ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 37. เรียนสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ (2) เปลี่ยนแปลง


นศ. ที่ไม่ชอบสร้างสรรค์อาจไม่ชอบกิจกรรมนี้ ครูควรอธิบายว่าความริเริ่มสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง นศ. ไม่ควรกังวลเรื่องถูก-ผิด ดี-ไม่ดี การทำแบบฝึกหัดนี้ก็เพื่อฝึกฝนเรียนรู้

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 37. เรียนสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์  (2) เปลี่ยนแปลง

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley    ในตอนที่ ๓๗ นี้ ได้จาก Chapter 14  ชื่อ Synthesis and Creative Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 17 : Variations   

บทที่ ๑๔ ว่าด้วยเรื่องการสังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์   ประกอบด้วย ๗ เทคนิค  คือ SET 16 – 22   จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค    เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกความสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงทักษะในการเชื่อมโยงสิ่งที่ตนรู้อยู่แล้ว กับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่หรือที่พบโดยไม่คาดฝัน   เกิดสิ่งใหม่ที่กระตุ้นความสนใจ หรือเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน     และ นศ. ได้ฝึกทักษะสังเคราะห์ ซึ่งหมายถึงการนำเอาสิ่งที่รู้อยู่แล้ว กับสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ มาผสมกันเป็นสิ่งใหม่ที่เป็นภาพรวมใหม่

 

SET 17  : เปลี่ยนแปลง  

จุดเน้น  :  ตัวบุคคล

กิจกรรมหลัก :    แตกต่างหลากหลาย

ระยะเวลา  :  หนึ่งคาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

 

เป็นเครื่องมือฝึกความคิดสร้างสรรค์ด้วยการจินตนาการแนวทางใหม่ของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง   เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่   เช่น เขียนตอนจบของนวนิยายหรือประวัติศาสตร์เสียใหม่   แต่งเพลงที่มีชื่อเสียงท่อนสุดท้ายใหม่   หรือสำเนาภาพวาดที่มีชื่อเสียงมาวาดบางส่วนเสียใหม่   

 

 ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ครูเลือกสิ่งที่จะให้ นศ. ใช้เป็นจุดเริ่มต้น หรือตัวกระตุ้น
  2. ครูทดลองคิดด้วยตนเอง ว่ามีแนวความคิดอะไรบ้างที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนั้นๆ    ตรวจสอบกระบวนการคิดของตน รวมทั้งทำความเข้าใจปัญหาที่ตนพบในกระบวนการทดลองนี้
  3. ใช้ข้อมุลตามข้อ ๒ ในการเขียนใบงานให้แก่ นศ.
  4. อธิบายกิจกรรมแก่ นศ.   อาจใช้การทดลองของครูเองเป็นตัวอย่าง    ตอบคำถามของ นศ.
  5. นศ. ลงมือทำงานสร้างสรรค์   และส่งผลงาน

 

ตัวอย่าง

วิชาทฤษฎีดนตรีและการแต่งเพลง

ในตอนท้ายของวิชาศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ ใช้เทคนิค “เปลี่ยนแปลง”   สำหรับสังเคราะห์ความเข้าใจสไตล์ดนตรีในประวัติศาสตร์    ครูจึงเลือกทำนองใน folk song ที่รู้จักกันดี    ให้ นศ. เรียบเรียงเสียงตามสไตล์ของนักแต่งเพลงต่อไปนี้ Bach, Mozart, Beethoven, Chopin, Debussy, Bartok, หรือ Ives 

 

วิชาประวัติศาสตร์ความคิดในศาสนาคริสต์และประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ ต้องการให้ นศ. เข้าใจความแตกต่าง ในความคิดเชิงเทววิทยาในศาสนาคริสต์   จึงเลือกเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลา ๒ พันปี ของศาสนาคริสต์   เช่น the Council of Nicaea, the coronation of Charlemagne, the schism between East and West, the Reformation   ให้ นศ. ศึกษาเรื่องราวของเหตุการณ์เหล่านี้จนเข้าใจดีแล้ว    จึงจัด นศ. เป็นกลุ่มละ ๕ คน   ให้แต่ละกลุ่มอภิปรายกันว่า ประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์จะเปลี่ยนไปอย่างไร หากเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์เปลี่ยนไป   เช่นในเรื่อง Reformation ครูตั้งคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้น หาก Martin Luther ไม่ถูกขับออกจากศาสนาคริสต์ในข้อหาประพฤตินอกรีต   การให้ นศ. ลองจินตนาการเหตุการณ์ที่แตกต่างเช่นนี้   จะช่วยให้เข้าใจความสำคัญของแต่ละเหตุการณ์ในอดีต

 

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคนิคนี้ปรับใช้ online ได้ง่าย   โดยมอบเป็นงานให้ นศ. ทำ    โดยนอกจากให้เปลี่ยนแปลงข้อความแล้ว  ยังอาจให้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นกราฟิก ก็ได้    หรือแม้กระทั่งโมเดล ๓ มิติ   โดยให้ส่งชิ้นงานทางไปรษณีย์ก็ได้

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·      อาจให้ นศ. ทำงานเป็นทีม ๒ คน หรือกลุ่มย่อย  

·      อาจให้โจทย์ให้ นศ. เปลี่ยนแปลงหลายตอน

·      อาจให้ นศ. นำเสนอผลงานในชั้น  หรือเอาขึ้นเว็บ  หรือทำเป็นโปสเตอร์นิทรรศการ (SET 20)   หรือทำเป็นหนังสือของชั้น (SET 21)

·      แทนที่จะให้เปลี่ยนแปลง  อาจให้ นศ. เสนอมุมมองต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากหลากหลายมุมมอง   เช่นใช้กระบวนการที่เรียกว่า “Cubing” คือมองด้วย ๖ มุมมอง ได้แก่ (๑) อธิบาย  (๒) เปรียบเทียบ  (๓) เชื่อมโยง  (๔) วิเคราะห์  (๕) ประยุกต์  (๖) โต้แย้ง 

 

คำแนะนำ

นศ. ที่ไม่ชอบสร้างสรรค์อาจไม่ชอบกิจกรรมนี้   ครูควรอธิบายว่าความริเริ่มสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง   นศ. ไม่ควรกังวลเรื่องถูก-ผิด  ดี-ไม่ดี   การทำแบบฝึกหัดนี้ก็เพื่อฝึกฝนเรียนรู้   

ใช้การระดมความคิด เพื่อสร้างแนวความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลง

อาจเริ่มด้วยแบบฝึกหัดสั้นๆ ง่ายๆ ก่อน

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

www.unc.edu/depts/wcweb/handouts/brainstorming

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ต.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 506618เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 05:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2012 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท