ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 50. ประยุกต์ใช้ความรู้ (2) ฟังให้ได้ศัพท์


เทคนิคนี้ท้าทาย นศ. ให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการฝึกผัสสะด้านการฟังเท่านั้น แต่ใช้กับผัสสะด้านอื่นได้ทุกด้าน โดยจุดเน้นอยู่ที่สาระมากกว่าตัวบุคคล เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้ นศ. รับรู้เรื่องราวที่ซับซ้อนและแตกต่างหลากหลาย ไม่ปฏิเสธเรื่องราวที่ไม่ตรงใจตน

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 50. ประยุกต์ใช้ความรู้  (2) ฟังให้ได้ศัพท์

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๕๐นี้ ได้จาก Chapter 16  ชื่อ Application and Performance  และเป็นเรื่องของ SET 30 : Hearing the Subject

บทที่ ๑๖ ว่าด้วยเรื่องการประยุกต์ใช้ความรู้  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 29 – 34  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการประยุกต์ใช้ความรู้ 

ความรู้และทักษะจะมีความหมายต่อ นศ. เมื่อ นศ. สามารถใช้ประโยชน์ได้ 

SET 30  : Hearing the Subject

จุดเน้น  :  บุคคล ต่อด้วยความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  ต่ำ

นศ. ยุคที่ชีวิตเร่งรีบ ยุคไอซีที ยุค multitasking ขาดทักษะการฟัง และการมีสมาธิอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานๆ  เทคนิคนี้จึงช่วยฝึกโดยการ “ฟัง” ข้อความ จากคำพูด  คลิปวิดีทัศน์  หรือดูภาพ  โดยครูย้ำกับ นศ.​ว่า ให้เน้นที่ฟังให้ได้สาระ หรือความหมาย  อย่าฟังแบบประเมินหรือตีความ 

แล้ว นศ. แบ่งกลุ่มย่อย  แต่ละคนเรียบเรียงข้อความใหม่  บอกแก่เพื่อนๆ ในกลุ่ม  ให้มีหลากหลายข้อความที่สุดเท่าที่จะทำได้   แล้วจึงแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียนทั้งชั้น 

ในการฝึกเทคนิคนี้ นอกจากได้ทักษะการฟังให้ได้ใจความแล้ว นศ. ยังได้ฝึกสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเวลานั้นๆ

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูเลือกเรื่องที่จะเข้าใจได้ดีต้องฟังอย่างตั้งใจ และมีสมาธิอยู่กับเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่อง

2.  ทดลอง “ฟัง” เรื่องนั้นด้วยตนเอง  และเขียนบันทึกถ้อยคำ รูปภาพ หรือสาระสำคัญอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน  ประสบการณ์ตรงของครู จะช่วยให้ครูออกแบบการเรียนเทคนิคนี้ของ นศ. ได้เหมาะสม รวมทั้งช่วย facilitate การเรียนรู้ของ นศ. ได้ดีขึ้นด้วย

3.  อธิบายวิธีการเรียนแก่ นศ.  พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างให้ดู  บอก นศ. ว่า จะต้องนั่งนิ่งๆ เงียบๆ เพื่อฟังอย่างตั้งใจเป็นเวลาเท่าใด  แล้วครูให้ นศ. ถามคำถาม

4.  ให้ นศ. “ฟัง” เรื่องจากสื่อที่ครูเตรียมมา  โดยเตรียมกระดาษไว้จดส่วนสำคัญ  

5.  จัดกลุ่มย่อย ๒ - ๓ คน ให้ นศ. เล่าเรื่องนั้นในภาษาหรือถ้อยคำของตนเอง ให้ได้สาระครบถ้วน  แต่อย่าตีความหรือวิพากษ์วิจารณ์

6.  รวม นศ. เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น หรือรวมทั้งชั้น  เพื่ออภิปราย  เริ่มด้วยการ ลปรร. ความรู้สึกหรือประสบการณ์ของการนั่งฟังอย่างตั้งใจ  ว่าต้องฝืนใจ หรือก่อความอึดอัดอย่างไรบ้างหรือไม่  แล้วจึงอภิปรายความหมายของเรื่อง  

ตัวอย่าง

วิชาศิลปะวิจักขณ์

ครูสังเกตว่า นศ. ดูภาพแบบไม่ตั้งใจ ไม่มีสมาธิ ไม่ได้รายละเอียดหรือประสบการณ์เชิงอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน  ที่ นศ. จะต้องมีพื้น เพื่อการเรียนศิลปะ abstract ในขั้นตอนต่อไป

ครูจึงประมวลหลักการทั่วไปของศิลปะ ได้แก่ form, space, area, plane, axis, proportion, scale, value, etc.  และบอก นศ. ให้คำนึงถึงหลักการเหล่านี้ไว้ระหว่างใช้เวลาเงียบๆ ๕ นาที นั่งดูภาพ expressionist ของ Hans Hofmann ชื่อ Effervescence จากภาพที่ฉายขึ้นจอ  ครูแนะนำให้ นศ. จดถ้อยคำ หรือรายละเอียดอื่นๆ ลงบนกระดาษระหว่างนั่ง “ฟัง”  สิ่งที่ Hans Hofmann บอกผ่านภาพ 

เมื่อครบ ๕ นาที ครูปิดเครื่องฉายภาพ  และให้ นศ. จับกลุ่ม ๓ คน  เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนได้ “ฟัง” หรือรับรู้ (จริงๆ คือเห็น) ให้ได้รายละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะมากได้  โดยหลีกเลี่ยงการตีความหรือการประเมินภาพดังกล่าว 

หลังจากนั้นครูให้มีการอภิปรายในชั้น ว่าการนั่งนิ่งๆ เพื่อซึมซับรับรู้ สิ่งที่ Hans Hoffman “บอก” ช่วยให้ได้รับรู้สิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้ในสภาพชีวิตประจำวันที่เร่งรีบอย่างไรบ้าง 

วิชาบทนำสู่วรรณคดีอเมริกัน

ครูรู้ว่า นศ. มีความยากลำบากในการเข้าใจกวีนิพนธ์ของ E.E. Cummings  จึงหาทางช่วยให้ นศ. หลุดพ้นจากความยากลำบากนี้  โดยการแจกกวีนิพนธ์ ๒ ชิ้น คือ look at thisกับ he does not have to feel because he thinks (ผมค้นกวีนิพนธ์ชิ้นนี้ไม่พบ  พบเพียงตอนที่มีข้อความ

  he does not have to feel because he thinks

  (the thoughts of others, be it understood)

  he does not have to think because he knows

  (that anything is bad which you think good) )

ครูให้ นศ. อ่านและพิจารณาใคร่ครวญ กวีนิพนธ์ทั้ง ๒ ชิ้น เป็นเวลา ๕ นาที  เพื่อสังเกตรายละเอียดต่างๆ เช่น การใช้ตัวอักษรพิมพ์เล็ก พิมพ์ใหญ่  การใช้เครื่องหมายวรรคตอน  การวางตำแหน่งคำ เป็นต้น  หลัง ๕ นาที ครูให้ นศ. ทั้งชั้นแลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่อง การเขียนกวีนิพนธ์โดยวางคำ และ เครื่องหมายวรรคตอน แบบแหวกแนว ของ e.e. cummings   โดยในขั้นตอนนี้ให้ นศ. เน้นที่โครงสร้างที่เห็นด้วยตา 

หลังจากนั้นจึงให้ นศ. แบ่งกลุ่ม  ให้อ่านบทกวีนิพนธ์ดังๆ  แล้วเลือกหนึ่งบท และระดมความคิดกันเพื่อหาความสัมพันธ์กันระหว่างความหมายของถ้อยคำ  การใช้วรรคตอน และการวางจังหวะคำ

   

การประยุกต์ใช้ online

เทคนิคนี้มีประโยชน์ที่สุดตรงที่การฟังนิ่งๆ ๕ นาที เพื่อฝึกสมาธิพุ่งความสนใจที่เรื่องเดียว และการรับรู้อย่างลึก  ดังนั้น เทคนิคนี้จึงใช้ online ไม่สะดวก  อาจปรับใช้ได้บ้างโดยบอกให้ นศ. ฝึกนั่งรับรู้นิ่งๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง  แล้วจึงนำเอาความรู้สึกและความเข้าใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน นศ.

การขยายวิธีการหรือประโยชน์

·  อาจปรับใช้กับการฝึก นศ. ให้ได้ทักษะอย่างอื่น  เช่นให้ นศ. ฟังคนกล่าวปราศรัย  ให้เน้นสังเกตการออกท่าทาง  สังเกตความเร็วของการพูด  เป็นต้น  แทนที่จะให้จับใจความของคำพูดเพียงอย่างเดียว  เป็นการฝึกให้ นศ. ฟังแล้วได้รายละเอียดที่ลึก

·  มีเทคนิคเสริม ชื่อ “คำพูดที่ก่อความขัดแย้ง”   ทำโดยครูเอาข้อความมาจากสื่อ หรือเขียนขึ้นเองก็ได้  เป็นถ้อยคำที่อาจก่อกวนหรือเสียดสี ความรู้สึกของ นศ.  หลังจากอ่านหรือฟังข้อความนั้นแล้ว นศ. จับกลุ่มกันทำความเข้าใจว่า เหตุผลเบื้องหลังถ้อยคำเหล่านั้นคืออะไร  ทำไมจึงมีคนเชื่อในแนวคิดนั้น  ประสบการณ์ชีวิตแบบใด ที่จะนำคนเราไปสู่การมีความคิดหรือความเชื่อแบบนั้น   (ผมขอเสริมว่า ควร ลปรร. กันด้วยว่า คนเราควรมีสติอย่างไร ในการฟังเรื่องที่ขัดใจเช่นนั้น)

·  บอกให้ นศ. หาหลักฐานและเหตุผล ของความเชื่อที่แตกต่างหรือตรงกันข้ามกับความเชื่อของตน  เพื่อฝึก นศ. ให้เข้าใจความเห็น/ความเชื่อที่แตกต่าง ฝึกความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง  และให้ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ   

คำแนะนำ

เทคนิคนี้ท้าทาย นศ. ให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการฝึกผัสสะด้านการฟังเท่านั้น  แต่ใช้กับผัสสะด้านอื่นได้ทุกด้าน  โดยจุดเน้นอยู่ที่สาระมากกว่าตัวบุคคล  เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้ นศ. รับรู้เรื่องราวที่ซับซ้อนและแตกต่างหลากหลาย  ไม่ปฏิเสธเรื่องราวที่ไม่ตรงใจตน 

มีผู้ออกแบบเทคนิคการเรียนรู้ ชื่อ “ภาพ/ถ้อยคำแห่งความทรงจำ”  โดยนอกจากมีข้อเขียน ให้ นศ. อ่านแล้ว  ยังมีกราฟ และตารางข้อมูลเชิงปริมาณ ภาพ และวิดีโอคลิป   ให้ นศ. บอกว่า จากสื่อเหล่านั้นตนเห็นอะไร  หรือสิ่งเหล่านั้นมีความหมายอย่างไรต่อ นศ.  เพื่อให้ นศ. เข้าใจความซับซ้อนของเรื่องราวต่างๆ ในสังคม   

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Brookfield S, Preskill S. (2005). Discussion as a way of teaching : Tools and techniques for democratic classrooms. San Francisco : Jossey Bass, pp.92-94. 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ พ.ย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 508415เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2012 05:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท