จิตตปัญญาเวชศึกษา 190: อภิชาตศิษย์ (12) "เขาเล่าออกมาเอง"


 อภิชาตศิษย์ "เขาเล่าออกมาเอง"

กิจกรรม Health Promotion นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4  block pre- and postoperative care ที่ ม.สงขลานครินทร์ เรามอบหมายให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 ที่มาปฏิบัติงานชั้นคลินิกแผนกศัลยศาสตร์เป็นเวลา 10 อาทิตย์ ไปทำการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุ และกลับมานำเสนอในมิติของการสร้างเสริมสุขภาพ ใช้เครื่องมือหลากหลายชนิดที่จะช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างเสริมพลัง (empowerment) โดยเฉพาะในการปรับวิถีชีวิตหรือเพื่อปรับตัวกับความทุกข์ ทุพพลภาพ หรือพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นภายหลังได้รับอุบัติเหตุ และถูกนำตัวมาส่งเพื่อรับการรักษาพยาบาลที่ รพ.สงขลานครินทร์

วิธีการเสนอ เป็นกลุ่มปฏิบัติงานย่อย ประมาณ 7-8 คน นำเสนอใน class ประมาณ 50 คน ใช้เวลานำเสนอประมาณกลุ่มละ 20 นาทีและอภิปรายทั้งชั้นอีก 20 นาที จะใช้วิธีแบบไหนก็ได้ เพียงกำหนดโจทย์ไว้ว่าให้นำเสนอเป็น highlight ของสิ่งที่ได้ไปค้นเจอ และขอให้นำเสนอให้เพื่อนๆได้เกิด "ความรู้สึกร่วม" กับความรู้สึกที่คนไปทำได้รับมา การอภิปรายของเพื่อน กำหนดเป็นสาม themes คือ 1.ชอบอะไรเพราะอะไร 2.ไม่ชอบอะไร อยากให้เปลี่ยนตรงไหน หรือเพิ่มตรงไหน และ 3. รู้สึกว่าสิ่งที่เพื่อนทำไปนั้น มีมิติของ empowerment อย่างไร คนไข้และครอบครัวได้รับการเสริมสร้างพลังหรือไม่และอย่างไร จากกิจกรรมที่เพื่อนได้ลงไปทำนั้น

เท่าที่ผ่านมา มีวิธีการนำเสนอที่หลากหลายมาก ทั้งแบบใช้ powerpoint ธรรมดาๆ (แต่เรื่องเล่าไม่ธรรมดา) นำเอา clip video มาตัดต่อ แต่งเพิ่ม ใส่เพลง ฯลฯ หรือไปทำ role-play และทำมาเป็น clip นำเสนอในห้อง แบบพูดสดและแบบพากษ์ก็มี หรือไปจนถึงแสดงเป็นละครหน้าชั้นเพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมมากที่สุด กิจกรรมใน class นี้ทำให้ผมรับรู้ถึงความสามารถในการนำเสนอของนักเรียนรุ่นใหม่ ทั้งการใช้เทคโนโลยี IT-oriented และเหนืออื่นใดคือ "ความเป็นมนุษย์" ที่นำมาผสมผสานกลมกลืนกับความเป็นแพทย์ที่พวกเขากำลังร่ำเรียน ศึกษากันอยู่ หลายเรื่องที่นักศึกษาได้ทำในกิจกรรมนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมบันทึกลงใน series "อภิชาตศิษย์" จนมาถึงตอนที่ 12 แล้ว

"เขาเล่าออกมาเอง"

เรื่องนี้ถูกถ่ายทอดมาด้วยเทคนิกใหม่ เป็น clip ตัดต่อการวาดภาพลายเส้นประกอบ narrative

เทคนิกนี้เคยในบทความทาง internet ของ RSA (Royal Society for the encouragement of Arts, Manuafactures and Commerce) ที่เป็นระดับมืออาชีพ สามารถทำให้เกิดความดึงดูดความสนใจ และเป็นการ "เล่าเรื่อง"​ ที่เรื่องราวไม่เพียงแต่ถูกถ่ายทอดด้วยเสียงเท่านั้น แต่ยังมี "ภาพ" ที่ค่อยๆปรากฏขึ้นมาด้วย การตัดต่อและปรับแต่ง speed ของภาพ ทำให้ภาพผุดปรากฏขึ้นมาอย่างไหลลื่น ทันเหตุการณ์กับเสียงประกอบ แม้ว่าน้องๆ นศพ.จะยังทำไม่ถึงระดับ professional artist แต่ก็ทำได้ดีมาก ได้ concept ของ methodology แบบนี้

"คุณลุง ห อายุ 60 ปี เป็นชาวสวนยาง" เรื่องเล่าเริ่มต้น พร้อมๆกับภาพ drawing ที่ปรากฏใน clip video บนจอโปรเจคเตอร์หน้าชั้น

ชีวิตคุณลุงเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการฝ่าฟัน และต่อสู้ ตอนเป็นนักศึกษา คุณลุงเคยร่วมกิจกรรมทั้งของโรงเรียนและกิจกรรมทางการเมือง จนถึงขนาดไปร่วมเดินขบวน ประท้วง และมีส่วนในกิจกรรมการเมืองของเมืองไทยอย่างใกล้ชิด ชีวิตอันโลดโผนนั้นค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป เมื่อได้มารู้จักกับสาวคนหนึ่ง รักกัน และสุดท้ายก็แต่งงานกัน อยู่ด้วยกันตามอัตภาพ ทำสวนยาง มีรายได้พอประมาณ และมีพยานรักเกิดขึ้นในบ้านอันอบอุ่นแห่งนี้

แต่แล้ววันหนึ่ง วันที่ควรจะเป็นวันแห่งความสุข กลับกลายเป็นวันแห่งความทุกข์ที่สุดในชีวิต

คุณลุงและภรรยาคู่ชีวิต ขับรถเดินทางจากพัทลุงเดินทางไปเพื่อร่วมงานรับปริญญาของลูกสาว ลูกสาวของคุณลุงที่กำลังจะได้เป็นครู​ เป็นความภาคภูมิใจที่สุดของพ่อแม่ที่ได้เห็นการเดินทางของชีวิตไปสู่ความก้าวหน้า และเหนืออื่นใดคือ ความเป็นคนดี มีประโยชน์ต่อสังคม การเดินทางในภาคใต้ก็เหมือนกับที่เป็นมาทุกครั้ง คือมีฝนตกหนัก และในวันนี้ ก็เป็นวันที่ฝนฟ้าประเดประดังลงมาอย่างไม่ลืมหู ลืมตา ฝนภาคใต้ตกหนักนี่หมายความว่า อาจจะมองอะไรเห็นได้แค่ในระยะ 50-100 เมตรเท่านั้น

ทั้งสองคนสามีภรรยา นั่งมาด้วยกันในรถกระบะส่วนตัว คุณลุงเพ่งมองฝ่าสายฝนอันหนาแน่นไปข้างหน้า ภรรยานั่งอยู่ข้างๆ ใจทั้งสองนึกถึงงานรับปริญญาของลูกสาว และนั่นคือความทรงจำสุดท้ายที่เกิดขึ้น....

คุณลุงตื่นขึ้นมาอีกครั้งในโรงพยาบาล จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและทำไมถึงได้มานอนอยู่ในโรงพยาบาลนี้ คุณลุงขยับตัวด้วยความลำบากเพราะปวดหลังมาก หมอบอกว่ากระดูกสันหลังหัก และจะต้องส่งตัวต่อมาไปอีกโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาล ม.อ. แล้วก็ได้นำตัวคุณลุงขึ้นรถพยาบาลออกเดินทางมา

ถึง รพ.ม.อ.คุณลุงก็ถูกพาไปนอนที่หอผู้ป่วยอุบัติเหตุ มีหมอ มีพยาบาลหลายคนเข้ามาดูแล ได้ไป X-ray ที่นั่นที่นี้หลายที่ คุณลุงได้ข้อมูลว่ารถคุณลุงคว่ำ และมีกระดูกสันหลังหัก จะต้องรับการผ่าตัด และหลังผ่าตัดจะต้องทำกายภาพบำบัดอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะฟื้นตัวและเริ่มเดิน เริ่มทำอะไรได้ตามปกติ

คุณลุงค่อยๆนึกทบทวนเหตุการณ์ ความทรงจำค่อยๆกลับมา "วันนั้น ผมกำลังจะไปงานรับปริญญาลูก..."

"ใช่ครับ คุณลุงขับรถไป ฝนตกหนักมาก" หมอตอบ

"ผม.. ผมไปกับภรรยาผม ภรรยาผม แล้วภรรยาผมล่ะครับหมอ..." คุณลุงเริ่มจำได้

หมอนิ่งไปชั่วขณะ "ลุงครับ หมอเสียใจด้วย ภรรยาของคุณลุง เสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุครับ"

"............"

น้องนักศึกษาแพทย์เล่าว่า "ตอนที่พวกผมจะเข้าไปหาคุณลุง ตอนแรกก็พบว่าคุณลุง เป็นคนร่างใหญ่ บึกบึน ดูออกว่าทำงานหนักมาทั้งชีวิต แต่ตอนไปหา ก็พบว่าคุณลุงแกนอนนิ่งเงียบอยู่ที่เตียง ไม่ยอมพูดไม่ยอมจาอะไร เราก็เลยออกมาก่อน

หลังจากนั้น พวกเราก็แวะเวียนไปหาคุณลุงอยู่เรื่อยๆ ผลัดกันไป ชวนกันบ้าง

อยู่ๆมีอยู่วันหนึ่ง คุณลุงแกจู่ๆก็เริ่มพูดกับเราเอง ปรากฏว่าคุณลุงแกจะพูดปุ๊บ แกก็ร้องไห้ออกมาเลย ร้องไห้ใหญ่ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง แต่ก็อยู่ตรงนั้น พอแกค่อยๆหยุดร้อง แกก็เล่าเรื่องราวของแกให้เราฟัง เล่ามาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ไหนๆเลย จนมาถึงวันที่เกิดอุบัติเหตุ

หลังจากนั้นพวกเราก็ไปหาคุณลุงอีกหลายครั้ง อาการทางกายก็ค่อยๆดีขึ้น เราค่อยๆถามแกว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป หลังจากนี้ คุณลุงแกบอกว่า แกอยากจะกลับบ้าน ไปช่วยเลี้ยงหลานสาว คือลูกของลูกสาวแกอีกคนนึง คิดว่าแกพอจะทำได้ ตอนนี้แกบรรเทาอาการเสียใจแล้ว จะขออยู่เพื่อหลานสาว"

เพื่อนๆสะท้อนว่า "ประทับใจที่กลุ่มนี้ไปหาคุณลุงบ่อยๆ ไปแล้วไปอีก ทั้งๆที่งานก็ยุ่ง รับคนไข้คนอื่นๆอีกตั้งหลายคน ก็ยังมีเวลาไปหาคุณลุงได้"

ผมสะท้อนว่า "บางทีคำว่า "ไม่มีเวลา" มันเป็นสัมพัทธ์ แปลว่า ณ ขณะนั้น เรามีอะไรอย่างอื่นที่สำคัญกว่าเรื่องที่เราไม่มีเวลาทำเท่านั้นเอง เพราะเราจะหาเวลาทำเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา ณ เวลาใดๆได้เสมอ อย่างในกรณีนี้ ผมดีใจที่น้องเห็นว่า เวลาที่จะไปรับฟังคุณลุงนั้นสำคัญอยู่ในระดับต้นๆ

ถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ ในการที่จะเป็นนักเยียวยามืออาชีพในอนาคต"

ขอรวมไว้ใน series "อภิชาตศิษย์" อีกเรื่องหนึ่งครับ

หมายเลขบันทึก: 507447เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2012 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นานๆจะมีใครนึกถึงERว่าเราจะเยียวยาคนไข้เหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง ทั้งในมิติ จิตวิญาณและการ Empowerment จะรออ่านอีกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท