ข่าวภาคี สสค.
ประชาสัมพันธ์ ข่าวภาคี สสค. ตีฆ้องร้องป่าว

คู่มือดูแลเด็กพิเศษ แก้ปัญหาภาวะบกพร่องการเรียนรู้


ชุดความรู้การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การพัฒนาครู ผู้ปกครอง และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ และที่สำคัญการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนทุกคนอย่างเท่าเทียม

สสค.หนุนพัฒนาคู่มือดูแลเด็กพิเศษ

แก้ปัญหาภาวะบกพร่องการเรียนรู้


          ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่ามีเด็กที่มีปัญหาการเรียนจากสาเหตุต่างๆ เช่นปัญหาการขาดแรงจูงใจ ปัญหาทางอารมณ์ รวมถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้จากภาวะทางสมอง ถึงร้อยละ 21.76 หรือประมาณ 3 ล้านคน จากประชากรเด็กไทยอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มีราว 16 ล้านคน ทุกๆ ปีจะมีเยาวชนอายุระหว่าง 4 – 17 ปี หลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณจำนวนมาก หลังจากเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนหรือระบบศึกษา ก็จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ หรือการเป็นผู้กระทำผิด มีปัญหายาเสพติดมากกว่ากลุ่มที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา

         กลุ่มเด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เกิดจากภาวะทางสมอง แยกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) คือ เด็กที่มีความผิดปกติของพฤติกรรม การควบคุมตนเอง อาการแสดงออกเป็น ซน อยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ ขาดการยับยั้งใจตนเอง

เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ (Learning Disabilities: LD) คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เช่น บกพร่องการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณ

เด็กออทิสติก (Autistic) หรือ ออทิสซึม คือ เด็กที่มีความผิดปกติของสมองที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก โดยจะแสดงอาการผิดปกติออกมาใน 3 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ ความผิดปกติทางสัมคมและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น, ความผิดปกติทางภาษาและการสื่อสาร และมีพฤติกรรมซ้ำๆหรือมีความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมากเกินปกติ

ด็กเรียนรู้ช้า/บกพร่องทางสติปัญญา คือ เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดจากระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์

          โดยกลุ่มเด็กออทิสติก สมาธิสั้น และเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ ราว 2.1 ล้านคน ถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่สามารจัดการเรียนการสอนและให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสม เพราะขาดบุคลากร ขาดการค้นหาเด็กกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ ทำให้เด็กกลุ่มนี้กระจายอยู่ในโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนสำหรับเด็กปกติ ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับระดับศักยภาพที่แท้จริง นอกจากนั้นแล้วเด็กกลุ่มนี้ยังถูกประเมินผลด้วยระบบประเมินผลสำหรับเด็กปกติ ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนเวลาอันควร

          พญ.ชดาพิมพ์ เผ่าสวัสดิ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. จึงร่วมกับสถาบันราชานุกูล ได้พัฒนาชุดความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลช่วยเหลือสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ขึ้น เพื่อพัฒนาครูและผู้ปกครองให้มีความรู้ในการค้นหาและช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ชุดความรู้การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ประกอบด้วย

1.คู่มือระบบการดูแลนักเรียนกลุ่มเด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 1 เล่ม

2.ชุดความรู้สำหรับครูในการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 4 เล่ม

3.ชุดความรู้สำหรับพ่อแม่ในการดูแลเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ จำนวน 4 เล่ม

          โดยชุดคู่มือทั้งหมดจะแยกเนื้อหาแตกต่างกันออกไปสำหรับผู้ใช้ ทั้งแนวทางการดูแลเด็กสำหรับครูและผู้ปกครอง การรู้จักและคัดกรองกลุ่มเด็กพิเศษ แนวทางการสังเกตโรค และการช่วยเหลือเด็ก และแนวทางการส่งต่อเพื่อการวินิจฉัยและดูแลต่อเนื่อง การเสริมสร้างทักษะให้กับเด็กพิเศษ

         ชุดความรู้การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จะทดลองใช้ในโรงเรียนนำร่อง  10 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง ร.ร.อนุบาลสุพรรณบุรี ร.ร.สามชุกรัตนโภคาราม จ.สุพรรณบุรี ภาคใต้ ร.ร.บ้านโพธิ์หวาย ร.ร.วัดกาญจนาราม จ.สุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ ร.ร.วัดหนองปลิง ร.ร.อนุบาลเมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร.ร.ศรีสวัสดิ์วิทยา ร.ร.เทศบาลบูรพาพิทยาคาร จ.มหาสารคาม และพื้นที่ กรุงเทพฯ ร.ร.วิชูทิศ ร.ร.พิบูลประชาสรรค์ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ จนสามารถสร้างเครือข่ายได้ครอบคลุมทั้งประเทศ

       พญ.ชดาพิมพ์ กล่าวด้วยว่า การจัดกลุ่มเด็กพิเศษนี้ จะเน้นเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีปัญหาการเรียน ไม่ได้รวมถึงเด็กที่มีพิการทางร่างกาย  นอกจากนี้เด็กที่มีปัญหาการเรียนบางส่วนมีความผิดปกติที่เป็นสาเหตุมากกว่า 1 ภาวะ เช่น เด็กสมาธิสั้นบางรายพบว่ามีแอลดีร่วมด้วย หรือเด็กออทิสติกบางรายก็จะมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย ซึ่งทำให้มีความยากลำบากในการดูแลช่วยเหลือมากขึ้น อย่างไรก็ตามเด็กใน 4 ประเภทนี้ กลุ่มเด็กแอลดี ถือเป็นกลุ่มที่น่าห่วงเป็นพิเศษ เพราะอาการของเด็กมักไม่แสดงออกอย่างชัดเจนจนขึ้นชั้นประถม ทำให้คัดกรองและให้การวินิจฉัยได้ยาก และเด็กจะดูเหมือนเด็กปกติ มีสติปัญญาไหวพริบเฉลียวฉลาดดี แต่มีปัญหาการเรียน จนชวนเข้าใจผิดได้ว่าเป็นเด็กขี้เกียจไม่เอาใจใส่การเรียน ทำให้ครูอาจมองข้ามไป หากครูไม่ทราบว่ามีภาวะนี้เกิดขึ้นในตัวเด็ก เด็กก็จะถูกละเลยไปไม่ได้รับการช่วยเหลือ

  “การช่วยเหลือเด็กแอลดีขณะนี้ไม่มียา ไม่มีการรักษาใดที่ทำให้เด็กหายจากแอลดี ปัจจุบันการช่วยเหลือจึงทำได้เพียงการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดช่องว่างของความสามารถด้านการเรียนของเด็กกับความสามารถในด้านอื่นๆของเด็กให้ลดลงเท่านั้น” คุณหมอชดาพิมพ์ กล่าวถึงเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ หรือเด็กแอลดี

         การที่จะทราบว่าเด็กเป็นแอลดีหรือไม่นั้น ถ้าต้องการการวินิจฉัยที่แน่ชัดจำเป็นต้องมีนักจิตวิทยา เนื่องจากการวินิจฉัยแอลดีเด็กจะต้องผ่านการทำแบบทดสอบถึง 2 แบบทดสอบ นั่นคือการทดสอบระดับสติปัญญา และการทำแบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งทำการทดสอบโดยนักจิตวิทยา ซึ่งในประเทศไทยยังมีนักจิตวิทยาจำนวนน้อย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด บางครั้งครูส่งเด็กมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่แพทย์ต้องส่งเด็กไปทำแบบทดสอบกับนักจิตวิทยาที่โรงพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังพบปัญหาอีกว่าเมื่อเด็กได้รับการวินิจฉัยแล้ว แต่โรงเรียนก็ยังไม่มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมแก่เด็ก ทำให้เกิดปัญหากับเด็กตามมา ได้แก่ ไม่ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กพิเศษ ไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ไปโรงเรียนแต่เรียนไม่รู้เรื่องทั้งที่สมองสามารถเรียนรู้ได้ เด็กก็จะเริ่มมีปัญหาพฤติกรรม ปัญหาอารมณ์ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้

          รูปแบบการสอนเด็กแอลดีจึงแตกต่างจากเด็กทั่วไป ซึ่งมีหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมทำและได้ผลดี คือเริ่มจากการประเมินความสามารถทางการอ่าน การเขียน การคำนวณของเด็ก หากพบว่าเด็กบกพร่องการเรียนรู้ด้านไหน วิชาไหน ก็จะแยกเด็กออกมาสอนเสริม ให้ตรงกับช่องทางการเรียนรู้ของเขา แต่สิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คุณหมอชดาพิมพ์ มองว่า เด็กเรียนในห้องเรียนในแต่ละวัน ครูก็สอนวิชาความรู้ใหม่ๆให้ แต่เด็กยังมีปัญหากับการอ่าน การสะกด การคำนวณซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในทุกวิชา ทำให้เด็กเรียนไม่รู้เรื่องสะสม เปรียบเหมือนตึกที่ผู้สร้างพยายามจะสร้างตึกให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ฐานและโครงสร้างของตึกไม่แข็งแรง และมีปัญหาตึกถล่ม โครงสร้างร้าวตามมา

ดังนั้นเมื่อคัดกรองเด็กออกมาแล้วจะต้องใช้แผนการศึกษารายบุคคล หรือ Individualized Education Plan: IEP เพื่อวางแผนการสอนสำหรับเด็กแต่ละคน

  “เช่นเดียวกับการวางแผนว่าจะซ่อมหรือจะเสริมให้ฐานตึกแน่นได้อย่างไร บางครั้งการชี้วัดว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือไม่ ครูอาจจะไม่วัดด้วยข้อสอบธรรมดา แต่อาจจะให้สอบปากเปล่า ครูอ่านข้อสอบให้เด็กฟัง การหาข้อมูลมาทำรายงานเพิ่มเติม หรือให้เวลาในการสอบมากขึ้น ซึ่งถือเป็นรูปแบบสอบที่มีอยู่หลากหลายในหลายโรงเรียนขณะนี้” คุณหมอชดาพิมพ์ กล่าว

เมื่อมีการวินิจฉัยที่ถูกต้อง การดูแลที่เหมาะสม เด็กจะได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง ได้เรียนรู้ถูกช่องทางที่เด็กถนัด  ข้อดีหรือความสามารถที่เด่นของเด็กก็จะถูกดึงขึ้นมามากขึ้น

“เป็นเรื่องยากกับการทำให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้หมดไปจากประเทศไทย เพราะเรายังไม่ทราบสาเหตุว่ากลุ่มโรคนี้เกิดจากอะไร” พญ.ชดาพิมพ์ กล่าว 

“สิ่งที่ทำได้ขณะนี้คือการป้องกันโดยการให้คำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ให้ดูแลตนเองเป็นอย่างดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเหล้า บุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ มีวิธีคลายเครียด  เพื่อให้เด็กในครรภ์ร่างกายสมบูรณ์มากที่สุด เพราะสาเหตุโรคของกลุ่มนี้จะเกิดจากความผิดปกติของสมองในหลายๆระดับตั้งแต่ระดับเซลล์ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดความผิดปกติของสมอง”

ชุดความรู้การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้  เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การพัฒนาครู ผู้ปกครอง และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ และที่สำคัญการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนทุกคนอย่างเท่าเทียม

หมายเลขบันทึก: 507273เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2012 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณ ความรู้ใหม่นี้นะคะ

ดีมากเลย จะนำไปใช้ดูแล คนไข้ WCC หรือ WBC ค่ะ

สนใจหนังสือมากค่ะ ซื้อได้ทึ่ไกนค่ะ

ครูสุนีย์ดูแลเด็กพิเศษ โรงเรียนวัดนิยมธรรมวราราม

อยากจะได้คู่มือเหล่านี้ต้องทำไงค่ะ

กลุ่มเด็กพิเศษที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ที่เกิดจากภาวะทางสมอง แยกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

เด็กสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) คือ เด็กที่มีความผิดปกติของพฤติกรร��� การควบคุมตนเอง อาการแสดงออกเป็น ซน อยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ ขาดการยับยั้งใจตนเอง
เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ (Learning Disabilities: LD) คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เช่น บกพร่องการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณ
เด็กออทิสติก (Autistic) หรือ ออทิสซึม คือ เด็กที่มีความผิดปกติของสมองที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก โดยจะแสดงอาการผิดปกติออกมาใน 3 ด้านใหญ่ๆ ได้แก่ ความผิดปกติทางสัมคมและปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น, ความผิดปกติทางภาษาและการสื่อสาร และมีพฤติกรรมซ้ำๆหรือมีความสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างมากเกินปกติ
ด็กเรียนรู้ช้า/บกพร่องทางสติปัญญา คือ เด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ที่เกิดจากระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท