สู่เส้นทางชุมชน (๑)



พอเอ่ยว่าทำงานเป็นทันตแพทย์  ทันตาภิบาล  ทันตบุคลากร  นักวิชาการสาธารณสุข  พยาบาล ฯ  ผู้คนทั่วไปก็จะมองว่าทำงานเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย  บำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหา  มีความเจ็บปวด  มีโรคเกิดขึ้นแล้ว


เป็นมุมมองคุ้นชินจากสังคม  ตั้งแต่มีคณะทันตแพทยศาสตร์ผลิตทันตแพทย์ให้ประเทศไทย  ซึ่งก็ยังเป็นหน้าที่หลักที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางทันตกรรม  ต้องดำเนินการตรวจ  วินิจฉัย  รักษาคนไข้ให้มีชีวิตคืนกลับมาปกติ  ไม่เจ็บ  ไม่ไข้  ไม่ป่วยอีกต่อไป


หรือใช้ชีวิตอยู่คู่กับโรคได้อย่างปกติสุข  ปฏิบัติตัวอย่างเข้าใจตามสภาวะที่จะรักษาใจให้สุขสบาย  เข้าสังคม  มีอิสรภาพ  มีความคิด  มีจิตวิญญาณเป็นของตนเอง 


ไม่ใช่ถูกกักขังแค่ว่าป่วยทางกายแล้ว  จิตใจ  ความคิด  จิตวิญญาณถูกกักขังไปด้วยเสียหน่อย

^_,^


งานบริการทันตกรรม  บำบัดรักษาอาการเจ็บป่วย  บริการทันตกรรมบางอย่างเพื่อป้องกันการเกิดโรค  มีคุณค่าต่อคุณภาพชีวิตของเรา 


การเคี้ยวอาหารได้ดี  อยากกินอะไรก็ได้กิน  กินอะไรก็อร่อย  พูดออกมาก็ชัดเจน  ไปงานเลี้ยงรุ่นก็ไม่อายเพื่อนฝูงที่ฟันหลอ  แก้มตอบ  กล้ายิ้มอย่างมั่นใจ  ไม่มีกลิ่นปาก  ไปทำงาน  ไปทำไร่ทำนาได้ตามปกติ  ไม่เสียเวลาจากการเกี่ยวข้าว  เพื่อมาทำฟัน


ยังมีบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขกลุ่มหนึ่ง  เห็นคุณค่าการพัฒนาสุขภาพช่องปากประชาชน  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  เชื่อมโยงสู่การพัฒนาชุมชน


ด้วยจำนวนอาจจะยังไม่มากนัก  แต่พลังความมุ่งมั่น  ที่สัมผัสได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพงานทันตสาธารณสุขในชุมชน  จัดโดยสำนักทันตสาธารณสุข  กรมอนามัย  ที่จังหวัดเชียงใหม่......พลังล้นเหลือจริง ๆ


อาจจะต่างเส้นทางเดิน  แปรตามสภาพภูมิศาสตร์  สภาพแวดล้อม  ติดทะเล  บนดอยสูง  ที่ราบสูงแห้งแล้ง  ป่าเขียวขจี  เมืองใหญ่ตึกระฟ้า  สภาพสังคม  เศรษฐกิจ  วัฒนธรรม  ภูมิสังคม  บริบทสุดแดนเหนือ  จรดภาคใต้  ภาคตะวันออก  ภาคกลาง  กระทั่งอีสานขวาสุด


จนกระทั่งวินาทีนี้  ดีใจที่ได้มาเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา  เปิด  ๒  หัว  ทั้งหัวสมองและหัวใจ


เห็นผู้เข้าร่วมกระบวนการสดชื่น  ตื่นตัว  แววตากระตือรือร้น  สวมหัวใจนักเรียนรู้อย่างเต็มเปี่ยม


ในห้วงขณะพักใจสงบนิ่งอยู่กับตัวเอง  ก็ให้ความรู้สึกนิ่งอย่างมีพลัง


ความคาดหวังของผู้เข้าประชุมที่จะได้มาผ่อนคลายสบายใจในเมืองเชียงใหม่  ได้พบเพื่อนใหม่  แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก  ได้มาเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง  ได้เป็นคนรับรู้  ได้เติมไฟ  จุดความฝันร่วมกัน  พัฒนาตัวเอง  พัฒนางาน  พัฒนาชุมชน  ส่งเสริมความสุขของสาธารณชน 

พรุ่งนี้วันสุดท้าย...จะได้ทราบแน่นอน

^_,^


เพียง  ๒  วันผ่านมา  จากการสังเกตน่าจะบรรลุเกินร้อยละ ๘๐ แล้ว


แล้วมาดูรายละเอียดกันนะคะ  การจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้มีกิจกรรมย่อย ๆ อะไรบ้าง  ความเชื่อมโยงของกิจกรรมเล็ก ๆ กิจกรรมยาว ๆ  เช่น  เจ้าตัวเล็ก (ลิขสิทธิ์  ดร.ขจิต  ฝอยทอง)  ตลาดนัดวิชาการ (Flea market)  World café  การเสวนาเรื่องเล่าจากดอยสูง  การตกผลึกความคิดโดยไม่ใช้สารส้ม ฯ  จะได้ผลการเรียนรู้เป็นอย่างไรบ้าง


พบกันใหม่ตอน ๒  นะคะ

หลับฝันดี  Happy ba ค่ะ

^_,^








หมายเลขบันทึก: 508125เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2012 00:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ชอบใจจังเลย 2 หัว สมอง และ หัวใจ

เยี่ยมจริงๆๆ ค่ะ ..... ท่านอจ . สบาย ดีนะค่ะ

เริ่มหนาวแล้ว นะคะ ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ

เรียนคุณหมอ ..ทั้งทพ และทพญ.รอติดตามเรียนรู้ตอนต่อไป

ขอให้กำลังใจทุกท่านค่ะ..ร่วมใจกันเพื่ออยู่ดีมีสุขนะคะ

  • มาติดตามให้ได้เห็นความเคลื่อนไหวทางวิชาการบนงานปฏิบัติดีๆอีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงกับสภาวการณ์สังคมและขอมารออ่านด้วยคนนะครับ
  • ฟันกับปากนี่  น่าจะถือเป็นประเด็นความน่าสนใจสำหรับทำงาน ขับเคลื่อนกระบวนการทางสังคม และทำให้เป็นสถานการร์การเรียนรู้ พัฒนาการเรียนรู้ของสังคมได้เป็นอย่างดีหลายมิติเลยนะครับ ในงานสาธารณสุขมูลฐานตามแนวคิดแต่ก่อน ที่ถือเอาทรรศนะจากความรู้สมัยใหม่และนโยบายของรัฐบาลเป็นศูนย์กลาง ก็นับว่าสุขภาพฟันและอนามัยในช่องปาก เป็น ๑ ใน ๑๔ องค์ประกอบของความจำเป็นทางสุขภาพของคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่ส่วนหนึ่ง จะสามารถทำให้ประชาชนและชุมชนร่วมเรียนรู้และลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของจัดการเรื่องสุขภาพของตนเองได้ ซึ่งก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งครอบคลุมความมีสุขภาพดีสำหรับคนส่วนใหญ่ภายใต้ข้อจำกัดทางทรัพยากรได้ ขณะเดียวกัน ก็ไปได้ไกลกว่าเป้าหมายทางสุขภาพ สู่ความมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาเรื่องอื่นๆของสังคมได้มากยิ่งๆขึ้น
  • เมื่อตอนอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมมักได้คุยกับพ่อแม่ของเด็กๆ ที่เล่าเรื่องการดูแลลูกๆให้ฟังแบบเป็นการพูดคุยกันในชีวิตประจำวันของคนที่อยู่ด้วยกันทั่วๆไปโดยไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นเรื่องอะไร แต่ทำให้ได้เห็นมิติสุขภาพกับการจัดการความเป็นสาธารณสุขในหน่วยสังคมระดับครัวเรือนไปด้วยบางประการ โดยหลายครั้ง พ่อแม่จะนำเด็กๆในวัยประถมไปหาหมอ ซึ่งเด็กๆอยู่ในช่วงมีฟันน้ำนมและฟันแท้ยังขึ้นไม่ครบ บอกว่าลูกฟันผุ ปวดฟันจนเป็นไข้ ไปถอนฟัน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งค่ารักษาก็จะบอกว่าประมาณ ๓๐๐ - ๕๐๐ บาท หรือมากกว่า บางส่วนก็คงจะจำเป็น แต่โดยมากแล้ว การที่ฟันน้ำนมโยกและต้องหลุดออกไปให้ฟันแท้ขึ้นนั้น เป็นกระบวนการธรรมชาติที่เมื่อก่อนนี้ เด็กๆและชาวบ้านสามารถดูแลตนเองและถอนฟันตนเองได้เป็นว่าเล่น ทรรศนะของครอบครัวและความอดทนต่อความเจ็บปวดแต่เป็นกระบวนการที่เป็นธรรมชาติ ที่ลดต่ำลงของเด็กๆในปัจจุบัน น่าจะมีส่วนหนึ่งที่ทำให้การเรียนรู้เพื่อพึ่งตนเองสุขภาพต่อเรื่องนี้อ่อนแอลงและทำให้ต้นทุนทางสุขภาพในครัวเรือนสูงขึ้นอย่างไม่จำเป็น แทนที่จะดีขึ้นกว่าเดิมโดยมีต้นทุนที่ต่ำลง ในภาพรวมแล้ว ก็คงสะท้อนไปสู่ระบบการจัดการของตนเองของสังคมที่ยังไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นอีกหลายอย่างนะครับ การเริ่มต้นอีกด้านหนึ่งออกมาจากชุมชน จึงน่าจะทำให้เรื่องสุขภาพฟันและอนามัยในช่องปาก สามารถนำมาเป็นประเด็นการทำงานพร้อมกับได้ขับเคลื่อนเชิงระบบ ให้เกิดระบบสุขภาพในชุมชนที่ดี ได้เป็นอย่างดีเลยนะครับ เห็นจุดหมายไกลๆจากความมุ่งมั่นของคุณหมอและเครือข่ายครับ
  • เมื่อก่อนนี้ คนมีฟันเลี่ยมทอง จะมีบทบาทและสื่อแสดงสิ่งต่างๆหลายอย่างยิ่งกว่าการดัดฟันในปัจจุบันนี้เสียอีก แสดงสถานะทางสังคม บ่งชี้เศรษฐฐานะ รวมทั้งส่งผลต่อสุขภาพด้วย หลายวัฒนธรรมของโลกมีวิทยาการและเทคโนโลยีการกรอฟัน ทั้งเพื่อจุดหมายทางสุขภาพและความงามตามแฟชั่นนิยม อีกความเชื่อของคนเก่าๆเมื่อก่อน ฟันของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ครูอุปัชฌาจารย์ เจ้านาย และบุพชน ถือเป็นของมงคลต่อชีวิต บางทีก็เก็บรักษาและนำมาเลี่ยมใส่กรอบใช้เป็นเครื่องรางติดตัว เสริมสร้างกำลังใจและเป็นขวัญชีวิต บ่งบอกพัฒนาการการเคลื่อนตัวและสะท้อนมิติสังคมวัฒนธรรมอยู่สิ่งเหล่านี้ได้มากมาย ดังนั้น  เรื่องฟันและสุขภาพในช่องปาก จึงใช้เป็นวิธีการศึกษาชุมชนและสังคมวัฒนธรรมได้อย่างกว้างขวาง แล้วก็ใช้เป็นตัวเอกสำหรับเดินเรื่อง เล่าปรากฏการณ์ เชื่อมโยงไปสู่มิติอื่นๆ ในที่สุดก็สามารถเข้าถึงความรู้เชิงสังคมที่เป็นองค์กรวมได้เป็นอย่างดีเช่นกันเลยนะครับ เป็นเรื่องหนึ่งทางสุขภาพ ที่จะสามารถเปิดเรื่องและเดินออกมาจากเรื่องที่ไม่ใช่มิติสุขภาพโดยตรงได้ ซึ่งก็จะทำให้เรื่องความเจ็บป่วยกับเรื่องสุขภาพ แทนที่จะเป็นเรื่องความพยายามรักษาความเจ็บป่วยเหมือนกับมุ่งเอาชนะธรรมชาติอย่างไม่พอดี กลายเป็นทำให้สุขภาพและความเจ็บป่วย สามารถเป็นเครื่องมือและวิธีเรียนรู้ชีวิตกับสังคมสิ่งแวดล้อม เพื่อมนุษย์จะสามารถพัฒนาการจัดการสุขภาพอย่างเข้าใจ มีความเหมาะสมและกลมกลืนกับธรรมชาติ น่าสนใจดีนะครับ

 

Ico48 ...Dr. Ple 

จะเรียนรู้ให้สนุกสนาน  ได้ทั้งสาระและความสุข  ต้องเปิดทั้ง  ๒  หัว  ในบรรยากาศผ่อนคลาย  สบาย ๆ 

ไปเชียงใหม่กลับมา  มีความสุขมากค่ะ

อากาศกำลังดี  สุขภาพใกล้กลับมาปกติแล้วค่ะ  ยังระคายคอนิดนึง  ไอเล็กน้อยเมื่อพบห้องแอร์เย็น ๆ

ขอบคุณ P'Ple  มากค่ะ

ขอบคุณค่ะท่านลุง

Ico48 วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

โปรดรอสักครู่

กำลังใจจากคุณป้าใหญ่ ทำให้มีมานะอยากรีบเล่า

 

Ico48 นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบพระคุณมาก ๆ นะคะ

ชอบข้อความ  "ทำงานด้วยสองหัว-หัวสมองและหัวใจ"

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ  อาจารย์วิรัตน์ที่เคารพ

  • โอ้ !!!! อ่านความเห็นอาจารย์แล้ว   เห็นตัวอย่างความเชื่อมโยงของเรื่องปากและฟันเข้ากับชีวิต  ในมิติด้านสังคมวัฒนธรรมอย่างลุ่มลึก
  • หนูก็จะพยายามเล่าเรื่องของคนต้นเรื่องแต่ละคน  แต่ละทีม  แต่ละพื้นที่  ที่นำมาตลาดนัดวิชาการคราวนี้  ๑๑  เรื่อง  บวกกับเรื่องราวจากประสบการณ์ของผู้เข้าประชุม
  • แต่ความเข้าใจในการสื่อสาร  ตีความ  ถ่ายทอดต่อ  ในเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยเป็นตัวเดินเรื่อง  เป็นเครื่องมือและวิธีการ  เพื่อนำสู่การเรียนรู้ชีวิต  สังคม  สิ่งแวดล้อม  วัฒนธรรม  จนสามารถพัฒนาจัดการสุขภาพตนเอง  ครอบครัว  หรือชุมชน  ได้อย่างเข้าใจ  เหมาะสมกลมกลืนกับธรรมชาติ  นิเวศน์วิทยาของชุมชนแต่ละที่แต่ละแห่ง   ได้มากน้อยแค่ไหนนั้น  ไม่แน่ใจตัวเองนัก
  • เรียนเชิญอาจารย์เติมเต็ม  ชี้แนะเต็มที่นะคะ   เพื่อประโยชน์ต่อคนทำงาน  ต่อชุมชนของพี่น้องเครือข่ายพวกเราชาวไทย  ที่ปรารถนาความอยู่ดีมีสุข  ชุมชนพึ่งตนเอง  โดยจุดเริ่มเรื่องจากปากและฟัน
  • ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ คุณหยั่งราก ฝากใบ

Ico48 หยั่งราก ฝากใบ

คนสายวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะชอบเปิดหัวสมองก่อน ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ให้ค่อย ๆ เปิดใจควบคู่ไปด้วยบ่อย ๆ   จนคุ้นชิน   ทั้งในการทำงานและใช้ชีวิตไงคะ

ชีวิตจึงจะสุขสมดุล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท