มะเร็งต่อมไทรอยด์


ก้อนเนื้อที่คอ มะเร็งต่อมไืทรอยด์


รู้จักมะเร็งต่อมไทรอยด์

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ bangkokhealth โดย : นพ.สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ

หากคุณ ญาติ หรือเพื่อนของคุณ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อม ไทรอยด์ สิ่งสำคัญลำดับแรกที่ควรกระทำ คือตั้งสติให้ดี แล้วหาข้อมูลเพิ่มเติม จากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ อย่าเชื่อคำบอกเล่า หรือบอกต่อ ที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน และหากมีคำถามใดๆ จดบันทึกไว้ แล้วสอบถามจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่กำลังให้การรักษาเสียก่อน นอกจากนี้ อาจขอความเห็นที่สอง จากแพทย์อีกท่านหนึ่ง ในปัจจุบัน การขอความเห็นที่สอง ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องเกรงใจหรือกลัวว่าแพทย์ที่ให้การรักษาอยู่จะไม่พอใจ

ในข่าวร้าย ย่อมมีข่าวดีเสมอ แม้ว่าจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ‘มะเร็ง’ซึ่งถือว่าเป็นข่าวร้าย แต่การเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ก็ถือเป็นข่าวดีได้เหมือนกัน เนื่องจากส่วนใหญ่ของมะเร็งต่อมไทรอยด์ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผลการรักษาอยู่ในระดับดีมาก หลายคนอาจสงสัยว่า ดีมาก นี้เป็นอย่างไร อย่างนี้ครับ ปกติเวลาที่แพทย์จะบอกผลการรักษาของมะเร็งทั่วๆ ไป แพทย์จะบอก อัตราการรอดชีวตของผู้ป่วยในระยะเวลา 5 ปี (5 year survival rate) เป็นเท่าไหร่ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เกิดจากการเก็บข้อมูลย้อนหลัง ในผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาไปแล้วในอดีต ด้วยวิธีต่างๆ ตามระยะต่างๆ สำหรับมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดที่ผู้ป่วยมักเป็นกันนั้น มีอัตราการรอดชีวิตในระยะ 5 ปีสูงมาก มากกว่า 90% โดยปกติการรายงาน มักรายงานอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นระยะ 20 ปี ซึ่งมีถึงประมาณ 80% จะเห็นว่าสูงมาก นี่จึงถือว่าเป็นข่าวดีของผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ เข้าทำนองที่ว่า ‘เป็นได้ก็รักษาได้’

อย่างไรก็ตาม ยังมีมะเร็งของต่อมไทรอยด์บางชนิด ที่มีความรุนแรงสูง แต่พบไม่มากนัก ดังนั้นการรู้จักกับชนิดของมะเร็ง ก็จะทำให้เราเข้าใจการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ได้มากขึ้น

การรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์ด้วยการผ่าตัด ใน กรณีที่พบเซลที่เป็นเนื้อร้าย แพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยจะพิจารณาตัดต่อมไทรอยด์ในข้างที่มีก้อนอยู่ออกทั้งข้าง และอาจส่งชิ้นเนื้อไปตรวจแบบเร่งด่วน หรือที่เรียกว่า Frozen section ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20-30 นาที เมื่อได้รับการยืนยันว่าเป็นเนื้อร้าย อาจพิจารณาตัดต่อมไทรอยด์ข้างที่เหลือออก เหตุผลหลัก ที่แพทย์ไม่ตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดตั้งแต่แรก เนื่องจากอาจมีความผิดพลาดจากการตรวจด้วยการเจาะดูดเซลมาตรวจ(FNA) จึงต้องมีการยืนยันผลการตรวจในห้องผ่าตัดอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด อย่างไรก็ตาม การทำ Frozen section หรือการตรวจเนื้อทันทีหลังผ่าตัด ก็สามารถวินิจฉัยมะเร็งในบางชนิดได้เท่านั้น พยาธิแพทย์จะพิจารณาอย่างรอบคอบ หากไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นมะเร็ง ก็จะรายงานให้แพทย์ที่ทำการผ่าตัดทราบ ซึ่งแพทย์ที่ทำการผ่าตัด ก็มักจะหยุดการผ่าตัดไว้เท่านั้น ทำการปิดเย็บแผล แล้วรอผลที่แน่นอน ซึ่งจะกินเวลาอีกประมาณ 2-3 วัน หากผลการตรวจเนื้อด้วยวิธีปกติ ซึ่งมีความแม่นยำสูงสุด รายงานว่า เป็นเนื้อร้าย ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเป็นครั้งที่สอง เพื่อนำต่อมไทรอยด์ออกให้หมด หรืออาจใช้วิธีติดตามการรักษา ทั้งนี้ ขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่พบ รวมทั้งลักษณะที่บ่งบอกว่า อาจมีการกระจายตัวไปตามอวัยวะต่างๆ หรือไม่

การรักษาด้วยการผ่าตัด สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  • การผ่าตัดด้วยวิธีปกติ วิธีนี้ แพทย์จะลงแผลตามแนวนอนบริเวณกลางลำคอ และเข้าไปตัดต่อมไทรอยด์ในข้างที่มีก้อนออก หรืออาจตัดออกทั้ง 2 ข้าง ในกรณีพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นมะเร็ง
  • การผ่าตัดด้วยกล้อง โดยการลงแผลขนาดเล็กบริเวณรักแร้ หรือบริเวณแผ่นอก แล้วสอดกล้องและเครื่องมือ เพื่อเข้าไปผ่าตัดต่อมไทรอยด์ข้างที่มีก้อนออก วิธีนี้มีข้อดีคือ สามารถซ่อนบาดแผลไว้ในบริเวณใต้ร่มผ้า แต่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำในผู้ที่มีก้อนใหญ่กว่า 4-5 ซม. ได้ รวมทั้งทำได้เพียงข้างเดียวในการเข้าผ่าตัดแต่ละครั้ง ในบางราย อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดปกติ เช่นกรณีที่มีเลือดออกมากขณะผ่าตัด การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยดมยาสลบ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์เพียงข้างเดียว จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลประมาณ 2-4 วัน

โรคแทรกซ้อน ที่อาจพบได้จากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ได้แก่ การ เกิดอันตรายกับเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงสายเสียง เนื่องจากเส้นประสาทดังกล่าว วิ่งอยู่ใต้ต่อมไทรอยด์ข้างหลอดลม ก่อนที่จะวิ่งเข้าไปยังกล่องเสียง หากการผ่าตัดไปทำอันตรายกับเส้นประสาทนี้ จะทำให้สายเสียงไม่ขยับ เกิดปัญหาเสียงแหบตามมา

การเกิดอันตรายกับเส้นประสาทนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ

แบบแรก คือ - แบบชั่วคราว อาจเกิดจากการช้ำของเส้นประสาท ทำให้หยุดทำงานชั่วคราว ซึ่งมักกลับมาทำงานปกติใน 3-8 สัปดาห์

แบบที่สองคือ - แบบถาวร เช่นเส้นประสาทช้ำมาก หรือถูกตัดขาด แบบนี้ สายเสียงก็จะไม่ขยับถาวร ทำให้เกิดเสียงแหบไปตลอด อย่างไรก็ตาม ร่างกายก็มีกลไกในการปรับตัว ด้วยการค่อยๆ ขยับสายเสียงข้างที่ไม่ขยับ เลื่อนเข้ามาในแนวกลาง ซึ่งทำให้เสียงดีขึ้นบ้าง ขบวนการดังกล่าว อาจใช้เวลาประมาณ 1 ปี

สำหรับโอกาสเกิดอันตรายกับเส้นประสาทที่ไป เลี้ยงสายเสียงในปัจจุบัน มีไม่มากนัก เนื่องจาก แพทย์ที่ทำผ่าตัดจะระมัดระวังเป็นพิเศษ และจะหาเส้นประสาทนี้ให้พบก่อนที่จะทำการตัดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ออก

การมีเลือดออกหลังผ่าตัด ซึ่งพบได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน แพทย์จะใส่ท่อระบายเลือดใต้แผล หลังการผ่าตัดเสมอ จึงมักไม่เป็นปัญหาที่รุนแรงกับผู้ป่วย สามารถแก้ไขได้โดย อาจนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด และทำการห้ามเลือดอีกครั้ง

การติดเชื้อที่แผลหลังผ่าตัด พบได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากมักมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด

การรักษาหลังผ่าตัด จะเป็นแบบใด ขึ้นอยู่กับผลของการพิสูจน์ชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา

หากเป็นเนื้อไทรอยด์โตธรรมดา (Goitre) แพทย์อาจให้ติดตามการรักษา หรือให้รับประทานฮอร์โมนไทรอยด์หลังผ่าตัดประมาณ 6 เดือน หากเป็นถุงน้ำที่ต่อมไทรอยด์ ไม่ต้องให้การรักษาใดๆ เพิ่มเติม

หากเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย ไม่ต้องให้การรักษาใดๆ เพิ่มเติม แพทย์อาจนัดมาทำการตรวจเป็นระยะ

หากเป็นเนื้องอกชนิดร้ายขึ้น อยู่กับลักษณะและชนิดของเนื้องอก บางชนิดใช้วิธีติดตามการรักษา บางชนิดจำเป็นต้องทำการผ่าตัดครั้งที่สองเพื่อตัดต่อมไทรอยด์ออกให้หมด บางชนิดจำเป็นต้องกลืนน้ำแร่หลังทำการผ่าตัดด้วย


ขอบคุณขัอมูล รู้จักมะเร็งต่อมไทรอยด์จาก

http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=aicm&month=06-06-2009&group=37&gblog=7



มะเร็งต่อมไทรอยด์

หลายคนรู้จักต่อมไทรอยด์ แต่ไม่รู้จักหน้าที่ของมัน และอาจจะไม่ทราบด้วยว่า ต่อมไทรอยด์ ก็สามารถเกิดมะเร็งได้ วันนี้เรามีเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับมะเร็งต่อมไทรอยด์ มาบอกกันด้วยค่ะ

ต่อมไทรอยด์ มีลักษณะเหมือนผีเสื้ออยู่ที่คอใต้ลูกกระเดือกขนาด 1 – 2 เซนติเมตร เป็นต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน เพื่อควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึก

ปกติต่อมไทรอยด์จะหลั่งฮอร์โมนออกมาในปริมาณที่เหมาะสม ฮอร์โมนที่สำคัญ คือ ฮอร์โมนไทร็อกซิน หรือ ที4 (Tetraiodothyronine ,T4) และ Triiodothyronine (T3) โดยฮอร์โมนนี้จะมีธาตุไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ถ้าฮอร์โมนหลั่งน้อยร่างกายจะเผาผลาญน้อยลง แต่ถ้าหากฮอร์โมนหลั่งมาก ร่างกายจะมีการเผาผลาญอาหารมากทำให้น้ำหนักลด

ถ้าหากต่อมไทรอยด์ไม่สามารถควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติได้ ร่างกายก็จะเกิดความผิดปกติขึ้น อย่างเช่น คอพอก คอพอกเป็นพิษ เนื้องอกของต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์อักเสบ และมะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

อุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมไทรอยด์

พูดถึงมะเร็งมักคิดถึงแต่ความเจ็บปวดและความตาย แต่มะเร็งต่อมไทรอยด์ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมะเร็งต่อมไทรอยด์มักจะรักษาให้หายขาด ไม่มีอาการเจ็บปวด การวินิจฉัยทำได้ง่าย พบได้ไม่บ่อย หากพบเร็วสามารถรักษาหายขาด

มะเร็งต่อมไทรอยด์นั้นจะพบได้ประมาณ 10% ของก้อนที่ต่อมไทรอยด์ พบได้ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 70–80 ปี ส่วนใหญ่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย หากพบในเพศชาย หรือพบในอายุน้อยมาก หรือแก่มาก จะมีความรุนแรงของโรคมากกว่า

อาการและอาการแสดง ผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ มักจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องก้อนที่คอโดยที่ไม่มีอาการปวด แต่ก็มีบางรายที่มาด้วยเรื่องต่อมน้ำเหลืองโต หรืออาการเสียงแหบ เนื่องจากก้อนไปกดเส้นประสาท ดังนั้นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในระยะแรกมีมักไม่มีอาการ จะพบเพียงก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของลำคอเคลื่อนต่ำลงมาตามการกลืนเท่านั้น บางรายจะมีก้อนอยู่นานหลายปีก่อนที่จะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะลุกลามอาจพบก้อนบริเวณด้านข้างลำคอด้วย ซึ่งเกิดจากมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง นอกจากนี้อาจพบมะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกทำให้กระดูกหัก หรือมีก้อนขึ้นตามกระดูกในที่ต่าง ๆ เช่น กะโหลกศีรษะ ไหปลาร้า กระดูกซี่โครง กระดูกเชิงกราน เป็นต้น อาจพบมีอาการเสียงแหบ หรือกลืนลำบาก

การวินิจฉัยแยกโรค

การตรวจร่างกาย ไม่สามารถแยกระหว่างมะเร็งและเนื้องอกธรรมดา ต้องใช้การตรวจพิเศษ ดังนี้คือ

การตรวจไทรอยด์สแกน (Thyroid scan) เพื่อตรวจต่อมไทรอยด์ โดยหากต่อมนั้นจับเก็บไอโอดีนได้น้อย จะเรียกว่า cold nodules หากต่อมสามารถจับเก็บไอโอดีนมากจะเรียกว่า hot nodule แต่หากจับเก็บไอโอดีนเท่ากับต่อมไทรอยด์ปกติ เรียก warm nodule โดยพวกที่มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ คือ ชนิด cold nodule

การเจาะชิ้นเนื้อต่อมไทรอยด์ เพื่อส่องกล้องจุลทรรศน์ โดยการใช้เข็มเจาะดูดทั้งเนื้อและน้ำส่งตรวจหาเซลล์มะเร็ง การได้ชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดมาพิสูจน์ พบ ว่า ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ร้อยละ 90 ไม่เป็นมะเร็ง แต่เราไม่สามารถแยกเนื้อดีหรือมะเร็งโดยการตรวจร่างกาย หรือจากการซักประวัติ หรือแม้กระทั่งการเจาะเลือด

ก้อนที่คอ

หากคลำได้ก้อนที่คอและก้อนนั้นเคลื่อนไหวตามการกลืน แสดงว่าเป็นก้อนเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจจะเป็นก้อนเดี่ยว (Thyroid nodule) หรือมีหลายก้อนติดกันเป็นพวง (Multinodular) ซึ่งหากคลำได้ก้อนที่ต่อมไทรอยด์ มีโอกาสที่จะเป็นโรคดังต่อไปนี้

1) เป็นซีสต์ (cyst) โดยเป็นถุงและมีน้ำอยู่ข้างใน มีลักษณะค่อนข้างนุ่ม มักจะไม่เป็นมะเร็ง

2) เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา (Thyroid adenoma) ซึ่งมีลักษณะไม่แข็งมาก บางชนิดอาจทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินร่วมด้วย

3) เป็นมะเร็ง มักเป็นก้อนแข็ง ผิวขรุขระ หรือมีเสียงแหบร่วมด้วย

ผู้ป่วยที่มีก้อนที่คอมักจะไม่มีอาการ เพียงแต่คลำพบก้อนที่คอ บางครั้งผู้อ่านอาจจะไม่ทันได้สังเกตเห็น แต่แพทย์หรือเพื่อนบอก ข้อแตกต่างระหว่างมะเร็งและเนื้องอกที่ไม่เป็นมะเร็ง คือ หากเนื้อที่เป็นมะเร็งก้อนจะมีความแข็งมากกว่า และอาจจะมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต


ชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์

เราสามารถแบ่งชนิดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ ได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

1) Papillary cell carcinoma เป็นมะเร็งชนิดที่พบบ่อยที่สุดของมะเร็งต่อมไทรอยด์ กล่าวคือ พบได้ร้อยละ 70–80% อาจเป็นก้อนเดี่ยว หรือเป็นหลายก้อนได้ เมื่อส่องจากกล้องจุลทรรศน์จะพบเป็นตุ่มยื่นออกมา มะเร็งชนิดนี้สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ โดยมักพบว่าก้อนมะเร็งโตช้า มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยมักไม่มีอาการอะไร มักมาพบแพทย์ด้วยการพบก้อนที่ลำคอ การวินิจฉัยอาจทำได้จาก การเจาะเพื่อนำเซลล์ไปตรวจ (FNA) หรือได้รับการผ่าตัดและตรวจพบทางพยาธิวิทยา

มะเร็งชนิดนี้ประมาณ 1 ใน 3 พบว่า มะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง จึงอาจพบก้อนที่คอร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาก็ได้ผลดีมาก แม้ว่าจะมีการแพร่กระจายไปแล้ว โดยหลังการรักษาด้วยการผ่าตัด จะมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวหรือหายขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 2 เซนติเมตร

2) Follicular cell carcinoma

มะเร็งชนิดนี้พบได้ประมาณร้อยละ 10–15% ของมะเร็งไทรอยด์ พบในคนสูงอายุกว่าชนิด papillary อาการจะมีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก มะเร็งชนิดนี้แพร่กระจายง่ายกว่าชนิดแรก พบว่ามักกระจายไปตามกระแสเลือด อวัยวะที่พบว่ามีการกระจายไปบ่อยที่สุด คือ ปอด กระดูก และสมอง และบางครั้งทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน

การวินิจฉัยทำได้จากการผ่าตัด และนำก้อนไปตรวจทางพยาธิวิทยาเท่านั้น การเจาะเพื่อนำเซลล์ไปตรวจจะไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ตามเป็นมะเร็งที่มีผลการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นเดียวกัน

3) Medullary cell carcinoma
เป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงมากขึ้น อาจมีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นด้วย หรือไม่เกี่ยวก็ได้ พบไม่มากนัก

4) Anaplastic

เป็นมะเร็งชนิดที่เป็นรุนแรง ผู้ป่วยมักมีประวัติก้อนที่โตอย่างรวดเร็ว อาจมาด้วยอาการกดเบียดทับของก้อนบริเวณหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก หรือกดทับหลอดลมทำให้หายใจลำบาก สามารถกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ผลการรักษาไม่ค่อยดีนัก มะเร็งชนิดนี้ พบไม่บ่อยเช่นกัน


ปัจจัยเสี่ยงปัจจัยเสี่ยง

 1. ได้รับการฉายรังสีบริเวณคอมาก่อน

 2. มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้


 การรักษา

 การผ่าตัด

 การรักษาขึ้นกับชนิดของเนื้องอกโดยหากผลการทำสแกนพบว่าเป็นชนิด cold nodules และผลชิ้นเนื้อสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งการรักษาต้องตัดผ่าตัดเอาก้อนนั้นออก หากการตรวจพบว่าเป็นชนิด warm หรือ hot nodule การรักษาอาจจะให้แค่ยารับประทาน

  พวกเนื้องอกธรรมดาและได้ยาฮอร์โมนไทรอยด์รักษาผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจซ้ำทุก 6 เดือน หากก้อนไม่โตขึ้นก็ไม่ต้องทำการรักษาเพิ่มเติม แต่หากก้อนใหญ่ขึ้นก็พิจารณาผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนหลายก้อน และมีขนาดของต่อมไทรอยด์โตมากต้องรักษาโดยการผ่าตัด

  จึงสรุปได้ว่า การผ่าตัดเป็นการรักษาหลักหากเป็นมะเร็งชนิดที่แพร่กระจาย ก็อาจจะต้องตัดต่อมไทรอยด์ทิ้งทั้งหมดแต่หากเป็นชนิดที่ไม่แพร่กระจาย อาจจะตัดเนื้อต่อมไทรอยด์บางส่วนออกรวมถึงการให้ไอโอดีน 131

 
การรับประทานน้ำแร่

 เนื่องจากว่าสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์การให้สารไอโอดีนที่เป็นสารกัมมันตรังสี (Radioactive iodine) จะทำให้รังสีทำลายเนื้อมะเร็ง การรักษาโดยวิธีนี้แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานสารไอโอดีนรังสี ซึ่งอาจจะทำเป็นรูปสารละลาย หรือแคปซูล I-131 โดยไอโอดีนนี้จะไปจับกับเนื้อไทรอยด์อย่างรวดเร็วและเริ่มทำลายเนื้อไทรอยด์ ซึ่งน้ำแร่จะลดขนาดของต่อมไทรอยด์และทำให้หลั่งฮอร์โมนน้อยลง

 ส่วนมากผู้ป่วยจะถูกส่งมารักษาด้วยน้ำแร่หลังจากที่ไม่สามารถหยุดยาต้านไทรอยด์ได้ ก่อนได้รับสารนี้ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนทุกครั้งน้ำแร่ใช้เวลา 2-3 เดือนก่อนออกฤทธิ์เต็มที่ดังนั้นบางท่านต้องกินยาต้านไทรอยด์

 มะเร็งต่อมไทรอยด์จัดเป็นมะเร็งที่ได้ผลดีในการรักษา หากเป็นมะเร็งระยะแรกสามารถใช้การผ่าตัดรักษาและตามด้วยการกินยาเพื่อควบคุมการเติบโตของมะเร็งตลอดชีวิตหากมะเร็งเป็นในระยะลุกลามมักจะต้องใช้การผ่าตัดร่วมกับการกินสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 และตามด้วยการกินยาเพื่อควบคุมการเติบโตของมะเร็งตลอดชีวิตนั่นเอง

    การพยากรณ์โรค

    มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคดีมากที่สุดอันดับ 1 ในมะเร็งทั้งหลาย ในผู้ป่วยที่เป็นไม่มาก และได้รับการรักษาที่ถูกต้องสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากโรคอีก 10–20 ปี สูงถึง 80–90%

    การติดตามการรักษา

    เนื่องจากมะเร็งต่อมไทรอยด์อาจจะเกิดซ้ำได้ ดังนั้นอาจจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นระยะ และการทำอัลตร้าซาวด์ที่คอ หรือทำไทรอยด์สแกน (Thyroid scan) รวมทั้งการเจาะเลือดเพื่อตรวจไทรอยด์โกลบูลิน (Thyroglobulin) จะพบว่าสูงเมื่อมีอาการผิดปกติ เนื่องจากว่าการรักษามีการตัดต่อมไทรอยด์ จึงต้องให้ฮอร์โมนทดแทน ส่วนผู้ที่มีการรับประทานน้ำแร่ก็ต้องให้ฮอร์โมนไปตลอดชีวิต และการได้รับฮอร์โมนยังป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง

    คำแนะนำ

    หากมีก้อนที่บริเวณด้านหน้าลำคอ ที่เคลื่อนที่ขึ้นลงตามการกลืน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษา การมีก้อนที่ลำคอ มักเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ ก่อนได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเสมอ ก้อนที่คอนี้ อาจจะเป็นต่อมน้ำเหลืองที่อาจเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ได้ หรืออาจเป็นต่อมไทรอยด์ หรือความผิดปกติของอวัยวะอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง และการตรวจพบอื่น ๆ ร่วมด้วย การตรวจยืนยันโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น จึงจะทำให้วางใจได้ ไม่ควรปล่อยก้อนนั้นไว้ด้วยความชะล่าใจว่าไม่มีอาการเจ็บปวด ซึ่งอาการเจ็บปวดมักเกิดขึ้นเมื่อมีอาการอักเสบ หรือการลุกลามทำลายเส้นประสาท เมื่อเกิดอาการเช่นนั้นแสดงว่าโรคได้ลุกลามไปมากแล้ว

    การตรวจตนเองในตำแหน่งลำคอนี้ ทำได้เพียงการตรวจลำคอภายนอก ซึ่งอาจสามารถตรวจพบก้อนในตำแหน่งต่าง ๆ ได้ โดยการมองในกระจกในท่าหน้าตรง หันซ้ายขวา และเงยศีรษะขึ้นเล็กน้อย สำรวจบริเวณใบหน้า ศีรษะ ลำคอ และไหปลาร้า สิ่งที่จะเห็นนูนขึ้นมานั้น ได้แก่ ลูกกระเดือกหรือกล่องเสียงในชาย อาจเห็นต่อมไทรอยด์นูนขึ้นมาเล็กน้อยทางด้านข้างของกระเดือก ซึ่งในท่าเงยศีรษะ หรือแหงนคอพร้อมกับกลืนน้ำลาย จะสังเกตเห็นการเคลื่อนที่ของต่อมไทรอยด์ที่สัมพันธ์กับการกลืน สังเกตดูว่ามีก้อนบนต่อมไทรอยด์หรือไม่

    สำหรับมะเร็งต่อมไทรอยด์นั้น มักจะไม่มีอาการใด ๆ นอกจากก้อนที่ค่อย ๆ โตขึ้น และมักไม่เจ็บ ต่างจากพวกคอหอยพอกเป็นพิษ ซึ่งมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลดร่วมด้วย


    ขอบคุณข้อมูล จากชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

    ด้วยความปรารถนาดี  กานดา แสนมณี


    หมายเลขบันทึก: 508764เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2012 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2013 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (4)

    ขอบคุณคะ พี่ดาช่างค้นคว้าและร้อยเรียงได้น่าอ่าน ..เป็นกำลังใจให้การผ่าตัดไทรอยด์ พี่แพร ผ่านไปด้วยดีนะคะ

    สวัสดีค่ะน้องหมอป.

    ขอบคุณกำลังใจ มากๆค่ะ ก้อนเนื้อที่คอพี่แพรไม่ใช่เนื้อราย พี่ดาดีใจสบายใจขึ้นมาก พุดคุยได้แล้ว รอผลตรวจว่าก้อนเนื้อเป็นอะไรบ้าง ประมาณ 7 วัน

    เมื่อสักพักก่อนหน้านี้ จามบ้างหรือเปล่าค่ะ แอบคุยถึงน้องหมอป.ด้วยนะ  น้องปู (Boo) มาประชุมที่ชม.หลายวัน แต่นัดกันกระทันหันตามเคย นัดพบกันค่ำที่ผ่านมา มี พี่ดา น้องเขี้ยว น้องตูมและน้องปู  ทานอาหารอิ่มอร่อยกันที่ มายด์เวียตนามหน้ามช.ค่ะ 

     

     

    ปลอดภัยไร้โรคา นะคะพี่ดา

    -สวัสดีครับ..

    -ตามมาอ่านข้อมูลเรื่องมะเร็งต่อมไทรอยด์ครับ..

    -เก็บภาพในงานบุญมาฝากครับ...

     

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท