง สทก.
        - มาลี  ธัญธนนนท์  อาจารย์ประจำหลักสูตร ส่วนจัดการศึกษาต่อเนื่อง สทก.
        - นภาพัฒน์  แก้วอ่อน  อาจารย์ประจำหลักสูตร ส่วนจัดการศึกษาต่อเนื่อง สทก.

        สถาบันการศึกษาทางไกล เป็นสถานศึกษาส่วนกลาง สังกัดขึ้นตรงสำนักงาน กศน. มีบทบาทในการ จัดและส่งเสริมการศึกษาทางไกลหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจัดและส่งเสริมการศึกษาทางไกลหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและการเปลี่ยนแปลงของสังคมวิจัยและพัฒนาหลักสูตร สื่อกระบวนการเรียนการสอนการวัดผลประเมินผลการศึกษาทางไกล ให้เป็นตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ

        การศึกษาต่อเนื่อง  เป็นหลักสูตรระยะสั้น ๆ 3-4 เดือน เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต  เป็นทางเลือกให้มีช่องทางการเรียนมากขึ้น  มีชุดการเรียนและสื่อปรกอบ ( เป็นต้นฉบับชุดการเรียน-หลักสูตร ให้สถานศึกษาอื่นนำไปใช้ ) มีการวัดผลประเมินผลตามสภาพของแต่ละหลักสูตร บางหลักสูตรมีกิจกรรมเสริม  จบแล้วได้รับวุฒิบัตรรับรองความรู้ ใช้เทียบโอนเป็นหน่วยกิตในหลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐานได้  คิดหลักสูตรร่วมกับภาคีเครือข่าย  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
         1. สร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะเพื่อการประกอบอาชีพหรือพัฒนาอาชีพ
         2. ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ เพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ
         3. ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน

        หลักสูตรประเภทนี้โดยทั่วไปจะเปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไปไม่กำหนดวุฒิแต่ให้มีทักษะการอ่านเขียนภาษาไทยยกเว้นวิชาการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนต้องเป็นครู 

         หลักการของการศึกษาทางไกลจะเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อชุดการเรียนเป็นหลัก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีลักษณะเป็นสื่อประสมคือมีการใช้ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ แผ่นวีดิทัศน์ (VCD) และอื่น ๆ เช่น  อินเทอร์เน็ต เป็นต้น  นอกจากนี้ในแต่ละหลักสูตรยังกำหนดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้อื่น ๆที่จำเป็นและเหมาะสมกับเนื้อหา  เนื่องจากเป็นระบบการเรียนทางไกลผู้เรียนจึงสามารถเรียนด้วยตัวเองทั้งที่บ้านหรือที่ทำงานแล้วแต่เวลาที่ตนเองสะดวก  ผู้เรียนจะได้รับการวัดผลประเมินผลที่สอดคล้องกับแต่ละหลักสูตรด้วยวิธีการและรูปแบบที่เหมาะสม  ผู้เรียนที่ต้องการรับวุฒิบัตร ต้องเรียนตามกระบวนการและเงื่อนไขที่กำหนด  เก็บค่าเรียน ( เพราะสื่อมีค่าใช้จ่าย ) ที่ถือว่าไม่แพง ( 1,200 – 2,500 บาท )

         ระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 - วันที่ 7 ธันวาคม 2555 เปิดรับสมัครและลงทะเบียน 6 หลักสูตร คือ ภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร  ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ( 2 หลักสูตรนี้ รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน )  การจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ  การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้  เซียนกล้อง : พื้นฐานการถ่ายภาพเส้นทางสู่มืออาชีพ  และ เส้นสร้างสรรค์ : ทุกคนทำได้  รับสมัครไม่จำกัด

        1. ภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร  รุ่นที่ 14
            เริ่มรุ่นแรกปี 2549  หลักสูตร 400 ชั่วโมง  ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีผู้ใช้มากอันดับ 1  เป็นการเรียนรู้ภาษาจีนที่เป็นระบบสากล มี 12 หน่วย คือความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาจีน และหน่วยอื่น ๆคล้ายหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร  ต้องผ่านการประเมินหน่วยละ 50 % ทุกหน่วย และคะแนนรวมไม่น้อยกว่า 60 %  ( เป็นแห่งเดียวที่มีปทานุกรมคำศัพท์ไทยเป็นจีน )  ค่าเรียน 1,500 – 2,000 บาท

        2. ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร  รุ่นที่ 5
            เริ่มปี 2554 เป็นที่นิยมสนใจเรียน  มีจุดสอบประมาณ 50 โรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ต้องเข้าไปสอบในกรุงเทพฯ ค่าเรียน
1,200 – 1,500บาท  หลักสูตร 80 ชั่วโมง   ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่สำคัญในการสื่อสารและเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆได้ทั่วโลก
           โครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วยสาระการเรียนรู้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน จำนวน 8 หน่วยการเรียนรู้ ดังนี้
           1) ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ
           2) ภาษาเพื่อการสื่อสารระหว่างบุคคล
           3) ครอบครัว
           4) การสนทนาทางโทรศัพท์
           5) การนัดหมาย
           6) การเดินทาง
           7) สุขภาพอนามัย
           8) ไปซื้อของ

           สื่อการเรียนชัดเจนพัฒนาชุดการเรียนจนเป็นชุดการเรียนที่ดีที่สุด ผู้เรียนไม่มีพื้นฐานเลยก็ไม่มีปัญหา อ่านเข้าใจเรียนได้  รู่นที่ 4 ที่ผ่านมามีผู้เรียนมาก ได้ผลอยู่ในระดับดี  ผู้เรียนมีตั้งแต่วุฒิ ม.6 ถึงปริญญาโท  ต้องผ่านการทดสอบทักษะ 4 ด้าน ฟังพูดอ่านเขียน  โดยถ้าผ่าน 60 % จะได้รับวุฒิบัตร

      3. การจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการ  รุ่นที่ 7
           ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
  เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความรู้และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการนวัตกรรมในมิติต่าง ๆเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ  หลักสูตร 280 ชั่วโมง ( 4 เดือน )  ค่าลงทะเบียน 2,500 บาท (รวมค่าสัมมนาในส่วนของอาหารกลางวันอาหารว่างและเครื่องดื่มไม่รวมค่าที่พักและพาหนะ )  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติสนับสนุนเงินทุนในการประกอบการ

       4. การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับครู  รุ่นที่ 10
           เริ่มปี 2549  กลุ่มเป้าหมายคือครูทุกสังกัด ทุกระดับ  หลักสูตร 204 ชั่วโมง ระยะเวลาเรียนประมาณ 6 เดือน ( 1 ภาคเรียน )  ร่วมกับสำนักงานคุรุสภา เปิดมาแล้ว
9รุ่น  รวมผู้เรียนเกือบ 2,000คน  ส่วนใหญ่ผู้เรียนสังกัด สพฐ. อาชีวศึกษากศน.  ต้องทำชิ้นงานวิจัยที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนจริง วุฒิบัตรใช้ต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้

       5. เซียนกล้อง : พื้นฐานการถ่ายภาพเส้นทางสู่มืออาชีพ รุ่นที่ 7
           ได้รับความสนใจพอสมควร กระบวนการบริหารพัฒนาหลักสูตรเซียนกล้องฯได้นำผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพมาช่วยกันทำหลักสูตร แบ่งเนื้อหาเป็น 7 หน่วยการเรียนรู้ ใช้เวลาเรียน 240 ชั่วโมง ( ประมาณ 4 เดือน )เริ่มตั้งแต่ประวัติความเป็นมาและวิวัฒนาการของการถ่ายภาพ  กล้องถ่ายภาพ  องค์ประกอบ-หลักพื้นฐานต่าง ๆในการถ่ายภาพ  การถ่ายภาพเชิงศิลปะ  คอมพิวเตอร์กับการถ่ายภาพ  ช่องทางการประกอบอาชีพหารายได้จากการถ่ายภาพ  มีการพัฒนาสื่อเป็นชุดการเรียนให้ทำกิจกรรมท้ายหน่วยการเรียนเป็นหลักฐานว่าปฏิบัติจริงเกิดการเรียนรู้  เป็นส่วนหนึ่ง ( 60 % ) ของการประเมินผล  มีการฝึกปฏิบัติภาคสนามกับอาจารย์ไม้และทีมงาน “19 สตูดิโอ” ในการถ่ายภาพจริง โดยแบ่งฐานการฝึกเป็น 6 ฐาน ( การใช้กล้องและเทคนิคพิเศษต่าง ๆ ) ใช้เวลา 1 วันเต็มมีการประเมินผลภาคสนามว่าผู้เรียนไดฝึกและเกิดทักษะจริงหรือไม่  มีใบรับรองความรู้การผ่านการฝึกภาคสนาม  ( ไม่ได้บังคับเพราะนักศึกษากระจายอยู่ทั่วประเทศ )
           กระบวนการเรียน  นอกจากผู้เรียนจะศึกษาด้วยตนเองแล้วมีการจัดอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์ อีเมล และหน้าเฟซบุ๊ครวมทั้งมีการสัมมนาประเมินผลเป็นส่วนสุดท้าย (ให้ความรู้เพิ่มเติมโดยวิทยากร การสอบข้อเขียน การแสดงผลงานของนักศึกษานักศึกษาคัดเลือกภาพของตัวเองมาประกวดชิงรางวัล )  ผู้ผ่านเกณฑ์จะได้รับวุฒิบัตรรับรองความรู้ที่ออกร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาทางไกล กับ 19 สตูดิโอ  ทั้งนี้ในการบริหารหลักสูตรได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากบริษัทแคนนอนมาร์เก็ตติ้ง ( MOU กัน 3 หน่วยงาน )
           คุณสมบัติผู้สมัครเรียน คือต้องเป็นผู้สนใจด้านการถ่ายภาพ และต้องมีกล้อง D-SLR ไม่ใช่กล้องคอมแพ็คหรือกล้องอัตโนมัติ ซึ่งต่างกันที่ฟังค์ชั่นการทำงาน )  ผู้เรียนไม่ต้องเป็นอะไรมาก่อนเลย ( แต่ควรศึกษาจิตวิทยาเป็นเบื้องต้น )  เมื่อเรียนจบจะมีผลงานการถ่ายภาพที่โชว์ได้  ผู้เรียนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในหลักสูตรได้ประโยชน์ทุกคนแต่ไม่ได้ไปถึงเส้นที่เท่ากัน   ค่าลงทะเบียนเรียน 2,500 บาทรวมทุกอย่างแล้ว ยกเว้นค่าเดินทางไปร่วมกิจกรรม

      6. เส้นสร้างสรรค์ : ทุกคนทำได้  รุ่นที่ 1
          เป็นหลักสูตรใหม่ เปิดเป็นรุ่นแรก  เป็นการวาดภาพลายเส้นด้วยดินสอ  หลักสูตร 120 ชั่วโมง  ค่าเรียน 1,200 บาท

      การเรียนทางไกลขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก ไม่มีใครพร่ำเตือน ต้องมีวินัยในการควบคุมตนเอง

      สมัครได้ทั้งทางไปรษณีย์ และสมัครด้วยตนเอง ผู้สนใจสามารถขอรับระเบียบการและใบสมัครได้ 3 วิธี ดังนี้
      1. ติดต่อขอรับด้วยตนเองที่สถาบันการศึกษาทางไกลหรือโรงเรียนที่เป็นศูนย์การเรียนทางไกล (สำหรับหลักสูตรภาษาจีนเพื่อการสื่อสาร)
      2. เขียนจดหมายไปขอรับ ส่งไปยังส่วนจัดการศึกษาต่อเนื่องสถาบันการศึกษาทางไกล เลขที่ 928 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (เอกมัย) อาคาร 5 ถนนสุขุมวิทเขตคลองเตยกรุงเทพฯ 10110  3. Download ทาง www.dei.ac.th

      สถาบันการศึกษาทางไกลจะพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ



รายการสายใย กศน.  วันที่ 12  พฤศจิกายน  2555

         เรื่อง “นโยบายและจุดเน้นการดำเนินงานสำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ 2556”

         ดำเนินรายการโดย นายอิทธิเดช  สุพงษ์

         วิทยากร คือ 
         - นายประเสริฐ  บุญเรือง  เลขาธิการกศน.

         นโยบายและจุดเน้นการดำเนินงานสำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ 2556 ได้ผ่านที่ประชุมบอร์ดชาติ ( คณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนและประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ) เมื่อวันที่ 1 พ.ย.55 

         วิสัยทัศน์ “คนไทยได้รับการศึกษาตลอดชีวิตและการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ ที่มีคุณภาพ ได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดสังคมฐานความรู้ การมีอาชีพ และการมีความสามารถเชิงการแข่งขันในประชาคมอาเซียน อย่างยั่งยืน”
         โครงการที่นำไปสู่การมีความสามารถเชิงการแข่งขันในประชาคมอาเซียนโครงการหนึ่งคือ โครงการเพชรน้ำหนึ่ง ยังดำเนินการต่อ  ฝาก กจ.เดินหน้าได้เลย งบประมาณมีแล้ว  จังหวัด/กองละ 1 คน ไปอยู่ประเทศอังกฤษ รวมแล้ว 90 คน

         พันธกิจ

         1. จัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพ เพื่อยกระดับการศึกษา สมรรถนะในการเรียนรู้และการแก้ปัญหา พัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิตและสังคม และการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
             เรื่องนี้ให้ทุกจังหวัดเปิดสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนแก่ แท๊กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้าแผงลอย สถานที่ท่องเที่ยว ให้ทุกคนสื่อสารกันอย่างง่ายได้  ท่านนายกรัฐมนตรีให้จังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงประเทศไหนให้สอนภาษาประเทศนั้นด้วย  งบพัฒนาอาชีพโอนให้ทั้งปีแล้ว

         2. ส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผนึกกำลังในการพัฒนาคุณภาพของประชากร

        3. พัฒนาสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เพื่อให้รู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
             บอร์ดชาติให้ความสำคัญเรื่องนี้  ให้ กศน.สอนให้ประชาชนเก่งเทคโนโลยี

         4. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชน โดยการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของคนในชุมชน ส่งเสริมบทบาทของภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และศูนย์การเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ

        5. พัฒนาระบบบริหารจัดการให้สามารถดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
             การพัฒนาครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล เหลือเพียง 2 รุ่น ( จากทั้งหมด 15,000 คน พัฒนาไปแล้ว 2 ปี ยังเหลือครูอาสาฯและครู กศน.ตำบลอย่างละไม่ถึง 1,000 คน )  และจัดอบรมพัฒนา ผอ.อำเภอใหม่ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ปล่อยปละละเลยในเรื่องระเบียบ ช่วงนี้จึงถูกตั้งกรรมการสอบหลายราย

         นโยบายเร่งด่วน 6 ข้อ

          1. ยกระดับการศึกษาของประชาชนให้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภายใน 8 เดือน อย่างมีคุณภาพ
             1.1  เร่งรัดพัฒนากรอบแนวคิดการประเมินเทียบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ( ม.6 )
             เรื่องนี้ชี้แจงกฤษฎีกาถึง 4 ครั้ง  บอร์ดชาติก็เป็นห่วง เกรงจะไม่ได้คุณภาพ  ( นำคนที่มีอาชีพมีงานทำที่ยังไม่จบ ม.6 อายุ 20 ปีขึ้นไป 18 ล้านคน มาเทียบให้จบ ม.6 )  โดยให้ สทศ.มาร่วมด้วย  รวม 9 วิชา  รักษาสภาพได้ 5 ปี  ให้จังหวัดสอบเทียบระดับ  ทุกจังหวัดไม่ต้องรับสมัครไม่ต้องสอบพร้อมกันทั้งประเทศเหมือนในระบบ  ทฤษฎี 70 %  ปฏิบัติ 30 %  ทฤษฎีต้องได้ 50 %  ปฏิบัติรวมกับทฤษฎีต้องได้ 60 %  เปิดเทียบในปีนี้ 470 แห่ง 2 เทอม 150,000 คน  มีผู้ที่วุฒิปริญญาตรีเป็นครูที่ปรึกษา ไม่ใช่ผู้สอน แต่เป็นผู้บริหารจัดการให้เกิดขบวนการครบถ้วนจนเขาสอบผ่าน 9 วิชา เบิกจากค่าลงทะเบียน 1,500 บาทซึ่งเป็นเงินรายได้ของสถานศึกษา ค่าพิมพ์สื่อใช้จากงบประมาณหัวละ 3,000 บาท  วันเปิดโครงการของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ฮอล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ให้ ผอ.จังหวัด/อำเภอ ทั่วประเทศ นำผู้สมัครเทียบระดับจังหวัดละ 20 คน ไปร่วมงาน ก่อน 8 โมง  ถ่ายทอดสดเวลา 9 โมง  ผู้ร่วมงานประกอบด้วย ผอ.จังหวัด 77 คน  สถานศึกษาขึ้นตรง 35 แห่ง  กศน.อำเภอ/เขต 927 แห่ง  ครูในสถานศึกษาเทียบระดับ 470 แห่ง  ผู้เทียบระดับ ม.6 8 เดือน จังหวัดละ 20 คน  ผู้แทนองค์กรหลัก แขกผู้มีเกียรติ และผู้สื่อข่าว  รวม 3,000 คน  จังหวัดที่จัดนิทรรศการ 10 แห่ง ภาคกลาง กทม. ลพบุรี  ภาคใต้ นครศรีธรรมราช พัทลุง  ภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย  ภาคตะวันออก ปราจีน ชลบุรี  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยโสธร อุดรธานี  ส่วนกลาง จัดโดยกองพัฒน์ฯ
             1.2  เร่งพัฒนามาตรฐานระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
             1.3  เร่งรัดพัฒนากระบวนการ จัดทำคู่มือการดำเนินงานการประเมินเทียบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตลอดจนพัฒนาสื่อประกอบการเรียนรู้ ทั้งในรูปแบบสื่อเอกสารและสื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย
             1.4  เร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการประเมินเทียบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้อย่างถูกต้องตามข้อกฎหมายทางการศึกษา
             1.5  เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยงานและสถานศึกษาสังกัดสำนักงาน กศน.
             1.6  ให้สำนักงาน กศน.อำเภอ/เขต เร่งดำเนินการจัดบริการประเมินเทียบระดับการศึกษาและประสบการณ์อย่างมีคุณภาพ
             1.7  ให้สำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม. เร่งรัดการดำเนินการจัดบริการประเมินเทียบระดับการศึกษาและประสบการณ์
             1.8  เร่งรัดประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับองค์กรหลัก หน่วยงานทางการศึกษา และภาคสังคม

         2. เร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมอาชีพหลักสูตร OTOP Mini MBA สู่ชุมชน
             2.1  เร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมอาชีพตามหลักสูตร OTOP Mini MBA ( การบริหารจัดการธุรกิจสินค้า OTOP  ธรกิจ OTOP ส่งออก  การตลาด และช่องทางการจำหน่าย และภาษาอังกฤษธุรกิจ )  และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการเผยแพร่และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมการบริหารจัดการธุรกิจให้เป็นระบบครบวงจร
             อำเภอได้รับตำบลละ 20,000 บาท  สอนแล้วมีอาชีพมีงานทำชัดเจน 50 %  ไม่ต้องดูงาน
             2.2  พัฒนาระบบฐานข้อมูลให้สามารถนำไปใช้สนับสนุนการดำเนินการจัดฝึกอบรมอาชีพตามหลักสูตร OTOP Mini MBA ของศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
             2.3  พัฒนาสื่อการเรียนรู้ตามหลักสูตร OTOP Mini MBA ให้มีความหลากหลายและครบถ้วน เพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนและการปฏิบัติจริง
             2.4  พัฒนาครูและวิทยากรผู้สอนหลักสูตร OTOP Mini MBA ให้มีความรู้ความเข้าใจหลักสูตร OTOP Mini MBA  และสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          3. เปิดโลก กศน.สู่ กศน.อินเตอร์ เพื่อประชาชนอาเซียน
             3.1  เร่งจัดทำหลักสูตร สื่อ แบบเรียน และเครื่องมือการวัดผลประเมินผลการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ภาคภาษาอังกฤษเพื่อให้บริการการศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าวแก่กลุ่มเป้าหมายผู้สนใจ
                   English program มีหลักสูตรแล้ว จ้างเขาแปลแล้ว มีสถานศึกษา 90 แห่ง จังหวัดละ 1 ห้อง  ( ปีก่อนงบรายหัว ๆ ละ 2,300 แต่เมื่อครู กศน.ตำบลเป็นพนักงานราชการ ตัดงบประมาณไปรวมเป็นค่าตอบแทนครู กศน.ตำบล หัวละ 1,200 เหลือเพียงหัวละ 1,100  ปีนี้งบรายหัวประถม 1,900  ม.ต้น-ปลาย 2,300 ไม่ได้หักไปเป็นค่าตอบแทนครู กศน.ตำบลเลย จึงจะได้เพิ่มจากปีก่อนหนึ่งเท่าตัว จึงให้ทุกอำเภอทาสีสำนักงาน ให้เป็นมิติใหม่ สำนักงานน่าดูน่าอยู่น่าทำงาน  ให้จ่ายครู 11,680 รวมทั้งครูสอนคนพิการ 12 เดือน ค่ารถยัง 1,000 บาทเหมือนเดิม  ครูประจำกลุ่ม นศ.50 คน 4,000  ส่วนบรรณารักษ์ 9,140 จะนำเรียนรัฐมนตรีใหม่เสนอ ครม.ปรับเพิ่ม )
             3.2  เร่งรัดจัดหาครูและผู้เกี่ยวข้อง และพัฒนาสมรรถนะบุคลากรดังกล่าวให้สามารถจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ภาคภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         4. เสริมสร้างบ้านหนังสืออัจฉริยะและพัฒนานิสัยรักการอ่านของประชาชน
             - ให้ กศน.อำเภอ/เขต เร่งรัดให้ กศน.ตำบล/แขวง ดำเนินการสำรวจความต้องการหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นของกลุ่มเป้าหมาย โดยดำเนินการให้ครอบคลุมและทั่วถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่
                 ( โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ 40,000 แห่ง 50 % ของหมู่บ้าน ส่วน 5 จังหวัดชานแดนภาคใต้ครบ 100 %  เป็นหน่วยงานระดับหมู่บ้านของ กศน. มีหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ หนังสือรายสัปดาห์ 4 เล่ม  รายปักษ์ 2 เล่ม  และหนังสืออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์  ให้ประชาชนเลือกว่าจะตั้งที่บ้านใคร ที่มีจิตอาสา มีน้ำฟรีให้ผู้อ่านหนังสือดื่ม ให้เจ้าของบ้านได้รับบัตรอาสาสมัคร  โดยให้ ผอ.ลงไปทำเวทีชาวบ้าน ไมใช่ให้ครูอาสาฯไปถามชาวบ้าน  )
             - ให้ กศน.อำเภอ/เขต เร่งจัดตั้งบ้านหนังสือในหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเป็นห้องสมุดหมู่บ้าน/ชุมชน และจัดหาหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นสำหรับบ้านหนังสือ ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่
             - เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน ในฐานะที่เป็นกิจกรรมพื้นฐานในการเสริมสร้างอัฉริยภาพส่วนบุคคลและความเข้มแข็งของชุมชน
                สถิติการอ่านหนังสือของไทยยังปีละ 2 เล่มเท่าเดิม  ในขณะที่ประเทศจีนอ่านปีละ 6 เล่ม  เวียตนาม/สิงคโปร์ 5 เล่ม  อังกฤษ/สหรัฐ 12 เล่ม  สแกนดิเนเวียร์ 24 เล่ม  การสื่อสารตลอดชีวิตให้เน้นสื่อเทคโนโลยีทั้งหมด ไม่ว่าจะอินเตอร์เน็ต เฟซบุ๊ค ไลน์  ให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

         5. เร่งรัดการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนเพื่อการจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติ ( น้ำท่วม ภัยแล้ง หนาว หมอกควัน )
             5.1  ให้หน่วยงานและสถานศึกษาร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ และชุมชนในพื้นที่ ร่วมดำเนินการจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติเชิงบูรณาการ
             5.2  ให้หน่วยงานและสถานศึกษา ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เตรียมประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีความพร้อม ในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ
             5.3  ให้หน่วยงานและสถานศึกษาจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดจากธรรมชาติ มนุษย์ หรือจากสาเหตุอื่น และจัดให้มีการซักซ้อมการดำเนินงานตามที่กำหนดในแผน อย่างเป็นระบบต่อเนื่อง

         6. เร่งรัดพัฒนาระบบกลไกการกำกับ ติดตาม และนิเทศ เพื่อการพัฒนางานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างมีประสิทธิภาพ
             6.1  ให้หน่วยงานและสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกระดับ เร่งพัฒนาระบบกลไกการกำกับ ติดตาม และรายงานผลการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ให้สามารถตอบสนองการดำเนินงานตามนโยบายในแต่ละเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ( ผอ.อำเภอ ยังขาด 50 แห่ง รอง ผอ.จังหวัดขาด 17 แห่ง  จะสอบเดือน ก.พ.56 พร้อมกัน และจะเปิดสอบศึกษานิเทศก์ )
            6.2  ให้มีการเชื่อมโยงระบบการนิเทศในทุกระดับทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร
                    สมศ. จะเข้าประเมินภายนอกรอบสาม 149 แห่ง ก่อนสิ้นเดือน ก.พ.56  เป็นการประเมินเชิงพื้นที่ 10 แห่ง กำแพงเพชร ตรัง นครนายก เพชรบุรี ภูเก็ต ระนอง ระยอง ลำพูน สมุทรปราการ และสระบุรี  สำนักงาน กศน.จะจัดประชุม 149 แห่งนี้ ในช่วงปลายเดือน พ.ย.นี้  ให้สถานศึกษามีคำสั่งตั้งผู้รับผิดชอบ 12 ตัวบ่งชี้ 12 คน  ถ้า ผอ.จังหวัดไม่ลงไปดูแล ผอ.จังหวัดนั้นก็ไม่ควรอยู่จังหวัดนั้นต่อไป

         ท่านปลัดฯ รับจะขับเคลื่อน กศน.เป็นแท่งที่หก
         ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯกับศูนย์ฯฝึกฯ จะปรับรูปแบบใหม่และหางานใหม่ๆแปลกๆให้ทำ คาราวานศูนย์ฝึกฯกับคาราวานศูนย์วิทย์ฯทุกจังหวัดจะไปพร้อมกัน ภาคละ 3 จังหวัดที่ไม่ไกลกัน จังหวัดละ 3 วัน รวมเที่ยวเดียว 9 วัน
         ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารีตอนนี้หยุดนิ่งอยู่ที่ 94 แห่ง  ต้องการให้ถึง 100 แห่ง เฉลิมพระเกียรติครบรอบ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพฯ  ฝากอุตรดิตถ์ทำโครงการของบ เสนอผ่านผู่ว่าฯเข้า ครม.สัญจร เพราะจังหวัดที่ประชุม ครม.สัญจร จะได้งบประมาณ 100 ล้าน  อยากให้เริ่มสร้างครบ 100 แห่ง ในปี 56  จังหวัดไหนมีความพร้อม  โดยเฉพาะจังหวัดไหนที่ยังไม่มี ให้ ผอ.จังหวัดคิดหน่อย  ( งบเต็มแห่งละเจ็ดล้านห้า สำนักงาน กศน.สมทบ 2 ล้าน  อีก 5 ล้านห้าของบ อปท. )
         การสมัครเรียน ป.บัณฑิต  ฝาก ผอ.ตั้งบุคลากรต่าง ๆ รวมทั้งบุคลากรใน สนง.กศน.จังหวัด เป็นครูประจำกลุ่ม ( แบบไม่ต้องรับค่าตอบแทน ) เพื่อให้มีสิทธิเรียน ป.บัณฑิต  ฝากเป็นนโยบายให้ได้เข้าเรียน

         การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ ประเมินปีละ 2 ครั้ง  ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง  สำหรับพนักงานราชการ กศน.กำหนดไว้ว่าอายุไม่เกิน 60 
         กพช.ของนักศึกษาหนึ่งล้านสองแสนคน เป็นนโยบายให้จัดสรรแบ่งไว้สำหรับกิจกรรมวันที่ 12 ส.ค.  5 ธ.ค. และ กศน.เกม

คำสำคัญ (Tags): #สายใย กศน.
หมายเลขบันทึก: 508767เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2012 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 11:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะอาจารย์เอก
  • ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก ๆ ค่ะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ Ico48

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท