ความมั่นคงด้านอาหาร VS การพึ่งตนเองด้านอาหาร


ระยะหลังๆ ไปร่วมวงประชุม วงเสวนา หรือวงสัมมนาของนักเคลื่อนไหวงานสังคม ได้ยินคำ ความมั่นคงด้านอาหาร บ่อยครั้งมาก ฟังแล้วก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ความมั่นคงด้านอาหารของใคร? ฟังไปฟังมาพบว่าไม่ใช่ความมั่นคงด้านอาหารของสัมมนาสมาชิกที่มาประชุมกัน เพราะพวกเรา (รวมทั้งผมที่เป็นคนชั้นกลาง) ไม่เคยกังวลว่าจะไม่มีข้าวกิน แต่เรากำลังพูดถึงพี่น้องชาวชนบทที่เป็นเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร

หากฟังผ่านๆ ก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่เรากำลังพูดถึงคนผลิตอาหารว่าเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร!!!

แสดงว่าทุกวันนี้ต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ สมัยผมเด็กๆ ปู่ย่าผมก็เป็นชาวนา ท่านไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ปีใดฝนแล้งไม่ได้ทำนา ก็ยังมีข้าวเปลือกที่สะสมไว้ในยุ้งพอกินตลอดปี ผักปลาก็มีกินตลอดปีโดยไม่ต้องซื้อ

ผมมีโอกาศได้ฟังผู้อาวุโส ท่านอาจารย์ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ วิเคราะห์ให้ฟังครั้งหนึ่งว่า ประเทศอเมริกาอาศัยอาหารจากประเทศลาตินอเมริกา ส่วนประเทศในยุโรปอาศัยประเทศในทวีปอาฟริกาเป็นแหล่งผลิตอาหาร ผมก็เลยอดคิดไม่ได้ว่า คำ ความมั่นคงทางอาหาร จะหมายถึงประเทศอุตสาหกรรมที่ไม่เน้นการผลิตหาอาหารเพราะใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่ไปกับการผลิตสินค้่าอุตสาหกรรม (หรืออาหารที่ตนผลิตไม่ปลอดภัยเพียงพอ) จะสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านอาหารของตนหรือเปล่า?

เมื่อไปค้นคำ Food Security จากอินเทอร์เน็ตดู ก็พบว่าเป็นคำที่องค์การอาหารและเกษตรกรรม (FAO) ให้ความหมายไว้ว่า หมายถึงการที่แต่ละครอบครัวมีอาหารเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ 

ผมเห็นว่าบ้านเมืองของเราอุดมสมบูรณ์ ผลิตอาหารเกินพอ แล้วยังส่งออกไปเลี้ยงประชากรประเทศอื่นๆ อีก แต่กระนั้น คนผลิตอาหาร(โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย)กลับเป็นทุกข์โดยเฉพาะจากหนี้สิน จากความกังวลว่าเจ้าหนี้(ทั้งในระบบ-นอกระบบ)จะยึดที่ทำกิน และจากปัญหาสุขภาพเนื่องจากใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมาก 

ผมแปลกใจเมื่อครั้งไปเยี่ยมนักศึกษาในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ดูอุดมสมบูรณ์ไปด้วยนาและสวน แต่กลับพบว่า ชาวนาที่นั้นทำนาเพื่อขายเป็นหลัก ปลูกข่าวพันธุ์ที่ครอบครัวตนไม่ได้บริโภค จึงขายข้าวที่ได้จากนาทั้งหมด แล้วซื้อข้าวสารจากตลาดกิน นั่นคือ นามีสภาพไม่ต่างจากโรงงานที่เป็นสถานที่ผลิตสินค้าส่งตลาด เพื่อให้ได้เงินมาซื้ออาหารและสิ่งของที่ต้องการ 

ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชนอุตรดิตถ์พาผมไปพบเกษตรกร ๒ ท่าน ท่านหนึ่งที่อำเภอตรอน อีกท่านหนึ่งที่อำเภอพิชัย ทั้งสองท่านอาศัยแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ในหลวงทรงแนะนำ เมื่อได้ชมสวน ชมไร่ ชมนา ชมบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ เลี้ยงวัว หมู เห็ด เป็ด ไก่ ฯลฯ และพูดคุยกับท่านเหล่านั้นแล้ว ผมพบว่า ครอบครัวใดก็ตามที่ดำเนินชีวิตตามทฤษฎีนี้มีความมั่นคงด้านอาหารทุกครอบครัว นั่นคือ มีอาหารเพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ (สุขภาพดี)

เพียงพอ เพราะปลูกกินเองเป็นเบื้องต้น เหลือกินแล้วจึงขาย ไม่ใช่ขายของเหลือ แต่เป็นการแบ่งปันส่วนเกิน เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ และก็แปลกเสียด้วยที่เมื่อใครทำอะไรเพื่อกินเองแล้วมักจะมีส่วนเกินเสมอ แค่พริก ตะใคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ อย่างละต้นอย่างละกอ ก็เกินพอ เหลือแจกเพื่อนบ้านหรือเก็บไปขายที่ตลาดได้แทบทุกวัน นับประสาอะไรกับกล้วย มะละกอ มะม่วง ขนุน ฯลฯ ที่ปลูกอย่างละต้น ออกผลมาทีไรกินไม่ทัน ต้องแจกจ่ายหรือขาย ไม่งั้นจะเน่าเสียก่อน ครอบครัวที่ใช้ชีวิตแบบนี้อาจไม่รวยแต่ดูเหมือนจะมั่นคงด้านอาหาร

ปลอดภัย เพราะครอบครัวที่เดินตามแนวนี้มักหลีกเลี่ยงสารเคมี ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีปราบศัตรูพืช หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จุลินทรีย์ และวิธีชีวภาพต่างๆ จึงปลอดภัยจากโรคอันเป็นผลกระทบจากสารเคมีได้มากกว่า มีนักศึกษาของศูนย์เรียนรู้ฯ ม.ชีวิต คนหนึ่งที่แม่ฮ่องสอน เป็นเกษตรกร ปลูกกะหล่ำปลีหลายสิบไร่ต่อเนื่องมาหลายปี เก็บเกี่ยวแต่ละครั้งต้องใช้รถสิบล้อขนไปขายตลาด ขายให้คนเมืองกินอย่างเดียว ตนเองและครอบครัวไม่กล้ากินเพราะใช้สารเคมีเยอะ แต่กระนั้นก็ยังรับสารเคมีเข้าไปทางอื่นเช่น ซึมเข้าผิวหนังหรือหายใจเข้าไปขณะพ่น จนล้มป่วย ผลเลือดเป็นสีน้ำเงิน แสดงว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดในระดับสูง ปัจจุบันหันมาทำเกษตรผสมผสาน ทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ  ฟื้นฟูสุขภาพตนเองและครอบครัว ผิวพรรณดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใสขึ้น หนี้สินลดลง ทุกวันนี้เธอภูมิใจในตนเอง เนื่องจากไม่เพียงทำเกษตรที่ปลอดภัยสำหรับครอบครัวตน แต่ยังรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วย ผมบอกเธอว่า อย่างนี้แหละที่เรียกว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่องค์กรธุรกิจเรียก CSR อย่างแท้จริง และก็ไม่ใช่ CSR เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือเพื่อภาพลักษณ์ แต่เป็นการรับผิดชอบต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

คุณค่าทางโภชนาการ เพราะสามารถเลือกที่จะปลูกพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกายตนและครอบครัว กินพืชพันธุ์ที่ขึ้นในท้องถิ่น และตามฤดูกาล เป็นอิสระจากนิสัยการกินเหมือนๆ กับคนเมืองที่เข้าสุ่วัฒนธรรมกินเหมือนๆ กัน ตามที่อุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่กำหนดโดยไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวแต่ไม่มีทางเลือก ผมพบบนซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อหนึ่งเขียนแนะนำว่า กินบะหมี่นี้แล้วให้กินอย่างอื่นด้วยเพื่อคุณค่าทางโภชนาการ แสดงว่าที่ทำมาให้กินได้ด่วนๆ เร็วๆ นี้ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการพอ  

ผมประเมินเองว่าเกษตรกรไทยที่เข้าใจและตัดสินใจเดินตามเส้นทางเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือไม่เดินตามเป๊ะๆ แต่ประยุกต์แนวคิดนี้กับการทำเกษตรของตนยังมีน้อยๆ (แต่เชื่อว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ)   เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงเดินตามเกษตรกรรมกระแสหลักเพราะอยากรวย หรือไม่ก็ทำเพราะคิดไม่ออกว่าถ้าไม่ทำอย่างที่คนอื่นๆ ทำแล้วจะมีทางเลือกอื่นใด เมื่อใครมาบอกว่าปลูกอะไรได้ราคาดีก็ปลูกตามๆ กัน ไม่ได้ราคาก็ชวนกันมาเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาล   

คุณแหลม เกษตรกรคนหนึ่งที่ไม่ดำเนินชีวิตตามระบบเกษตรกระแสหลักที่ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ บอกผมว่า ท่านไม่ไปร่วมประท้วงปิดถนนเพื่อเรียกร้องอะไรก้บรัฐบาลหรือกับบริษัทอะไร เพราะท่านลิขิตชีวิตตนเอง ชะตากรรมของท่านไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาข้าว ราคามัน ราคาข้าวโพด ราคาอ้อย หรือราคาอะไรทั้งสิ้น แถมใครมาเป็นรัฐมนตรีเกษตร หรือแม้แต่ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็อยู่ได้โดยไม่ต้องไปเรียกร้องความช่วยเหลืออะไรด้วย เพราะท่านช่วยตนเองได้ และก็ยังช่วยคนอื่นๆ ที่่สนใจแนวนี้ได้อีกด้วย 

ผมจึงอยากให้เราใส่ใจกับ การพึ่งตนเองด้านอาหาร มากกว่า ความมั่นคงด้านอาหาร

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑ พ.ย.๕๕

หมายเลขบันทึก: 507389เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2012 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2012 09:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

  ดีใจที่ได้คลิกมาอ่านบันทึกนี้ ขอบคุณมากนะคะ

ทานอาหารกลางวันหรือยังค่ะนำน้ำพริกอ่องมาฝากค่ะ

  • สำคัญมากเลยครับอาจารย์
  • ต้องเพียงพอ
  • ปลอดภัย
  • เพิ่งอ่านหนังสือที่อาจารย์กับอาจารย์เสรีสัมภาษณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตจบ
  • เอาไปทำอันนี้ให้นักเรียน
  •  ค่ายทำโรงเห็ดและแปลงผัก

 

ขอบคุณมากค่ะ พี่ ใหญ่ .... เรื่องอาหาร .. ปัจจัย 1 ใน 4 ของการมีชีวิตอยู่รอด นะคะ

ของเปิ้น .... ดูแล กลุ่ม แม่วัยรุ่น  หญิงตั้งครรภ์ ... จะเน้น การสอน...ให้เกิด ความรู้  ความเข้าใจเรื่องอาหาร ที่มีคุณภาพ เน้นทั้ง ปริมาณและคุณภาพ (ไม่ใชกินแค่อิ่มนะคะ)  เพราะกลุ่มนี้ มีน้องอยู่ในครรภ์ ... บางคน .... บอกว่า .... ไม่มีเงิน .... เปิ็นจะแนะนำ+สอนว่า...อาหารคุณภาพ .... อยู่ในบริเวณบ้านมีมากมายนะคะ เช่น ตำลึก  ผักบุ้ง  ปลาในนา ไข่ในเล้า นะคะ ....เป็นเศรฐกิจที่พอเพียง... พอเพียงของเรา .... ชาวบ้านลาด นะคะ (ไม่ต้องถึงขนาด...กินปลาโอเมก้า  นะคะ) .... บางครั้ง เงิน อาจ จะไม่ต้องใช้มากมาย .... แต่ให้เข้าใจ ประยุกต์ .... ก็อยู่ได้  อย่างพอเพียงแล้ว นะคะ.... ในส่วนของ...ผู้สูงอายุ .... เน้นเรื่อง อาหาร  เพื่ิอไม่ขาดสารอาหาร และ เกิดภาวะซีด ในกลุ่มสูงวัย นะคะ

อ่าน Blog นี้ทำให้มีกำลังใจขึ้นเยอะเลยครับ ตอกย้ำความเข้าใจว่าเรามาถูกทางแล้ว ตอนนี้ก็ค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ ทำอยู่ครับ "เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง" อย่างที่อ.ยักษ์สอนไว้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท