พุทธิพิสัยด้านการนำไปใช้หรือประยุกต์ (application): ตัวอย่างในการสอนภาษาไทย


ระดับพุทธิพิสัยด้านการประยุกต์พัฒนาได้จากการจัดสภาพปัญหาให้แก่ผู้เรียน

 

พุทธิพิสัยด้านการนำไปใช้หรือประยุกต์ (application): ตัวอย่างในการสอนภาษาไทย



เฉลิมลาภ ทองอาจ
โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


                 บุคคลที่เรียนรู้แต่ในทางทฤษฎี แต่หาได้รู้วิธีในการที่จะนำวิธีไปสู่การปฏิบัติ หรือรู้ทฤษฎีแล้วก็จริงแต่ก็ปฏิบัติไปโดยปราศจากทฤษฎี  ก็นับว่าเป็นการเรียนรู้บนพื้นฐานที่เสี่ยงอยู่มาก  เพราะการปฏิบัติเช่นนี้ คล้ายกับการลองผิดลองถูก แต่การจัดการศึกษาให้กับบุคคล คงจะปล่อยให้เกิดสภาพดังกล่าวมิได้ เพราะหาก “ลองผิด” ก็อาจจะส่งผลเสียต่อผู้เรียน และผลเสียนั้น บางครั้งก็ยากที่จะแก้ไข

 
                นักการศึกษาไทยบางส่วน กลัวการจัดการศึกษาที่เน้นแต่การเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งที่จริงแล้ว สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ การสอนแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์โดยปราศจากทฤษฎีด้านผลสัมฤทธิ์!  ของครูบางส่วน  เลยทำให้ผลสัมฤทธิ์กลายเป็นผลผลิตของการท่องจำแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่ยุติธรรมกับผลสัมฤทธิ์ ซึ่งครอบคลุมความรู้และความสามารถหลายด้านของผู้เรียน


                ถ้าจะว่ากันตามทฤษฎีเป้าหมายทางการศึกษา นักการศึกษามักจะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ด้านการประยุกต์ (application) ซึ่งหมายถึงการใช้แนวคิด หลักการ และความรู้ที่เรียนไป  ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง  คำถามที่สำคัญ คือ ที่นำไปใช้ “ทำ” อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น คือ ทำอะไร?


                ตามแนวคิดที่นักวิชาการได้เสนอไว้ สิ่งที่ผู้เรียนจะต้องทำ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสามารถประยุกต์ได้ ก็คือ “การแก้ปัญหา” ดังนั้น หากจะกล่าวให้ชัดเจนขึ้น การประยุกต์ก็คือ การนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาใหม่ที่ต้องเผชิญ  คำถามคือ ในการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ รวมทั้งวิชาภาษาไทยนั้น ครูได้จัดประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหาใหม่ให้ผู้เรียนเผชิญหรือไม่ ถ้าไม่ ผู้เรียนก็ไม่มีโอกาสที่จะประยุกต์ความรู้ใดๆ เพราะความรู้ยังคงอยู่ในรูปแบบเดิมที่จดจำได้ ยังมิใช่การเปลี่ยนรูปความรู้มาสู่การแก้ปัญหา


 
                 สิ่งที่ครูภาษาไทยควรทำความเข้าใจต่อไปคือ ปัญหาในที่นี้ ไม่ใช่ “โจทย์” ที่ผู้เรียนจะสามารถตอบได้โดยง่าย แต่จะต้องเป็นปัญหาที่ผู้เรียนไม่คุ้นเคย และรู้สึกว่า ตนเองกำลัง “ถูกท้าทาย” อย่างมาก และพวกเขาก็จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนเสียก่อนว่า ปัญหาคืออะไร ปัญหามีขอบเขตอย่างไร มีเงื่อนไขไดเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้อง และมีวิธีการใดที่จะนำมาใช้แก้ไขได้บ้าง ทั้งนี้ ครูจะต้องเข้าใจด้วยว่า วิธีการที่จะนำมาใช้ จะต้องมาจากความรู้ อันได้แก่ มโนทัศน์ หลักการ  หรือสิ่งที่ศึกษาไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงจะสามารถเรียกได้ว่าการประยุกต์อย่างแท้จริง 



                 ขั้นตอนของการเรียนการสอนที่จะต้องมี เพื่อให้ผู้เรียนประยุกต์ คือ การให้ผู้เรียนเผชิญปัญหาที่มีลักษณะไม่ชัดเจน และเป็นปัญหาใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องเป็นปัญหาที่สามารถใช้ความรู้จากที่เคยได้ศึกษาไปมาแก้ไขได้ และอีกขั้นตอนหนึ่งคือ การให้ผู้เรียนวางแผน ออกแบบหรือเลือกวิธีการแก้ปัญหา โดยใช้ความรู้ที่ศึกษาไปเป็นฐาน  ทั้งสองขั้นตอนนี้ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความสามารถในการประยุกต์  ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของสอนให้ผู้เรียนเกิดการประยุกต์  ในการจัดการเรียนการสอนสาระการเรียนรู้เรื่องโครงสร้างพยางค์  เช่น 



  ความรู้ที่ครูและผู้เรียนช่วยกันสร้างขึ้น
  พยัญชนะต้นในภาษาไทยสามารถปรากฏคู่กันได้ แต่ลักษณะการออกเสียงแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะออกเสียงพร้อมกันทั้งสองหน่วยเสียง หรือที่เรียกว่า “อักษรควบแท้” อีกกลุ่มหนึ่ง ออกเสียงเป็นหน่วยเสียงอื่น เรียกว่า “ควบไม่แท้”  และกลุ่มสุดท้าย ออกเสียงแยกกัน หรือออกเสียงเพียงตัวใดตัวหนึ่งที่เรียกว่า “อักษรนำ”


  สภาพที่เป็นปัญหาที่จะต้องเอื้อให้ผู้เรียนนำความรู้มาใช้


  ให้ผู้เรียนใช้ความรู้ข้างต้นมาพิจารณาว่า การระบุลักษณะของพยางค์หรือคำต่อไปนี้ถูกหรือไม่ เพราะเหตุใด
  1. กว่า  (อักษรนำ)  2. จริต (อักษรควบ)  3.  ทราบ (อักษรควบ)
  4. ผอม (อักษรนำ)   5. ครบ (อักษรควบ)  4.  ถวาย (อักษรนำ)


                 ตัวอย่างการจัดสถานการณ์ที่ส่งเสริมผู้เรียนประยุกต์ความรู้มาใช้แก้ปัญหาข้างต้น สามารถนำไปใช้เป็นกิจกรรมการเรียนการสอน และกิจกรรมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ได้ ทั้งนี้ ครูภาษาไทยสามารถจัดสถานการณ์ที่เป็นปัญหาในลักษณะอื่นๆ เพื่อให้ผู้เรียนใช้ความรู้เดียวกันนั้นมาใช้แก้ปัญหาอีกก็ได้ ตัวอย่างเช่น 


  สภาพที่เป็นปัญหาที่จะต้องเอื้อให้ผู้เรียนนำความรู้มาใช้
  ให้ผู้เรียนหาคำมาเติมในช่องว่าง โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นคำตามที่กำหนด
  1.  บ้านเมืองเราตอนนี้ กำลังต้องการผู้นำที่ .....................(อักษรนำ)........................
  2.  การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น ....................(อักษรควบ)...............................
  3. เขามักจะ............(ควบไม่แท้)..............อยู่เสมอๆ


                 หลักการสำคัญของการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมความสามารถทางปัญญาด้านการประยุกต์ คือ จัดสภาพปัญหาและกำหนดวิธีแก้ไข ครูภาษาไทยจึงต้องเป็น “นักสร้างปัญหา” ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนสงสัยและต้องการที่จะแสวงหาคำตอบ ด้วยการใช้ความรู้เท่าที่มี หรือเท่าที่ค้นคว้าเพิ่มเติมได้มาใช้ ลักษณะเช่นนี้ จึงจะเกิดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เป็นการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดอยู่แต่ปัญหาใดปัญหาหนึ่งเป็นการเฉพาะ เป็นการแก้ปัญหาในขอบเขตที่กว้างออกไป อันเป็นการขยายศักยภาพของผู้เรียนให้สูงขึ้น 


______________________________________________________

หมายเลขบันทึก: 507196เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2012 21:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ต้องสร้างปัญหาให้นักเรียนคิดบ่อยๆนะครับ
  • นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้จริงๆด้วย
  • ขอบคุณมากๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท