ความรู้ความสามารถ กับ สาขาวิชาชีพ


ความรู้ความสามารถ กับ สาขาวิชาชีพ

 

          จากหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ ศธ 0509.4/ว 4 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550  เรื่อง มาตรฐานการกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น  ในหนังสือดังกล่าว ส.ก.อ.ได้แนบประกาศ ก.พ.อ. เรื่องมาตรฐานการกำหนดระดับตำแหน่งและการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้น ที่เป็นตำแหน่งชำนาญการ เชี่ยวชาญ และ เชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อให้มหาวิทยาลัย/สถาบัน ถือปฏิบัติ

                ในข้อ 8 ของประกาศ ก.พ.อ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ระบุว่า การประเมินต้องดำเนินการโดยองค์คณะบุคคลและมีระดับตำแหน่งไม่ต่ำกว่าต่ำแหน่งที่เสนอขอหรือเทียบเท่า ในกรณีประเมินเข้าสู่ตำแหน่งระดับชำนาญการ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องเป็นองค์คณะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถตรงกับวิชาชีพที่เสนอขอ และเป็นบุคคลภายนอกสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด

          เปลี่ยนจากเดิม(ก่อนที่จะมีประกาศ ก.พ.อ. ฉบับนี้)ที่มหาวิทยาลัย/สถาบัน ที่การกำหนดตำแหน่ง ชำนาญการ ระดับ 6, 7-8  , เชียวชาญ ระดับ 9 ชำนาญการพิเศษ ระดับ 9 เชี่ยวชาญพิเศษ ระดับ 10 และ ชำนาญการพิเศษ ระดับ 10 ของข้าราชการพลเรือนสายสนับสนุนในมหาวิทยาลัย  ให้ถือปฏิบัติตามหนังสือของทบวงมหาวิทยาลัย(ชื่อเดิมในขณะนั้น)ที่ ทม 0202/ว.1 ลงวันที่ 15 มกราคม 2542 เรื่องการมอบอำนาจในการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ชำนาญการ ระดับ 6, 7-8 และตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ชำนาญการพิเศษ ระดับ 9 ในหนังสือดังกล่าวทบวงฯได้แนบหลักเกณฑ์และวิธีการให้มหาวิทยาลัย/สถาบันถือปฏิบัติในหลักเกณฑ์และวิธีการเดิมของทบวงฯ ในข้อ 2 ให้มหาวิทยาลัย/สถาบัน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตรงกับสาขาวิชาชีพที่เสนอขอเพื่อประเมินผลงาน โดยมีองค์ประกอบดังนี้...

          2.1 ให้แต่งตั้ง อ.ก.ม. มหาวิทยาลัย/สถาบัน ท่านหนึ่งท่านใดเป็นประธานอนุกรรมการ

          2.2 ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตรงกับสาขาวิชาชีพที่เสนอขอ จำนวน 5 ท่าน ทั้งนี้ต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย/สถาบัน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

          2.3 ผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งต้องมีระดับไม่ต่ำกว่าที่เสนอขอ

          2.4 อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง และผลการประเมินคิดจากค่าเฉลี่ยของคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวิติ

 

          ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่า จากหลักเกณฑ์เดิมระบุว่าเป็น “คณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตรงกับสาขาวิชาชีพที่เสนอขอ” กับหลักเกณฑ์ใหม่ระบุว่า “คณะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถตรงกับวิชาชีพที่เสนอขอ” มีความเหมือนและต่างกันอย่างไร

          เมื่อย้อนกลับไปในอดีต ก่อนมีประกาศ ก.พ.อ.ในหนังสือแนบของ ส.ก.อ.ที่ ศธ 0509.4/ว 4 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550  การกำหนดตำแหน่งเป็นผู้ชำนาญการ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ของมหาวิทยาลัย/สถาบันต่างๆ การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินผลงานทางวิชาการของผู้เสนอขอกำหนดตำแหน่งต้องแต่งตั้งให้เป็นไปตามวิธีการในข้อ 2 ข้างต้น ในทางปฏิบัติมีหลายมหาวิทยาลัย/สถาบัน หลายแห่งมีปัญหาในการสรรหา และแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงฯที่ตรงกับสาขาวิชาชีพของผู้เสนอขอ จึงมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯประเมินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการในข้อ 2 ของทบวงฯ  ดังเช่น

นาย ก. นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 8 ชำนาญการ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งส่งผลงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 9 เชี่ยวชาญโดยวิธีปกติ  มหาวิทยาลัยแห่งนั้นได้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 5 คน เพื่อประเมินผลงานของนาย ก. ดังนี้

 

          กรรมการคนที่ 1        รศ. 9 เป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กรรมการใน อ.ก.ม.
                                           มหาวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการ

          กรรมการคนที่ 2        รศ.9 เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเดียวกับผู้เสนอขอ

          กรรมการคนที่ 3        รศ.9 เป็นคณบดีคณะสาธารณสุขฯ มหาวิทยาลัยเดียวกับผู้เสนอขอ

          กรรมการคนที่ 4        นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ   9 บุคคลภายนอก

          กรรมการคนที่ 5        นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 10 บุคคลภายนอก

 

ผู้เขียนขอวิพากย์ว่า...

 

          กรรมการคนที่ 1  แต่งตั้งได้ถูกต้องตามวิธีการในข้อ 2.1ที่กำหนดว่า ให้แต่งตั้ง อ.ก.ม. มหาวิทยาลัย/สถาบัน ท่านหนึ่งท่านใดเป็นประธานอนุกรรมการแต่ไม่ถูกต้องตามข้อ 2.2 ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตรงกับสาขาวิชาชีพที่เสนอขอ ”  ที่ไม่ถูกต้องตามข้อ 2.2  อาจเป็นเพราะมีข้อจำกัดที่ใน อ.ก.ม. ของแต่ละมหาวิทยาลัย/สถาบัน สายสนับสนุนมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการใน อ.ก.ม. ซึ่งการแต่งตั้งกรรมใน อ.ก.ม. ต้องเป็นไป พ.ร.บ. ของแต่ละมหาวิทยาลัย/สถาบัน  ส่วนใหญ่แล้วข้าราชการสายสนับสนุนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการใน อ.ก.ม. มหาวิทยาลัย/สถาบัน มักจะมีเพียงผู้อำนายการกองการเจ้าหน้าที่ คนเดียวเท่านั้น  จึงเป็นปัญหาของหลายมหาวิทยาลัย/สถาบัน ในการที่จะปฏิบัติตามวิธีการในข้อ 2.2 ที่ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ตรงกับสาขาวิชาชีพที่เสนอขอ  อย่างไรก็ตามในความเห็นของผู้เขียน เนื่องจากตัวประธานมิได้มีสาขาวิชาชีพที่ตรงกับผู้เสนอขอ จึงไม่ควรทำหน้าที่ให้ประเมินค่าคะแนนผลงาน(ประธานกรรมการอาจให้คะแนนหรือไม่ก็ได้)

          กรรมการคนที่ 4 และ 5 แต่งตั้งได้ถูกต้องตามวิธีการในข้อ 2.1 ที่กำหนดว่า ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ตรงกับสาขาวิชาชีพที่เสนอขอ จำนวน 5 ท่าน ทั้งนี้ต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย/สถาบัน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง”  ที่บอกว่าแต่งตั้งได้ถูกต้อง เพราะตั้งได้ตรงกับสาขาวิชีพที่เสนอขอ และยังถูกต้องในเรื่องจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจากกรรมการ 4 คน(กรรมการภายใน 2 คน ภายนอก 2 คน) และเมื่อรวมประธานกรรมการที่ต้องเป็น อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยตามข้อ 2.1 อีก 1 คน จึงเป็นคณะกรรมการทั้งสิ้น 5 คน

          กรรมการคนที่ 2 และ 3 แต่งตั้งได้ถูกต้องตามวิธีการในข้อ 2.1 เฉพาะส่วนที่เป็นบุคคลภายในกึ่งหนึ่ง แต่ไม่ถูกต้องที่ต้องตั้งให้ตรงกับวิชาชีพที่เสนอขอ

          กรรมการคนที่ 1 ถึง 5 แต่งตั้งได้ถูกต้องตามวิธีการในข้อ 2.3 ผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งต้องมีระดับไม่ต่ำกว่าที่เสนอขอ คือกรรมการคนที่ 1 ถึง 4 เป็นระดับ 9  และ คนที่ 5 เป็นระดับ 10 ส่วนผู้เสนอขอ ขอในตำแหน่ง ระดับ 9

          การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวข้างต้น จึงไม่น่าจะถูกต้องตามหลักเกณฑ์วิธีการตามหนังสือของทบวงฯ ที่ ทม 0202/ว.1 ลงวันที่ 15 มกราคม 2542 เว้นแต่ทบวงฯจะมีหลักเกณฑ์วิธีการใหม่กว่านี้ที่ผู้เขียนไม่ทราบ และไม่ได้นำมาเสนอ

ในมหาวิทยาลัยของท่าน ที่ผ่านมา...เป็นอย่างนี้หรือไม่ ?

ในปัจจุบันนี้หากมีผู้ยื่นขอกำหนดตำแหน่ง ชำนายการ  เชี่ยวชาญ และ เชี่ยวชาญพิเศษ มหาวิทยาลัย/สถาบัน ต้องถือปฏิบัติตามประกาศ ก.พ.อ.ที่แนบในหนังสือของ ส.ก.อ. ที่ ศธ 0509.4/ว 4 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ในข้อ 8 ที่ระบุว่าการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นองค์คณะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถตรงกับวิชาชีพที่เสนอขอ และเป็นบุคคลภายนอกสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด

 

สมมุติว่า นาย ข. นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ระดับ 6 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งส่งผลงานเพื่อขอกำหนดตำแหน่งเป็นนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ชำนาญการ ระดับ 7-8 โดยวิธีปกติ มหาวิทยาลัยแห่งนั้นได้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 คนเป็นบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยนั้นทั้งหมด ดังนี้

 

          กรรมการคนที่ 1        ศาสตราจารย์ ระดับ 10(สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า)

                                           ตำแหน่งปัจจุบันเป็น รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ

                                           อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ 2 สมัย   จากมหาวิทยาลัย ค.


          กรรมการคนที่ 2        อาจารย์ ระดับ 7  ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์

                                            จากมหาวิทยาลัย ง.

          กรรมการคนที่ 3        นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ชำนาญ ระดับ 8   จากมหาวิทยาลัย จ.

          กรรมการคนที่ 4        นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ชำนาญ ระดับ 8   จากมหาวิทยาลัย ฉ.

 

ผู้เขียนขอวิพากย์ว่า...

 

กรรมการคนที่ 1 ถึง 4   แต่งตั้งได้ถูกต้องในเรื่องของ    “มีระดับตำแหน่งไม่ต่ำกว่าต่ำแหน่งที่เสนอขอหรือเทียบเท่า”  และถูกต้องที่ “เป็นบุคคลภายนอกสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด”

 

ตามข้อ 8 ในประกาศของ ก.พ.อ. ที่แนบในหนังสือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ ศธ 0509.4/ว 4 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ที่ระบุว่าการประเมินต้องดำเนินการโดยองค์คณะบุคคลและมีระดับตำแหน่งไม่ต่ำกว่าต่ำแหน่งที่เสนอขอหรือเทียบเท่า เป็นคณะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถตรงกับวิชาชีพที่เสนอขอและเป็นบุคคลภายนอกสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด

 

แม้ว่ากรรมการคนที่ 2 จะเป็นเพียงอาจารย์ระดับ 7 ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ ซึ่งตามโครงสร้างของมหาวิทยาลัย เมื่อเทียบระดับตำแหน่งทางบริหารในมหาวิทยาลัย เป็น “ระดับ” กรรมการคนที่ 2 จะมีฐานะเทียบเท่า ระดับ 9 ได้ดังนี้

 

          อธิการบดี                เทียบเท่า อธิบดี(กรม..)   เป็นระดับ 10

          รองอธิการบดี           เทียบเท่า รองอธิบดี        เป็นระดับ  9

          คณบดี                    เทียบเท่า รองอธิการบดี   เป็นระดับ  9

          ผู้อำนวยการศูนย์/สถาบัน/สำนัก  เทียบเท่า คณบดี  เป็นระดับ  9

          รองคณบดี               เทียบเท่า หัวหน้าภาคฯ    เป็นระดับ  8

          หัวหน้าภาควิชา        เทียบเท่า รองคณบดี       เป็นระดับ  8

 

กรรมการคนที่ 1 และ 2 ผู้เขียนยังมีข้อสงสัยในเรื่องการแต่งตั้งให้ถูกต้อง ที่กำหนดว่า “เป็นคณะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถตรงกับวิชาชีพที่เสนอขอ” 

               ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสนับสนุนข้อสงสัยในเรื่องนี้ ดังนี้ ผู้เขียนเห็นว่า “ความรู้ความสามารถ” กับ “วิชาชีพ” เป็นคนละเรื่องกัน ความรู้ความสามารถอาจเกิดขึ้นได้จากการมีประสบการ จากการบริหาร หรือ จากการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ฯลฯ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น ในปัจจุบันมีอาจารย์แพทย์ในมหาวิทยาลัย จำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ความสามารถในเรื่อง IT หรือ คอมพิวเตอร์ บางท่านมีความรู้ความสามารถขนาดเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งานเอง เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการตัดแกรด ฯลฯ ทั้งๆที่ไม่ได้ศึกษาหรือเล่าเรียนจบทางคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด วิชีพของอาจารย์ท่านนี้คือ “วิชาชีพแพทย์” ความรู้ความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ท่านมี มิได้หมายความว่าทำให้อาจารย์ท่านนี้มี “วิชาชีพคอมพิวเตอร์” เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

                 วิชาชีพจะมีได้ หรือเกิดขึ้นได้จากการศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่ง ในสาขาหนึ่งสาขาใด จนครบหลักสูตร และตามระยะเวลาของการศึกษาในหลักสูตรสาขาวิชาชีพนั้นๆ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับใบประกาศนียบัตร ใบปริญญาบัตร หรือใบระเบียนสะสมการเรียน(transcript) จากสถานศึกษานั้นๆ

 

กรรมการคนที่ 3 และ 4 แต่งตั้งได้ถูกต้องในเรื่องของ “มีความรู้ความสามารถตรงกับวิชาชีพที่เสนอขอ” เนื่องจากมีตำแหน่งเป็น “นักวิชาการคอมพิวเตอร์” ที่เป็นสาขาวิชาชีพตรงกับตำแหน่งของผู้เสนอขอ

              ผู้เขียนขอยืนยันว่า “ความรู้ความสามารถ” กับ “วิชาชีพ” เป็นคนละเรื่องกันไม่สามารถเอามาแทนให้ใช้ร่วมกันได้ในการประเมินผลงานเพื่อกำหนดตำแหน่ง “ทางวิชาการ” หรือเทียบเท่า

            ถ้าหาก ส.ก.อ. หรือ มหาวิทยาลัย ยืนยันว่าสามารถแต่งกรรมการคนที่ 1 และ 2 พิจารณาผลงานทางวิชาการของ นาย ข.ได้ด้วยเหตุผลว่า กรรมการคนที่ 1 มีตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และกรรมการคนที่ 2 มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ ทั้งสองท่านมีประสบการและความรู้ความสามารถในด้านคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี สามารถแต่งตั้งเป็นกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการ นาย ข.ได้

ส.ก.อ. หรือ มหาวิทยาลัย จะตอบหรือยืนยันได้หรือไม่ ถ้านาย ค. ตำแหน่งอาจารย์ ระดับ 7 มหาวิทยาลัยเดียวกับ นาย ข. เสนอผลงานทางวิชาการเพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8 สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยต้นสังกัดนาย ค.จะแต่งตั้ง นาย ง. ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ ระดับ 10 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ 2 สมัยจากมหาวิทยาลัย ค. (คนเดียวกับกรรมการคนที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยแต่งตั้งประเมินผลงานทางวิชาการของ นาย ข.) สามารถใช้ประสบการณ์ในการเป็นคณบดีวิศวกรรมศาสตร์ 2 สมัย แต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงาน นาย ค. ได้หรือไม่ ?

คำตอบถ้าบอกว่าแต่งตั้งได้ ผู้เขียนก็จบข้อสงสัย แต่ถ้าตอบว่าแต่งตั้งไม่ได้ แล้วทำไม?หลักเกณฑ์การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินผลงานเพื่อกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ระหว่างสายสนับสนุนที่ให้นำความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดการแต่งตั้งกรรมการฯได้ แต่ทำไม? สายผู้สอนไม่สามารถนำเรื่องประสบการณ์ ความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดการแต่งตั้งกรรมการฯ

ในทรรศนะของผู้เขียน เห็นว่ากรณีการเสนอผลงานของ นาย ค. เพื่อขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8 สาขาวิศวกรรมโยธา ที่ไม่สามารถแต่งตั้ง นาย ง. ซึ่งแม้นจะเป็นศาสตราจารย์ ระดับ 10 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นกรรมการประเมินผลงานทางวิชาการของนาย ค.ไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่สำคัญเพียงประการเดียวคือ “ต่างสาขาวิชาชีพ” จึงไม่สามารถแต่งตั้งให้นาย ง. เป็นกรรมการประเมินผลงานเพื่อกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของนาย ค.ได้ เพราะประสบการณ์เป็นผู้บริหารในการเป็นคณบดีวิศวกรรมศาสตร์มา 2 สมัย ทำให้ นาย ง.มีความรู้ความสามารถ เพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ทำให้มี สาขาวิชาชีพ เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

          แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการประเมินผลงาน เพื่อกำหนดตำแหน่งทาง “การบริหาร” ให้สูงขึ้นคงไม่เป็นไร เช่น จากระดับ 6 เป็นหัวหน้างาน ระดับ 7 หรือ หัวหน้างาน ระดับ 7 เป็นเลขานุการคณะ ระดับ 8 มหาวิทยาลัยสามารถแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ มาเป็นกรรมการในการประเมินผลงานได้ แม้จะต่างสาขาวิชาชีพก็ตาม  

                       แล้วท่านทั้งหลาย......เห็นต่างหรือเห็นด้วยกับผู้เขียนครับ ?

 

หมายเหตุ : ปัจจบันปัญหาการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินผลงานทางวิชาการของสาย
                     สนับสนุนไม่มีปัญหาตามที่ได้เขียนมาข้างต้น เนื่องมหา'ลัยจากต้องแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงฯ
                     จากบัญชีรายชื่อผู้ทรงฯ ตามประกาศของ ก.พ.อ. ฉบับลงวันที่ 22 ธค.2553 เท่านั้น

 

 

*************************************

คำสำคัญ (Tags): #กันย์#จั๊บ
หมายเลขบันทึก: 506192เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องของทุกคนที่ขอประเมินต้องทำความเข้าใจให้ดีจริงๆ ขอบคุณครับสำหรับบทความดีๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท